ตามเมืองใหญ่ของโลกมี “ย่านธุรกิจ-ย่านการค้า” หรือที่เรียกว่า “Central Business District” (CBD) เป็นศูนย์กลางความเจริญ และรวบรวมการใช้ชีวิตอยู่ในย่านเดียวกัน เหมือนเช่น “กรุงเทพฯ” ได้ชื่อว่าเป็นมหานครใหญ่ที่มีผู้มาเยือนอันดับต้นๆ ของโลก
ในอดีตย่านการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ อยู่ที่ “เจริญกรุง – สำเพ็ง – เยาวราช” เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เวลาต่อมาได้ขยายมายัง “โซนสาทร – สีลม” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นย่านธุรกิจ-เศรษฐกิจใหญ่ของประเทศไทย และเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ได้เกิดย่านการค้าใหม่ที่เป็นแหล่งรวมแฟชั่น และไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นคือ “ย่านสยามสแควร์”
กระทั่งทุกวันนี้มหานครแห่งนี้ ได้เกิดย่านการค้าใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ย่านสุขุมวิท, ย่านพระราม 9, ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงในอนาคตย่านบางนา-ตราด จะเป็นทำเลที่มีการขยายตัวสูง ทั้ง supply และ demand
“รถไฟฟ้า” เขย่า Landscape กรุงเทพฯ เกิดย่านการค้าใหม่
การเกิดขึ้นของ “รถไฟฟ้า” เขย่า Landscape กรุงเทพฯ พลิกโฉมครั้งใหญ่ จากในอดีต “ย่านธุรกิจการค้า” กระจุกตัวแต่ในพื้นที่เศรษฐกิจอย่าง “สาทร – สีลม” ที่เป็นแหล่งธุรกิจ และ “สยามสแควร์” แหล่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
แต่หลังจากกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า ทั้ง BTS และ MRT ทำให้เกิด “ย่านการค้าใหม่” เช่น ย่านสุขุมวิท, ย่านพระราม 9, ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงย่านบางนา-ตราด ตามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งมีความครบวงจรของการใช้ชีวิต ทั้งโครงการ Mixed-use Development ประกอบด้วยอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ช้อปปิ้งมอลล์ ที่อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่พัฒนารูปแบบคอนโดมิเนียม เป็นการอยู่อาศัยของมหานครใหญ่ทั่วโลกที่เป็นสังคม Vertical Living ผนวกกับการมีพื้นที่สีเขียว และระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อทั้งทางถนน และระบบราง เพื่อความสะดวก-รวดเร็ว
ความเป็น “ย่านการค้า” จะดึงดูดทั้งความเจริญ การลงทุน และเป็นแหล่งรวมบริษัท-ร้านค้าใหญ่เล็กมากมาย จนทำให้กลายเป็น “Destination” ที่คนไทย และคนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Expat และกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ชีวิต ซึ่งจะสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับที่ดินในย่านการค้านั้นๆ
“สีลม-โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” ความท้าทายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย พลิกโฉมสู่ “Dusit Central Park”
ในขณะที่ความเจริญของความเป็น “เมือง” (Urbanization) ขยายออกไป เมื่อมองกลับมายังย่านเศรษฐกิจสำคัญอย่าง “สีลม” แม้ทุกวันนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางความเจริญ และติดอันดับราคาประเมินสูงสุดในประเทศ ที่
ล่าสุด Matichon Online รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ เผยว่าราคาประเมินที่ดินย่านสีลม เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านบาทต่อตารางวา ขยับไปอยู่ที่ 2 – 3 ล้านบาทต่อตารางวา!!
หนึ่งใน Icon สำคัญอย่าง “โรงแรมดุสิตธานี” ตั้งตระหง่านท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ
แต่ปัจจุบันด้วยความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ก็ทำให้ทั้งย่านสีลม และโรงแรมดุสิตธานี ต้องเผชิญกับความท้าทายใหญ่ คือ การรักษาตำแหน่งการเป็น “Landmark” สำคัญของกรุงเทพฯ
ด้วยเหตุนี้เอง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับ “ย่านสีลม” ที่เชื่อมต่อกับ “พระราม 4” ให้เป็นมากกว่าย่านธุรกิจการค้าทั่วไป ด้วยการสร้าง “อภิมหาโปรเจค” ที่เป็น “แม่เหล็กใหญ่” ดึงผู้คนจากทั่วทุกสารทิศของกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตอยู่ในย่านแห่งนี้ !!!
