วิเคราะห์ 3 ทำเลยุทธศาสตร์ “เซ็นทรัล” จาก Super Core CBD “สีลม” ถึง Global Landmark “ราชประสงค์” และ New CBD “ลาดพร้าว”

  • 205
  •  
  •  
  •  
  •  

Central Strategic Location
เซ็นทรัล ลาดพร้าว (Photo Credit: Jayz3t / Shutterstock.com)

หนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-use Development) ให้สามารถดึงคนเข้ามาใช้จ่าย และใช้ชีวิตอยู่ในโครงการ คือ การตั้งอยู่ใน “ทำเลยุทธศาสตร์” (Strategic Location) ที่มีความสะดวกทั้งการเดินทาง ความหนาแน่นของประชากร การเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า ความครบวงจรของการเป็นย่าน

สำหรับ “เซ็นทรัลพัฒนา” ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบ “Retail-Led Mixed-Use Development” โดยมีศูนย์การค้าเป็นหัวใจหลัก ได้ปักหมุดทำเลสำคัญในกรุงเทพฯ ด้วยการกำหนด “วงแหวนยุทธศาสตร์” (Strategic Ring) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ย่านใจกลางเมือง (Central Business District: CBD) – ทำเลในทิศต่างๆ ของกรุเทพฯ (Prime Location) และทำเลกรุงเทพฯ รอบนอก – ปริมณฑล

 

3 วงแหวนทำเลยุทธศาสตร์ “เซ็นทรัลพัฒนา” ขยายโครงการคลุมทุกทิศในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

การวางแผนสร้างศูนย์การค้าใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล เซ็นทรัลพัฒนาได้กำหนดเอาไว้ใน 3 วงแหวนยุทธศาสตร์ (3 Strategic Ring) ครอบคลุมทุกทิศของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย

Ring 1: ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ มีทั้งโซน CBD (Central Business District) ของกรุงเทพฯ มีจุดศูนย์กลางคือ เซ็นทรัลเวิลด์” (Central World), โซน Super Core CBD มีโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) และย่าน CBD ใหม่อย่างเซ็นทรัล พระราม 9

Ring 2: เป็น Prime Location ในทิศต่างๆ ของกรุงเทพฯ ครอบคลุมทุกทิศทั่วกรุงเทพฯ แต่ละโซนของกรุงเทพฯ จะมีศูนย์การค้าหลักขนาดใหญ่ ที่มีพลังแม่เหล็กดึงดูดผู้คนในโซนนั้นๆ มหาศาล

– กรุงเทพฯ โซนเหนือ มีเซ็นทรัล ลาดพร้าว

– กรุงเทพฯ โซนตะวันตก มีเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า

– กรุงเทพฯ โซนตะวันตกเฉียงใต้ มีเซ็นทรัล พระราม 2

– กรุงเทพฯ โซนตะวันออก และฝั่งใต้ มีเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัล บางนา

Ring 3: กรุงเทพฯ รอบนอก และปริมณฑล เพื่อตอบรับการเติบโตของเมืองที่ขยายรอบนอกมากขึ้น เช่น

– เซ็นทรัล เวสต์เกต และเมกา บางนา ซึ่งเมกา บางนา เป็นศูนย์การค้าในเครือสยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ (SF) ที่เซ็นทรัลพัฒนาเข้าถือหุ้น 96.24% โดยทั้ง 2 โครงการเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall ที่ตอบโจทย์ทั้งคนในโซนนั้นๆ แล้ว และจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ

– เซ็นทรัล มหาชัย, เซ็นทรัล ศาลายา, เซ็นทรัล วิลเลจ ที่เป็น Luxury Outlet Mall

นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่ “เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” (Central WestVille) เจาะทำเลราชพฤกษ์เชื่อมตรงสู่ Bangkok CBD เตรียมเปิดภายในปี 2023

ปัจจุบันไม่เพียงแต่จังหวัดใหญ่เท่านั้น เซ็นทรัลพัฒนาได้ขยายการลงทุนสร้างศูนย์การค้าทุกภูมิภาคทั่วไทย เพื่อครอบคลุมทั้งเมืองท่องเที่ยว เมืองเศรษฐกิจหลัก เมืองเศรษฐกิจใหม่ เช่น เซ็นทรัล อยุธยา, เซ็นทรัล จันทบุรี

