กรณีศึกษา “กูลิโกะ” จากลูกอมคาราเมล สู่อาณาจักรขนม-ไอศกรีม-นม กับกลยุทธ์สร้างความผูกพันผู้บริโภคมาร้อยปี

  • 267
  •  
  •  
  •  
  •  

Glico

หากย้อนกลับไปในวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนรู้สึกมีความสุข และตื่นเต้นทุกครั้งที่ยืนอยู่หน้าเชล์ฟขนมในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือในร้านของชำใกล้บ้าน และหนึ่งในขนมที่ใครหลายคนมักจะเลือกคือ ขนมของ “กูลิโกะ” (Glico) ไม่ว่าจะเป็นป๊อกกี้ (Pocky), เพรทซ์ (Pretz), แอลฟี่ (Alfie), ทีนนี่ (Teenie) หรือโคลอน (Collon), ไจแอนท์คาปุลิโกะ (Giant Caplico) และอีกหลากหลายสินค้า จนกลายเป็นแบรนด์ขนมที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ก็ยังคงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้สึกผูกพัน

อะไรคือกลยุทธ์ที่ทำให้ “กูลิโกะ” เติบโตมาได้ถึง 101 ปี และยังคงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภค ทั้งในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกูลิโกะ และคนไทยยังคงนึกถึง และรู้สึกผูกพันถึงทุกวันนี้ ตามไปดูเบื้องหลังกัน

 

ย้อนรอยกว่าจะมาเป็นอาณาจักร “กูลิโกะ” ผู้ผลิตอาหารขนม-ไอศกรีม-นมรายใหญ่

จุดเริ่มต้นของ “กูลิโกะ” (Glico) มาจาก “คุณริอิจิ เอซากิ” ผู้ก่อตั้งบริษัทกูลิโกะ ด้วยความที่เติบโตในครอบครัวที่อยู่ในวงการเภสัชกรรม จึงมีความรู้ด้านสารอาหาร ยา และสุขภาพ วันหนึ่งได้ค้นพบสารอาหารไกลโคเจนในน้ำต้มหอยนางรม จึงได้เริ่มคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่นำสารไกลโคเจนมาใช้ ในที่สุดได้พัฒนาเป็น “ลูกอม” โดยนำรสชาติคาราเมลใส่ไปด้วย ได้ออกมาเป็นลูกอมรสคาราเมล “กูลิโกะ คาราเมล” (Glico Caramel) เพื่อเป็นขนมเสริมสุขภาพให้กับชาวญี่ปุ่น ด้วยรูปทรงหัวใจ บรรจุอยู่ในกล่องสีแดง พร้อมรูปนักวิ่งยกสองมือเข้าเส้นชัย เพื่อสื่อถึงการมีสุขภาพที่ดี

Glico Japan
คุณริอิจิ เอซากิ ผู้ก่อตั้งกูลิโกะ (Credit: YouTube Glico Thailand)

– กูลิโกะ คาราเมล เริ่มวางจำหน่ายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี 1922 ที่ห้างสรรพสินค้ามิทสึโคชิ ซึ่งเป็นห้างฯ เก่าแก่ในโอซาก้า และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันก่อตั้งบริษัท Ezaki Glico

– ต่อมาในปี 1925 ได้สร้างโรงงานในจังหวัดโอซาก้า

– เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้กับสินค้า ในปี 1927 กูลิโกะริเริ่มใส่ของแถมเป็นของเล่นชิ้นเล็กในกล่องขนม ด้วยความคิดที่ว่าการกิน กับการเล่น เป็นภารกิจใหญ่ของเด็ก

– จากนั้นปี 1931 ได้ขยายช่องทางจัดจำหน่าย ด้วยการติดตั้งเครื่องจำหน่ายผลิตภัณฑ์กูลิโกะอัตโนมัติที่มีจอฉายภาพยนตร์ตามห้างสรรพสินค้าในโตเกียว และในปีเดียวกันนี้เองได้สร้างโรงงานโอซาก้าขึ้นใหม่ ซึ่งปัจจุบันโอซาก้าเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่กูลิโกะ

Glico Japan
กูลิโกะ คาราเมล ผลิตภัณฑ์แรกของกูลิโกะ (Credit: YouTube Glico Thailand)

