หลังจากยักษ์ใหญ่อย่าง ‘SCG’ ประกาศเดินหน้าองค์กรสู่ Digital Transformation ในปี 2560 พร้อมกับตั้ง ‘AddVentures’ หน่วยงานด้านการลงทุนสตาร์ทอัพในรูปแบบ Corporate Venture Capital ขึ้นมาเป็นหัวหอกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการมองหานวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือ SCG
มาถึงตอนนี้หน่วยงานดังกล่าวก็มีอายุครบ 3 ปี เราจึงได้ไปพูดคุยกับ ‘ดร.จาชชัว แพส’ ผู้อำนวยการ Corporate Innovation Office ของ SCG และ ‘ดุสิต ชัยรัตน์’ Corporate Venture Capital Fund Manager of AddVentures by SCG ถึงความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา และประเด็นที่พลาดไม่ได้ นั่นคือ ทิศทางและยุทธศาสตร์การลงทุนในอนาคตของ AddVentures
“ที่ผ่านมาเราเดินหน้าลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในการสร้าง Business Model และ synergy ที่โดดเด่น โดยโฟกัสในเรื่อง Digital Transformation และ Deep tech ที่จะมาเสริมและเพิ่มศักยภาพในด้านต่าง ๆ ให้กับ SCG บริษัทแม่ของเรา” ดร.จาชชัว เริ่มต้นเล่า พร้อมอัพเดทการทำงานที่ผ่านมาของ AddVentures ว่า
ตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงานนี้ในปี 2560 มาถึงปัจจุบันมีการลงทุนไปแล้วใน 16 สตาร์ทอัพ และ 5 กองทุน (VC Fund) อย่างปี 2563 ที่มีวิกฤติโควิด-19 ได้ลงทุนใน 4 สตาร์ทอัพที่อยู่ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น เช่น อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ได้แก่ Janio, Printerous, TaniHub และ Biz on go และอีก 1 กองทุน คือ SVK (Silicon Valley Bank)กองทุนที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ทอัพ 70-80% ที่ซิลิคอน วัลเลย์
ปี 64 เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์ Covid-19 ที่เกิดขึ้นนอกจากเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ ยังเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงหันมาใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ เร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ทิศทางการดำเนินการของ AddVentures by SCG ทาง ดร.จาชชัว บอกว่า ต้องเปิดประตูให้กับสตาร์ทอัพให้กว้างกว่าเดิม เพื่อเร่งผลักดันสร้างนวัตกรรมให้เร็วยิ่งขึ้น ในคอนเซปต์ “you innovate, we scale”
“เรื่องนี้เรามี ‘Ignitor’ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ของ SCG ที่มีอยู่กว่า 300 บริษัทตั้งแต่วิเคราะห์ถึง pain point ของแต่ละหน่วยงาน และทำการเชื่อมต่อกับสตาร์ทอัพทั่วโลกในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้แก้โจทย์ธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร และทำให้ result ออกมาเร็วขึ้น”
อย่างในปี 2563 หน่วยธุรกิจต่างๆ ได้ส่ง pain point เข้ามาที่ Ignitor ถึง 55 โครงการ โดย 32 โครงการถูกพัฒนาให้เป็น Proof-of-Concept (กรรมวิธีทดสอบการแก้ไขปัญหาในระดับทดลอง) และขยายผลไปยังธุรกิจอื่นๆ ขององค์กร เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และรองรับการขยายของตลาดในอนาคต ซึ่งการนําเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานดังกล่าว คาดว่าจะสามารถช่วยสร้างผลกําไรเพิ่มเติมได้ประมาณพันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า
สำหรับปี 2564 ทิศทางและยุทธศาสตร์การลงทุนของ AddVentures จะเป็นอย่างไร ทาง ดุสิต ชัยรัตน์ Corporate Venture Capital Fund Manager of AddVentures by SCG ตอบว่า จะคงยึดแนวทางเดิม คือ เน้นลงทุนในสตาร์ทอัพที่อิงกับธุรกิจของบริษัทแม่อย่าง SCG เป็นหลัก เพื่อให้ SCG ขยับได้เร็วและแข็งแกร่งขึ้นในยุค Digital Transformation ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความแตกต่างจากการลงทุนในสตาร์ทอัพของที่อื่น
เพราะ SCG เองมีธุรกิจหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขณะที่การลงทุนในสตาร์ทอัพของธุรกิจอื่น อาทิ สถาบันการเงิน อาจจะเน้นเรื่อง Fintech, ธุรกิจโทรคมนาคม จะเน้นเรื่อง connecting network เป็นต้น
นอกจากอิงธุรกิจของบริษัทแม่เป็นหลักแล้ว การที่ AddVentures จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพรายใดนั้น จะพิจารณาใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่
- เรื่องแรก ‘Impact’ ที่ต้องสร้าง synergy รวมถึงเพิ่มศักยภาพและรายได้ให้กับ SCG ได้ชัดเจน
- เรื่องที่สอง คือ ‘Speed’ ประสบความสำเร็จได้เวลาที่รวดเร็วความสามารถในการพัฒนาโปรดักท์หรือบริการออกสู่ตลาดได้รวดเร็วและประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลา 3-6 เดือน
