กรณีศึกษา “Intel” กับเส้นทางกว่า 30 ปี จากผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของโลก สู่จุดพลิกผันความท้าทายยุค AI

  • 305
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit Photo: Ireshetnikov54 / Shutterstock.com

Intel ผู้ผลิตชิปประมวลผลยักษ์ใหญ่ของโลก กำลังกลายเป็นกรณีศึกษาให้กับหลายธุรกิจ ที่แม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ได้ตลอดกาล หลากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ทุกวันนี้ Intel กำลังเผชิญหลายความความท้าทายจากคู่แข่งจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ Intel

 

Intel ปรับแผนลดต้นทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์

จากผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ที่ทำให้ Intel น้ำตาตก หลังกำไรลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ Intel มีมูลค่าธุรกิจลดต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 3.39 ล้านล้านบาท ซึ่ง Intel มองว่าเป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงเกินไป ทำให้แม้จะมีกำไรแต่ก็ยังน้อย เมื่อหักต้นทุนแล้วกลายเป็นขาดทุนอย่างมหาศาล

นั่นทำให้ Pat Gelsinger CEO ของ Intel คนปัจจุบันประกาศแผนชัดเจนในการลดต้นทุนให้ได้ 1 หมื่นล้านดอลลาร์!!!

ซึ่งจะลดไปที่ต้นทุนด้านบุคลากร นั่นจึงเป็นที่มาของการปลดพนักงาน 15,000 คนหรือ 15% เลยทีเดียว ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เมื่อเทียบสถานการณ์การว่างงานในสหรัฐฯ

รวมไปถึงโครงการขยายโรงงานให้หลายแห่งเพื่อลดภาระการพึ่งพา TSMC ผู้ผลิตชิปจากไต้หวัน เป็นโครงการที่ Intel ต้องควักเงินแบกรับต้นทุนไว้ ทำให้ต้องตัดใจเตรียมยุติบางโครงการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดต้นทุน ยิ่งไปกว่านั้น Intel ยังอาจเสนอขายบางส่วนงานเพื่อลดต้นทุน โดยคาดกันว่าแผนกชิป Altera น่าจะเป็นส่วนงานที่ถูกเสนอขาย

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ผลิตชิปอย่าง NVIDIA และคู่แข่งตลอดกาลอย่าง AMD รวมถึงผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ ทั้ง Apple, Qualcomm และ SAMSUNG รวมถึง TSMC

 

จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของ Intel

ก่อนที่ Intel จะตกที่นั่งขาดทุนยับขนาดนี้ ในอดีต Intel เคยเป็นเจ้าตลาดชิปประมวลผลระดับโลกมายาวนานกว่า 20 ปี โดยเราจะพานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับกับไปช่วงปลายยุค 80 ต้นยุค 90 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่คอมพิวเตอร์ PC เริ่มวางจำหน่ายในราคาที่จับต้องได้ จากเดิมที่คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ภาคธุรกิจ

ในยุคนั้นผู้ผลิตชิปหลายรายเป็นเพียง Supplier ชิ้นส่วนหนึ่งในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เพราะชิปประมวลผลเป็นหัวใจสำคัญของคอมพิวเตอร์ และ Intel ผู้ผลิตชิปประมวลที่เริ่มต้นธุรกิจในปี 1968 เริ่มมีแนวคิดฉีกกฎด้วยการวางแผนสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป

โดยผู้บริหาร Intel ช่วงยุค 90 อย่าง Andy Grove มองว่าชิปเดิมอาจทำงานช้าเกินไป ไม่ตอบสนองการใช้งานผู้บริโภค ทำให้เกิดการพัฒนาชิปประมวลผลที่ประสิทธิภาพดีขึ้น เร็วขึ้น ที่สำคัญต้องทำให้ผู้บริโภครู้จักและเชื่อมั่นในแบรนด์ Intel

Credit Photo: Alicia97 / Shutterstock.com

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน Microsoft ผู้ผลิตซอฟท์แวร์เริ่มวางแผนเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows 3.0 ที่มีรูปแบบการใช้งานที่เหมาะกับผู้บริโภคทั่วไป ทั้ง Interface และระบบ Multi Media นั่นคือช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่ Intel จะเปิดแคมเปญ “Intel Inside” เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ใช้ชิปประมวลผลของ Intel ที่ดีที่สุดในเวลานั้น

หลังจากนั้นไม่นาน Microsoft ก็ออกระบบปฏิบัติการ Windows 3.1 และ 3.11 ด้าน Intel ก็พัฒนาชิปประมวลผลใหม่ Intel Pentium ที่ให้ประสิทธิภาพสูงกว่าชิปเดิม ก่อนจะพัฒนาไปสู่รุ่น Pentium 2, 3, 4, Core 2 และ Core 2 Duo