– หลังจากทำตลาดในญี่ปุ่นได้สักพัก ในปี 1932 ขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศจีน โดยสร้างโรงงานในจีน

– ในปี 1933 เปิดตัวบิสกิต “Bisco” ถือเป็นสินค้าตัวที่สองต่อจากลูกอมรสคาราเมล

– ต่อมาปี 1935 ติดตั้งหอคอยนีออนที่โอซาก้า ปัจจุบันป้ายกูลิโกะที่โดทงโบริ กลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของโอซาก้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก

– อีก 2 ปีถัดมา หรือในช่วงปี 1937 ได้ลงทุนสร้างโรงงานที่โตเกียว

– แต่แล้วในปี 1945 ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คุณริอิจิ เอซากิต้องสูญเสียทรัพย์สินและโรงงาน ทั้งในประเทศที่โอซาก้า, โตเกียว และธุรกิจนอกญี่ปุ่นจากระเบิดลง

Glico Japan
กล่องบรรจุภัณฑ์กูลิโกะ คาราเมล ออกแบบรูปคนวิ่งเข้าเส้นชัย เพื่อสื่อถึงสุขภาพที่ดี (Credit: YouTube Glico Thailand)

แม้ทรัพย์สินและโรงงานจะได้รับความเสียหายจากสงครามโลก แต่คุณริอิจิ เอซากิ เชื่อมั่นว่าชื่อ “กูลิโกะ” ยังไม่สูญหาย และเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่า จึงได้ฟื้นธุรกิจกลับมาอีกครั้งภายหลังสงครามสิ้นสุด

– ในปี 1951 ได้สร้างโรงงานโอซาก้า และโตเกียวขึ้นใหม่ และในอีก 2 ปีต่อมาสร้างโรงงานคิวชู

– ปี 1956 ก่อตั้งบริษัท Ezaki Glico Foods และบริษัท Glico Dairy นับเป็นก้าวแรกของการ diversify สู่กลุ่มธุรกิจอาหาร และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มขนม

นับตั้งแต่ช่วงปี 1950s เป็นต้นมา “กูลิโกะ” เดินหน้าผลิตภัณฑ์ขนม-ช็อกโกแลต, กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป, กลุ่มผลิตภัณฑ์นม ทั้งนมพร้อมดื่ม นมผง และโยเกิร์ต สำหรับเด็กเล็ก และผู้ใหญ่, กลุ่มผลิตภัณฑ์ไอศกรีม ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลายผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ได้รับความนิยมทั่วโลก และกลายเป็น Signature ของกูลิโกะมาจนถึงทุกวันนี้

Glico Japan
Credit: YouTube Glico Thailand

เช่น คาราเมล สอดไส้อัลมอนด์ (ปี 1955), อัลมอนด์ ช็อกโกแลต (ปี 1958), เครื่องแกงกระหรี่สำเร็จรูป (ปี 1960), เพรทซ์ (ปี 1962), กูลิโกะโคน ปัจจุบันคือไจแอนท์ คาปุลิโกะ, ป๊อกกี้ (ปี 1963), ป๊อกกี้ (ปี 1966), ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Kenkou (ปี 1969), พุดดิ้ง (ปี 1972), นมพร้อมดื่ม (ปี 1973) เป็นต้น

จากผลิตภัณฑ์แรกคือ ลูกอมรสคาราเมล ได้ขยาย “อาณาจักรกูลิโกะ” เติบโตเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมช็อกโกแลต อาหาร และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมรายใหญ่ของญี่ปุ่น พร้อมการลงทุนในตลาดต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือ “ประเทศไทย” ตลาดยุทธศาสตร์สำคัญของกูลิโกะ

Glico
Photo Credit: Nattee Chalermtiragool / Shutterstock.com

 

“ไทย” ตลาดยุทธศาสตร์ของกูลิโกะ

– ปี 1970 ก่อตั้ง “บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด” ถือเป็นประเทศแรกในที่ “กูลิโกะ ญี่ปุ่น” ขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ (หลังการฟื้นฟูธุรกิจนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ​ และมีโรงงานผลิต 2 แห่งที่โรงงานบางกระดี สวนอุตสาหกรรมบางกระดี และโรงงานรังสิต ปทุมธานี 