“เรามี Ignitor โปรแกรมที่มีการทำงานไม่ใช่แค่เข้าไปลงทุน แต่จะเป็นความร่วมมือเพื่อพัฒนาและสร้าง synergy ทั้งตัวเราเองและสตาร์ทอัพที่เราเข้าไปลงทุนในการสร้างสรรค์หรือพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เช่นล่าสุดการร่วมลงทุนกับ Validus แพลตฟอร์มสินเชื่อ SME ที่เดิมมีการดําเนินงานในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ให้เตรียมมาเปิดให้บริการในไทย เพราะเราต้องการช่วยให้ผู้รับเหมาและร้านค้าในเครือข่ายของ SCG สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมีคอร์สที่ถูกลง”
รุก 4 Areas รับวิถี New Normal
แม้การลงทุนในปี 2564 ของ AddVentures จะยังคงยึดแนวทางเดิม โดยเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของ SCG เป็นหลัก แต่ทั้งสองผู้บริหารบอกว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามบริบทและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้กับวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ โดยจะเน้นลงทุนสตาร์ทอัพในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอันดับแรก รองลงมา เป็นอันดับ 2 ได้แก่ จีน อันดับ 3 อินเดีย และอันดับ 4 สหรัฐอเมริกา ขณะที่ตลาดอิสราเอลและยุโรปเป็นตลาดที่จับตาและมองเป็นโอกาสของการลงทุน
ส่วนสาเหตุที่เลือกโฟกัสการลงทุนสตาร์ทอัพแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น priority แรก ก็เพราะประเทศในแถบนี้มีบริบททั้งในมหภาค และพฤติกรรมผู้บริโภคใกล้เคียงกับไทย เมื่อนำระบบ eco system หรือโปรดักท์ที่บริษัทเหล่านั้นพัฒนาเข้ามาปรับใช้ในไทยจะง่ายและมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดีกว่าบริษัทที่อยู่ในภูมิภาคอื่น
นอกจากนี้ โควิด-19 ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้เกิด Business Transformation ทั้ง B2B และ B2C ทําให้ SCG เห็นโอกาสทางธุรกิจและวางโฟกัสการลงทุน ใน 4 กลุ่มนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยรับมือกับวิกฤติดังกล่าว และเสริมความพร้อมให้กับวิถีใหม่ หรือ New normal ที่เกิดขึ้นในปี 2564 โดย 4 กลุ่มนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย
- Business Process Automation (BPA) – เพื่อนำมาใช้จัดการระบบการทํางานให้ราบรื่น ลดคอร์สและลดเวลาการทํางานลง 50-70% ตลอดจนลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน หรือ human error และเพิ่มคุณภาพในการทำงานหรือบริการ รวมถึงทําให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อพัฒนาระบบต่อไปในอนาคตได้
- New product development การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากไอเดียของสตาร์ทอัพต่าง ๆ แทนที่จะพึ่งพาการ R&B ภายในองค์กรอย่างเดียว เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้หลากหลายและเปิดตลาดใหม่ ๆ
- พฤตกิรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป (A shift of customer behaviors) อย่างที่ทราบกันวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเรื่องของออนไลน์ เช่น หันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์มากกว่าการไปหน้าร้าน, การทำ omni channel ซึ่งทาง SCG มองเป็นโฮกาสในการนำเทคโนโลยีและระบบปฏิบัติงานอัตโนมัติต่างๆ มาใช้งานในทุกช่องทาง เพื่อให้บริการและสร้าง customer experience ที่ดี ขณะเดียวกันก็ยังสามารถนําเอา big data จากช่องทางออนไลน์ และการพูดคุยกับลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ มาพัฒนาการบริการให้ดีกว่าเดิมได้ด้วย
- ธุรกิจรูปแบบใหม่ (New business models) SCG ยังคงมองหาสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมด้าน Innovative business model เพื่อเข้าไปสนับสนุนเงินลงทุน และจับมือเป็นพาร์ทเนอร์ในการหาโอกาสร่วมกันขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคด้วยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น joint venture หรือ tech licensing ฯลฯ เช่น SCG ได้เข้าไปลงทุนกับ Janio สตาร์ทอัพที่เป็น cross-border logistics platform สําหรับสินค้าอีคอมเมิร์ซจากสิงคโปร์ เพื่อร่วมกันขยายธุรกิจให้ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้บริหารทั้งสองย้ำว่า Digital Transformation ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ SCG ในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยมี AddVentures และ Ignitor โปรแกรม เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งแต่ละปีวางแผนจะลงทุนต่อเนื่อง 4-5 ดีลต่อปี และวางงบลงทุนตั้งแต่ปี 2560-2565 ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท