In Short:
- ความโดดเด่นในการปรับใช้ NFTs มากที่สุดคือ ตั๋ว NFTs ที่ธุรกิจอีเวนต์ (Event) นำมาใช้งาน
- ระบบ Blockchain ทำให้ตั๋ว NFTs ‘มีชิ้นเดียวในโลก’ และ ‘ยากแก่การปลอมแปลง’ จึง ‘มีมูลค่าในตัวเอง’ โดยไม่จำเป็นต้องเก็บไว้นานๆ เพื่อจะมีมูลค่า
- ผู้จัดอีเวนต์สามารถเพิ่มมูลค่า ‘ตั๋ว NFTs ‘ ได้อีกทางหนึ่ง โดยใช้เป็นได้ทั้งตั๋ว สินทรัพย์ และการเข้าถึงสิทธิพิเศษ ในคราวเดียวกัน
- ประเทศไทยเป็นที่คาดการณ์ว่า ตั๋ว NFTs อาจเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะมีการเติบโตในตลาดการจัดอีเวนต์ และมีผู้ถือครอง NFTs มากที่สุดในโลก
ทุกวันนี้ กระแส Non-fungible Tokens (NFTs) ถือได้ว่ามาแรงอย่างมาก มีอัตราการเติบโตของตลาดแบบก้าวกระโดด จากสถิติของ Statista พบว่า market size ในปี 2021 มีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2020 (ที่มีมูลค่าประมาณ 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคร่าวกว่าล้านเท่า และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ในภาคส่วนธุรกิจทั้งหลาย ได้นำ NFTs ไปปรับแปร ประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจตนมากขึ้น แต่ที่โดดเด่นและจับต้องได้มากที่สุด อาจเป็น ‘ธุรกิจอีเวนต์ (Event)’ ด้วยการนำ NFTs มาใช้ในลักษณะการเป็น ‘ตั๋วเข้าชมงาน’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ตั๋ว NFTs (NFTs Ticket)’ กระนั้น ทำไมตั๋ว NFTs ถึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาต่อวงการ Event? สิ่งดังกล่าวมีความพิเศษอย่างไร? และสิ่งดังกล่าวมีพลวัตอย่างไรในประเทศไทยบ้าง?
ตั๋วไม่ใช่ตั๋ว
สิ่งที่น่าจับตาที่สุดสำหรับการนำ NFTs มาใช้แบบ ตั๋วเข้าชมงาน มาจาก ทุกการกำเนิดของ NFTs ไม่ว่าจะใช้เพื่อการใดก็ตาม แต่ที่มาเดียวกันคือ ‘ระบบบล็อคเชน (Blockchain)’ ทั้งสิ้น ซึ่งระบบดังกล่าวที่มีการเข้ารหัส (Encrypt) จากโยงใยของระบบที่ยุ่งเหยิง รวมถึงอัลกอริทึม (Algorithm) ที่มีความซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจนี้ ทำให้สิ่งนี้มี ‘ความพิเศษในตัวมันเอง’ อย่างหนึ่ง นั่นคือ ในฐานะของตั๋ว มันเป็น ‘ของแท้เสียยิ่งกว่าของแท้ (Authenticity)’ เพราะตั๋วที่ได้มานั้น ‘ปลอมแปลงได้ยากยิ่ง’ หรือเทียบง่ายๆ สิ่งที่ว่านี้ คล้ายคลึงกับ ‘งานศิลปะ’ ที่มีเพียง ‘ชิ้นเดียว’ ในโลก
สิ่งดังกล่าวจึงช่วยได้มากในเรื่องของการป้องกัน ‘ตั๋วผี (Fake Ticket)’ ทำให้หมดกังวลหากผู้ใดต้องการซื้อขายตั๋วแบบ ‘จำหน่ายซ้ำ (Resale)’ หรือทำการซื้อขายใน ‘ตลาดรอง (Secondary Marketplace)’ ทั้งยังสามารถ hold ตั๋วไว้ได้ตราบเท่าที่ใจอยาก ไม่เสื่อมไม่หาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในการออกตั๋วลง ไม่ต้องรอพิมพ์หรือเปิดจองให้เสียเวลา หากทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ตั๋ว NFTs สามารถไปอยู่ในมือเราได้เพียงไม่ถึงนาที
