เปิดบ้าน Jobsdb by SEEK คุยกับ Lewis Ng และ ดวงพร พรหมอ่อน บทบาทของ AI กับอนาคตของตลาดงาน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

หากพูดถึงการหางานออนไลน์ในปัจจุบัน คงไม่มีใครไม่รู้จัก Jobsdb ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาเป็น Jobsdb by SEEK แล้ว แต่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับ SEEK ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีอิทธิพลสำคัญในการสร้างอนาคตของการหางานและการจ้างงานในระดับภูมิภาค

SEEK ก่อตั้งขึ้นในออสเตรเลีย และปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี และเริ่มขยายเข้ามาในเอเชียเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดย SEEK ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ Jobstreet และ Jobsdb ซึ่งครอบคลุม 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย การรวมตัวครั้งนี้นำมาซึ่งการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้มากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยจับคู่คนหางานและผู้จ้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เรามีโอกาสได้ไปเยือนออฟฟิศของ Jobsdb by SEEK ซึ่งมีบรรยากาศการทำงานที่เป็นกันเองและทันสมัย เพื่อสนทนากับ คุณลูอิส เอิง (Lewis Ng) ผู้อำนวยการฝ่ายขายภูมิภาคเอเชียและบริการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก,SEEK และ คุณยุ้ย-ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK ประเทศไทย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของ SEEK ในภูมิภาคนี้ ความสำคัญของ AI ต่อแพลตฟอร์มหางาน และเทรนด์ที่น่าสนใจของตลาดงานในอนาคต

การจับคู่ที่ดีกว่าด้วย AI

คุณลูอิสอธิบายว่า หัวใจสำคัญของ SEEK คือการช่วยให้ธุรกิจค้นหาพนักงานที่ตรงกับความต้องการ และให้ผู้สมัครงานได้พบกับงานที่เหมาะสมกับตัวเอง การจับคู่ที่ดีขึ้น (Better Matching) ถือเป็นคอร์ธุรกิจหลักของ SEEK โดยเฉพาะเมื่อมีการนำ AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดเลือกผู้สมัครและบริษัทให้เหมาะสมกัน บนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ SEEK ซึ่งมีข้อมูลที่เกิดจากการโต้ตอบระหว่างผู้สมัครงานและบริษัทมากถึง 1 พันล้านครั้ง

คุณลูอิส เอิง (Lewis Ng) ผู้อำนวยการฝ่ายขายภูมิภาคเอเชียและบริการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก,SEEK

ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในการสังเกตพฤติกรรมของผู้สมัครขณะหางาน AI จะสามารถแนะนำงานที่พวกเขาอาจสนใจได้ โดยพิจารณาจากข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ใช้จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน AI หลายตัวที่มีความสามารถในการจับคู่ระหว่างธุรกิจและผู้สมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในมุมของผู้จ้างงาน คุณลูอิสชี้ให้เห็นถึงการใช้ฟีเจอร์ AI Recommended Questions ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยให้การคัดเลือกผู้สมัครงานเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องการหาผู้สมัครที่เหมาะสม AI จะช่วยกรองผู้สมัครโดยพิจารณาจากคำตอบที่ผู้สมัครให้ในการตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน

ทางฝั่งของผู้สมัครงาน AI ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแนะนำงานที่เหมาะสมให้ผู้สมัครเช่นกัน คุณลูอิสยกตัวอย่างว่า “เพราะมีฐานข้อมูลที่ใหญ่จากผู้หางานจำนวนมาก AI จะช่วยแนะนำงานที่ผู้สมัครอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากผู้สมัครงานค้นหางานในตำแหน่ง Editor แบบเดิม งานทั้งหมดในตำแหน่งนั้นจะปรากฏขึ้น แต่ที่สำคัญกว่าคือต้องพิจารณา Soft Skills ของผู้สมัครด้วย AI จะสามารถพิจารณาผู้สมัครจากสายงานอื่นๆ ที่มี Soft Skills ที่เข้ากับงานในตำแหน่ง Editor ได้ ดังนั้น เมื่อลองค้นหาคำว่า ‘Editor’ AI จะสามารถแนะนำงานที่สอดคล้องกับทักษะของผู้สมัครได้ ถึงแม้ว่าตำแหน่งที่ระบุอาจจะแตกต่างกัน”

