Marketing Automation ใช้ในสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยได้ไหม?

  • 524
  •  
  •  
  •  
  •  

 

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในหลายๆ ภาคส่วนของประเทศ สาเหตุเนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุมที่มีพายุพัดผ่าน จึงทำให้มีปริมาณน้ำสูงจนเอ่อล้นขึ้นมาท่วมบ้านเรือนได้ในบางปี จากข้อมูลที่ผ่านมาชี้ว่า ถึงแม้ปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้สามารถถูกแก้ไขได้อย่างถาวรซักที แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถลดความสูญเสียจากอุทกภัย และวาตภัยเหล่านี้ได้ ก็คือการแจ้งให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบได้ทราบก่อนล่วงหน้าเพื่อความพร้อมในการรับมือ เช่นย้ายสิ่งของหนีน้ำขึ้นไปอยู่ในที่สูงขึ้น หรือย้ายออกจากพื้นที่ก่อนที่จะได้รับความเสียหาย หรือแม้กระทั่งเตือนเส้นทางที่ถูกน้ำตัดขาดจนไม่สามารถเดินทางได้ ไปจนถึงเตือนการยกเลิกเที่ยวรถโดยสารต่างๆที่เราได้จองไว้แล้ว ฯลฯ

 

ใช้ Automation Marketing กับสถานการณ์น้ำท่วมได้จริงหรือ?

นักการตลาดทั้งหลาย ล้วนคุ้นเคยกับการส่งข้อความทางการตลาดไปให้กับผู้รับที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าในการเลือกข้อความทางการตลาดที่จะส่งไป เพื่อทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าแบรนด์ส่งข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ให้กับตนเอง เช่น ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบหนังสือประเภทสืบสวนสอบสวน ก็จะได้รับข้อความทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับหนังสือสืบสวนสอบสวน แทนที่จะได้รับข้อความเกี่ยวกับหนังสือแนวรักโรแมนติก ซึ่งเทคนิคการนำข้อมูลมาใช้ในการเลือกส่งข้อความทางการตลาดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคการตลาดในหัวข้อ การทำการตลาดแบบอัตโนมัติ หรือ Automation Marketing

ในเมื่อเราสามารถส่งข้อความทางการตลาดไปให้กับลูกค้าได้ตรงกับความต้องการ เราก็น่าจะสามารถใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ในการส่งข้อความเพื่อเตือนภัย ให้กับผู้ที่อาจจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ได้รับข้อความที่ใช่ในเวลาที่ถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นเราลองมาคิดกันดูดีมั้ยครับว่า ถ้าเราเอาเทคนิคนี้มาใช้กับการเตือนภัยเกี่ยวกับน้ำท่วมจะต้องทำอย่างไรบ้าง เผื่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบรรเทาปัญหาอุทกภัย จะมาอ่านเจอเรื่องนี้แล้วเอาไปลองใช้ดู

 

แล้วจะบอกให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทำอย่างไรดีล่ะ?

ในเทคนิค Automation Marketing นั้นเราจะมีขั้นตอน 3 ขั้นตอนในการทำได้แก่

  1. เก็บข้อมูลการติดต่อของลูกค้า (contact information)
  2. เก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า (behavioral data)
  3. สร้างกลุ่มของลูกค้าที่ตรงกับข้อความทางการตลาดที่ต้องการ (segmentation)

เช่น ในตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่เราต้องการส่งข้อความทางการตลาดเกี่ยวกับหนังสือแนวสืบสวนสอบสวน ให้กับลูกค้าที่เกี่ยวข้อง เราก็จะทำตามลำดับ 3 ขั้นตอนที่กล่าวมาได้แก่

1. เก็บข้อมูลการติดต่อของลูกค้า เราอาจจะใช้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล์ ที่ลูกค้าให้กับเราในตอนสมัครสมาชิกบนเว็บไซต์

2. เก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งในส่วนนี้ก็สามารถนำข้อมูลจาก ประวัติการซื้อสินค้าบนเว็บไซต์มาใช้

3. สร้างกลุ่มของลูกค้าที่ตรงกับหนังสือสืบสวนสอบสวน ก็ง่ายเลย โดยการจัดกลุ่มของลูกค้าที่เคย ซื้อหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนในครั้งก่อนหน้านี้ในเวลาไม่เกิน 6 เดือนที่ผ่านมา

เมื่อได้ทั้ง 3 ข้อเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถส่งอีเมล์ หรือ SMS ให้กับลูกค้าเพื่อแจ้งว่ามีหนังสือสืบสวนสอบสวนเล่มใหม่ที่คุณน่าจะชอบให้กับกลุ่มของลูกค้าที่เราสร้างไว้ในขั้นตอนที่ 3 ที่กล่าวมา

ทีนี้เราลองเอาขั้นตอนนี้มาใช้กับการแจ้งเตือนน้ำท่วมกัน โดยเปลี่ยนจากข้อความทางการตลาดเป็นข้อความแจ้งเตือน และข้อมูลลูกค้าเปลี่ยนเป็นข้อมูลของประชาชนในประเทศไทย