Dusit Central Park-Central Park
โครงการ Dusit Central Park

ทั้งนี้ในบรรดาโครงการเซ็นทรัลพัฒนาที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เรามาเจาะลึกทำเลยุทธศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของโครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่ของเซ็นทรัลพัฒนา

มุมถนนสีลม-พระราม 4 ที่ตั้งโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) ถือเป็นทำเล Super Core CBD

ย่านราชประสงค์ ที่ตั้งเซ็นทรัลเวิลด์ (CentralwOrld) เป็นทำเล วางตำแหน่งเป็น Global Destination และยังเชื่อมต่อกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ตรงเพลินจิต

ลาดพร้าว ที่ตั้งเซ็นทรัล ลาดพร้าว ถือเป็นโครงการ Mixed-use แรกของเครือเซ็นทรัล และของไทยที่ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า, ร้านค้า,​ โรงแรม และอาคารสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันผลจากการขยายตัวของระบบคมนาคม และเมือง ทำให้กรุงเทพฯ โซนเหนือ ได้ขยับเป็น New CBD ของกรุงเทพฯ

CentralWorld

 

ปักหมุด “Super Core CBD สีลม-พระราม 4” ด้วยแบรนด์ “Central Park” ในโครงการ Dusit Central Park

เซ็นทรัลพัฒนา วางแผนพัฒนาโครงการระดับ Mega Mixed-use รวม 5 โครงการ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งนิยามของ Mega Mixed-use ประกอบด้วย

– เป็นโครงการใหญ่เทียบเท่า CentralwOrld

– ขนาดที่ดินกว่า 20 – 25 ไร่ มีพื้นที่มากกว่า 350,000 ตารางเมตรต่อโครงการ

– งบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาทต่อโครงการ

1 ใน 5 โครงการ Mega Mixed-use ที่เปิดตัวแล้วลำดับแรกคือ โครงการมิกซ์ยูส “Dusit Central Park (ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค) เป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.ดุสิตธานี กับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา มูลค่าโครงการรวมกว่า 46,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ที่พักอาศัย

Dusit Central Park-Central Park

ปัจจัยที่ทำให้ถนนสีลม พระราม 4 เป็น Super Core CBD หรือเรียกได้ว่าเป็นใจกลางของใจกลางเมือง คือ

– เป็นทำเลที่เชื่อมต่อกับถนน 3 สายสำคัญคือ สีลม – สาทร – พระราม 4

– เป็นทำเลที่มี Major Interchange Station ของสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT สองสายหลักตัดกัน

– เป็นศูนย์กลาง Financial & Commercial District โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำของประเทศและระดับโลก

– เป็นย่านที่อยู่อาศัย โดยมีทั้งบ้านที่อยู่มานาน กับโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นระดับ Ultra-luxury กว่า 17,000 ยูนิต

– อาคารสำนักงาน Grade-A มีพื้นที่ GLA 1.5 ล้านตารางเมตร

– สถานทูต และสถานกุงสุล รวมถึงมหาวิทยาลัย, โรงเรียน และโรงพยาบาลชั้นนำ 47 แห่ง

– อยู่ตรงข้ามสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ทำให้เมื่ออยู่ในโครงการ Dusit Central Park จะเห็นวิวสวน พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ได้แบบ panoramic view

ทำให้ทำเลแห่งนี้มีความหนาแน่นของประชากรสูง ทั้งคนที่อยู่อาศัย คนทำงาน นักเรียน นักท่องเที่ยว และคนที่สัญจรไปมาในย่านนี้

Dusit Central Park-Central Park

ล่าสุดในส่วน “ศูนย์การค้า” และ “อาคารสำนักงาน” เซ็นทรัลพัฒนาได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “Central Park”  มูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

ศูนย์การค้า Central Park บนพื้นที่ (GBA – Gross Building Area) 130,000 ตารางเมตร เตรียมเปิดให้บริการช่วง Q3/2025 ผสมผสาน Curated Experience เข้ากับ Park Life เพื่อสร้างสรรค์ New Luxury คอนเซ็ปต์ใหม่ คัดสรรแบรนด์ชั้นในไทยและระดับโลก รวมทั้งนำเสนอความเป็น Heritage เดิมที่มีอัตลักษณ์ที่สวยงามของสถานที่แห่งนี้ มาสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน เพื่อพลิกโฉม New Retail Landscape รองรับทุกไลฟ์สไตล์