และนี่คือ ความร่วมมือประวัติศาสตร์ระหว่าง “กลุ่มดุสิต” และ “ซีพีเอ็น” ผนึกกำลังสร้าง Integrated Mixed-use Development “Dusit Central Park” (ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค) ที่ต้องการสร้างโครงการนี้ และพื้นที่สีลม – พระราม 4 ให้เป็น “Super Core CBD” ซึ่งเหนือไปอีกขั้นกว่าย่านสยามสแควร์ – ราชประสงค์ – สุขุมวิท!!
“โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโรงแรมของคนไทย ที่มีมาตรฐานสากล และเป็น Landmark ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งโรงแรมใหม่ การจราจร ขณะเดียวกันมีโครงสร้างบางอย่างของโรงแรมที่สร้างมากว่า 50 ปี ที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำเพียง Renovation
ในขณะที่เรายังคงต้องการสานต่อเจตนารมณ์ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เราจึงต้องปรับตัว โดยมองว่าที่ดินตรงนี้มีศักยภาพสูง เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อการจราจรสำคัญ แทนที่จะทำโรงแรมอย่างเดียว อาจไม่ตอบโจทย์คนเข้ามาใช้บริการได้อย่างเต็มที่
จึงเห็นควรสร้างองค์ประกอบอื่นเข้ามา เช่น ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โดยหาพาร์ทเนอร์ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน ร่วมกันพัฒนาโครงการใหม่ ในชื่อ “Dusit Central Park” ซึ่งเป็น Integrated Mixed-use Project ที่เชื่อมต่อทั้งการใช้ชีวิตภายนอก – ภายในโครงการ และองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันได้” คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เล่าถึงที่มาของความร่วมมือกันยกระดับย่านสีลม – พระราม 4
ทำความรู้จัก “Integrated Mixed-use Development” แนวคิดพัฒนาอสังหาฯ ใหม่
ก่อนที่จะลงรายละเอียดโครงการ “Dusit Central Park” มาทำความรู้จัก “Integrated Mixed-use Development” กันก่อนว่าคำจำกัดความของการพัฒนาโครงการรูปแบบนี้เป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า “Mixed-use Development Project” กันมานานแล้ว และยังคงเป็นหนึ่งในแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เพราะเป็นการพัฒนาที่ดินที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้วยความที่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในรูปแบบ Mixed-use Development มีมูลค่ามหาศาล ผู้พัฒนาส่วนใหญ่จึงเป็น Developer รายใหญ่ที่ลงทุน โดยมุ่งเน้นไปในย่านทำเลสำคัญของเมือง และไม่ได้มองว่าเป็นเพียงการสร้าง “โครงการ” เท่านั้น แต่คือ การสร้าง “เมือง” หรือ “ย่านการค้า” มีทั้งโครงการที่ผสมผสานเข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการที่มีอยู่แล้ว และโครงการที่เข้าไปบุกเบิกสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามองค์ประกอบต่างๆ ของ “Mixed-use Development” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ค้าปลีก, อาคารสำนักงาน, คอนโดมิเนียม หรือโรงแรม ถูกออกแบบบนที่ดินผืนเดียวกัน ทว่ายังไม่เกิดการเชื่อมโยงระหว่าง “สิ่งแวดล้อมภายนอกโครงการ” กับ “องค์ประกอบภายในโครงการ”
อีกทั้งแต่ละองค์ประกอบภายในโครงการ ถูกแยกออกจากกันชัดเจน ไม่ค่อยเชื่อมโยงถึงกันแบบ Seamless ทำให้บรรยากาศ และความรู้สึก หรืออารมณ์ของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโครงการ รู้สึกสะดุด และไม่เชื่อมต่อ
ขณะที่แนวคิดการพัฒนาโครงการรูปแบบ “Integrated Mixed-use Development” เป็นแนวคิดใหม่สำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่มี 3 ส่วนหลัก คือ