– สินค้าแรกที่กูลิโกะวางจำหน่ายในไทยคือ “เพรทซ์” ในปี 1971

– ปี 1972 เริ่มจำหน่ายป๊อกกี้

– ปี 1980 สินค้าที่ผลิตจากในไทย เริ่มส่งออกไปยังอินโดนีเซีย

– ปี 2016 ก่อตั้ง “บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น จำกัด” และเริ่มจำหน่ายไอศกรีม

ปี 2023 ขยายพอร์ตโฟลิโอในไทย เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม (Dairy Product) เริ่มจำหน่ายนมกูลิโกะ “อัลมอนด์ โคกะ (Almond Koka) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2014 โดยปัจจุบันเป็นอันดับ 1 ในตลาดนมพร้อมดื่มทางเลือกในญี่ปุ่น ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 80%

“เหตุผลที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ลงทุนตลาดไทย เนื่องจากเห็นศักยภาพของตลาด และผู้บริโภคไทย เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ตลาดไทยจะเป็น priority ลำดับแรกๆ” คุณเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด เล่าถึงประเทศไทยเป็นตลาดยุทธศาสตร์ของกูลิโกะ ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ยอดขายผลิตภัณฑ์ Top 5 ของกูลิโกะในไทยปีที่ผ่านมา ได้แก่ ป๊อกกี้, พีจอย, เพรทซ์, แอลฟี่ และไอศกรีมพาลิตเต้

Glico Pretz
Photo Credit: TY Lim / Shutterstock.com

 

วิเคราะห์ 5 กลยุทธ์ “กูลิโกะ” ครองใจมหาชนมายาวนาน

ถึงปัจจุบัน “กูลิโกะ” สำนักงาน 18 แห่งใน 22 ประเทศ เช่น ไทย (ปี 1970), ฝรั่งเศส (ปี 1982), แคนาดา (ปี 1987), เซียงไฮ้ จีน (ปี 1995), สหรัฐฯ (ปี 2003), เกาหลี (ปี 2011), เวียดนาม (ปี 2012), อินโดนีเซีย (ปี 2014), มาเลเซีย (ปี 2014) เป็นหนึ่งใน Global Company ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน โดยกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้กูลิโกะเป็นรู้จัก และสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค ประกอบด้วย 5 กลยุทธ

1. Brand Reputation สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

ด้วยชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ “กูลิโกะ” มายาวนาน 1 ศตวรรษนับตั้งแต่ก่อตั้งที่ประเทศญี่ปุ่น และ 52 ปีในไทย ผู้บริโภคจึงรู้จัก คุ้นเคย และให้ความเชื่อถือในแบรนด์ สิ่งนี้เป็น Asset สำคัญของแบรนด์ในการต่อยอดขยายธุรกิจ ไม่ว่าจะในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในไทย

2. ความแข็งแกร่งของพอร์ตโฟลิโอ พร้อมลุยตลาดนมอัลมอลด์ในไทย

จากผลิตภัณฑ์ตัวแรก กูลิโกะ คาราเมล ลูกอมรสคาราเมล ถึงวันนี้ “กลุ่มบริษัทกูลิโกะ” ทั่วโลกได้ขยาย Business Portfolio ดังนี้