คุณยุ้ยเสริมว่า “SEEK เป็นตลาดงานที่ลูกค้าหลักคือฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่างๆ และงานของ HR นั้นต้องใช้เวลาในการอ่านเรซูเม่จำนวนมาก หากต้องคัดเลือกพนักงานในหลายตำแหน่ง การนำ AI เข้ามาจะช่วยให้ HR สามารถทำงานได้เร็วขึ้น แทนที่จะต้องอ่านเรซูเม่ร้อยๆ ฉบับในแต่ละตำแหน่ง AI จะสามารถช่วยสแกนและแนะนำเรซูเม่ที่เหมาะสมได้ทันที เพียงแค่ใส่ Job Description ในระบบโพสต์งาน ระบบก็จะสามารถแนะนำเรซูเม่ที่สอดคล้องกับงานนั้นๆ ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้มาก”

คุณยุ้ย-ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK ประเทศไทย

นอกจากฝั่งของ HR ผู้สมัครงานเองก็ได้ประโยชน์จาก AI เช่นกัน “ผู้สมัครจะได้รับการแจ้งเตือนจากระบบ Job Alert เกี่ยวกับงานใหม่ๆ ที่อาจเหมาะสมกับพวกเขา AI จะพิจารณาจากโปรไฟล์และพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มในการแนะนำงาน เช่นเดียวกับเวลาเราใช้โซเชียลมีเดีย หากเราไปกดหรือดูงานบางประเภทบ่อยๆ ระบบจะจำแนกความสนใจของเราและแจ้งเตือนงานที่ตรงกับความสนใจนั้น” คุณยุ้ยกล่าวเพิ่มเติม

คุณลูอิสยังยกตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้ LLMs (Large Language Models) ในการช่วยผู้สมัครงานค้นหางานในอนาคต แทนที่ผู้สมัครจะค้นหาเพียงแค่ตำแหน่งงาน พวกเขาจะสามารถค้นหางานในรูปแบบที่กว้างขึ้น เช่น ‘ฉันต้องการงานในกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวข้องกับการขายและมีความยืดหยุ่น’ ด้วยข้อมูลนี้ AI จะสามารถแนะนำงานที่ตรงกับสิ่งที่ผู้สมัครต้องการ รวมถึงประสบการณ์ที่พวกเขามีได้ ดังนั้น การค้นหางานจะไม่ถูกจำกัดเพียงแค่ชื่อตำแหน่งเท่านั้น แต่จะพิจารณาจากความต้องการและทักษะของผู้หางานเช่นกัน ซึ่งคล้ายกับการ Prompt คำสั่งใน Generative AI นั่นเอง

การรวมแพลตฟอร์มเป็นหนึ่งเดียวกัน

หนึ่งในก้าวสำคัญของ SEEK คือการรวมแพลตฟอร์มของ 8 ประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว โดยการลงทุนในครั้งนี้มีมูลค่ากว่า 4,220 ล้านบาท และใช้เวลากว่า 3 ปี ซึ่งช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณลูอิสอธิบายว่า “ก่อนหน้านี้ แต่ละประเทศมีทีมพัฒนาและแพลตฟอร์มของตัวเอง ทำให้การนำฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามาใช้งานนั้นต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้ทุกประเทศใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งช่วยให้การพัฒนาง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก”