เพราะฉะนั้นจากเดิมศูนย์การค้าออกแบบ Tenant Mix ตามประเภทของร้านค้า เช่น ร้านอาหารอยู่เฉพาะชั้นร้านอาหาร ร้านแฟชั่นก็อยู่เฉพาะชั้นเสื้อผ้าแฟชั่น แต่สำหรับ ศูนย์การค้า Central Park ใช้แนวคิด Lifestyle Mix โดยแต่ละชั้น จะ curate ดีไซน์ สินค้าและบริการแตกต่างกัน เช่น ร้านอาหาร อาจอยู่ในชั้นเดียวกับร้านแฟชั่น หรือร้านไลฟ์สไตล์ที่มีคอนเซ็ปต์และกลุ่มเป้าหมายสอดคล้องกัน

  • A Life Exploration Space: สร้างสรรค์พื้นที่ Curated Experience สำหรับทุกไลฟ์สไตล์มากกว่า 55,000 ตารางเมตร โดยคัดสรร Culture, Art, Global Trends ใหม่ๆ มาสู่ประเทศไทย รวมถึง Collaboration ร่วมกับแบรนด์ระดับโลก, Up-and-Coming Thai & International Designers รวมถึงพื้นที่ที่จะรองรับ Urban Active Lifestyles เป็นต้น 
  • Passionate Culinary Culture: สร้างสรรค์ Food Destination กว่า 25,000 ตารางเมตร ที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ Street Food, Grab & Go ที่จะเชื่อมต่อและตอบโจทย์ Mass Commuters ไปจนถึง Experiential Dining ที่จะคัดสรรประสบการณ์อาหารที่จะดึงดูดทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว

Dusit Central Park-Central Park

อาคารสำนักงาน Central Park Office” บนพื้นที่ (GBA – Gross Building Area) 130,000 ตารางเมตร เตรียมเปิด Q2/2025 เป็นอาคารสำนักงาน Prestigious Class A โดยจะเป็น Global Professional Hub ของบริษัทชั้นนำระดับโลก ตอบรับเทรนด์ Social & Flexible Workplace อีกทั้ง มุ่งมั่นเป็น LEED Gold และ WELL Certified คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและ Well-being นอกจากนี้ ยังมอบ Private Terrace ที่สามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินีและ Rooftop Bar ที่สามารถชมวิวกรุงเทพฯได้แบบ 360 องศา

นอกจากนี้ในโครงการ Dusit Central Park ยังมี Rooftop Park ขนาด 7 ไร่ ซึ่งเป็นการมอบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเมือง ตอบโจทย์แบบ Multi-Purpose Use ด้วยพื้นที่ Amphitheatre ให้ผู้คนได้มาพบปะ เล่นดนตรี หรือโชว์การแสดงขนาดเล็ก, Jogging Track ลู่วิ่ง และ Trail ในสวนใจกลางเมือง และ Day-to-night Gather & Feast Space เพื่อเป็นศูนย์กลางของ Mindfulness Community ของกลุ่มคนที่ใส่ใจ Well-being, มี Lifestyle แบบ Active Living และเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ อีกทั้งเตรียมสร้างสรรค์ World-class Events อย่าง Music & Art in the Park และ World-class Celebration และงาน New Movement ที่สะท้อนความเป็น Urbanisation และตอบโจทย์ความต้องการของผู้คน

เซ็นทรัลพัฒนา ตั้งเป้า Traffic ของโครงการประมาณ 25 ล้านคนต่อปี ครอบคลุมทั้งกลุ่ม Affluent, คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยว ดังนั้นโครงการจะมีทั้ง Regular Quality Traffic จากผู้คนที่ใช้ชีวิตภายในโครงการทั้งในส่วน Ultra-Luxury Residences, Hotel, Offices และลูกค้าทั่วไป ด้วยประสบการณ์ในการสร้าง Global Attraction และการจัด Global Events รวมถึง Global Brand Experience ต่างๆ ดังเช่นที่ได้สร้างความสำเร็จมาแล้วที่เซ็นทรัลเวิลด์

Dusit Central Park-Central Park

 