– กลุ่มธุรกิจขนม ของหวาน และอาหารแปรรูป คิดเป็นสัดส่วน 22%

– กลุ่มธุรกิจไอศกรีม คิดเป็นสัดส่วน 26%

– กลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม คิดเป็นสัดส่วน 22%

– กลุ่มวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร คิดเป็นสัดส่วน 4%

– ธุรกิจในต่างประเทศทั่วโลก 20%

– อื่นๆ 6%

Glico Japan
Credit: YouTube Glico Thailand

ขณะที่ไทยกูลิโกะ ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจคือ

– ช็อกโกแลตและของหวาน

– ไอศกรีม

– ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม เป็นกลุ่มธุรกิจล่าสุดที่ได้เพิ่มเข้ามาในตลาดไทย เพื่อรุกตลาดกลุ่มสินค้า Health & Wellness ด้วยผลิตภัณฑ์นมอัลมอนด์ UHT ภายใต้แบรนด์ “อัลมอนด์ โคกะ” ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กูลิโกะ ตัดสินใจนำแบรนด์นี้จากญี่ปุ่น มาผลิตในไทย โดยจ้างโรงงานผลิตให้ (OEM) เพื่อบุกตลาด Plant-based Milk หรือ Cereal Milk ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยในปี 2022 ตลาด Plant-based Milk หรือ Cereal Milk มีมูลค่ากว่า 960 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตไปสู่มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท โดยในตลาดผลิตภัณฑ์นมทางเลือกเหล่านี้ กว่า 70% เป็นเซ็กเมนต์นมอัลมอลด์ที่ครองตลาด

Glico Almond Koka

สำหรับกลยุทธ์การตลาด และการขาย เน้นสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโฆษณา และกิจกรรมการตลาด มีทั้งหนังโฆษณา, พรีเซนเตอร์ “ใหม่-ดาวิกา”, สื่อนอกบ้าน, สื่อ ณ​ จุดขาย และแคมเปญ 30-day-challenge เพื่อปลุกกระแสการเป็นเครื่องดื่มสำหรับทุกวัน

รวมทั้งกระจายผ่านช่องทางการขาย ทั้ง Modern Trade, Traditional Trade และร้าน Organic Store ในราคากล่องละ 25 บาท ขนาด 180 มล. และแพคละ 74 บาท (1 แพค มี 3 กล่อง) นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนนี้ เตรียมวางจำหน่าย Pack Size 1 ลิตร

ภายในปีแรกของการทำตลาดอัลมอนด์ โคกะ กูลิโกะตั้งเป้าเป็น Top 3 ของตลาดนมอัลมอลด์ในไทย และเป้าหมายต่อไปต้องการขึ้นเป็นผู้นำตลาดใน 2 – 3 ปีจากนี้

“เหตุผลที่เป็นอัลมอนด์ เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และย้อนกลับไปในอดีต ท่านประธานริอิจิ ผู้ก่อตั้งบริษัท ได้เดินทางไปสหรัฐฯ ในปี 1930 เจออัลมอนด์ที่ผลิตและขายอยู่ในอเมริกา หลังจากนั้นได้นำถั่วอัลมอนด์ กลับมาคิดค้นและพัฒนาเป็นสูตรขนมต่างๆ เช่น อัลมอนด์ ช็อกโกแลต วางจำหน่ายในปี 1955 เพราะฉะนั้นอัลมอนด์เป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักที่กูลิโกะใช้มายาวนาน” คุณเฉลิมพงษ์ ขยายความเพิ่มเติม

Glico Thailand
คุณเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด
3. ราคาเข้าถึงได้ และออก Pack Size หลากหลาย เพื่อเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการบริโภคของทุกคน

นับตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน “กูลิโกะ” ยังคงยึดมั่นในการผลิตและจำหน่ายสินค้าในราคาเข้าถึงได้ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลต, ขนม, ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม ฯลฯ

อย่างผลิตภัณฑ์นมอัลมอนด์ โคกะ บริษัท ไทยกูลิโกะ ได้จ้างโรงงาน OEM ในไทยผลิตให้ โดยใช้สูตรเดียวกับที่ญี่ปุ่น และควบคุมมาตรฐานเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เพื่อทำให้สินค้าอยู่ในระดับราคาจับต้องได้

ขณะเดียวกันมีการออก Pack Size หลากหลาย อย่างในไทย เช่น ป๊อกกี้, เพรทซ์, พีจอย มีทั้งขนาดมาตรฐาน, ขนาดกล่องเล็ก, แบบซอง, แบบแชร์แพ็ค เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกโอกาสการรับประทานมากขึ้น และทุกช่องทางการขาย

Glico Pocky
Photo Credit: Opasbbb / Shutterstock.com
4. ปูพรมทุกช่องทางการขาย

อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักของ “กูลิโกะ” คือ ความแข็งแกร่งด้าน Channel Distribution หรือการกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการขายต่างๆ ทั้ง Modern Trade, Traditional Trade, Online และอย่างในญี่ปุ่น ก็มีการจำหน่ายผ่าน Vending Machine