คุณยุ้ยยังกล่าวถึงประโยชน์ของการรวมแพลตฟอร์มว่า “การรวมแพลตฟอร์มทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผู้หางานในประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น ถ้าผู้ประกอบการที่นี่ต้องการผู้สมัครที่มีทักษะเฉพาะ แต่หาจากในประเทศไทยไม่ได้ พวกเขาสามารถค้นหาผู้สมัครจากประเทศอื่นๆ ในเครือข่ายเดียวกันได้ทันที สำหรับผู้สมัครที่ไทย พวกเขาสามารถดูงานจากประเทศอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงานในฮ่องกง สิงคโปร์ หรือที่อื่นๆ ซึ่งทำให้โอกาสในการหางานเปิดกว้างมากขึ้น”

การปรับให้เข้ากับท้องถิ่น: สิ่งสำคัญของการเป็นที่หนึ่งในตลาด

ถึงแม้ SEEK จะเป็นบริษัทระดับภูมิภาคที่มีการดำเนินงานใน 8 ประเทศ แต่การให้ความสำคัญกับตลาดในแต่ละประเทศยังคงเป็นสิ่งสำคัญ คุณลูอิสกล่าวว่า “เรามีพนักงานกว่า 3,300 คนทั่วโลก และในไทยเรามีพนักงานประมาณ 100 คน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศได้ดียิ่งขึ้น”

คุณยุ้ยอธิบายว่า “บางครั้งวิธีการทำตลาดหรือโฆษณาที่ใช้ในระดับภูมิภาคอาจจะไม่เหมาะกับตลาดไทย เช่น การสื่อสารที่ใช้ในโซเชียลมีเดีย บางอย่างที่อาจจะได้ผลในประเทศอื่น แต่ในไทยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมและความชอบของคนไทยมากขึ้น”

คุณลูอิสเสริมว่า “การทำงานกับทีมในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะพวกเขาสามารถบอกได้ว่าตลาดต้องการอะไร หรือมีลักษณะเฉพาะอะไรที่ควรคำนึงถึง ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่เราให้ความสำคัญกับการมีผู้บริหารที่มาจากท้องถิ่น อย่างเช่นคุณยุ้ย ซึ่งเข้าใจตลาดไทยได้อย่างลึกซึ้ง”

Career Hub: เสริมเป้าหมายหลักของการจ้างงาน

ในอนาคต SEEK ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการจับคู่ระหว่างผู้จ้างงานและผู้หางาน แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของผู้หางานด้วย 

คุณลูอิสพูดถึงโปรเจ็กต์ใหม่ที่ SEEK กำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งจะเปิดตัวในประเทศไทยเร็วๆ นี้ นั่นคือ Career Hub แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้สมัครงานสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ฟรี ผ่านคอนเทนต์ที่เข้าใจง่ายและมีความเกี่ยวข้องกับตลาดท้องถิ่น

เขายกตัวอย่างว่า “เช่น ถ้าคุณต้องการเรียนรู้ Microsoft Excel เนื้อหาจากการค้นหา Google คุณอาจจะพบแต่วิดีโอยาว 3 ชั่วโมงในภาษาอังกฤษที่เข้าใจยาก Career Hub ของ Jobsdb by SEEK จะเสนอคอนเทนต์สั้นๆ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมือน TikTok สำหรับการเรียนรู้ในภาษาท้องถิ่น ซึ่งเราได้พัฒนาและนำไปใช้ในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และจะเข้าสู่ไทยเร็วๆ นี้”

“ด้วยข้อมูลที่เรามี เราสามารถระบุทักษะที่ตลาดต้องการและสร้างคอนเทนต์เพื่อเติมเต็มช่องว่างทักษะเหล่านั้น” คุณลูอิสกล่าวเสริม “นี่คือส่วนขยายของแพลตฟอร์มที่จะช่วยเสริมเป้าหมายหลักในการจับคู่ผู้จ้างงานกับผู้หางานให้เหมาะสมและดียิ่งขึ้น”