1. ความครบวงจรของความเป็น Mixed-use Development มีทั้งพื้นที่ค้าปลีก, อาคารสำนักงาน, ที่พักอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม ตอบโจทย์สังคม Vertical Living และ โรงแรม
2. เน้นการ “เชื่อมโยง” ภายนอก – ภายในโครงการ และองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ของผู้ที่เข้ามาใช้ชีวิตในโครงการแบบ “Seamless Experience”
3. สนับสนุนวิถีชีวิตลดการใช้ทรัพยากรพลังงาน เนื่องจากการออกแบบโครงการแนวคิดนี้ ส่วนใหญ่สนับสนุนให้คนเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทำให้ผู้ที่อยู่ภายในตึก ไม่ต้องขับรถมา ไม่ต้องเสียค่าที่จอดรถ และลดการใช้พลังงานน้ำมันในชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีเวลาเพิ่มขึ้น
ยกระดับ “สีลม-พระราม 4” เป็น “Super Core CBD” เทียบเท่าลอนดอน-นิวยอร์ก
“Dusit Central Park” มูลค่าโครงการ 36,700 ล้านบาท บนที่ดินกว่า 23 ไร่ ตรงมุมถนนสีลม – พระราม 4 พื้นที่ใช้สอย 440,000 ตารางเมตร พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “Here for Bangkok” เป็น Integrated Mixed-use มี 4 องค์ประกอบ คือ
“โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” สร้างขึ้นใหม่ ขนาด 250 ห้อง ความสูง 39 ชั้น เก็บรักษาเรื่องราว Heritage ของดุสิตธานีเดิมเอาไว้ และนำชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ มาใช้ในโครงการ กำหนดสร้างเสร็จปี 2565
“อาคารที่พักอาศัย” นำเสนอความเหนือระดับด้วยวิวแบบพาโนรามาของ “สวนลุมพินี” และวิวเส้นขอบฟ้า ความสูง 69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต บนพื้นที่ 80,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น “Dusit Residences” 159 ยูนิต เจาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหนาเหนือกาลเวลา และความเป็นส่วนตัวสูง และ “Dusit Parkside” 230 ยูนิต เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำงานในเมือง และครอบครัวขนาดเล็ก
โดยที่ที่พักอาศัยเป็นแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาว หรือ Leasehold ระยะเวลารวม 60 ปี (สัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี และต่อสัญญาอีก 30 ปี)
“อาคารสำนักงาน Central Park Offices” พื้นที่ 90,000 ตารางเมตร รองรับตั้งแต่บริษัทที่เป็น Startup ไปจนถึงบริษัทระดับโลก
“ศูนย์การค้า Central Park” บนพื้นที่ 80,000 ตารางเมตร นำเสนอประสบการณ์รีเทลแห่งอนาคต ที่จะสร้าง New Urbanized Lifestyle ระดับเวิลด์คลาส ผสมผสานไลฟ์สไตล์ทั้ง Indoor – Outdoor เข้าด้วยกัน โดยรวบรวมแบรนด์ดังระดับ Icon ของโลก และประเทศไทย
ทั้งอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า จะก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการปี 2566
องค์ประกอบของโครงการจะเชื่อมโยงกัน เพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกัน เช่น การออกแบบพื้นที่ส่วนต่างๆ ทั้งส่วนรีเทล, โรงแรม และอาคารสำนักงาน เชื่อมต่อกัน ในขณะที่ส่วนที่พักอาศัย ยังคงรักษาขอบเขตความเป็นส่วนตัว
ผนวกรวมเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยรอบ เช่น พื้นที่สีเขียวอย่างสวนลุมพินี และระบบคมนาคม ทั้งบนดิน ลอยฟ้า และใต้ดิน
“เราต้องการให้องค์ประกอบของโครงการ เมื่อมองภาพรวมแล้วจะช่วยเติมเต็มแต่ละส่วนซึ่งกันและกัน เช่น อาคารสำนักงาน มีคนทำงานจันทร์ ถึงศุกร์ ส่วนคนช้อปปิ้งมาวันเสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งจะแตกต่างจากโครงการ Mixed-use ทั่วไปที่แต่ละองค์ประกอบแยกส่วนตัว” คุณศุภจี อธิบายเพิ่มเติม
โดยเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโครงการ “Dusit Central Park” คือ การยกระดับย่านสีลม – พระราม 4 ให้เป็นมากกว่าย่าน CBD และ Mixed-use Project ทั่วไป แต่เป็น “Super Core CBD”