มาที่คู่แข่งอย่าง AMD ก็มีการเปิดตัวชิปประมวลผลเน้นประสิทธิภาพสูงในรุ่น Thunderbird เพื่อออกมาสู้ศึก แถมมีราคาถูกกว่าด้วย Intel เลยแก้เกมด้วยการเปิดตัวชิปประมวลรุ่นย่อยเพื่อเป็น Fighting Brand อย่าง “Celeron”

 

Intel เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของคอมพิวเตอร์

เมื่อคอมพิวเตอร์ PC กลายเป็นอุปกรณ์ที่ทุกบ้านต้องมีอย่างน้อย 1 เครื่อง คงไม่ต้องบอกว่าตลาดเติบโตขนาดไหนเอาเป็นว่า Intel กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีมูลค่าธุรกิจที่สูงแตะระดับ 10 ล้านล้านบาท

Credit Photo: Teerawut Wongdee / Shutterstock.com

ซึ่งนั่นก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปจากแบรนด์ต่างๆ ทั้ง IBM, HP, Compaq เป็นต้น และคอมพิวเตอร์บิ้วขึ้นหรือเครื่องประกอบที่หาซื้อได้ง่ายที่ห้างพันธุ์ทิพย์ในเวลานั้น เรียกว่าทุกร้านเชียร์ให้ใช้ชิปประมวลผลของ Intel และผู้บริโภคเองก็เลือกเจาะจงว่าต้องใช้ Intel

แม้ว่าราคาชิป Intel จะสูงมากกว่า AMD

พอมาถึงยุคคอมพิวเตอร์พกพาหรือ Notebook และ Laptop ชิปประมวลผล Intel ก็ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเลือกซื้อคอมพ์ จนเมื่อคอมพ์เริ่มไม่ได้มีไว้ใช้ทำงานอย่างเดียว แต่กลายเป็นโรงหนังย่อมๆ และเครื่องเล่นเกม ความต้องการด้านการประมวลผลภาพและเสียงจึงมีมากขึ้น นั่นทำให้ NVIDIA เห็นช่องว่างและส่งการ์ดจอที่พัฒนาให้มีชิป GPU สำหรับประมวลผลภาพและเสียงโดยเฉพาะ เพื่อลดภาระการทำงาน CPU ช่วยให้ภาพคมกริ๊บ สมูทและเข้าถึงภาพ 3D ในเกม

มีหรือที่ Intel จะยอม!!!

Intel เลยต้องพัฒนาชิปประมวลที่สามารถทำงานได้หลากหลาย ที่สำคัญต้องรองรับความต้องการด้านภาพและเสียงที่คมชัดมากขึ้น เร็วมากขึ้น และต้องเล็กลงเพื่อให้สามารถใส่ใน Notebook และ Laptop ได้ และสามารถใช้ได้ใน PC ทำให้เกิดชิปประมวลผลใหม่ในรุ่น Core i3, i5, i7 และ i9

 

ความท้าทายเมื่อ Smartphone ถือกำเนิด

จุดพลิกเกมใหญ่ของ Intel เริ่มขึ้นในปี 2007 เมื่อ Smartphone อย่าง iPhone เปิดตัวขึ้นมา Intel ได้รับความสนใจจาก Steve Jobs ในการใช้ชิป Intel ใส่ไว้ใน iPhone แต่สุดท้ายก็ยกเลิก เพราะ Intel เป็นผู้พัฒนาและผลิตชิป ไม่ใช่ OEM จะได้ทำตามคำสั่งผลิต โดย Jobs มองว่าชิปใหญ่เกินไปแถมยังร้อนเพราะ Smartphone ไม่มีที่ระบายอากาศ

iPhone เลยตัดสินใช้หันมาใช้ชิปของ ARM แทน

Credit Photo: gguy / Shutterstock.com

ซึ่งชิปของ ARM ได้รับการออกแบบมาให้เย็นเจี๊ยบขณะทำงาน แถมยังเล็กสามารถใส่ในพื้นที่ขนาดเล็กได้ แม้ว่าจะมีการนำชิป Intel มาใช้กับ MacBook แทน แต่ภายหลัง Apple ก็พัฒนาชิป M1 ของตัวเองขึ้น จึงตัดสินใจยกเลิกการใช้ชิปของ Intel ส่งผลให้ Intel อยู่ห่างจากตลาด Smartphone

แต่ใช่ว่า Intel ไม่เคยคิดจะเข้าตลาด Smartphone…

ครั้งหนึ่ง Intel เคยเข้าสู่ตลาด Smartphone กับชิปประมวลผล Atom ที่นำมาใช้ในสมาร์ทโฟน ASUS ก่อนที่ Smartphone ของ ASUS จะหายไปจากตลาด เพราะชิปที่ผลิตโดย Qualcomm อย่าง Snapdragon ที่ใช้พื้นฐานของ ARM ช่วยให้ประสิทธิภาพสูงกว่า

อีกจุกพลิกเกมใหญ่ เมื่อความสามารถของ Notebook มีประสิทธิภาพใกล้เคียงคอมพิวเตอร์ แถมยังใช้งานที่ไหนเวลาไหนก็ได้ มีความคล่องตัวสูง ทำให้คอมพิวเตอร์ PC ได้รับความนิยมลดลง และราคา Notebook ก็ปรับให้ถูกลงจนราคาใกล้เคียงกับ PC

แล้วจะกระทบยังไง ??? ในเมื่อ Notebook ก็ใช้ชิป Intel

อย่าลืมว่าช่วงเวลานั้น Smartphone และ Tablet ก็ได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก ประกอบกับมีแอปฯ มากมายที่ช่วยให้สามารถใช้ทำงานได้อย่างสะดวก ซึ่งหากเทียบกับแล้ว Smartphone และ Tablet มีความคล่องตัวสูงมาก พฤติกรรมหลายคนเริ่มเปลี่ยนไปใช้งานบน Smartphone และ Tablet และถ้าจำก่อนหน้านี้ได้ MacBook ที่มีการใช้ชิป M1 ของตัวเองก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถทำงานร่วมกับ iPhone ได้

 

AI ตอกย้ำการพัฒนาอนาคตของชิป

อีกจุดพลิกที่สำคัญของ Intel คือ เทคโนโลยี AI กว่าที่ Intel จะหันมาสนใจผลิตชิป AI ผู้ผลิตชิปอย่าง NVIDIA ก็พัฒนาชิป AI GPU โดยเฉพาะงานด้านกราฟิกไปไกลมากแล้ว แถมคู่แข่งอย่าง AMD ที่เคยประสบภาวะขาดทุนอย่างรุนแรงก็พลิกเกมมาได้ด้วยการปรับสถาปัตยกรรมของชิปให้กลายเป็นชิป AI จนสร้างผลกำไรกลับมาได้ ที่สำคัญแบรนด์เทคโนโลยีก็เริ่มหันมาผลิตชิปประมวลผลของ AI มากขึ้น อาทิ

Credit Photo: Below the Sky / Shutterstock.com
  • SAMSUNG ผลิตชิป Exynos
  • Apple ผลิตชิป M1
  • Hauwei ผลิตชิป Kirin
  • Google ผลิตชิป Tensor
  • OPPO ผลิตชิป MariSilicon
Credit Photo: sdx15 / Shutterstock.com

ซึ่งชิปเหล่านี้ดันถูกผลิตโดย TSMC จากไต้หวันเจ้าเดียว นั่นเลยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Intel สร้างโรงงานผลิตชิปของตัวเอง ด้วยประเด็นที่ลดความหนาแน่นในการรอคอยการผลิต และหากย้อนกลับไปช่วงสถานการณ์โควิดจะพบว่า ช่วงเวลานั้นก็เกิดเหตุการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากโควิดนั่นเอง แค่เพียง TSMC ปิดสายการผลิตก็ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

แต่อีกเหตุผลน่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญกว่า เพราะ Intel กลัวนวัตกรรมของตัวเองถูกก๊อปปี้โดยประเทศจีน!!!

ก็ไต้หวันอยู่ใกล้จีน Intel กลัวสิ่งนี้!!!

 

สัญญาณอันตรายที่ทำให้ Intel เสี่ยง

เพื่อให้เห็นภาพวิกฤติที่ Intel กำลังเผชิญตามที่กล่าวไว้ช่วงต้นเรื่อง เราจะย้อนกลับไปไม่ไกล ซัก 5 ปีแล้วมาดูรายได้กับผลกำไรว่าจะเป็นเช่นไร

  • ปี 2019 รายได้รวม 71,965 ล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิ 21,048 ล้านดอลลาร์
  • ปี 2020 รายได้รวม 77,867 ล้านดอลลาร์ (เริ่มสถานการณ์โควิด) กำไรสุทธิ 20,899 ล้านดอลลาร์
  • ปี 2021 รายได้รวม 79,024 ล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิ 19,868 ล้านดอลลาร์
  • ปี 2022 รายได้รวม 63,054 ล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิ 8,017 ล้านดอลลาร์
  • ปี 2023 รายได้รวม 54,228 ล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิ 1,689 ล้านดอลลาร์
  • Q1 ปี 2024 รายได้รวม 12,724 ล้านดอลลาร์ ขาดทุนสุทธิ 381 ล้านดอลลาร์
  • Q2 ปี 2024 รายได้รวม 12,833 ล้านดอลลาร์ ขาดทุนสุทธิ 1,610 ล้านดอลลาร์