ทักษะสำคัญสำหรับความสำเร็จในยุค AI

เมื่อพูดถึง Skill Set หรือทักษะที่จำเป็นในอนาคต คุณลูอิสชี้ให้เห็นถึงทักษะที่สำคัญในยุค AI และเทคโนโลยี แน่นอนว่าตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยียังคงเป็นที่ต้องการสูง แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือทักษะด้าน ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), การสื่อสารกับผู้คน (People Communication), และการมีส่วนร่วม (Engagement) ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณลูอิสอธิบายเพิ่มเติมว่า “ผมเชื่อว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่า AI จะมาแทนที่คน ตรงกันข้าม AI จะเข้ามาเสริมศักยภาพของเรา ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถทำงานที่ท้าทายและสร้างคุณค่ามากขึ้นในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ ตัวอย่างเช่นที่ SEEK และ Jodsdb by SEEK เราใช้ AI ในงานบริการลูกค้าบางส่วน ซึ่งทำให้ในส่วนที่ยังต้องใช้มนุษย์ เราก็สามารถให้บริการที่ดียิ่งขึ้นได้ ดังนั้น AI จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับการทำงานของเรา ไม่ใช่เข้ามาแทนที่”

คุณยุ้ยเสริมว่า “คนที่สามารถใช้ AI ได้ก็จะมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เราไม่จำเป็นต้องกลัวว่า AI จะมาแย่งงาน สิ่งที่เราควรทำคือพัฒนาตัวเราเองให้สามารถใช้ AI เป็น และทำงานได้ดียิ่งขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น คนที่ปรับตัวได้จะมีความได้เปรียบ Job descriptions ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการเข้ามาของ AI แต่ตำแหน่งงานเหล่านั้นจะไม่หายไป ความสามารถในการปรับตัวหรือ Adaptability เป็นทักษะที่ทุกคนควรมีในยุค AI และเทคโนโลยี เพราะเราไม่รู้เลยว่าในอีกหนึ่งหรือสามปีข้างหน้าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ คุณลูอิสยังพูดถึงเทรนด์ที่สำคัญสำหรับฝั่งผู้จ้างงาน โดยเน้นให้ผู้จ้างงานมีทัศนคติที่เปิดกว้างในการพิจารณาผู้สมัครงาน “แทนที่จะมองหาผู้สมัครที่มีประสบการณ์ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการเท่านั้น ผู้จ้างงานควรเปิดใจกว้างขึ้น พิจารณาผู้สมัครที่อาจเคยทำงานในตำแหน่งอื่น แต่มีทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ต้องการมากกว่า การจ้างงานที่เน้นไปที่ทักษะที่ผู้สมัครมี ณ ตอนนี้จะสำคัญกว่าประสบการณ์ในตำแหน่งงานตรง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม AI ถึงมีบทบาทสำคัญ เพราะหลายครั้งผู้จ้างงานอาจไม่เห็นศักยภาพของผู้สมัครที่มาจากสายงานอื่น แต่ด้วย AI จะทำให้ผู้จ้างงานได้เห็นผู้สมัครที่อาจไม่ได้นึกถึงมาก่อน และผู้สมัครเองก็จะได้เห็นงานที่อาจไม่เคยคิดถึงมาก่อนเช่นกัน ในอนาคตการจับคู่ทักษะจะมีความสำคัญมากกว่าตำแหน่งงาน”

สุดท้าย คุณลูอิสแบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการปรับตัวกับวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่าง “ผมมาจากออสเตรเลีย ซึ่งมีวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา ในขณะที่ในเอเชียผู้คนมักจะสงวนท่าทีมากกว่า การเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารอย่างเหมาะสม”

เขายังกล่าวเสริมถึงการทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วว่า “คุณต้องมีทัศนคติที่ยอมรับความล้มเหลวได้ ล้มให้เร็ว และเรียนรู้ให้ไว เพราะในโลกเทคโนโลยี การ Disrupt ตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทุกคนกลัวความผิดพลาด เราก็จะไม่มีโอกาสพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า”


  •  
  •  
  •  
  •  
  •