ความหมายของคำว่า “Super Core CBD” คือ การเป็น Hub เชื่อมโยงย่านสำคัญต่างๆ ของเมือง โดยใช้ความได้เปรียบด้าน “โลเกชั่น” และ “ระบบคมนาคม” มาสร้างให้ย่านนั้นๆ เป็นทั้งจุดศูนย์กลาง และเชื่อมต่อกับย่านอื่นๆ พร้อมทั้ง “ความครบวงจร” ของการใช้ชีวิตอยู่ที่ย่านนั้นๆ
“กลุ่มดุสิต” และ “ซีพีเอ็น” มองว่าโครงการนี้จะเป็นหมุดหมาย หรือจิ๊กซอว์สำคัญที่เชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญ จากทั้ง 4 ทิศของกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งตรงสู่ “ใจกลางเดียว” ได้แก่ ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ / เจริญกรุงทางทิศใต้ / สุขุมวิททางทิศตะวันตก / เยาวราชทางทิศตะวันตก
4 เหตุผล ทำไม “กลุ่มดุสิต – เซ็นทรัล” มั่นใจจะอัพเกรด “สีลม-พระราม 4” เป็น Super Core CBD
ปัจจัยหนุนที่ “กลุ่มดุสิต” และ “ซีพีเอ็น” มั่นใจว่าจะยกระดับย่านนี้ให้เป็น “Super Core CBD” เช่นเดียวกับย่านดังระดับโลกอย่าง “ลอนดอน” หรือ “นิวยอร์ก ซิตี้” ประกอบด้วย
1. โลเกชัน ใจกลางเมืองเชื่อมต่อย่านสำคัญของกรุงเทพฯ และความพร้อมทั้งระบบคมนาคม “BTS – MRT”
โครงการ “Dusit Central Park” ทางกลุ่มดุสิต และซีพีเอ็น มองว่าจะเป็นหมุดหมาย หรือจิ๊กซอว์สำคัญที่เชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญ จากทั้ง 4 ทิศของกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งตรงสู่ “ใจกลางเดียว” ได้แก่ ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ / เจริญกรุงทางทิศใต้ / สุขุมวิททางทิศตะวันตก / เยาวราชทางทิศตะวันตก
“การเชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญจาก 4 ทิศของกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ใจกลางเดียว ทำให้เกิด “The New Junction” ที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญของกรุงเทพฯ และเชื่อมให้ทุกย่านรอบๆ นี้เติบโตไปพร้อมกัน ทำให้โครงการนี้ เป็นจุดกลางเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งย่านเก่า – ย่านใหม่ รวมถึงย่าน Financial เข้ากับย่าน Commercial
เพื่อช่วยยกระดับผังเมืองกรุงเทพฯ ให้เชื่อมต่ออย่างลงตัว ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจ และไลฟ์สไตล์ ทั้งการมีที่พักอาศัย ทำงาน ช้อปปิ้ง และสวนสาธารณะขนาดใหญ่สุดของกรุงเทพฯ” คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าว
2. Heritage – Design ของสถานที่ สร้างเอกลักษณ์แตกต่างจากอภิมหาโครงการ Mixed-use อื่นโดยรอบ
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันในย่านสามย่าน เชื่อมต่อพระราม 4 กำลังจะเกิด “3 อภิมหาโปรเจค” ที่เป็น Mixed-use Development ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่สร้างตามแนวรถไฟฟ้า MRT จากสถานีสามย่าน – สถานีลุมพินี – สถานีคลองเตย และสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้แก่
ถ้าเริ่มจาก “สามย่าน” จะเจอกับโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” จากนั้นขยับขึ้นไปบริเวณหัวมุมถนนวิทยุ ตัดกับถนนพระราม 4 และติดกับสวนลุมพินี จะเป็นที่ตั้งของโครงการ “One Bangkok” และเมื่อมุ่งหน้าตรงไป จะเจอโครงการ “The PARQ” ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ – อาคาร FYI Center – สวนสาธารณะเบญจกิติ
โดยทั้ง 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 148,500 ล้านบาท !!! (สามย่านมิตรทาวน์ มูลค่าลงทุน 8,500 ล้านบาท / One Bangkok กว่า 120,000 ล้านบาท / The PARQ กว่า 20,000 ล้านบาท)
ด้วยความใหญ่ จึงมี “พลังดึงดูด” มหาศาล !!