เมื่อเป็นเช่นนี้ ตั๋ว NFTs จึงไม่ใช่แค่ตั๋วเข้าชมงานธรรมดาๆ อีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งที่ ‘มีมูลค่าในตัวมันเอง (Valued itself)’ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพิง ‘ระยะเวลา (Time)’ เพื่อทำให้ตัวมันเองมีมูลค่าขึ้นมา การไม่พึ่งพิงระยะเวลาหมายความว่าอะไร? ให้คิดตามว่า สิ่งของบางอย่าง ในช่วงที่มันออกมา มูลค่ายังไม่สูงนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนั้นกลับมีมูลค่ามากขึ้นเป็นทวี อาทิ ผู้ใดเก็บรักษาตั๋วเข้าชม ‘คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 1’ เมื่อปี 1986 ในสภาพที่สมบูรณ์ไว้จนถึงบัดนี้ หากนำไปลงขายใน e-bay อาจจะได้ราคามากกว่าเดิมหลายเท่าก็เป็นได้
แต่ไม่ใช่กับ ตั๋ว NFTs นั่นเพราะ ตัวต้นทางอย่าง NFTs มีคุณลักษณะเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิตัล (Digital Asset)’ ประเภทหนึ่ง แบบคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) หรือ ดิจิตัลโทเคนส์ (Digital Tokens) ที่สามารถ hold ไว้เพื่อ ‘เก็งกำไร (Speculative)’ ได้ ซึ่งสร้างความได้เปรียบแก่วงการธุรกิจเป็นอย่างมาก เข้าทำนอง ‘ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง’ เพราะอาจกล่าวได้ว่า สิ่งนี้ ‘รับ 2 บทบาท’ เป็นทั้งตั๋วเข้างานและสินทรัพย์ ในคราวเดียวกัน เช่นนี้ ไม่มีทางใดเลยที่ผู้เข้าชมจะทำแค่หยิบตั๋วให้พนักงานเพียงเพื่อตรวจสอบเพื่อเข้างานเฉยๆ แล้วโยนทิ้งถังขยะหลังจากนั้น
มิติใหม่แห่งการเข้าชมงาน Event
ตามที่กล่าวไปในข้างต้น แม้ NFTs จะเป็นสินทรัพย์ดิจิตัลที่มีมูลค่าในตัวเองอยู่ก่อนหน้า แต่เมื่อบรรดาบริษัท Event นำมาปรับใช้เป็นตั๋ว แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาคือ บริษัททั้งหลายนั้น อาจทำการ ‘การเพิ่มมูลค่า (value-added)’ ให้กับตัว NFTs มากยิ่งขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง หรือก็คือ function ของ NFTs ไม่ได้มีดีแค่การเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบตั๋ว แต่ยังสามารถใช้เพื่อการ ‘สัมผัสถึงสิทธิพิเศษ (Exclusive)’ แบบที่ไม่เคยพบพานมาก่อนเพิ่มเติมเข้าไปได้อีกด้วย
โดยบทความ NFTs Are So Much More Than Just Jpegs, They Are Redefining Access And Ownership In Media And Entertainment ใน Forbes ได้ชี้ชัดถึงประเด็นดังกล่าวว่า NFTs สามารถปลดล็อคได้ถึง ‘สิทธิพิเศษ 3 ลักษณะ’ ดังนี้:
ประการแรก คือ สิทธิพิเศษเชิงผลประโยชน์ (Benefits) อาทิ การใช้เพื่อเข้าถึงสินค้า Limited สินค้า rare item หรือสินค้า private ที่มีมูลค่าทางจิตใจ แม้กระทั่งการเปลี่ยนสินค้าจริงๆ (physical goods) ทีมีมูลค่าให้กลายเป็น NFTs ก็ยังสามารถทำได้
ต่อมา คือ สิทธิพิเศษเชิงประสบการณ์ (Experience) อาทิ การใช้เพื่อเข้าชมงานตลอดชีพ (Forever pass) ทั้งในโลกจริงหรือโลกเสมือน หรือการใช้เพื่อ ‘จอง (บางสิ่ง) ล่วงหน้าอัตโนมัติแบบไม่จำกัด (unlimited access)’ เห็นได้โดยทั่วไปกับการจองโต๊ะในร้านอาหารเลิศหรูต่างๆ ได้
