แบรนด์จับเทรนด์ “Generative AI” พัฒนาสินค้า และสร้าง Gimmick การตลาด เข้าถึงคนรุ่นใหม่ Gen Z

  • 53
  •  
  •  
  •  
  •  

Brand-Generative-AI

แบรนด์ และนักการตลาด ไม่เพียงแค่ปรับตัวให้ทันต่อความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ยังต้องพร้อมเรียนรู้ และปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ เช่นการเกิดขึ้นของ Generative AI เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่สร้างข้อความ, ภาพ,​ เสียง, วิดีโอ, โค้ด และอื่นๆ อีกมากมาย

ปัจจุบัน Generative AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในสายงานต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ แวดวงธุรกิจและการตลาด พบว่าแบรนด์ได้นำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และการสื่อสารของแบรนด์

 

 

รู้จัก Generative AI ครีเอทคอนเทนต์ภาพ-เสียงข้อความ

Generative Artificial Intelligence หรือ Generative AI คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่สร้างผลลัพธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความ, ภาพ,​ เสียง, วิดีโอ, โค้ดคอมพิวเตอร์ ฯลฯ จากชุดข้อมูล ชุดคำสั่ง หรือคำอธิบายที่มนุษย์ป้อนเข้าไป (Input Prompts) โดย Generative AI ถูกฝึกให้เรียนรู้สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร บทความ, ภาพวาด, ภาพยนตร์, บทละคร และสิ่งอื่นใดก็ตามที่สามารถเก็บไว้ใน database ที่ AI เข้าถึงได้ แล้วประมวลผลออกมาเป็นคอนเทนต์ที่เป็นของตัวเอง

ทุกวันนี้มี Generative AI หลากหลายประเภทจากหลายนักพัฒนา เช่น ChatGPT และ GPT-4 ของค่าย Open AI เป็น Chatbot AI, Midjourney และ DALL-E เป็น Image Generation AI, Codex เป็น Computer Coding Generative AI และอีกมากมาย ถูกนำไปสร้างชิ้นงานใหม่ให้กับวงการต่างๆ

– ข้อความ เช่น ข่าว, บทความ, บทกลอนและบทกวี, ข้อความโฆษณา (copywriting)

– ภาพ เช่น ภาพบุคคล, ภาพทิวทัศน์, ภาพจิตนาการเหนือจริง

– เสียง เช่น เพลง, ซาวด์เอฟเฟกต์, เสียงพากษ์

– เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์

Generative-AI_ChatGPT

ด้วยความสามารถดังกล่าวนี่เอง จึงมีการจับตามองกันว่า Generative AI จะมาดิสรัปต์ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งในวงการโฆษณา, ศิลปะและการออกแบบ ช่วยศิลปิน และดีไซเนอร์สร้างสรรค์ผลงานใหม่,​ วงการบันเทิง ช่วยสร้างวิดีโอเกมใหม่, ภาพยนตร์, รายการทีวี ทำให้ครีเอเตอร์เข้าถึงกลุ่มผู้ชมใหม่ หรือแม้แต่ในแวดวงการตลาด

อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่า Generative AI จะกระทบต่อตลาดงาน แต่ในอีกมุมหนึ่งสร้าง positive impact ต่อตลาดงานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น AI ลดการทำงานซ้ำซาก ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้เร็วขึ้น และทำให้มีเวลาไปสร้างสรรค์งานที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น

มาดูกันว่าปัจจุบันในไทยมีแบรนด์ไหนที่นำเทคโนโลยี Generative AI มาประยุกต์ใช้การพัฒนาสินค้า การตลาดและการสื่อสารกันบ้าง ?!?

Generative-AI 

 

McDonald’s” ใช้ ChatGPT หาคำตอบไก่ทอดที่อร่อยสมบูรณ์แบบของ AI สร้าง Gimmick การตลาด

ไม่รอช้าที่จะจับกระแสเทรนด์ ChatGPT สำหรับแบรนด์ McDonald’s(แมคโดนัลด์) ในการสร้าง Gimmick การตลาด เพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์แมคไก่ทอด พร้อมทั้งตอกย้ำจุดขาย และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z

ด้วยการทดลองทำการค้นหาคำว่า ไก่ทอดที่อร่อยสมบูรณ์แบบนั้นเป็นอย่างไร จากนั้น AI Chat Bot ให้ข้อมูลว่า ไก่ทอดที่สมบูรณ์แบบ คือไก่ทอดที่กรอบนอก เนื้อชุ่มฉ่ำด้านใน มีรสชาติที่อร่อยเข้าเนื้อ

McFried-Chicken-ChatGPT

คุณพัชนีวรรณ ตันประวัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท แมคไทย จำกัด คำตอบจาก ChatGPT ตรงกับความอร่อยของแมคไก่ทอด ที่เราได้มีการพัฒนาปรับปรุงสูตร เพื่อให้โดนใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

“นอกจากการพัฒนาแมคไก่ทอดใหม่แล้ว แมคโดนัลด์ยังสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดและโปรโมชั่นที่คุ้มค่า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของลูกค้าทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่คือ Gen Z และกลุ่มลูกค้าครอบครัวที่ชื่นชอบการกินไก่ทอด เพื่อให้แมคไก่ทอดเป็นอีกหนึ่งเมนูสุดโปรดของลูกค้าต่อไป

เราได้จัดงาน แมคไก่ทอด ท้าให้ลอง ไก่ทอดที่อร่อยสมบูรณ์แบบของ AI เพื่อให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ ได้มาท้าพิสูจน์ร่วมกันว่า แมคไก่ทอดของเรา มีคุณสมบัติความอร่อยตรงกับที่ AI ได้ให้คำนิยามไว้”

McFried-Chicken-ChatGPT

 

“มาม่า” จับกระแส ChatGPT ต่อยอดไอเดียทำหนังโฆษณา

ด้วยความสดใหม่และน่าสนใจของ ChatGPT ทำให้ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” (MAMA) นำ ChatGPT มาต่อยอดไอเดียจัดทำเป็นภาพยนตร์โฆษณาให้กับผลิตภัณฑ์ มาม่า โอเค” (MAMA OK) เปิดตัว 2 รสชาติใหม่ “หม่าล่าเนื้อ” และ“เห็ดทรัฟเฟิล” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่ม Gen Z โดยตรง

เป็นความตั้งใจจับเทรนด์ใหม่นำมาสื่อสารผ่านแคมเปญให้เข้าถึงแบบ Real Content โดยนำไอเดียจาก AI แบบถามจริง ตอบจริง เข้ามาช่วยสร้างสีสัน เพื่อดึงดูดคน Gen Z ที่ชอบความแปลกใหม่และไม่หยุดยิ่งกับสิ่งเดิม ๆ เป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับแบรนด์ มาม่า โอเค (MAMA OK) อีกด้วย

MAMA OK ChatGPT

นับเป็นไอเดียในการทำภาพยนตร์โฆษณารูปแบบใหม่ โดยครีเอทีฟของแบรนด์ ได้เข้า ChatGPT ป้อนคำถามเกี่ยวกับคิดวิธีการขายสินค้า วิธีการนำเสนอสินค้าอย่างไรให้ตรงใจกลุ่มคนรุ่นใหม่และเกิดกระแส ซึ่ง Chat GPT ได้ตอบมาทั้งในส่วนของ Storyline / Gimmick ต่าง ๆ

สุดท้ายได้นำไอเดียนั้นมาต่อยอดถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์โฆษณา มาม่า โอเค 2 รสชาติใหม่ โดยผลงานจะถูกต่อยอดทั้งภาพนิ่งที่จะขึ้นดิจิทัล บิลบอร์ด บนจอยักษ์ย่านใจกลางเมืองทั่วกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็น ลานพาร์ค พารากอน อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทางด่วนดินแดง สามย่าน แยกอโศก ตึกอิตัลไทย ถ.เพชรบุรี และ MRT-BTS สุขุมวิท ตั้งแต่วันที่ 16 – 31 มีนาคม 2566 และนอกจากภาพยนตร์โฆษณาแล้ว ยังเตรียมเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนล่าสุด ส่วนจะเป็นใครนั้น เร็ว ๆ นี้ได้รู้กันอย่างแน่นอน สามารถติดตามภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ได้ทาง https://bit.ly/40AuQBY

