รู้จัก Colossal Biosciences บริษัทผู้ชุบชีวิตไดร์วูล์ฟและสัตว์สูญพันธ์อื่นๆ ที่ตอนนี้มีมูลค่า 10.2 พันล้านดอลลาร์

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

(จากซ้าย) Ben Lamm และ Dr. George Church สองผู้ก่อตั้ง Colossal Biosciences

ณ ใจกลางเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส บริษัท Colossal Biosciences กำลังปฏิบัติภารกิจที่เคยเป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์ นั่นคือการชุบชีวิตสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมาอีกครั้ง บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2021 โดย Ben Lamm ผู้ประกอบการด้าน Tech และ Dr. George Church นักพันธุศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งไม่เพียงมุ่งเน้นที่การคืนชีพสายพันธุ์ แต่ยังต้องการใช้พันธุวิศวกรรมล้ำสมัยเพื่อฟื้นฟูโลกและปฏิวัติวงการอนุรักษ์ธรรมชาติ

“ที่ Colossal เรามุ่งปลุกจังหวะชีพจรดั้งเดิมของธรรมชาติให้กลับมาอีกครั้ง” คือข้อความบนเว็บไซต์ของบริษัทที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์อันทะเยอทะยาน Lamm ซึ่งต้องการแก้ไขปัญหาใหญ่ของโลก เห็นศักยภาพของชีววิทยาสังเคราะห์ในการรับมือกับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ Lamm กับ Dr. Church เริ่มต้นจากการพูดคุยกันเรื่องแอปพลิเคชันเกี่ยวกับชีววิทยาสังเคราะห์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของการเขียนเรื่องราวชีวิตขึ้นใหม่

Dr. Church ผู้บุกเบิกด้านจีโนมิกส์และผู้พัฒนาวิธีการถอดรหัสพันธุกรรมโดยตรงคนแรกของโลก ได้นำความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ระดับสูงมาสู่โครงการนี้ “ผมอุทิศชีวิตเพื่อการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เพื่อคนรุ่นหลัง ไม่ใช่แค่เพียงมนุษย์เท่านั้น แต่เพื่อทุกสายพันธุ์บนโลกใบนี้” เขากล่าวบนเว็บไซต์ของ Colossal โดยเน้นถึงหลักจริยธรรมในการทำงานของบริษัท “Colossal คือจุดบรรจบของวิทยาศาสตร์ล้ำสมัยและการค้นพบเชิงธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง”

Colossal ไม่ได้หยุดแค่แมมมอธ แต่กำลังขยายพอร์ตโฟลิโอไปยังสัตว์อื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน

Colossal วางเป้าหมายไว้กับสัตว์สูญพันธุ์หลากหลายสายพันธุ์ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ช้างแมมมอธ (Woolly Mammoth) สัตว์สำคัญแห่งยุคน้ำแข็ง บริษัทใช้การตัดต่อยีนของช้างเอเชียซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของช้างแมมมอธ เพื่อสร้างช้างที่ทนต่อความหนาวเย็นและมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายแมมมอธ ล่าสุดได้มีการสร้าง “หนูแมมมอธ” (Woolly Mice) ที่มีขนและระบบเผาผลาญคล้ายแมมมอธ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ศักยภาพในการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อคุณลักษณะที่ซับซ้อน เป้าหมายคือการให้กำเนิดลูกแมมมอธตัวแรกภายในปี 2028

เป้าหมายต่อไปคือ “ไทลาซีน” (Thylacine) หรือเสือแทสเมเนียน (Tasmanian tiger) ซึ่งเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องของออสเตรเลียที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทีมของ Colossal ได้ถอดรหัสจีโนมไทลาซีนสำเร็จ และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญอย่างมดลูกเทียม ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง เพื่อหวังคืนพวกมันสู่ถิ่นอาศัยดั้งเดิม

อีกหนึ่งสายพันธุ์คือ “นกโดโด” (Dodo Bird) สัญลักษณ์แห่งการสูญพันธุ์จากเกาะมอริเชียส กลุ่มวิจัยพันธุกรรมของ Colossal ใช้นกนิโคบาร์ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของนกโดโด เป็นต้นแบบทางพันธุกรรม และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์สืบพันธุ์เพื่อสร้างตัวแทนของนกโดโดขึ้นมา

และล่าสุด Colossal ได้สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศความสำเร็จในการให้กำเนิดลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟ (Dire Wolf) 3 ตัว ได้แก่ Romulus, Remus และ Khaleesi โดยการใช้ดีเอ็นเอโบราณสร้างจีโนมของหมาป่าไดร์วูล์ฟ และใช้เทคโนโลยี CRISPR ตัดต่อเซลล์ของหมาป่าสีเทา เพื่อสร้างสัตว์ที่มีลักษณะสำคัญของหมาป่าไดร์วูล์ฟ ลูกหมาป่าทั้งสามกำลังเติบโตในเขตสงวนธรรมชาติ พร้อมแผนระยะยาวในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ Ben Lamm กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “นี่คือหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี de-extinction ครบวงจรของเราใช้งานได้จริง”

นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนร่วมในความพยายามช่วยเหลือแรดขาวเหนือที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ด้วยเทคโนโลยีพันธุกรรมขั้นสูงเพื่อการกู้ชีพทางพันธุกรรม

การต่อยอดเทคโนโลยีจากการคืนชีพสู่ธุรกิจชีววิทยาสังเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ

โมเดลธุรกิจของ Colossal ไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่การนำสัตว์สูญพันธุ์กลับคืนสู่ธรรมชาติเท่านั้น แต่เป็นการผสานระหว่างการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีล้ำสมัย และการสร้างบริษัทสปินออฟ