ขณะเดียวกันถนนพระราม 4 ยังคู่ขนานกับ “ถนนสุขุมวิท” โดยมีซอยที่สามารถทะลุไปยังย่านสุขุมวิทได้ ซึ่งบนย่านสุขุมวิท มีโครงการ “The EM District” ที่ประกอบด้วย 3 โครงการใหญ่ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป
แม้ต้องเจอกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ แต่ “กลุ่มดุสิต” และ “ซีพีเอ็น” มั่นใจว่า จะสามารถแจ้งเกิดโครงการ “Dusit Central Park” และทำให้โครงการนี้เป็นจุดศูนย์กลางของย่านสีลม – พระราม 4 โดยใช้ความได้เปรียบของสถานที่ที่มีเรื่องราว “Heritage” บวกกับ “ดีไซน์” และโลเกชันที่เป็นจุดเชื่อมต่อทั้ง BTS – MRT
“เรามองว่าทำเลที่ตั้งของโครงการ Dusit Central Park เป็นจุดตัดของการเดินทาง ทั้ง BTS และ MRT และทุกอาคารของโครงการ ออกแบบให้มองเห็นสวนลุมพินีได้ 100% ผนวกกับสถาปัตยกรรมที่เอา Heritage ตำนานของโรงแรมดุสิตธานีเข้ามา ใช้ในการออกแบบโรงแรมโฉมใหม่ และที่พักอาศัย เมื่อประกอบรวมกันทั้ง 4 ส่วน
จะทำให้โครงการนี้ โดดเด่นไม่เหมือนใคร และยกระดับให้ย่านนี้เป็น Super Core CBD เติมเต็มย่านสีลมให้เป็น Urbanized Lifestyle ที่ไม่เคยหลับใหล” คุณศุภจี อธิบายเพิ่มเติม
3. Integrated Mixed-use Project ที่ดึงจุดแข็ง “Hospitality” เข้ามาให้บริการลูกค้า
ภายใต้แนวคิดผสมผสานทั้ง 4 องค์ประกอบของโครงการ คือ โรงแรม – ที่พักอาศัย – อาคารสำนักงาน – ศูนย์การค้า ผนวกรวมเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยรอบ เช่น พื้นที่สีเขียวอย่างสวนลุมพินี และระบบคมนาคม ทั้งบนดิน ลอยฟ้า และใต้ดิน เพื่อสร้างเป็น Integrated Mixed-use Project
ยังมีอีกหนึ่งจุดเด่น ที่ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่ “สิ่งปลูกสร้าง” ทั่วไปเท่านั้น แต่ยังได้ “เติมชีวิต” เข้าไปด้วย นั่นคือ “Hospitality” ถือเป็นจุดแข็งของทางกลุ่มดุสิตมายาวนาน โดยทั้ง 4 องค์ประกอบของโครงการ จะมีการนำ Hospitality เข้าไปให้บริการแก่ลูกค้า หรือผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโครงการ
4. สวนลุมพินี ปอดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ แม่เหล็กดึงคนในย่านนี้มาออกกำลังกาย – พักผ่อน
การออกแบบโครงการ Dusit Central Park จึงใช้ข้อได้เปรียบของทำเลที่ตั้ง ออกแบบให้เชื่อมโยงบรรยากาศ และวิวของสวนสาธารณะขนาดใหญ่แห่งนี้
เทียบฟอร์ม 4 ย่านการค้าใหญ่ “สยามสแควร์ – ราชประสงค์ – สุขุมวิท – สีลม”
เมื่อเปรียบเทียบกับ 4 ย่านธุรกิจการค้าใหญ่ของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น “ย่านสยามสแควร์” “ย่านราชประสงค์” รวมไปถึง “ย่านสุขุมวิท” จะพบว่าแต่ละมีจุดเด่น-จุดด้อยแตกต่างกัน กล่าวคือ
“ย่านสยามสแควร์” เป็นย่านช้อปปิ้ง และแหล่งรวมแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์ รวมทั้งมีสถาบันการศึกษาใหญ่ของไทย และที่สำคัญเป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ที่ในแต่ละวันมีทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในย่านนี้ ไม่ต่ำกว่า 150,000 – 200,000 คนต่อวัน ขณะที่การเดินทางระบบราง มีระบบเดียว คือ “BTS” และพื้นที่ส่วนใหญ่ ถูกพัฒนาด้านการค้าเป็นหลัก จึงไม่มีองค์ประกอบด้าน “ที่พักอาศัย”
