เพราะยุคนี้ไม่ได้มีแต่ “Quality” ที่ธุรกิจต้องใส่ใจ แล้วก็ไม่ได้มีแค่ “Innovation” ที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสหรือความแตกต่างให้ธุรกิจ เพื่อนำพาองค์กรให้ผ่านวิกฤต Disruption แต่ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีถาโถมเช่นนี้ มนุษย์ยังมีจุดแข็งที่ได้เปรียบเทคโนโลยีอยู่มาก อย่างทักษะ “Creativity”
ว่ากันว่า Creativity เป็น 1 ใน 3 ทักษะของมนุษย์ที่ “จำเป็น” และ “สำคัญที่สุด” ในปี 2020
สาเหตุที่ทำให้ “ความคิดสร้างสรรค์” กลายเป็นทักษะสำคัญ ก็เพราะ…
– ช่วยปลดล็อกศักยภาพด้านการคิดสร้างสรรค์ให้ผู้นำและบุคลากรภายในองค์กร
– เพื่อเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจ
– กระตุ้นและเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
– เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร
เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์สามารถต่อยอดและกระตุ้นการเติบโตของรายได้ รวมถึงสร้างกำไรได้ จากการเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งกระบวนการ เพราะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มยอดขาย ปรับปรุง และพัฒนากระบวนการขาย ลดค่าใช้จ่าย พัฒนาองค์กร พัฒนาประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า หรือแม้แต่ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้คิดและทำอย่างสร้างสรรค์ควบคู่กับการมีนวัตกรรม
เรื่องนี้ “James Taylor” วิทยากรระดับโลกที่ได้รับการยกย่องในการเป็นผู้นำด้านการสร้างความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ก็ได้แนะนำเคล็ดลับสู่ความสำเร็จจากการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์แก่องค์กรและธุรกิจ เอาไว้เช่นกัน
ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่ “คำตอบ” แต่เริ่มต้นที่ “คำถาม”
สิ่งที่ James Taylor บอกไว้ในงานสัมมนา Unlock Your Creative Potential & Building a More Creative Culture คือ การระดมสมองที่เกิดขึ้นในการประชุมในแต่ละครั้ง คือ สิ่งสำคัญ! แต่ก่อนจะช่วยกันระดมความคิดเพื่อหาคำตอบนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “การร่วมกันถกปัญหาออกมาให้ได้เสียก่อน” โดยช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการประชุมระดมสมองแต่ละครั้ง คือ “10 นาทีแรกของการประชุม” นั่นถือเป็นช่วงเวลาที่แต่ละคนจะกระตือรือร้นในการคิดและแสดงความเห็นมากที่สุด เรียกว่า…ต่อยอดสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญอีกเรื่อง คือ “ความร่วมมือ” ของผู้คนภายในทีมหรือองค์กรนั่นเอง
สร้าง “ความคิดสร้างสรรค์” ต้องอาศัย “เทคนิค”
การกระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์ให้มีประสิทธิภาพอาจจำเป็นต้องใช้เทคนิคบางอย่าง ซึ่ง James Taylor ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยเขาบอกว่า “ผู้ประกอบการที่ฉลาดหลักแหลมที่สุด…ไม่ใช่คนที่ IQ สูง แต่คือคนที่มีแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการทำงานให้กับผู้คนที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว” ซึ่งเทคนิคในการคิดอย่างสร้างสรรค์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากเครื่องมือหลายประเภท เช่น
– เทคนิค PNC
ในบริบทนี้ P = ข้อดี, N = ข้อด้อย, C = ความอยากรู้ ดังนั้น PNC จึงเป็นกระบวนการช่วยประเมินการตัดสินใจ หรือความคิด เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งต่อผู้อื่น ด้วยการกระตุ้นให้ทุกคนร่วมกันวิเคราะห์และสรุปทางออกของประเด็นต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น เรื่องนั้นจะสร้างผลเชิงบวกอย่างไร สร้างผลเชิงลบอย่างไร หรือแค่สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นต้น
– เทคนิค VOD
VOD เป็นเทคนิคที่สื่อถึงความหลากหลาย ตัวเลือก และการตัดสินใจ ดังนั้นเทคนิค VOD จึงเป็นการสร้างไอเดียใหม่เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าวิธีเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา เช่น ขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินในต่างประเทศ ที่เดิมเคยต้องเปิดห้องประชุมให้ผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจนั้นร่วมกันพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อ แต่ปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อทำให้ขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานและให้ประสิทธิภาพแก่ลูกค้าได้รวดเร็วขึ้นด้วย
– เทคนิค OUT
เมื่อมีสิ่งใหม่ที่เคยเห็นเป็นครั้งแรก แน่นอนว่านั่นเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ผู้คนจะต้องตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว เราจึงมีหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือคิดแนวใหม่เพื่อให้สิ่งเดิม ๆ นั้นกลับมาสร้างความน่าสนใจได้อีกครั้ง ยกตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่เคยมี “ฟาร์มไร้เกษตรกร” ด้วยการใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และแอปพลิเคชันเข้าด้วยกัน ทำให้เกษตรกรสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในฟาร์ม พฤติกรรมสัตว์ หรือแม้แต่ควบคุมเครื่องไม้เครื่องมือได้เสมือนทำทุกอย่างด้วยมือของตนเอง หรือแม้แต่ “ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่ไร้หน้าร้าน” ที่ใช้เทคโนโลยี QR code ฝังอยู่บนสินค้า เมื่อสินค้าถูกขายออกไปและมีผู้พบเห็นที่ถูกใจหรือต้องการซื้อสินค้าเหล่านั้น ก็สามารถสแกนเพื่อดูรายละเอียด ราคา และเชื่อมต่อสู่การสั่งซื้อได้ทันที ทำให้ลูกค้าทุกคนกลายเป็นพนักงานขายให้กับร้านได้ด้วย
– เทคนิค Future Pacing
เครื่องมือนี้หมายถึง “การคิดระยะยาว” ซึ่งเป็นวิธีที่องค์กรในทุกอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่แนวทางการพัฒนาสินค้า แต่ยังรวมถึงไอเดียเพื่อเดินหน้าองค์กรด้วย เรื่องเหล่านี้ล้วนต้องการแผนงานเพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคต และในความเป็นจริง เรื่องนี้กลายเป็น “อุปสรรค” ที่น่ากังวลขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ เนื่องจากมักจะขาดการวางแผนอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในระยะยาว
“ฝึกฝน” สู่การสร้าง “แนวคิด” ใหม่
เทคนิคที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว องค์กรยังควรมีการฝึกฝนเพื่อประเมินแนวคิดใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เช่น
OCCAM’s Razor : การใช้หลักการเลือกสิ่งที่ง่ายและเป็นไปได้มากที่สุด นี่คือกฎของความกระชับ สั้น และง่าย เหมาะที่จะเลือกและทำ เพราะไอเดียที่ดีและสร้างสรรค์นั้นไม่จำเป็นจะต้องยืดยาวเสมอไป
Gain Logic Fear : หรือ GLF หมายถึงการให้เหตุผล เรื่องนี้เป็นการรวมเอาการได้ประโยชน์ เป็นเหตุเป็นผล และกลัวเสียประโยชน์ เข้าไว้ด้วยกัน เพราะนอกจากการคิดอย่างสร้างสรรค์แล้ว สิ่งที่องค์กรหรือธุรกิจจำเป็นต้องทำก็คือการรู้ว่าอะไรคือข้อผิดพลาดที่เลวร้ายที่สุด ที่อาจเกิดขึ้นได้จากความหลากหลาย
The Perfect Solution Method : เป็นวิธีที่เหมาะสมกับมนุษย์ที่ชื่นชอบความสมบูรณ์ เพราะเป็นการมองหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบ ต้องผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วนว่าอะไรคือหนทางที่ดีที่สุดและปราศจากเงื่อนไข แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่ถือเป็นวิธีที่ทำได้ยากที่สุด เพราะ…ความสมบูรณ์แบบ คือ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
หมดไฟ! แล้วจะสร้างสรรค์ไอเดียใหม่อย่างไร ?
เป็นปัญหาที่ท้าทายจริง ๆ สำหรับความเฉี่อยชา การทำทุกอย่างซ้ำ ๆ เดิม ๆ เป็นเวลานาน เพราะทำให้คนเราตกอยู่ในภาวะหมดไฟมามากแล้ว แต่คำถามคือ หากเราหมดไฟแล้วต้องทำอย่างไร ?
James Taylor กล่าวถึงวิธีปลุกความสร้างสรรค์ในตัวเราหลังจากตกอยู่ในภาวะหมดไฟ เอาไว้ว่า…
– คุณควรสร้าง Movement พาตัวเองออกไปเคลื่อนไหว ไปเดิน ไปวิ่งตามสวนสาธารณะก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ
– Stream, Don’t Edit ลองร่างไอเดียออกมาและนำมาปรับแต่งอีกครั้ง เพราะว่ากันว่าไอเดียที่ผ่านการสร้างสรรค์มากกว่า 1 ครั้ง จะเป็นไอเดียที่ดีกว่าไอเดียแรก
– ควรลองปรับเปลี่ยนตนเองด้วยการเติมความรู้ใหม่ ๆ ที่ตรงข้ามกับหน้าที่การงานของคุณ หรือที่เรียกว่า Switch Mediums ดูบ้าง
– การมีคู่หูช่วยคิดก็ดีเหมือนกัน เราจึงควรมองหา Creative Pairs คู่หูช่วยสร้างสรรค์ไอเดียที่อยู่ในองค์กรเดียวกันเอาไว้สักคน ผลัดกันเป็นเบื้องหน้าและเบื้องหลังแก่กัน คอยเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อมองหาไอเดียใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยมองเห็นมาก่อน
– หรือท้ายที่สุด Travel คุณควรออกเดินทางไปให้พ้นจากทางตันของกรอบความคิดดูบ้าง แต่ไม่จำเป็นจะต้องท่องเที่ยวต่างแดนเท่านั้น เพราะแค่เปลี่ยนเส้นทางการเดินทางก็อาจมอบไอเดียใหม่ ๆ ให้คุณได้แล้ว
ลองดูนะ…!