ปักหมุดย่านราชประสงค์ สร้าง “เซ็นทรัลเวิลด์” เป็น Global Landmark

เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว “เซ็นทรัลพัฒนา” ได้เปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสใจกลางเมือง “เซ็นทรัลเวิลด์” (CentralwOrld) บนทำเลสี่แยกราชประสงค์ พื้นที่กว่า 830,000 ตารางเมตร มีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็น Global Landmark ที่ดึงดูดทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

อีกทั้งจากย่านราชประสงค์ ยังเชื่อมต่อกับชิดลม และเพลินจิต ซึ่งมีอีก 2 โครงการในกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่จับกลุ่มลูกค้า Super Affluent

CentralWorld

ย่านราชประสงค์ จึงเป็นอีกหนึ่งทำเลทองฝังเพชรที่สำคัญอย่างมากสำหรับเซ็นทรัลพัฒนา เพราะมีความครบวงจรของการสร้างให้เป็น World-class Destination ไม่ว่าจะเป็น

เป็น Strategic Location ใจกลางกรุงเทพฯ และมีความครบวงจรของการเป็นย่านการค้าแย่านช้อปปิ้ง ทั้งโรงแรมที่พัก ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ร้านค้า อาคารสำนักงาน และมีความหลากหลายที่ผสมผสานกัน ทั้งตลาด Mass ไปจนถึงตลาด Luxury ทำให้สามารถครอบคลุมผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม

ทำให้ย่านราชประสงค์เป็น “Multiple Function” นั่นคือ เป็นสถานที่ที่รวบรวมการใช้ชีวิตรอบด้าน และกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดอีเว้นท์ คอนเสิร์ต งานสัมมนา การประชุมใหญ่ งานแต่งงาน ฯลฯ จึงดึงดูดคนจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งคนไทย และคนต่างประเทศเข้ามาในย่านแห่งนี้

ระบบคมนาคมสะดวก  ครอบคลุมทั้ง ทางรถยนต์ ที่เชื่อมต่อกับโซนสำคัญ เช่น สยามสแควร์, ราชดำริ-สีลม-พระราม 4, สาทร, มักกะสัน-ราชปรารภ / เส้นทางเรือ มีจุดจอดใหญ่ที่ท่าเรือประตูน้ำ / รถไฟฟ้า อยู่ตรงกลางระหว่าง BTS สถานีสยาม และชิดลม

Ratchaprosong-Bangkok
Photo Credit: i viewfinder / Shutterstock.com

Sky Walk เชื่อมต่อการเดินทาง ด้วยความที่สี่แยกราชประสงค์ อยู่ตรงกลางระหว่างรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม กับสถานีชิดลม ไม่ได้มีสถานีเชื่อมตรงเข้าถึงโครงการ เหมือนเช่นย่านสยามสแควร์ที่มีสถานีรถไฟฟ้า และผู้ประกอบการธุรกิจในย่านสยามฯ ได้เชื่อมต่อทางเดินจากโครงการของตัวเอง กับสถานีรถไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ฟุตบาทในกรุงเทพฯ ก็ไม่เอื้อต่อการเดินได้สะดวกนัก

ดังนั้นเพื่อดึงคนจากย่านสยามฯ ให้กระจายมาอยู่ย่านราชประสงค์ สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์” (RSTA) ได้ดำเนินการก่อสร้าง Sky Walk เชื่อมต่อการเดินทางลอยฟ้า ตั้งแต่ย่านสยามสแควร์ – สี่แยกราชประสงค์ – BTS ชิดลมเข้าด้วยกัน รวมระยะทางกว่า 700 เมตร โดยหลังจาก Sky walk เปิดใช้งาน ทำให้คนเข้ามาเดินในย่านราชประสงค์มากขึ้น ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นี่จึงทำให้ย่านราชประสงค์ เป็นทั้งย่านการค้าและย่านท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของไทย สร้างเม็ดเงินสะพัดต่อปีรวมมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศ และมีคนสัญจรในย่านเฉลี่ยกว่า 600,000 คนต่อวัน