5. สื่อสาร และแคมเปญกิจกรรมการตลาด

กูลิโกะ เป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร และแคมเปญกิจกรรมการตลาด ดังจะเห็นได้จากหนังโฆษณาแบรนด์ต่างๆ ของกูลิโกะในอดีต ถึงปัจจุบัน ผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น ทีวี, สื่อนอกบ้าน สื่อโฆษณา ณ จุดขาย และในยุคดิจิทัลได้สื่อสารผ่านช่องทาง Social Media มากขึ้น ตลอดจนการจัดแคมเปญกิจกรรมการตลาด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

Glico Almond Koka
ใหม่-ดาวิกา พรีเซนเตอร์แบรนด์อัลมอนด์ โคกะ

 

รู้จัก 7 หลักการทำงาน “กูลิโกะ” รากฐานสร้างองค์กร 100 ปี

ในปี 2022 “กูลิโกะ” เดินทางมาถึงหลักไมล์ครบ 100 ปี และปีนี้เข้าสู่ปีที่ 101 แล้ว ถือเป็นหนึ่งใน Global Company ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน ผ่านยุคสมัยและเหตุการณ์สำคัญของโลกมาแล้วมากมาย

หัวใจสำคัญที่ทำให้ทั้งองค์กร และผลิตภัณฑ์ของ “กูลิโกะ” เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และครองใจผู้บริโภคทั้งชาวญี่ปุ่น ชาวไทย และผู้คนทั่วโลก มาจากการวางรากฐานหลักการทำงาน ประกอบด้วย 7 หลักการ (7 Principles) คือ

1. 創意工夫 : Creativity พิจารณาในทุกความเป็นไปได้ ด้วยการเปิดใจ และค้นหาวิธีการที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างความแตกต่าง ดังเช่นการพัฒนากูลิโกะ ลูกอมรสคารเมลที่ คุณริอิจิ ผู้ก่อตั้งกูลิโกะ เชื่อว่าจะขายได้ แม้ต้องใช้เวลาและการลงทุน โดยประยุกต์ใช้กลยุทธ์อย่างชาญฉลาด ทั้งการตั้งชื่อกูลิโกะ (Glico) คล้องตามชื่อสารอาหารไกลโคเจน (Glycogen), การทำลูกอมเป็นรูปทรงหัวใจ, สีของบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น และการออกแบบสัญลักษณ์ของแบรนด์เป็นรูปนักวิ่งเข้าเส้นชัย ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งใน Iconic ที่ทรงพลังในระดับโลก ตลอดจนกลยุทธ์ของแถมเป็นของเล่นมาในกล่องขนม โฆษณาสื่อสารการตลาด และกิจกรรมส่งเสริมการขาย

ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง Purpose ของแบรนด์ที่ต้องการส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้คน ซึ่งเป็นรากฐานของกูลิโกะตั้งแต่ก่อตั้ง โดยในปี 2022 ครบรอบ 100 ปี กูลิโกะ ญี่ปุ่นได้ประกาศ Company Purpose “Healthier days, Wellbeing for life” การมีชีวิตสุขภาพที่ดี และอยู่ดีกินดี

Glico_Ezaki Ri-chi_founder
คุณริอิจิ เอซากิ ผู้ก่อตั้งกูลิโกะ (Photo Credit: www.glico.com)

2. 積極果敢 : Proactiveness ถ้าคุณพึงพอใจกับความสำเร็จเพียงครั้งเดียว คุณจะพลาดโอกาสในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะฉะนั้นในปรัชญาการทำงานของ คุณริอิจิ เชื่อในการรักษาโมเมนตัมของการทำงานเชิงรุก และไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไปได้

ตัวอย่างของการทำงานเชิงรุกด้วยความกระตือรือร้น เช่น การขยายช่องทางการขาย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงขึ้น ด้วยการพัฒนาตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งต่อมาได้ถูกต่อยอดเป็นธุรกิจ “Office Glico” บริการติดตั้งจุดจำหน่าย หรือจุดให้บริการขนมขบเคี้ยว อาหาร เครื่องดื่มตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่ทำงาน ร้านค้า โรงงาน โรงพยาบาล