และท้ายสุด คือ สิทธิพิเศษเชิงการรวมกลุ่ม (Community) อาทิ การใช้เพื่อ ‘ระดมทุน’ แบบรัฐบาลยูเครน ในการหาเงินและแสดงถึงการต่อต้านสงครามกับรัสเซีย หรือการใช้เพื่อ ‘ขายหุ้น’ หากใครถือครองไว้ ก็จะได้เป็นหุ้นส่วน มีสิทธิลงมติกำหนดแนวทางบริษัทได้
เช่นนี้ ยิ่งทวีความได้เปรียบให้แก่วงการธุรกิจ Event มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ บรรดาบริษัทด้าน Event ในต่างประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ ได้นำคุณลักษณะข้างต้นทั้งสามประการไป ‘ปรับใช้’ ได้อย่างดีเยี่ยม โดยบริษัทที่เห็นได้ชัดคือ Coachella เทศกาลดนตรีชื่อก้องโลก ได้ออก ‘Coachella Keys Collection’ ซึ่งก็คือ ตั๋ว NFTs ในลักษณะที่เป็นบัตรผ่านตลอดชีพ (lifetime festival passes) โดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย อาทิทำได้ทั้งเข้าชมคอนเสิร์ต จองคิวทำอาหารร่วมกับศิลปินที่ตนชอบ รวมถึงสิทธิในการแอบดูหลังเวที ได้อีกด้วย
จากการพิจารณาข้างต้น ทำให้เกิดคำถามตามมาคือ สำหรับประเทศไทยนั้น พลวัตในประเด็นดังกล่าวภายในประเทศเป็นอย่างไร? สภาพการณ์เป็นอย่างไร? มีการริเริ่มปรับใช้แล้วหรือไม่? อย่างไร?
ประเทศไทยนั้นไปถึงขั้นไหน
ถือเป็นเรื่อง surprise ไม่น้อย เพราะประเทศไทย ทั้งตลาด Event และ NFTs อยู่ในระดับที่ ‘เติบโต’ ขึ้นเรื่อยๆเริ่มจากด้าน Event เห็นได้จากข้อมูลจาก Statista พบว่า ในตลาดการขายตั๋วสำหรับอีเวนต์ (Event Tickets) ในไทย มีมูลค่ากว่า 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9 ต่อปี พร้อมด้วยข้อมูลจาก Allied Market Research ที่แสดงให้เห็นถึง วงการ MICE (Meetings, Incentives, Conferences, and Exhibitions) และ Mega Event ของไทย ได้รับการคาดการณ์ว่า จะเติบโตขึ้นถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2027 ส่วน NFTs จากรายงาน Digital Economy Compass 2022 โดย Statista เกี่ยวกับ การจัดอันดับผู้เล่น NFTs ในปี 2021 พบว่า ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยจำนวนประมาณ 5.65 ล้านราย คิดเป็นประมาณร้อยละ 8 ของผู้เล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิตัลในประเทศ
เช่นนี้ นับเป็นโอกาสทองของบรรดาบริษัท Event ต่อการลงทุนในตลาดทั้งสองในประเทศไทย ซึ่งบริษัทที่เป็น ‘ผู้บุกเบิก’ เห็นได้ชัดที่สุด นั่นคือ บริษัท EventX บริษัทสตาร์ทอัพด้านการจัดการงานอีเวนต์แบบไฮบริดสัญชาติฮ่องกง โดยเข้ามาจัดงานอีเวนต์แบบไฮบริด (Hybrid Event) ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานมในประเทศไทย อาทิ Job and Higher Education Fair 2021 กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Top Thai Brands Kunming 2021 กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ Virtual Senate Meeting 2021 กับวุฒิสภาไทย