Ratchaprasong-Sky-Walk
Photo Credit: Adumm76 / Shutterstock.com

ดังนั้น เพื่อตอกย้ำการเป็น Global Landmark พร้อมทั้งยกระดับประสบการณ์ลูกค้าให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้คนยุคนี้ที่ซับซ้อนขึ้น หลากหลาย และมีความเฉพาะตัวมากขึ้น เซ็นทรัลเวิลด์จึงได้ปรับ Tenant Mix เพื่อดึงแบรนด์ระดับโลกมาเปิด Flagship Store ที่นี่ และจัดอีเว้นท์ระดับโลก

โดยรวมแบรนด์ดังที่มารวมตัวกันกว่า 3,000 แบรนด์ และเตรียมต้อนรับอีกกว่า 10 แบรนด์ดังระดับโลก

– Food destination รวมร้านดังไว้กว่า 500 ร้าน ทั้งร้านแรกในไทย ร้านมิชลินสตาร์ และ Flagship Stores อาทิ Shake Shack, Canton Paradise, Mak’s noodle, Yakiniku Like Flagship Store, Tsuta เป็นต้น

Flagship stores อาทิ Lululemon สปอร์ตแวร์ดัง แฟล็กชิพใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียแปซิฟิค, Adidas แบรนด์เซ็นเตอร์ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก, Nike ร้านรูปแบบใหม่ใหญ่ที่สุดในไทย และ Puma Flagship Store ครบครันที่สุดหนึ่งเดียวในไทย, On-running, HOKA นอกจากนี้ ยังมี Casetify แบรนด์เคสมือถือชื่อดังแห่งแรกแห่งเดียวในไทย และล่าสุด NITORIแห่งแรกในประเทศไทย รวมทั้งแบรนด์ทั่วโลกที่เปิดสาขาแรกในไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์

World-Class Event เป็นแลนด์มาร์คการจัดงานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และเป็น Festive Landmark Destination ทุกเทศกาลมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี Top of mind ความภูมิใจของไทย เช่น งาน centralwOrld Bangkok Countdown, Thailand Songkran Festival, งาน Thailand’s Pride Celebration เป็นต้น

CentralWorld

 

จากห้าแยกลาดพร้าว ขยายสู่พหลโยธิน ศักยภาพกรุงเทพฯ โซนเหนือที่เซ็นทรัลบุกเบิกมากว่า 40 ปี

ทำเลกรุงเทพฯ ตอนเหนือ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว อันที่เป็นที่ตั้ง “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” ในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งทำเลยุทธศาสตร์สำคัญของเซ็นทรัลพัฒนา และกลุ่มเซ็นทรัล

ทำเลห้าแยกลาดพร้าว บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์สำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยใหม่ของเซ็นทรัลในอดีต จากเดิมที่พัฒนาห้างสรรพสินค้า ขยายสู่การริเริ่มพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบ Mixed-use เป็นครั้งแรกของเซ็นทรัล และเป็นแห่งแรกของประเทศไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

โดยหลังจากเซ็นทรัล ชนะประมูลเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นระยะเวลา 30 ปี ได้ลงทุนสร้าง เซ็นทรัล ลาดพร้าว ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า, ร้านค้า,​ โรงแรม และอาคารสำนักงาน

Central Ladprao
Photo Credit: Jayz3t / Shutterstock.com

ในอดีตทำเลบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ถือเป็นกรุงเทพฯ รอบนอกที่ห่างไกลจากย่านใจกลางเมืองอย่างสีลม-สาทร-สยามสแควร์ ไม่ได้คึกคัก ไม่ได้เดินทางสะดวก และยังไม่ได้เป็นย่านการค้าอย่างทุกวันนี้ ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นอีกหนึ่ง New CBD ของกรุงเทพฯ ไปแล้ว

แต่จากวิสัยทัศน์ของ ตระกูลจิราธิวัฒน์ นำโดย “คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” ทายาทรุ่น 2 เชื่อมั่นในศักยภาพของทำเลแห่งนี้ เพราะเล็งเห็นว่าต่อไปเมืองจะขยายจากใจกลางเมือง ออกสู่รอบนอกมากขึ้น บวกกับความพยายามผลักดันให้เซ็นทรัล ลาดพร้าวแจ้งเกิด จนในที่สุด เซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างยอด Traffic และยอดขายอันดับต้นๆ ให้กับเซ็นทรัลพัฒนา บริษัทในเครือกลุ่มเซ็นทรัลมาถึงทุกวันนี้ และยังเป็นสถานที่ช้อป-ชิม-ชิลของใครหลายคนที่อาศัยและใช้ชีวิตในโซนรังสิต และกรุงเทพฯ ทิศเหนือ

