กลยุทธ์จิตวิทยาเบื้องหลัง Balenciaga กับสินค้าดีไซน์แหวกขนบแบบจิกกัด ขยายขอบเขต Fashion ให้กว้างขึ้น

  • 124
  •  
  •  
  •  
  •  

Balenciaga เป็นชื่อของแบรนด์ระดับ Luxury ที่ติดหูคนไทยมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่โผล่มาในหน้าสื่อเป็นระยะกับการออกสินค้าที่ดีไซน์สุดแปลกที่บางอย่างได้แรงบันดาลใจจากของรอบตัวเรา แต่แค่เมื่อติดแบรนด์ Balenciaga ก็มีราคาหลักหมื่นหรือหลักแสนได้และยังกลายเป็นไวรัลให้คนได้ถกเถียงกันในโลกออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง

Tape Bracelet ส่วนหนึ่งของคอเลคชั่นฟอลล์ วินเทอร์ 2024 ของ Balenciaga ที่เป็นที่พูดถึงในงานปารีส แฟชั่น วีค / HIGHSNOBIETY/TIKTOK

ทุกครั้งที่เราเห็นข่าวเหล่านี้ย่อมเกิดคำถามว่า Balenciaga ทำแบบนี้ไปทำไมบางครั้งกลายเป็นมีมที่คนในโลกออนไลน์นำไปล้อเลียนกันอย่างกว้างขวาง การถูกพูดถึงในมุมนี้น่าจะไม่ส่งผลดีกับแบรนด์หรู แต่ทำไม Balenciaga ยังคงยืนหยัดในฐานะแบรนด์หรูที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทำรายได้มากกว่าปีหลายหมื่นล้านบาท ได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์แฟชั่นชั้น โดยเฉพาะจากกลุ่มคน GenZ ได้อย่างแข็งแกร่ง

กระเป๋ารุ่น BARBES LARGE EAST-WEST SHOPPER BAG ราคา 62,900 บาท

ก็ต้องบอกว่าสิ่งนี้เป็นหนึ่งในหลายๆกลยุทธ์ของ Balenciaga ที่เราสามารถเรียนรู้ได้และกลยุทธ์เหล่านี้ก็มีคำอธิบายทางจิตวิทยาอยู่เบื้องหลังไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึก Emotional Branding ด้วยการเล่าเรื่อง Storytelling เรื่องของ Exclusivity ที่ทำให้เกิดความรู้สึก Fear of Missing Out (FOMO) การเป็นแบรนด์แฟชั่นที่เป็นตัวแทนของระดับทางสังคม รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ของปรากฏการณ์ Social Proof เป็นต้น ซึ่งเราจะมาไล่เลียงกันไปทีละเรื่อง

Exclusivity และ Scarcity กระตุ้น FOMO

Balenciaga ใช้กลยุทธ์เรื่องของสินค้าที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษและการผลิตออกมาในจำนวนจำกัดส่งผลให้เกิดความรู้สึกถึง “อยากได้” มาไว้ในครอบครองเกิดความต้องการในสินค้าคอลเล็คชั่นนั้นๆมากขึ้น Balenciaga ใช้การออกคอลเล็คชั่นแบบ Limited ที่มีจำนวนจำกัด การจับมือกับพันธมิตรแบบแปลกใหม่และ Exclusive รวมไปถึงจำกัดช่องทางการจัดจำหน่ายเฉพาะร้านค้า ห้างสรรพสินค้าไฮเอ็นด์ หรือ ช่องทางขายออนไลน์บางแห่ง การมีระบบ Waiting Lists สำหรับสินค้าบางคอเล็กชั่น

สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Fear of Missing Out (FOMO) ที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอยากซื้อทันที” (Impulsive Buying) เพราะกลัวว่าสินค้าเหล่านั้นจะหมดไปจากตลาด นอกจากนี้การสร้างสินค้าที่กลายเป็นของ Rare ยังส่งผลให้ Balenciaga สามารถตั้งราคาสูง และยังเป็นที่ต้องการกลุ่มคนคลั่งไคล้แฟชั่นและนักสะสมได้ด้วย

คอเลคชั่น Balenciaga x Crocs

ตัวอย่างกลยุทธ์สร้าง FOMO ของ Balenciaga ก็เช่น Balenciaga x Crocs การ Collabs ที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้กลายเป็นรองเท้าคอลเล็กชั่นพิเศษอย่าง Crocs Stiletto ที่ขายหมดอย่างรวดเร็วและกลายเป็นสินค้าในกลุ่มนักสะสมกันไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการจับมือแบบที่คนคาดไม่ถึงเช่นการออกคอลเล็กชั่นกับแบรนด์กีฬาอย่าง Adidas รวมไปถึงการจับมือกับการ์ตูนดังอย่าง The Simpsons ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้