MAMA OK ChatGPT

 

เปิดตัว “ขายหัวเราะ ฉบับ AI” เนื้อเรื่อง-ภาพมุกโดย AI มิติใหม่วงการการ์ตูนไทย

“ขายหัวเราะ” แบรนด์การ์ตูนความฮาสามัญประจำบ้านที่อยู่กับชาวไทยมา 50 ปี ล่าสุดเปิดตัว “ขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta > การ์ตูนแก๊กเล่มแรกในวงการการ์ตูนไทยที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการสร้างสรรค์เรื่องและภาพทั้งเล่ม คิดมุก วาดแก๊กการ์ตูนเชิงอารมณ์ขัน รวมถึงตีความปกและ logo ขายหัวเราะใหม่ Prompt อารมณ์ขันโดยทีมขายหัวเราะ ชวนแฟนๆ การ์ตูนสำรวจอารมณ์ขันของ AI ยุคปัจจุบัน

โดย “ขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta > นี้ เป็นการตีความสร้างสรรค์คอนเทนต์ขายหัวเราะที่แฟนๆ คุ้นเคย เช่น แก๊กการ์ตูน ขำขัน เรื่องสั้น ขึ้นใหม่โดย AI ซึ่งนอกจากการคิดและวาดการ์ตูนแก๊กแล้ว สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ อารมณ์ขันของ AI โดยในโปรเจ็กต์นี้ ทีมขายหัวเราะเปลี่ยนบทบาทจาก ผู้สร้างสรรค์อารมณ์ขันและการ์ตูน” มาเป็น “ผู้ prompt (ป้อนคำสั่ง) อารมณ์ขันและการ์ตูน” แทน นับเป็นความร่วมมือมิติใหม่ของมนุษย์และ AI ในวงการคอนเทนต์ การ์ตูนไทย

“เราพยายามให้เนื้อหาขายหัวเราะ ฉบับ AI เล่มแรกนี้เป็นไปตามธรรมชาติที่แท้จริงของ AI มากที่สุด โดยทีมขายหัวเราะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ป้อนคำสั่ง รวบรวม และเชื่อมต่อในส่วนที่ AI เวอร์ชั่นปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม รวมถึงงานบรรณิการ ผ่านมุมมองความเชี่ยวชาญของทีม

เพราะฉะนั้น แฟนๆ การ์ตูนจะได้เห็นความสามารถที่แท้จริงของ AI ปัจจุบัน ซึ่งโปรเจ็กต์ดังกล่าว เกิดจากการตั้งคำถามของทีมงานว่า ในเมื่อ AI สามารถตอบคำถามได้มากมาย แล้ว AI จะมีอารมณ์ขันรึเปล่า จึงได้เริ่มทำโปรเจกต์ในรูปแบบเป็น sandbox เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ขันของ AI ซึ่งเราคงได้เรียนรู้การปรับตัวแบบใหม่ๆ ของทั้งเทคโนโลยี และมนุษย์อีกมากมายในอนาคต” คุณพิมพ์พิชา อุตสาหจิต ตัวแทนทีมขายหัวเราะ เล่าถึงที่มาของขายหัวเราะ ฉบับ AI

ทั้งนี้ ปัจจุบันบทบาท AI ในฐานะผู้สร้างสรรค์กำลังเป็นปรากฏการณ์ในวงการต่างๆ ทั่วโลก โดยวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ก็เพิ่งเปิดตัววางจำหน่ายการ์ตูนมังงะเล่มแรกที่ใช้ AI วาดภาพประกอบทั้งเล่ม (Cyberpunk: Peach John) เช่นกันเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับ “ขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta > ไซส์พิเศษ จำนวน 32 หน้า (ไม่รวมปก) พิมพ์สี่สีสวยงามทั้งเล่ม ผลิตจำนวนจำกัด ​Limited Edition สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายนเท่านั้น โดยแจกฟรีเฉพาะที่บูธขายหัวเราะ (บูธ i30) สำหรับผู้ที่ซื้อของในบูธครบ 555 บาท หรือหากแฟนๆ ท่านไหนอยากสะสมพิเศษก็สามารถซื้อแยกได้ในราคาอารมณ์ดี 55 บาท