3. 不屈邁進 : Perseverance ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก บทเรียนที่คุณริอิจิได้เรียนรู้ หลังจากวางจำหน่ายลูกอมรสคาราเมล แต่ปรากฏว่ายอดขายไม่เติบโตตามที่คาดหวังไว และบริษัทประสบปัญหาด้านการเงิน อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่นของคุณริอิจิ ที่เชื่อว่ามีคนจำนวนมาก ต้องการผลิตภัณฑ์ลูกอมคาราเมลที่ให้คุณค่าโภชนาการ ทั้งคุณริอิจ และทีมงานพยายามอย่างหนักในการนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่ตลาด กระทั่งผ่านไป 2 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท ในเดือนมิถุนายน ปี 1924 กูลิโกะสามารถสร้างผลกำไรเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ!

4. 質実剛健 : Diligence ให้คุณค่ากับแก่นที่แท้จริงของสิ่งของ หรือเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม คุณริอิจิ เชื่อในการกำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทยานอยู่เสมอ ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตที่ดี และทัศนคติที่ดี ด้วยแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีสมดุล ทั้งโภชนาการ การจัดสรรเวลาการทำงาน และการนอน แม้จะมีความท้าทาย หรือปัญหาธุรกิจเข้ามา แต่เมื่อถึงเวลาเข้านอน จะพักสมอง เพื่อให้นอนหลับสบายตลอดคืน สอดคล้องกับแนวคิดการทำงานในปัจจุบันในการรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพ กับการบริหารจัดการประสิทธิภาพการทำงาน

Glico
Photo Credit: Pabkov / Shutterstock.com

5. 勤倹力行 : Prudence ลงทุนในสิ่งจำเป็น และหลีกเลี่ยงการใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากรที่เปล่าประโยชน์ หลังจากกูลิโกะ คาราเมล วางจำหน่ายในห้างฯ มิทสึโคชิ ที่โอซาก้า จากนั้นได้ทยอยกระจายไปยังช่องทางร้านค้าต่างๆ แต่ในช่วงแรกที่ผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้การตอบรับที่ดีจากตลาด เงินทุนเริ่มลดน้อยลง ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน, ค่าโฆษณา เพื่อผ่านช่วงเวลายากลำบาก คุณริอิจิ และพนักงานบริษัท ร่วมแรงร่วมใจกันลดค่าใข้จ่าย จนกว่าบริษัทจะมีกำไร โดยสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การประหยัดเท่านั้น แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในเจตจำนงของบริษัท ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง

6. 協同一致 : Cooperation ทำงานร่วมกันเป็นทีม และเชื่อใจกัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรัพย์สินและโรงงานของกูลิโกะทั้งในญี่ปุ่น และต่างประเทศได้รับความเสียหายทั้งหมด แต่คุณริอิจิ ไม่ย่อท้อ โดยเชื่อมั่นว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่แม้แต่สงครามก็ไม่อาจทำลายลงได้ คือ ชื่อกูลิโกะ, โลโก้ และความไว้วางใจที่สร้างด้วยหัวใจและจิตวิญญาณมามากว่า 20 ปีที่ผ่านมา คุณริอิจิ พร้อมด้วยพนักงานได้ผนึกกำลังกัน เพื่อนำพาบริษัทกลับมายืดหยัดอีกครั้ง

7. 奉仕一貫 : Contribution สร้างความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งบริษัทและลูกค้า นั่นคือ บริษัทขายสินค้าเพื่อมีผลกำไร ขณะที่ลูกค้าซื้อสินค้าได้ประโยชน์จากสินค้าที่ดี มีคุณภาพ โดยคุณริอิจิ เชื่อว่าเขาสามารถส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้คนผ่านอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ

ทั้ง 7 หลักการทำงานดังกล่าว เป็นแนวทางกูลิโกะที่สืบทอดจากยุคก่อตั้ง มาถึงปัจจุบันที่ครบ 1 ศตวรรษ เติบโตเป็น Global Company – Global Brand โดยในประเทศไทยถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 52 ที่กูลิโกะ และแบรนด์ต่างๆ ในพอร์ตโฟลิโออยู่กับคนไทยมายาวนาน 

Glico Thailand
ผู้บริหารไทยกูลิโกะ

 

Source: Thai Glico, Glico Global 


  • 267
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