เทคนิคสร้าง Exclusivity และ Scarcity ของ Balenciaga ยังรวมไปถึงการจัด Fashion Show แบบ Exclusive ที่ผู้เข้าร่วมงานจะต้องได้รับคำเชิญเข้าร่วมงานเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่จะเป้นเซเลปและคนดังในอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกพิเศษและอยู่ในกระแสแฟชั่นสำหรับคนที่ได้รับเชิญได้ด้วย

เรื่องราวที่เล่นกับอารมรณ์ Emotional and Storytelling

เทคนิคของ Storytelling ที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเป็นเทคนิคที่ Balenciaga ใช้ได้เก่งมากๆและเทคนิคทางจิตวิทยานี้ก็สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างแบรนด์และลูกค้าได้มาอย่างยาวนาน นอกจากเรื่องราวแรงบันดาลใจจากการออกแแบบสินค้าในแต่ละคอเล็กชั่น ทักษะฝีมือในการผลิต หรือประสบการณ์การใช้งานสินค้าในรูปแบบต่างๆแบบที่หลายๆแบรนด์ทำแล้ว แบรนด์หรูจากประเทศสเปนแบรนด์นี้ยังมีเรื่องราวกระตุ้นความสงสัย ความประหลาดใจและความอยากรู้อยากเห็น สิ่งเหล่านี้ทำให้แบรนด์กลายเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงในสังคม กลายเป็นการสร้างความแตกต่างใก้เกิดการจดจำได้มากกว่าการเล่าเรื่องราวแบบธรรมดาๆไปซะอีก

ยกตัวอย่าง Destroyed Sneaker Campaign ที่ Banlenciaga ปล่อยออกมาในชื่อ ‘Paris Sneaker’ รองเท้าที่ถูกใช้จนพังแบบเกินเยียวยาหลากลายรูปแบบที่ทำมาจำกัดแค่ 100 คู่ และตั้งราคาไว้สูงถึง  66,000 บาทในบางรุ่น  แน่นอนว่ารองเท้าพังๆเหล่านี้ในราคาสูงลิบถูกนำไปล้อเลียนบนโลกออนไลน์กันอย่างกว้างขวางในทำนองว่าใครจะบ้าพอที่จะเสียเงินซื้อรองเท้าสกปรกพังๆแบบนี้

Paris Sneaker/Balenciaga

แต่ในมุมของ Banlenciaga สื่อสารเรื่องราวในเชิงสัญลักษณ์ระบุว่า Paris Sneaker รุ่นลิมิเต็ดนั้นเป็นเป็นรองเท้าที่ถูกใส่มาตลอดชีวิต เป็นจุดที่ทำให้ฉุกคิดกับเรื่องราวของอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่ถูกมองว่ากำลังสร้างผลกระทบให้กับโลกและสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคเกินจำเป็น

เด็มนา กวาซาเลีย ดีไซน์เนอร์ชาวจอร์เจียผู้อยู่เบื้องหลังงาน Paris Sneaker รวมถึงงานรูปแบบเดียวกันนี้หลายๆคอลเล็คชั่นระบุว่า เขาพยายามมองหาแง่มุมที่สวยงามจากของที่คนทั่วไปอาจคิดว่าไม่สวยงามเป็นการตั้งคำถามให้ได้คิดกันว่า ทำไมเราถึงมองว่าหลายๆ สิ่งถึงต้องดูเป็นแบบนั้นแบบนี้ถึงจะสวยงามหรือเรียกได้ว่าหรูหราและเราสามารถเปลี่ยนมันได้หรือไม่

ยังไม่ต้องพูดถึงยอดขายแต่ผลงานเหล่านี้มีเรื่องราวที่กระตุ้นอารมณ์ทั้งทำให้ฉุกคิด เกิดข้อถกเถียงทั้งแง่บวกและลบและสิ่งนี้ทำให้ Balenciaga กลายเป็นศูนย์กลางของพื้นที่บนโลกออนไลน์ได้แทบจะตลอดเวลาสร้างการจดจำและกลายเป็นตัวแทนคนที่ต้องการจะแสดงออกถึงตัวตนให้เด่นชัดมากขึ้นอีกด้วย