“ย่านราชประสงค์” เป็นย่านที่มีทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม และล่าสุดมีสวนสาธารณะ “สวนปทุมวนานุรักษ์” ขนาด 40 ไร่ ติดกับเซ็นทรัลเวิลด์ ทำให้โลเกชันนี้เป็น Multiple Function ที่ดึงดูดคนจากทั่วโลกเข้ามาในย่านนี้
ขณะที่การเดินทาง มีทั้งทางถนน ทางเรือ และระบบรางมี BTS แต่ด้วยความที่สถานีรถไฟฟ้าไม่ได้อยู่หน้าโครงการต่างๆ โดยตรง เหมือนเช่นศูนย์การค้าในย่านสยามฯ จึงกลายเป็นจุดอ่อน แต่ผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ ใช้วิธีแก้โดยการทุ่มเงินสร้าง Skywalk เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้า BTS สยาม และสถานีชิดลม นอกจากนี้ทำเลย่านนี้ ยังขาดที่พักอาศัย ซึ่งที่พักอาศัย ประเภทคอนโดมิเนียม ขยับขึ้นไปยังเพลินจิต – สุขุมวิท
“ย่านสุขุมวิท” บริเวณ “The EM District” ของกลุ่มเดอะมอลล์ ต้องการสร้างย่านนี้ให้เป็นย่านการค้าใหญ่ และเป็น Landmark ของกรุงเทพฯ แม้เป็นทำเลที่มีความพร้อม ทั้งเป็นย่านที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า รวมทั้งมีสวนสาธารณะ และเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีทั้งคนท้องถิ่น และ Expat – นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก
แต่ทำเลนี้ยังมีข้อจำกัด คือ การเดินทางโดยระบบราง มี BTS เท่านั้น ถ้าจะมี 2 ระบบ ต้องขยับขึ้นไปยัง “ย่านอโศก” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทั้ง BTS และ MRT
ในขณะที่ “ย่านสีลม” เป็นทั้งย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ และเป็นจุดเชื่อมต่อของทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT มีทั้งสถานศึกษา อาคารสำนักงาน สวนสาธารณะ และเป็นย่านคึกคักทั้งในช่วงกลางวัน ถึงกลางคืน อย่างไรก็ตามด้วยความที่ย่านนี้ โดยหลักเป็นอาคารสำนักงาน ทำให้ในวันหยุด จึงเงียบเหงาจากกลุ่มคนทำงาน แต่ทั้งนี้ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ทำให้ยังมี Traffic หมุนเวียน
“Dusit Central Park” นับเป็นทั้งความท้าทาย และเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของ “กลุ่มดุสิต” และ “ซีพีเอ็น” ที่ต้องการปลุกปั้นโครงการนี้ให้แจ้งเกิด โดยใช้ข้อได้เปรียบที่มี ของทั้งโลเกชัน – ระบบคมนาคม – ความแข็งแกร่งของการผนึกกำลังระหว่าง Developer ใหญ่ 2 รายที่ต่างชำนาญต่างกัน ฝั่งกลุ่มดุสิต เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงแรม และที่เกี่ยวกับ Hospitality ขณะที่ฝั่งซีพีเอ็น เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน
เพื่อในที่สุดแล้ว ต้องการให้ Spotlight กลับมาสาดส่องทำเลแห่งนี้อีกครั้ง และยังคงสามารถรักษาสถานะเป็น “Landmark” ของกรุงเทพฯ เหมือนเช่นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
Source : ราคาประเมินที่ดินย่านสีลม Matichon Online