1. เก็บข้อมูลการติดต่อของประชาชนในประเทศ​ ในส่วนนี้เราอาจจะใช้ข้อมูลที่ได้จาก บริษัทให้บริการเครือข่ายมือถือต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้บัตรประชาชนในการสมัครใช้บริการมือถืออยู่แล้ว

2. เก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า ในกรณีนี้เราอาจจะต้องมีการปรับนิดนึง โดยข้อมูลที่เราเก็บไม่ใช่ข้อมูลพฤติกรรมของคน แต่เป็นข้อมูลพฤติกรรมของระดับน้ำในแต่ละเขต แต่ละจังหวัดในประเทศไทย รวมไปถึง ข้อมูลเกี่ยวกับการคมนาคมต่างๆในประเทศไทยว่าเส้นทางไหนไม่สามารถผ่านได้ หรือมีขนส่งมวลชนเส้นทางไหนที่ไม่สามารถให้บริการได้ ยกตัวอย่างข้อมูลในส่วนนี้ก็อาจจะได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ข้อมูลจาก คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ http://www.thaiwater.net/เป็นต้น

 

 

3. จัดกลุ่มของประชาชนแบ่งเป็นเขต โดยแบ่งตามเขตพื้นที่ที่น่าจะได้รับผลกระทบพร้อมๆกันในเขตเดียวกัน เช่นคนที่อยู่ในเขตสมุทรปราการติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน กลุ่มของประชาชนที่อยู่ในเขตนครราชสีมาที่อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ก็จะได้รับข้อความเตือนพร้อมๆกัน

 

รูปแบบข้อความอย่างไรที่ใช้ในการเตือนประชาชน

เมื่อเราได้ข้อมูลของทั้ง 3 ขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว เราสามารถที่จะจัด Automation Campaign ในระบบ Automation Marketing ได้ โดยจับคู่ข้อความที่ต้องการส่งเตือน กับกลุ่มของลูกค้า (segment) ที่เราสร้างไว้ในขั้นตอนที่ 3 เช่น ส่งข้อความแนะนำต่างๆให้กับประชาชนในแต่ละเขตเพื่อเตรียมตัวรับกับปัญหาโดยมีอัปเดทข้อความอย่างต่อเนื่องผ่านทางระบบ SMS ของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ยกตัวอย่างเช่น “คุณอยู่ในเขตที่ต้องระวังภัย ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ที่ 70% ของระดับที่ควบคุม กรุณาย้ายไปสถานที่ที่รัฐบาลจัดให้ ถ้าระดับน้ำสูงถึง 90%” และเมื่อข้อมูลของระดับน้ำเพิ่มเป็น 80% ก็ส่งข้อความอัปเดทอีกว่า “คุณอยู่ในเขตที่ต้องระวังภัย ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ที่ 80% ของระดับที่ควบคุม ระดับน้ำอาจจะเพิ่มเป็น 90% ในอีก 3 วัน กรุณาย้ายไปสถานที่ที่รัฐบาลจัดให้ ถ้าระดับน้ำสูงถึง 90%”

“คุณอยู่ในเขตที่ต้องอพยพโดยด่วน ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ที่ 90% ของระดับที่ควบคุมซึ่งเข้าสู่ระดับอันตราย กรุณาย้ายไปสถานที่ที่รัฐบาลจัดให้ในทันที”

หรืออาจจะใช้ในการส่งข้อมูลสายขนส่งมวลชนที่ถูกยกเลิกให้กับประชาชนที่จองตั๋วล่วงหน้าไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ทำการวางแผนการเดินทางใหม่ ในการแจ้งให้ประชาชนเตรียมตัวโดยใช้ระบบอัตโนมัติเหล่านี้ จะเป็นการลดความผิดพลาดในการส่งข้อความ และสามารถวัดผลได้ว่ามีประชาชนที่ได้รับข้อความและมีความสนใจในการ เข้ามาดูข้อมูลมากเพียงใด และยังสามารถวัดผลความเสียหายเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ที่ได้รับการแจ้งข้อมูลข่าวสาร และพื้นที่ที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงพอได้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในการส่งข้อความเตือนในครั้งต่อๆไป

 

เขียนโดย ไชยพงศ์ ลาภเลี้ยงตระกูล
Expertise: Marketing Automation
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com

 


  • 524
  •  
  •  
  •  
  •  
Chaiyapong Lapliengtrakul
กรรมการบริหาร บริษัท ทรีดีเอส อินเตอร์แอคทีฟ (2010 - ปัจจุบัน) เป็นเอเจนซี่การตลาดดิจิทัล ที่นำเสนอ โซลูชั่นทางด้านการเก็บข้อมูลลูกค้า (Customer Data Platform) และแพลทฟอร์มการตลาดอัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ แพม มาร์เก็ตติ้ง ออโตเมชั่น (PAM Marketing Automation)