โดยคุณ ซัม หว่อง (Sum Wong) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า ทางบริษัทเน้นเจาะกลุ่มประเทศแถบเอเชียเป็นหลัก โดยเตรียมการภาษาท้องถิ่น (Languages Localization) ไว้มากถึง 8 ภาษา บนแพลตฟอร์มของบริษัท และเล็งเห็นถึงศักยภาพในตลาดดังกล่าวของไทย พร้อมทั้งประกาศกร้าว เข้าซื้อที่ดินบน The Sandbox เพื่อรองรับและต่อยอดการจัดอีเวนต์แบบไฮบริต หรือขยายผลสู่ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเผยต่อไปว่า:
“…เราจะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มของงานอีเวนต์เสมือนจริงและนำเสนอประสบการณ์บนเมตาเวิร์สเพื่อให้ผู้คนได้เชื่อมต่อแบบไร้ขีดจำกัด พร้อมเพิ่มกลยุทธ์ด้านเมตาเวิร์สเพื่อให้ลูกค้าของเราเตรียมพร้อมก้าวสู่เมตาเวิร์สและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจบนโลกเสมือนจริง”
อย่างไรเสีย สิ่งที่น่าสนใจ ไม่ได้มีเพียงการผสานอีเวนต์เข้าสู่เมตาเวิร์สเท่านั้น หากแต่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การที่บริษัทนำตั๋ว NFTs มาปรับใช้ (เพื่อตีตลาด) ในไทย ซึ่งไทยไม่เคยใช้ NFTs ในลักษณะนี้มาก่อน (ส่วนมากถือไว้เป็นสินทรัพย์เฉยๆ) โดยหว่องชี้ชัดว่า การนำมาปรับใช้นี้มีข้อดีหลายประการต่อการจัดอีเวนต์ จากการทดลองใช้ในงานอีเวนต์ที่ฮ่องกงของบริษัท พบว่า ตั๋ว NFTs มีลักษณะเป็น ‘Bundle’ ทำได้หลากหลายอย่าง ดังนี้:
- บริษัทสามารถติดตามลูกค้า (Monitor Clients) ที่ hold ไว้ได้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเปลี่ยนมือ
- การให้สิทธิพิเศษลูกค้าในการพาพรรคพวกมาเข้าชมอีเวนต์ครั้งต่อๆ ไปของบริษัทได้ (ตอนนี้กำหนดไว้ 1 ตั๋ว NFTs ต่อ 8 ท่าน)
- หากนำศิลปินที่เป็นที่นิยมมาทำตั๋ว NFTs (คุณหว่อง prefer เจย์ โชว์) รายได้ร้อยละ 10 จากการซื้อตั๋วจะหักเขาศิลปินทันที และผู้ hold ยังสามารถนำไปเก็งกำไรต่อได้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น คุณร็อบบี้ ตัน (Robbie Tan) Sales Development Manager ของ EventX ได้กล่าวเสริมถึงสิ่งดังกล่าวว่า ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ในกระบวนการจำหน่ายตั๋วลงได้มาก พร้อมกับความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นเป็นทวี ด้วยการใช้ถึง 3 ระบบบล็อคเชนในการออกตั๋ว และที่สำคัญ คือการเพิ่ม Engagement ระหว่างลูกค้าและบริษัทในเวลาที่รวดเร็วและแนบชิดกันมากยิ่งขึ้น
นับว่า ในอนาคตที่จะถึงนี้ มีความน่าตื่นเต้นเร้าใจและท้าทายรออยู่ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก หากตั๋ว NFTs ใช้กันอย่างแพร่หลายและกลายเป็นเรื่องปกติที่คนธรรมดาสามัญใช้กันทั่ว ไม่แน่ว่า อาจจะเกิดการเปลี่ยน ‘มุมมองและวิธีคิด’ ของเราต่อ ‘สิ่งธรรมดาทั่วไป’ อื่นๆ ก็เป็นได้
ที่มา:
- Nasdaq, Rolling Stones, Forbes, Statista, Leewayhertz, Allied Market Research
- EventX Metaverse & Event Trend Outlook 2022
- Robbie Tan’s Private Interview (by Author)