หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชัน Robinhood ออกมาสกัดสงคราม Food Delivery ที่กำลังร้อนแรงในช่วง COVID-19 ด้วยคอนเซปต์ ไม่เก็บค่า GP จนครบรอบ 1 ปี ซึ่ง เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ในฐานะผู้พัฒนาแอป ได้เดินหน้าสู่เป้าหมายซูเปอร์แอปสัญชาติไทย ด้วยคอนเซปต์เดิมในการเป็นแอปเพื่อคนตัวเล็ก ด้วยการเปิดตัว ‘Robinhood Travel’ (โรบินฮู้ด ทราเวล) บริการจองที่พักภายในประเทศและบริการเดินทางครบวงจร ในฐานะแพลตฟอร์ม OTA (Online Travel Agent) ธุรกิจท่องเที่ยวสัญชาติไทย กับจุดเด่น ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นผู้ประกอบการโรงแรม
นอกจากสเกลธุรกิจที่เติบโตมาจาก CSR Model ซึ่งใช้งบประมาณเริ่มต้น 150 ล้านบาท จนกลายเป็น ‘สตาร์ทอัพ’ ได้รับงบประมาณเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายใหญ่กว่าแค่ต่อยอดบริการไปสู่ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย แต่ยังมีแผนระดมทุน Series A ภายในปี 2565 อีกด้วย
คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด อธิบายคอนเซปต์ Robinhood Travel ว่า จากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงยังมีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่คนกรุงเทพฯ เลือกเดินทางไป ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติก็ยังกลับมาท่องเที่ยวไม่มากเท่าในอดีต รวมถึงการที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม OTA ของต่างชาติเพื่อเข้าถึงลูกค้าก็ต้องแลกด้วยการถูกหักค่าคอมมิชชั่น
จากการทำแอปพลิเคชัน Robinhood ในตลาด Food Delivery ช่วงแรกไม่มีใครเชื่อว่าเราจะอยู่รอดหรือแข่งในสนามเดียวกับผู้ให้บริการรายใหญ่ได้ นั่นถือเป็นการพิสูจน์ว่าเราเป็น Platform of Kindness เพราะเราเริ่มต้นด้วยความต้องการช่วยร้านอาหารรายเล็กกับการไม่เก็บค่า GP ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องจ่ายอยู่ที่ 30% แต่ Robinhood ก็พิสูจน์แล้วว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เราสู้กับแพลตฟอร์มต่างชาติได้ และยังทำให้ร้านค้ามีกำไรมากขึ้น เขาจึงไม่ต้องลดปริมาณอาหาร ไม่ขึ้นราคา แต่ยังมีส่วนลดให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าก็รู้สึกดีที่ได้รับประโยชน์
ปัจจุบัน SCB มีฐานลูกค้าทั้งสิ้น 16.5 ล้านบัญชี และมีผู้ใช้ SCB Easy App มากกว่า 12 ล้านราย
ขณะที่ แอป Robinhood มีผู้ใช้บริการรวม 2.4 ล้านคน มียอดการสั่ง 4.5 ล้านครั้งต่อเดือน ภายใต้ร้านอาหารรวม 200,000 ร้าน และไรเดอร์ 26,000 คน
ไอเดียดังกล่าวจึงถูกต่อยอดกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา กับช่วงเวลานี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา และมีความสำเร็จที่พิสูจน์ได้จาก Robinhood มาแล้ว
“การทำ Food Delivery ทำให้เราได้สินทรัพย์ที่ดีที่สุดคือลูกค้า เพราะเราให้บริการอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ดังนั้น ลูกค้าของเราจึงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก เพราะเป็นลูกค้าแบงก์ โดยเกือบครึ่งใช้บัตรเครดิต ที่เหลือใช้บริการผ่าน SCB Easy App ถือเป็นกลุ่มที่มีทักษะเทคโนโลยีอยู่แล้ว ใช้โมบายแบงก์กิ้งประจำ ซึ่งหากเราชวนลูกค้า 2.4 ล้านคนนี้ไปเที่ยว ก็น่าจะชวนได้ง่าย สามารถกระจายรายได้ไปยังกลุ่มโรงแรมได้ด้วย และในอนาคตเราก็จะขยาย Food ไปตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หัวหิน พัทยา ซึ่งจะทำให้เราได้ฐานลูกค้าในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นสามารถชวนเขามาเที่ยวในกรุงเทพฯ ได้ด้วย หรือในอนาคตอาจมีไอเดียการทำโปรโมชันดี ๆ ตามมา เช่น มาพักที่หัวหินจะสามารถสั่ง Food Delivery ฟรี 3 วัน เป็นต้น”
ทั้งหมดนี้ เรากำลังทำตัวเป็น Disrupter ที่ทำให้เกิดการแข่งขันในแพลตฟอร์ม เราเป็นตัวเล็ก ๆ แต่พยายามทำให้โรงแรมอยู่ได้ในภาวะ New Normal โดยที่ไม่ได้คิดจะแซงหน้าผู้ให้บริการรายใหญ่ ๆ แต่จะทำตัวให้คำว่า คอมมิชชั่น กลายเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐ และมีอำนาจต่อรองแทนผู้ประกอบการโรงแรมรายเล็กมากขึ้น
คุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เล่ารายละเอียดทั้งหมดว่า เรายังคงปรัชญาเดิม คือ ช่วยคนตัวเล็ก จากที่ Robinhood เคยช่วยร้านอาหารและร้านอาหารกลับมาช่วยลูกค้าอีกที ครั้งนี้เราก็หวังว่าธุรกิจโรงแรมไม่ว่าจะขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ก็จะกลับไปช่วยลูกค้าเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม Food มาแล้ว โดยสามารถผ่านรูปแบบการอัพเกรดห้องพัก บริการภายในโรงแรม มื้ออาหาร รถรับ-ส่งที่พักกับสนามบิน เป็นต้น
ปัจจุบัน ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 50,000 แห่ง คิดเป็นจำนวน 788,000 ห้อง โดย 50% เป็นการจองผ่าน OTA ที่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งช่วงก่อน COVID-19 (ปี 2019) มียอดจองรวม 45,000 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการจองผ่าน OTA ที่เป็นการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยราว 18,000 ล้านบาท
ภาพรวม Pain Point ของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก คือ ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น 10-15% สำหรับอินเตอร์เนชันแนลเชน หรือจ่าย 10-20% สำหรับโลคอลเชน เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็กไม่มีอำนาจในการต่อรอง รวมถึงระยะเวลาการรอเงินเข้าระบบนาน 3-7 วัน
ในช่วงก่อน COVID-19 จะพบว่ายอดการจองที่พักมาจากช่องทาง OTA ถึง 50% แต่หลังจาก COVID-19 ก็ลดลงเหลือ 44% ดังนั้น โรงแรมจึงพัฒนาช่องทางจองโดยตรงของตนเองเพื่อเพิ่มโอกาส เช่น เว็บไซต์ คอลล์เซ็นเตอร์ หรือวอล์คอิน ซึ่งเชนขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหาในการโฆษณา แตกต่างกับโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งต้องใช้เวลาและเรียนรู้เทคนิคดำเนินการ
ดังนั้น Robinhood Travel จึงเข้ามาเพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ดีในการจองที่พักให้แก่ลูกค้า รวมถึง การเชื่อมโยงกับบริการอื่น ๆ เช่น ตั๋วเครื่องบิน บริการไกด์ท้องถิ่นและกิจกรรมการท่องเที่ยว บริการเช่ารถ โดยส่งต่อความเป็น Kindness แพลตฟอร์มไปยังผู้ประกอบการโรงแรมด้วยการไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น (Zero Commission)
โดยฟังก์ชันหลักบน Robinhood Travel ได้แก่
การจองโรงแรม
จองตั๋วเครื่องบิน สำหรับเที่ยวบินในประเทศ (ขณะนี้ มีสายการบินไทยสมายล์ และนกแอร์ โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับแอร์เอเชียด้วย)
บริการนำเที่ยว และกิจกรรมท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น