หนึ่งในแกนหลักคือการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานในด้านพันธุวิศวกรรม ชีวสารสนเทศ และเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพมนุษย์หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ บริษัทได้สปินออฟบริษัทต่างๆ ออกมา เช่น Form Bio ด้านชีวสารสนเทศ และ Breaking ด้านการย่อยสลายพลาสติก

Lamm เปรียบเทียบกับโครงการ Apollo ที่สร้างเทคโนโลยีหลักมากมายและก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล “เราได้สปินออฟธุรกิจ 2 รายที่ประกาศอย่างเป็นทางการ หนึ่งในนั้นมีมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ และประสบความสำเร็จในสาขาชีวสารสนเทศเพื่อสุขภาพมนุษย์ อีกบริษัทเน้นด้านการย่อยพลาสติก ทุกอย่างที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ เราจะทำให้เกิดมูลค่า”

รายได้ในอนาคตยังอาจมาจากเครดิตความหลากหลายทางชีวภาพและเครดิตคาร์บอนที่เชื่อมโยงกับการคืนสัตว์ป่ากลับสู่ธรรมชาติ ซึ่ง Lamm มองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

พลังของเครือข่ายผู้ลงทุนระดับโลกและพันธมิตรที่หนุนหลัง Colossal

Colossal ได้รับเงินทุนจำนวนมากตั้งแต่ก่อตั้ง โดยระดมทุนไปแล้วกว่า 435 ล้านดอลลาร์ ล่าสุดในเดือนมกราคม 2025 บริษัทได้รับเงินทุนเพิ่มอีก 200 ล้านดอลลาร์ในรอบ Series C ทำให้มูลค่าบริษัทพุ่งถึง 10.2 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็น “เดคาคอร์น” (Decacorn) แห่งแรกของรัฐเท็กซัส นักลงทุนรายใหญ่นำโดย TWG Global เงินทุนนี้จะช่วยขยายทีม พัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่มสายพันธุ์ในโครงการคืนชีพ

รายชื่อนักลงทุนมีทั้งบุคคลจากวงการเทคโนโลยี บันเทิง และไบโอเทค เช่น Peter Jackson, Fran Walsh, Tim Draper และ Mark Walter ซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อพันธกิจของ Colossal

จากห้องแล็บสู่ธรรมชาติ: หมุดหมายสำคัญของการคืนชีพ

นอกจากลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟ บริษัทยังประสบความสำเร็จในหลายด้าน เช่น

  • สร้างหนูแมมมอธที่มีลักษณะพันธุกรรมซับซ้อนของแมมมอธ
  • สร้างจีโนมโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดของไทลาซีน และก้าวหน้ามากในการประกอบจีโนมแมมมอธ
  • เป็นบริษัทแรกที่ได้เซลล์ต้นกำเนิดแบบ pluripotent ของช้างเอเชีย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของโครงการแมมมอธ
  • ฟักไข่ลูกไก่พันธุ์ผสมในโครงการฟื้นฟูนกโดโด
  • บรรลุความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการสืบพันธุ์ของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง เช่น การสร้างเซลล์ต้นกำเนิดจาก Dunnarts และต้นแบบมดลูกเทียม
  • ก่อตั้ง The Colossal Foundation ในเดือนตุลาคม 2024 ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนธนาคารชีวภาพและพันธมิตรอนุรักษ์ทั่วโลก 48 แห่ง
  • ขยายทีมที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญกว่า 95 คน รวมถึง Dr. Beth Shapiro หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ และ Dr. Andrew Pask ผู้นำโครงการไทลาซีน

จริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพของบริษัท

Colossal ตระหนักถึงประเด็นทางจริยธรรมที่สำคัญในงานคืนชีพสายพันธุ์ พวกเขาย้ำว่าการทำงานอยู่ภายใต้หลักวิทยาศาสตร์ที่มีความรับผิดชอบ และมุ่งเน้นผลประโยชน์ต่อระบบนิเวศ โดยทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ องค์กรอนุรักษ์ หน่วยงานรัฐ และกลุ่มชนพื้นเมือง เพื่อให้แนวทางมีความรอบด้านและจริยธรรม

“Colossal กำลังขยายขอบเขตของสิ่งที่ CRISPR และเทคโนโลยีชีววิศวกรรมล้ำสมัยสามารถทำได้ โดยยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ที่มีความรับผิดชอบ และการดูแลความหลากหลายทางธรรมชาติของโลกเรา” – ข้อความจากเว็บไซต์ของบริษัท

อนาคตที่เขียนใหม่ได้: Colossal กับบทต่อไปของโลกธรรมชาติ

Colossal Biosciences คือความกล้าท้าทายขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์ งานของพวกเขาอาจนำพาสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์กลับคืนมา และเปิดทางสู่เทคโนโลยีใหม่เพื่อการอนุรักษ์และสุขภาพมนุษย์ แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่ด้วยความสำเร็จล่าสุดและความมุ่งมั่นของผู้ก่อตั้งและทีมวิทยาศาสตร์ ทำให้ Colossal กำลังเดินหน้าเขียนเรื่องราวของการสูญพันธุ์ขึ้นใหม่ และเปิดประตูสู่ยุคใหม่แห่งนวัตกรรมชีวภาพ

Dr. Church สรุปได้อย่างเหมาะเจาะว่า “Colossal กำลังเปลี่ยนนิยายวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นวิทยาศาสตร์จริง”

ที่มา: colossal.com, businesswire.com, businesswire.com, dallasinnovates.com, news.crunchbase.com, observer.com, marketplace.org, time.com,


  •  
  •  
  •  
  •  
  •