เป็นตัวแทนของสถานะทางสังคม Social Status

จากการขายรองเท้าเก่าๆพังๆในราคาแพงๆ ไม่น่าเชื่อว่า Balenciaga ประสบความสำเร็จกับการการวาง position แบรนด์ในฐานะสัญลักษณ์ของสังคมชั้นสูงและความหรูหราได้ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าสถานะนี้สร้างขึ้นได้ด้วยการจับมือกับ เซเลป อินฟลูเอนเซอร์ รวมไปถึงผู้นำแฟชั่นจำนวนมาก และผู้บริโภคก็จะได้รับอิทธิพลเหล่านี้และต้องการที่จะเลียนแบบวิถีชีวิตภาพลักษณ์ Lifstye ของคนที่ชื่นชอบด้วยการใช้สินค้าของ Balenciaga ตามไปด้วย และในอีกแง่การใช้ Balenciaga ก็เป็นการแสดงออกถึงสถานะทางสังคมและความแตกต่างได้ด้วย

ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นผลเชื่อมโยงกับการทำการตลาดด้วย Exclusivity ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคนชั้นสูงได้ด้วยเช่นกัน

LE CAGOLE SMALL SHOULDER BAG IN DENIM WITH RHINESTONES ราคาราว 120,000 บาท / Balenciaga

ยกตัวอย่างสิ่งที่ Balenciaga ทำก็เช่นการร่วมงานกับเซเลปดังๆตั้งแต่ Kim Kardashian, Justin Bieber หรือแม้แต่ Kanye West ที่มีเรื่องอื้อฉาวจนต้องแยกทางกันไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ It Bag กระเป๋าที่ต้องมีและถูกถือโดยคนดังอย่างเช่น City Bag กระเป๋ายอดนิยมตลอดกลาลรวมไปถึง Le Cagole ที่กลายเป็นไอเท่มที่เซเลปและอินฟลูชื่อดังต้องมี สร้างกระแสความต้องการจนต้องรอคิวสั่งซื้อกันยาวนานแม้จะมีราคาหลักแสนก็ตาม

Influencer Marketing and Social Proof

เทคนิคที่ Balenciaga ใช้และประสบความสำเร็จมากก็คือการทำ Influencer Marketing ที่ไม่ใช่การร่วมงานกับเฉพาะดาราเซเลป Big Name ระดับโลกเท่านั้น แต่ยังจับมือกับ influencer ที่อาจจะมีกลุ่มผู้ติดตามกลุ่มเล็กกว่าแต่ก็มีแฟนๆที่มี Engagement ระดับสูงอย่างเช่น Alexa Demie นักแสดงชื่อดังหรือแม้แต่ในประเทศไทยที่ Balenciaga ประกาศให้ พีพี กฤษฏ์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกคนแรกจากเอเชียเป็นต้น

Balenciaga ยังใช้ประโยชน์จากปรากฎการณ์ Social Proof ด้วยโดย Social Proof เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ทำให้คนเราเชื่อใจกับความคิดเห็นของผู้อื่นในสังคมว่าส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ ซึ่งนอกจากจะได้ข้อมูลจาก Influencer ที่ตนเชื่อถือและยอมรับแล้วยังสร้าง Social Proof ผ่าน #Banlenciaga ที่ส่งผลให้เกิดภาพผู้ใช้กระเป๋าตัวจริงกระจายอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากและช่วยสร้างความรู้สึกพิเศษจากการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้ใช้งานสินค้า Balenciaga ได้อีกทางหนึ่ง

ดีไซน์ที่แตกต่างสะท้อนตัวตน

Balenciaga

Balenciaga มีดีไซน์ที่มีความมินิมอลและมีความล้ำไปพร้อมๆกัน การออกแบบที่แหวกขนมแฟนชั่นแบบเดิมๆ สิ่งนี้ดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการความแตกต่างที่สามารถสะท้อนตัวตนที่ต่างจากกรอบปฏิบัติที่เคยเป็นมา ทั้งรูปแบบเฉพาะตัว สัดส่วนเกินจริงบางอย่าง และการใช้วัสดุเชิงทดลอง ต่างช่วยขยายขอบเขตของแฟนชั่นให้กว้างออกไปและดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้

การคิดใหม่ทำใหม่ การ Disrupt มาตรฐานแฟชั่นเดิมๆของ Balenciaga ช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการที่จะสื่อสารและบ่งบอกความเป็นตัวเองด้วยการแต่งตัวที่โดดเด่นและแตกต่างโดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ สิ่งเหล่านี้เราเห็นได้จากงานออกแบบในทุกๆคอลเลคชั่นของ Balenciaga ที่มีให้เราเห็นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของกลยุทธ์และหลักจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์เหล่านั้นที่ทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังสินค้าแปลกๆหลายอย่างที่ทำให้ Balenciaga ยังคงเป็นแบรนด์ luxury ที่แข็งแกร่งและเป็นทำรายได้มหาศาลได้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน


  • 124
  •  
  •  
  •  
  •