Khai AI_comic

 

3 เหตุผลแบรนด์ใช้ “Generative AI” พัฒนาสินค้าการตลาด พร้อมทักษะใหม่ “T-Shaped Skill” รู้กว้างรู้ลึกที่นักการตลาดนักโฆษณาต้องมี

จากนิยามของ Generative AI ถึงตัวอย่างแบรนด์ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด ร่วมกับมนุษย์ เพื่อตอบโจทย์เหตุผลทางธุรกิจดังนี้

1. เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัย และตอกย้ำความเป็นแบรนด์เปิดรับเทคโนโลยีใหม่

2. ผสานเทคโนโลยี ร่วมกับมนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์สินค้า-บริการใหม่ รวมทั้งสร้าง Gimmick การสื่อสาร เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

3. เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่แบรนด์ต้องการขยายฐาน ประกอบกับผู้บริโภคกลุ่มนี้สามารถ adopt และ adapt การใช้งานเทคโนโลยีได้เร็ว

จากการขยายตัวของ Generative AI จำเป็นอย่างยิ่งที่นักการตลาด นักโฆษณาต้องปรับตัว ในงาน Exclusive Forum ในหัวข้อ “Transformative Marketing Trends to Watch in 2023 by MTX” ฉายภาพเทรนด์ Only paranoid marketer survived – นักการตลาดต้องพร้อมเรียนรู้และปรับตัวเสมอ

นักการตลาดเป็นตำแหน่งงานที่ต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว เพราะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยก่อนหน้านี้นักการตลาดอาจมีบทบาทสูงในช่วงการสร้างผลิตภัณฑ์ (Product) ก่อนที่จะปรับบทบาทสู่ผู้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อขายผ่านการเล่าเรื่อง (Storytelling) หรือการทำให้แบรนด์มีตัวตนในสายตาของผู้บริโภค ก่อนที่ปัจจุบันจะปรับมาสู่การเป็นผู้มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค (Consumer Experience) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่างเรียกร้องทักษะการทำงานที่แตกต่างกันไป

หน้าที่ของนักการตลาดจึงเป็นการวิ่งไล่ตามควาดคาดหวังของผู้บริโภคให้ทัน และปรับทักษะของตัวเองให้พร้อม ทำให้งานของนักการตลาดในยุคปัจจุบันต้องมีทั้งความรู้กว้างและความรู้ลึก หรืออาจเรียกได้ว่า ต้องเป็นผู้มีทักษะแบบ “T-Shaped” (T-Shaped Skill) เพื่อก้าวสู่การเป็นนักการตลาดที่ครบเครื่องและเท่าทันต่อพฤติกรรมของลูกค้าได้

ณ วันนี้เทคโนโลยี AI ไม่ใช่มา replacement แต่เป็นส่วนเติมเต็ม เพราะยังมีอีกหลายมิติการตลาด AI ไม่อาจแทนได้ เช่น มิติเชิงจริยธรรม,​ การประมวลผลจากข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นนักการตลาดต้องไม่ตื่นตระหนก แต่ควรเริ่ม Adapt – Adopt และมี T-Shaped Skill คือ รู้รอบ และรู้ลึก (Horizontal & Vertical) รู้รอบคือ รู้หลายเรื่อง หลายทิศทาง และเรื่องไหนที่เราถนัด ต้องรู้ลึก

ถ้าคุณมี T-Shaped Skill อย่างน้อยคุณจะเปิดใจกับความหลากหลาย และต่อไป T-Shaped Skill จะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารทักษะบุคคลากรในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยหลายองค์กรต้องทำ Reskill – Upskill พนักงาน” คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มด้านการตลาดและนวัตกรรม ของเครือกลุ่มบริษัท เดนท์สุฯ อินเตอร์เนชั่นแนล ฉายภาพการปรับตัวของคนในวงการธุรกิจ การตลาดและการสื่อสารโฆษณา

Generative-AI

 

 

Source: World Economic Forum


  • 53
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