ความสำเร็จของเซ็นทรัล ลาดพร้าว สะท้อนได้เซ็นทรัลพัฒนา ดำเนินการต่อสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท. เป็นครั้งที่ 2 ระยะเวลา 20  ปี ซึ่งสัญญาเช่าที่ดินครั้งล่าสุดนี้จะสิ้นสุดในปี 2571 และแน่นอนว่า “เซ็นทรัลพัฒนา” ยืนยันเจรจาต่อสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท. เพื่อให้เซ็นทรัล ลาดพร้าว ยังคงอยู่คู่กับย่านลาดพร้าว

เพราะด้วยศักยภาพของทำเล การเดินทางสะดวก โดยเฉพาะการมาถึงของสถานีรถไฟฟ้า BTS ที่ผ่านหน้าโครงการ และเชื่อมต่อเข้าถึงโครงการ ที่นำมาพร้อมกับการเกิดของโครงกางรอสังหาริมทรัพย์โดยรอบ

ประกอบกับเป็นโซนที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง เนื่องจากมี catchment area ในวงกว้าง รองรับคนตั้งแต่ย่านรังสิต เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ตอนเหนือ ไม่ว่าจะเป็นย่านลาดพร้าว พหลโยธิน รัชโยธิน เชื่อมต่อกับเกษตรนวมินทร์ และยังเชื่อมกับเส้นวิภาวดี

Central Ladprao
Photo Credit: Jayz3t / Shutterstock.com

“เรามุ่งมั่นและพร้อมเจรจาต่อสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท. อย่างแน่นอน เพราะเรามีความมั่นใจใน CBD ทางด้านกรุงเทพฯ ทิศเหนือ ด้วยความที่เราอยู่ในทำเลนี้มายาวนาน รู้ว่ากำลังซื้อตรงนี้เป็นอย่างไร และเราเห็นว่ายังมีแบรนด์อีกมากมาย ซึ่งไม่ซ้ำกัน ยังรอที่จะเข้าคิวเปิดร้านในพื้นที่ของเรา โดยต่อไปในทำเลนี้ เราจะมี 2 โครงการ (เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทรัล พหลโยธิน) เพราะฉะนั้นเรามั่นใจในทำเลกรุงเทพฯ ทิศเหนือ” คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ย้ำถึงความพร้อมการเจรจาต่อสัญญาเช่าที่ดินเซ็นทรัล ลาดพร้าว

บนทำเลกรุงเทพฯ ตอนเหนือ เซ็นทรัลพัฒนาไม่ได้มีเพียงโครงการเซ็นทรัล ลาดพร้าวเท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่เป็น 1 ใน 5 Mega Mixed-use Development คือ ทำเลพหลโยธิน 24 (ตรงข้ามจ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต) มูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ที่คาดว่าจะประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย

Lat Phrao
Photo Credit: MrWinn / Shutterstock.com

เชื่อว่า โครงการเซ็นทรัล พหลโยธิน จะมีคอนเซ็ปต์ การออกแบบ และการพัฒนาที่แตกต่างจากเซ็นทรัล ลาดพร้าว และเมื่อสร้างเสร็จ จะ synergy ผสานพลังกับเซ็นทรัล ลาดพร้าว ยึดฐานลูกค้าแถบกรุงเทพฯ ตอนเหนือ

จาก 3 ทำเลยุทธศาสตร์ มุมถนนสีลม-พระราม 4, สี่แยกราชประสงค์ ที่ synergy กับชิดลม เพลินจิต และกรุงเทพฯ ตอนเหนือ ห้าแยกลาดพร้าว – พหลโยธิน เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Strategic Ring เซ็นทรัลพัฒนาในการลงทุนขยายโครงการในรูปแบบ Retail-Led Mixed-Use Developmentนทำเลที่มี “พลังแม่เหล็ก” ในการดึงดูดผู้คน ตอกย้ำการเป็น Place Maker ที่สร้างศูนย์กลางการใช้ชีวิตครบวงจร

Dusit Central Park-Central Park
คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา

  • 205
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