จากข้อมูลการเงินจะพบว่า แม้รายได้จะเติบโต แต่กำไรกลับลดลง โดยในช่วงปี 2020 ที่มีสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลก Intel สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ PC ทั้งการทำงานและการเรียนที่บ้าน แต่หากดูกำไรสุทธิจะเห็นเค้าลางการขาดทุน เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายความต้องการ PC ก็ลดลง ทำให้รายได้ลดลงอย่างชัดเจนในปี 2022 เป็นต้นมา

 

ทางออกของ Intel กับความท้าทายที่รออยู่

ขึ้นชื่อว่ายักษ์ใหญ่เก๋าเกมอย่าง Intel มีหรือจะยอมใหญ่ตกขบวนได้ง่ายๆ โดยล่าสุด Intel มีแผนเปิดตัวชิป AI ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยเรียกชิป AI นี้ว่า “Core Ultra” แน่นอนว่าต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่น Core i9 เดิม โดยเฉพาะจุดเด่นในการทำงานหลายรูปแบบเพียงชิปตัวเดียว ทั้งการประมวลผล (CPU) การประมวลผลกราฟิก (GPU) และการประมวลผลประสาทเทียม (NPU) ที่จะทำงานแยกกันอิสระ

ถือเป็นชิปที่ดูดีใช้ได้เลยทีเดียว

Credit Photo: Moment Capsule / Shutterstock.com

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชิปค่ายอื่นๆ ก็มีการพัฒนาชิป AI เช่นเดียวกัน และดูเหมือนจะพัฒนาไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย อีกทั้งแนวโน้มของตลาด AI PC ที่คาดกันว่าจะเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2025 ก็ยังไม่แน่นอน เพราะเป็นตลาดเปิดใหม่ ทำให้ราคาเครื่อง AI PC ค่อนข้างมีราคาสูง และงานด้าน AI ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในงานขององค์กรธุรกิจเป็นหลัก

ดังนั้นช่วงแรกของตลาด AI PC อาจจะยังเข้าไม่ถึงผู้บริโภคทั่วไปหรือเข้าถึงเป็นส่วนน้อย และอาจต้องใช้ระยะเวลาสักพักก่อนจะเป็นที่ยอมรับในตลาดผู้บริโภคทั่วไป

เก็บเงินรอไว้ก่อน ให้คนใช้รุ่นแรกมารีวิวดีกว่า!!!

แต่สำหรับ Intel คงต้องมาดูว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภาวะขาดทุน ด้วยการลดต้นทุนได้จริงหรือเปล่า เรียกว่าต้องแก้ไขปัญหาในบ้านเสียก่อนที่จะถือดาบออกมาฟาดฟันกับคู่แข่งในตลาด ที่สำคัญ Intel ต้องเข้าไปสู่ตลาดหลักของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ให้ได้ รวมถึงต้องคิดให้ตกผลึกว่า จะลงทุนสูงเพื่อผลิตชิปเองหรือจะจ้างผู้ผลิตที่มีศักยภาพที่อาจมีต้นทุนต่ำกว่า

Credit Photo: rafapress / Shutterstock.com

งานนี้บอกได้ว่าโอกาสที่ Intel จะกลายเป็นธุรกิจที่ไม่โตมีสูง เพราะ Intel ก็ยังมีการพัฒนาชิปออกมาและด้วยการเป็นผู้นำตลาดในอดีต ทำให้ Intel ยังมีความต้องการของตลาดอยู่บ้าง แต่เพราะไม่ได้อยู่ในตลาดหลักของผู้บริโภค ประกอบกับตลาด PC ที่เคยครองตลาดเริ่มล้มหายตายจากไป เหลือเพียงแค่ตลาดเกม

ซึ่งหนึ่งในทางออกที่ Intel น่าจะมองไว้คือ การเจาะตลาด Data Center ที่กำลังเติบโตทั่วโลก แต่อย่าลืมว่า Data Center ต้องชิปประสิทธิภาพสูงและต้องเย็นฉ่ำเพราะต้องทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา

ความเห็นส่วนตัว ถ้า Intel แก้จุดอ่อนเรื่องความเย็นของตัวชิประหว่างทำงานลงได้และขนาดของตัวชิปลงได้ ก็ไม่แน่ว่าอาจได้เห็นการกลับมายิ่งใหญ่ของ Intel อีกครั้ง


  • 305
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา