“ช็อคโกแลค ดูไบ” ขนมที่กลายเป็นกระแสอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกลายเป็นสิ่งที่ครั้งหนึ่งต้องได้ทาน และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่สร้างชื่อให้กับ “April Bakery” ที่วันนี้จะพาทุกคนไปเจาะเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์เบเกอรี่ที่กำลังมาแรงแซงทุกโค้งกับเรื่องราวที่หอมหวานและเข้มข้น ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและรสชาติที่ถูกปาก จนสามารถสร้างรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เส้นทางของ April Bakery ไม่ได้โรยด้วยน้ำตาลไอซิ่ง แต่มีเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นบทเรียนให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
จากธุรกิจเล็กๆ สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน April Bakery เริ่มต้นจากบูธขายขนมเล็กๆ ที่มี “พายหมูแดงสูตรฮ่องกง” เป็นสินค้าหลัก และถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ที่เน้นขนมที่เป็นพาย จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้เอง คุณกนกกัญจน์ มธุรพร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหาฟู้ดส์ อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้แบรนด์ April Bakery เรียนรู้ลองผิดลองถูกเพื่อสร้างจุดขายและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและยอมรับในคุณภาพของสินค้า

“เรียกว่ามันไม่ง่ายเลยกว่าที่เราจะมายืนอยู่ตรงนี้ได้ เราต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก ทั้งเรื่องการพัฒนาสินค้า การสร้างแบรนด์ การตลาดและอีกหลายๆ อย่าง โดยเราเริ่มต้นธุรกิจมาจากพายหมูแดง สิ่งหนึ่งที่เรายึดมั่นมาตลอดคือคุณภาพของสินค้าและความจริงใจกับลูกค้า จนกระทั่งคิดค้นขนมเปี๊ยะลาวา นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ April Bakery เริ่มเป็นที่รู้จัก” คุณกนกกัญจน์ กล่าวเริ่มต้น
ปัจจุบัน April Bakery สามารถเติบโตและขยายสาขาไปทั่วประเทศ โดยมีสาขามากกว่า 40 สาขา และยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการคิดค้นและพัฒนา “ช็อคโกแลต ดูไบ” ด้วยตัวเอง จนนำไปสู่การวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาทได้ภายในปี 2570 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
“หนึ่งใน Pain Point ของผู้บริโภคคือการหาทานช็อคโกแลต ดูไบไม่ได้ ถ้าหาได้ก็จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง นั่นทำให้เราหาสูตรแล้วพัฒนาขึ้นมาจนเป็นสูตรของเรา แล้วนำไปขายใน 7-Eleven ในราคา 39 บาท ทำให้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมาก” คุณกนกกัญจน์ กล่าวเสริม
กลยุทธ์ความสำเร็จที่ไม่ได้มีแค่ “อร่อย”
แน่นอนว่ารสชาติความอร่อยของผลิตภัณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคติดใจ April Bakery แต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ยังมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่นำมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น
- การพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าให้ทันกับกระแสนิยมของผู้บริโภค ทำให้ April Bakery สามารถดึงดูดความสนใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มากกว่า 20 รายการ และตั้งเป้าที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
- การตลาดออนไลน์ที่แข็งแกร่ง การทำการตลาดออนไลน์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ เอพริล เบเกอรี่ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงและมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางออนไลน์ในการโปรโมทสินค้าและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
- กระจายสินค้าอย่างครอบคลุม หนึ่งจุดที่ช่วยสร้างการเติบโตอย่างมาก คือการเข้าถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven กว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้า สามารถสร้างสัดส่วนรายได้ถึง 60% ของยอดขายทั้งหมด หรือเฉลี่ย 300,000 ชิ้นต่อวัน
- การสร้างความหลากหลายของสินค้า นอกจากพายหมูแดงที่เป็นสินค้าเริ่มต้นแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า 100 รายการ ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลตดูไบ เค้กทุบ ขนมเปี๊ยะลาวาไข่เค็ม และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสินค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
- การขยายช่องทางจำหน่าย หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือการไม่พึ่งพาช่องทางใดช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายสินค้า แต่จะกระจายความเสี่ยงผ่านการขยายช่องทางจำหน่ายให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Modern Trade ที่สร้างสัดส่วนรายได้ถึง 50%, Off-line Sale ในสัดส่วน 30%, e-Commerce สร้างยอดขายในสัดส่วน 20% และ Distributor โดยมีสัดส่วนรายได้ 10% รวมไปถึงการออกบูธแนะนำสินค้าในงาน Trade Fair ต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างการรับรู้แบรนด์
ก้าวต่อไปสู่การขยายตลาดนอกประเทศ
อีกหนึ่งความสำเร็จของ April Bakery คือการได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล, ISO และ BRC (The British Retail Consortium) หรือสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) เพื่อเข้าถึงและเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
นั่นทำให้ April Bakery มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศด้วย โดยเริ่มต้นจากการส่งออกขนมเปี๊ยะในรูปแบบแช่แข็งไปจำหน่ายเพื่อทดลองตลาดในสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความต้องการสินค้าเบเกอรี่ รวมไปถึงการวางขายในตลาดเวียดนามและกัมพูชา และเป้าหมายใหญ่ในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผ่านห้างค้าปลีกรายใหญ่อย่างห้าง Costco
นอกจากการขยายธุรกิจและการพัฒนาสินค้าแล้ว April Bakery ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและสังคม โดยลงทุนซื้อพื้นที่กว่า 10 ไร่ ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงบลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เพื่อปลูกโกโก้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเบเกอรี่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอีกด้วย
คุณกนกกัญจน์กล่าวถึงการลงทุนว่า “เราไม่ได้มองแค่เรื่องผลกำไรอย่างเดียว แต่เรามองถึงความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาวด้วย การที่เราลงทุนปลูกโกโก้เอง นอกจากจะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและลดต้นทุนการนำเข้าโกโก้ที่ปัจจุบันปรับราคาสูงขึ้นอย่างมากแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย”
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่การสร้างแบรนด์เบเกอรี่ชั้นนำของประเทศ April Bakery พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากโชคช่วย แต่เกิดจากความมุ่งมั่นและการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง พร้อมทั้งปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป