สูตร Silicon Valley: Disrupt ธุรกิจแบบ Inside Out ลงทุนอย่างไรให้คืนทุน กับเทรนด์ที่สตาร์ทอัพและนักลงทุนควรมอง

  • 52
  •  
  •  
  •  
  •  

คนไทยอาจไม่ค่อยได้ยินเรื่องของการสร้างสตาร์ทอัพหรือธุรกิจใหม่ที่เริ่มบ่มเพาะกันตั้งแต่ในองค์กรอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเห็นสตาร์ทอัพที่เกิดจากคนในองค์กรพากันลาออกมาทำสตาร์ทอัพกันเสียเอง แต่สำหรับ Linda Yates ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Mach49 และ Paul Holland พาร์ทเนอร์คนสำคัญของ Foundation Capital ได้เห็นปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ใน Silicon Valley เพราะ Yates และ Holland นอกจากมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนสตาร์ทอัพแล้ว ก็ยังเป็น Incubator และ Accelerator ไปในเวลาเดียวกัน เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพในองค์กรได้ตั้งไข่ และพร้อมผันตัวออกไปจากองค์กรสู่โลกภายนอก และเติบโตในทิศทางธุรกิจของตน

การดิสรัปต์แบบ Inside Out ต้องอาศัยการมีที่ปรึกษาที่ดีเพื่อสร้างนักนวัตกรรม (Intrapreneurs) ในองค์กรให้เกิดขึ้น และพร้อมที่จะกล้าสร้างธุรกิจใหม่ และเครื่องมือสำคัญที่นักนวัตกรรมเหล่านี้จะต้องรู้จักคือ โมเดลธุรกิจแบบ Lean การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับผู้ประกอบการอื่น ๆ เพื่อทดสอบตลาด ทดสอบความเป็นไปได้ในการทำตลาดของผลิตภัณฑ์ และประเมินความเป็นไปได้ในการเติบโตของธุรกิจ

 Paul Holland พาร์ทเนอร์คนสำคัญของ Foundation Capital
Paul Holland พาร์ทเนอร์คนสำคัญของ Foundation Capital

Disrupt แบบ Inside Out เตรียมสร้างสตาร์ทอัพในองค์กร

สูตรการ Disrupt แบบ Inside Out จากภายในตามแบบฉบับของ Yates และ Holland มีอยู่ด้วยกัน 5 ช่วงสำคัญ ได้แก่

  • ช่วง Blitz คือที่ช่วงองค์กรนำวัฒนธรรมแบบ Silicon Valley เข้าไปให้หมู่พนักงานบริษัทได้รู้จัก เช่น การทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และต้องปฏิบัติกันอย่างจริงจังเท่านั้น เพื่อให้พนักงานในองค์กรได้รู้สึกถึงความท้าทาย มีเซ็ตในการมองภาพ เกิดข้อมูลเชิงลึก จนนำไปสู่ความเชี่ยวชาญ ที่จะช่วยให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เน้นลูกค้าเป็นสำคัญ และช่วงนี้จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อ พนักงานได้เซ็ตไอเดียใหม่ ๆ ที่พร้อมจะนำมาต่อยอดได้ทันที
  • ช่วง Incubate คือช่วงที่ได้เห็นนักนวัตกรรมแล้ว และนักนวัตกรรมเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจเต็มเปี่ยม และมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองมุ่งหวัง ทั้งนี้ ควรทำให้นักนวัตกรรมเหล่านี้ได้สัมผัสกับประสบการณ์แบบ Silicon Valley อย่างเข้มข้น ช่วงนี้ ไอเดียใหม่จะได้รับการประเมินว่าควรจะได้รับทุนหรือไม่ โอกาสทางธุรกิจมีมากน้อยแค่ไหน ก่อนนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจไปอีกขั้น และเตรียมแผนเปิดตัว
  • ช่วง Innovation Space ช่วยให้นักนวัตกรรมได้ออกแบบและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตลาดไหนก็ตาม นอกจากนี้ ยังทำให้นักนวัตกรรมได้มีโอกาสเข้าถึงระบบนิเวศน์ทางนวัตกรรม สร้างเครือข่าย และอีเวนท์ต่าง ๆ
  • ช่วง Ignite คือช่วงสร้างความท้าทายให้กับนักนวัตกรรม เช่น ให้เข้าร่วมการแข่งขันการสร้างแผนธุรกิจของบริษัททุกระดับ ผ่านกิจกรรมด้านไอเดียที่ต้องทำกันเป็นช่วงเวลาหนึ่ง (Hackathon) สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กร ออกไอเดียในการทำธุรกิจใหม่ ๆ คิดโซลูชั่นด้านเทคโนโลยี สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
  • และช่วง Accelerate ที่เน้นให้นักนวัตกรรมสร้างและ Scale ธุรกิจที่เพิ่งได้รับทุนมาหมาด ๆ ให้ผันตัวออกจากองค์กรแม่อย่างแข็งแกร่ง สตาร์ทอัพหรือธุรกิจใหม่นี้ยังสามารถขยายธุรกิจภายใต้การสนับสนุนจากบริษัทแม่ได้ หรืออาจได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายและนักลงทุนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รับสมัครทาเลนท์เพิ่ม ปิดดีลกับลูกค้ารายแรก และ Scale ผลการดำเนินธุรกิจไปสู่ตลาดแมซอย่างเต็มตัว

เทรนด์ที่น่านำมา Disrupt สำหรับสตาร์ท และนักลงทุนควรมอง

หลังจากได้ทำงานกับองค์กรมาได้ซักพัก โอกาสเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับนักนวัตกรรมที่มักมองเห็นโอกาสเร็วกว่าพนักงานทั่วไป Yates และ Holland แนะนักนวัตกรรมและนักลงทุนให้เห็นโอกาสจากเทรนด์ที่จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ทั้ง 9 เทรนด์ดังต่อไปนี้

Linda Yates ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Mach49
Linda Yates ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Mach49
  • Augmented home entertainment อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการสร้างความบันเทิงในบ้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ แพล็ตฟอร์ม AR หรือ VR ฯลฯ ที่ให้ความบันเทิงในบ้านได้
  •  Distant togetherness อะไรก็ได้ที่ทำให้คนที่อยู่ไกลกันได้สื่อสารเหมือนอยู่ใกล้กัน และได้โซเชียลด้วยกันอย่างสนุกสนาน แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันในสถานที่และเวลาเดียวกันก็ตาม
  • Redefining retail experience อะไรก็ได้ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และลูกค้าขาช้อปทั้งหลาย
  • Altered states เป็นเทรนด์ที่สร้างความน่ากลัวและน่าตื่นเต้น เช่น เกมต่าง ๆ
  • Real-life Social networks เป็นเทรนด์ที่สร้างประสบการณ์ตรงในการสร้างเครือข่ายของตัวเอง
  • Hybrid origins เป็นเทรนด์ที่สร้างประสบการณ์โดยไม่เน้นอะไรที่เป็นตะวันตกมากนัก เทรนด์ที่เน้นอะไรที่เป็นท้องถิ่นมากขึ้น
  • Post-materialistic luxury เป็นเทรนด์เกี่ยวกับประสบการณ์อันแสนหรูหรา ที่ให้ความรู้สึกของการมีวัฒนธรรม การมีคุณค่า
  • Conscientious hedonism เป็นเทรนด์ของการสร้างความสนุกสุดเหวี่ยง โดยไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องข้อเสียของการบริโภคแอลกอฮอล์
  • Female empowering เทรนด์ที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่อีก 50%

ลงทุนอย่างไรให้คืนทุน ทำกำไรและเติบโตอย่างยั่งยืน

ในแง่ขององค์กรเอง ก่อนที่จะลงทุนหรือสนับสนุนสตาร์ทอัพในองค์กร ควรตระหนักด้วยว่า ไอเดียของสตาร์ทอัพจะทำให้เกิดการคืนทุนหรือทำกำไรหรือไม่ Yates และ Holland แนะปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมาพร้อมกับการลงทุน และทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จว่า

  • Build network ภายใน 2 ปี องค์กรเองต้องสร้างเครือข่ายเพื่อสนุบสนุนสตาร์ทอัพด้วย โดยเฉพาะเครือข่ายด้านนวัตกรรม ที่จะมาช่วยสร้างความลื่นไหลและขับเคลื่อนสตาร์ทอัพให้เกิด
  • Hybrid skillset โดยการรวมทักษะความเป็นผู้ประกอบการเข้าด้วยกัน ผ่านคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในองค์กร องค์ความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับสตาร์ทอัพและธุรกิจใหม่
  • Location matters ไม่จำเป็นว่าสตาร์ทอัพหรือธุรกิจเกิดใหม่จะต้องอยู่ใน Silicon Valley เสมอไป ที่ไหนธุรกิจก็โตได้ แต่ต้องศึกษาวิจัยให้ดีก่อนเปิด
  • Team stability ศึกษาประวัติของทีมในแง่ของ ความสามารถ นวัตกรรมและนักลงทุนอื่น ๆ ผู้นำที่มีวัยวุฒิจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้มาก
  • Sense of urgency ความกระตือรือร้นที่จะทำและการตัดสินใจที่ยืดหยุ่นได้ก็สำคัญ ในช่วง 12 สัปดาห์แรก สตาร์ทอัพจะต้องมีเวลาทำงานเต็มที่ และนักลงทุนควรเข้ามาประเมินหลังจากออกตัวแล้ว 18 สัปดาห์ว่าเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่
  • Report to CxO ทุกอย่างให้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารระดับสูงเสมอ จึงจะมีประสิทธิภาพ ให้มี R&D และ CFO และอื่นได้ ในฐานะที่ปรึกษา
  • Investment commitment นักลงทุนเองก็ต้องมุ่งมั่นที่จะปั้นสตาร์ทอัพ และสามารถตัดสินใจได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • Mothership management เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลกับบุคคล แผนกกับแผนก และเกิดความสัมพันธ์แบบ win-win กันทุกฝ่าย ทั้งในสตาร์ทอัพและนักลงทุนเอง
  • Reciprocity เรียนรู้การทำงานในวันนี้เพื่อหวังผลให้เกิดในวันหน้า เข้าใจความต้องการของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน
  • Product/Market Fit เข้าใจลูกค้า เข้าใจผู้บริโภค เฝ้าดูเทรนด์ตลาด ผู้บริโภค เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจตลอด

ท้ายที่สุดแล้ว การปรบมือข้างเดียวมันย่อมไม่ดัง เช่นเดียวกับการจะ Disrupt ธุรกิจแบบ Inside Out ก็ต้องได้ความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในฐานผู้ให้ทุนเอง พนักงานที่จะกลายมาเป็นนักนวัตกรรม และในที่สุดก็มาสร้างสตาร์ทอัพหรือธุรกิจใหม่ เพื่อออกมาตั้งไข่และสู้ด้วยลำแข้งของตัวเองนอกองค์กรแม่

จากงาน CORPORATE INNOVATIONSUMMIT 2019

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
สร้าง Pitch Deck และ Pitch อย่างไรให้ได้ใจนักลงทุน

Copyright @ Marketing Oops!


  • 52
  •  
  •  
  •  
  •  
Lilly
วณิชชา สุมานัส