อย่างที่ทราบกันว่า “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เลื่อนระยะเวลาการกำหนดใช้กฎหมายออกไปอีก 1 ปี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมความพร้อมได้ทัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งภาครัฐต้องการให้เอกชนลงทุนเพื่อใช้ในการฟื้นฟูและพยุงธุรกิจก่อน หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ
แต่สำหรับในต่างประเทศ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีการใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว จนทำให้เกิดคดีความฟ้องร้องเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ยัง Google ก็ยังถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในข้อหาบุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานหลายล้านคน
โดยมีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานและยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดย Google ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่าน Google Analytics, Google Ads Manager รวมถึงแอปพลิเคชั่นและปลั๊กอินอื่นๆ ซึ่งช่วยให้ Google สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนของผู้ใช้งานงานอดิเรก อาหารที่ชื่นชอบ ลักษณะการช้อปปิ้ง หรือแม้แต่สิ่งที่ผู้ใช้งานรังเกียจและผู้ใช้งานหลงใหลแม้จะเป็นความลับก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้อง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในการเข้าใช้งานโหมด “ส่วนตัว” ซึ่งผู้ใช้งานถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นโหมดที่สามารถใช้งานได้อย่างเป็นความลับ ทั้งที่จริงๆ แล้วการใช้งานในโหมด “ส่วนตัว” ก็มีการจัดเก็บข้อมูลการใช้งาน ขณะที่โฆษกของ Google ชี้ว่า ในการเข้าใช้งานมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อาจมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเว็บ แม้จะเป็นการเปิดแบบไม่ระบุตัวตนก็ตาม
โดยผู้ยื่นฟ้องร้องเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียระบุไว้ จะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายต่อคนอย่างน้อย 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการละเมิดการดักฟังโทรศัพท์และการละเมิดความเป็นส่วนตัว
เห็นอย่างนี้แล้วผู้ประกอบการไทยที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอันนำมาซึ่งการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ที่สำคัญควรมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในการขออนุญาตเพื่อจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
Source: Reuters