บริการธุรกิจเช่ารถ แบบขนาดเล็กในแต่ละจังหวัด เพื่อเน้นกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
และ ประกันการเดินทาง
ส่วนประโยชน์ที่โรงแรมบน Robinhood Travel จะได้รับ ได้แก่
– ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น (Zero Commission) ทำให้ได้รับเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
– โอนเงินเข้าระบบอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียน โดยเลือกได้ว่าจะรับเป็นรายชั่วโมง หรือรายวัน
– ให้อิสระอย่างยืดหยุ่นในการทำโปรโมชัน แพ็กเกจ เพื่อกระตุ้นยอดจอง
– สนับสนุนด้าน Media เพื่อทำให้ติดอันดับต้น ๆ ของการค้นหาผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น บน Google หรือหน้าแรกบนแพลตฟอร์ม OTA รวมถึง โซเชียลมีเดียที่มี
– เรียนรู้ลูกค้าจากบริการต่าง ๆ ของ Robinhood เพื่อนำเสนอข้อมูลหรือโปรโมชันได้ตรงใจพวกเขา
“ในเดือน ก.พ. 2565 Robinhood จะกลายเป็นซูเปอร์แอป ที่มีหลายฟังก์ชันทั้งอาหาร (Food) ท่องเที่ยว (Travel) ซื้อของ (Mart) และจัดส่งของ (Express)”
ในแง่การใช้งานที่ลูกค้าจะได้รับ ได้แก่
– ความสะดวกสบายด้วยประสบการณ์แบบ Seamless เช่นเดียวกับการใช้งาน Food คือ สามารถชำระเงินผ่านดิจิทัลเพย์เมนท์ได้ 100%
– มีบริการ Installment เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง
– เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บัตรเครดิตเข้าใช้งานมากขึ้น เพราะสามารถนำพอยท์จากบัตรมาใช้ได้
– ให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วยเรทที่ดีที่สุด
– สามารถดำเนินการเป็น eTax ได้
– ติดต่อพนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ได้แบบ 24×7 ไม่ได้เป็นรูปแบบ Chatbot เหมือนกับแพลตฟอร์ม OTA ทั่วไป
“เราตั้งเป้าโรงแรมอยู่ในระบบ Robinhood Travel 30,000 แห่ง และมีผู้ใช้บริการจองที่พัก 200,000 คน กับยอดการจองที่พัก-เที่ยวบิน 300,000 ครั้งต่อปี โดยเชื่อว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ราว 200 ล้านบาท และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดใช้บริการจองที่พักผ่าน Robinhood Travel ได้ภายในเดือน ก.พ. 2565 และจองตั๋วเครื่องบิน บริการนำเที่ยว บริการรถเช่า ได้ในเดือน เม.ย. 2565 พร้อมกับจัดทำเว็บบล็อกเกอร์ Robinhood Stories สำหรับนักท่องเที่ยวได้เข้าไปอ่านเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อจุดประกายการท่องเที่ยว โดยจะลิงก์กับช่องทางการจอง Robinhood Travel ด้วย”
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีสถิติจากผู้ใช้แอป Robinhood และข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้…
– ผู้ใช้ Robinhood มีความแตกต่างจากลูกค้าของแพลตฟอร์ม Food Delivery รายอื่น เพราะฐานลูกค้ามาจากธนาคารเป็นหลัก
โดย 97% เป็นผู้ใช้ SCB Easy App, 49% เป็นผู้ใช้บัตร SCB Debit, 31% เป็นผู้ใช้บัตร SCB Credit และ 14% เป็นผู้ที่มีโปรดักท์ Investment ของ SCB
– ลูกค้าหลักอายุ 20 – 29 ปี (39%) ตามด้วยอายุ 30 -39 ปี (35%), อายุ 40 -49 ปี (17%) และอายุ 50 ปีขึ้นไป (7%) โดยผู้ใช้หลัก คือ เพศหญิง (70%)
– รายได้ของ Robinhood Travel ไม่ได้มาจากบริการจองโรงแรมที่พัก แต่จะมาจากบริการอื่น ๆ เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน บริการรถเช่า หรือบริการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้ทางอ้อม ยังไม่รวมกับโอกาสในอนาคตที่อาจมาจากการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ
– จากที่มาของ Robinhood ซึ่งมีแนวคิดเป็น CSR แต่ปัจจุบันกลายเป็นสเกลสตาร์ทอัพที่มีผู้สนใจร่วมลงทุน กับรูปแบบการเป็นแพลตฟอร์มขนาดกลาง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลใดก็ตามแต่ในอนาคตก็จะมีโมเดลในการสร้างรายได้จากช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รายได้จากการเก็บค่า GP หรือค่าคอมมิชชั่น ดังนั้น ในช่วงกลางปี 2565 Robinhood อาจเข้าสู่ขั้นตอนการระดมทุน Series A แบบ Social Enterprise (กิจการเพื่อสังคม) ด้วย
– Robinhood Food ยังคงมองโอกาสในการขยายไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ซึ่งมีคาแรคเตอร์คล้ายกับประเทศไทย ขณะที่ Robinhood Travel ก็มีแผนที่จะเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการไปต่างประเทศด้วย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศยอดนิยม รวมถึงแผนธุรกิจที่จะร่วมกับพาร์ทเนอร์ในจีน เพื่อพาคนจีนมาเที่ยวไทย แต่ทั้งหมดนี้จะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้ Robinhood Travel ไทยเที่ยวไทยก่อน
– Robinhood Travel เปิดรับสมัครโรงแรมเข้าระบบในวันนี้เป็นวันแรก (22 พ.ย. 2564) โดยเบื้องต้นมีโรงแรมที่แสดงความสนใจเข้ามาแล้วประมาณ 3,000 แห่ง
– ภายในปี 2565 คาดหวังรายได้รวมจาก Robinhood ประมาณ 700 – 800 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่มาจาก Robinhood Travel ราว 10% ของรายได้ดังกล่าว
– เป้าหมายการเป็นซูเปอร์แอปของ Robinhood คือ ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็น Multi Purpose ภาพของ Robinhood คือ EDT (Eat – Drink – Travel) ซึ่งหากมีผู้ใช้งานมากในจำนวนหนึ่งและใช้งานมากกว่า 1 โปรดักท์ จึงจะถือเป็นซูเปอร์แอป
– ภายในเดือน ม.ค. 2565 อาจมีการเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่อีกครั้ง เพื่อรวมบริการ Food และ Travel ร่วมกัน ก่อนจะขยายไปสู่บริการ Mart และ Express รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย
– คาดว่าหลังเปิดใช้ Robinhood Travel แล้ว อาจช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้เป็น 3 ล้านคน
– ภายในไตรมาส 3 ปี 2565 คาดว่าจะเปิดรับชำระค่าบริการผ่านโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารอื่นได้ จากปัจจุบัน 70% เป็นการชำระผ่าน SCB Easy App และอีก 30% ชำระผ่านบัตรเครดิตของทุกธนาคาร
ทั้งนี้ คุณธนา ได้กล่าวปิดท้ายว่า…
“Robinhood ไม่ได้มีเป้าหมายเป็นเบอร์หนึ่งใน OTA เพราะเรารู้ว่าไม่มีทางชนะรายใหญ่ได้ แต่จุดประสงค์หลักคือเราอยากเป็นที่ 1 หรือ 2 ใน Urban Segment ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของเราอยู่ตอนนี้ หากสามารถชวนพวกเขามาใช้บริการสั่งอาหารหรือจองที่พักได้ โดย Robinhood เป็น Top of mind ของคนกลุ่มนี้ นั่นคือกลุ่มที่เราเก่ง เพราะเรามีต้นทุนอยู่กับผู้บริโภคกลุ่มนี้และแบงก์ก็สามารถต่อยอดได้ง่าย ซึ่งเราจะกลายเป็น Disrupter เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นจากการไม่เก็บค่า GP ในธุรกิจ Food มาแล้ว เพื่อทำให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถอยู่ร่วมกันได้”