เทรนด์ Hybrid working กำลังแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีข้อมูลว่า การทำงานรูปแบบดังกล่าวหรือแม้แต่การ Work from home นั้น สามารถลดความแออัดของพื้นที่ได้ราว 25-50% โดยข้อมูลจาก PwC ประเทศไทย อ้างอิงถึงรายงาน Future of Work and Skills Survey ที่สำรวจผู้บริหารและพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล จำนวน 4,000 ราย จาก 26 ประเทศ เกี่ยวกับความท้าทายของโลกแรงงานและรูปแบบการทำงานในอนาคต พบว่า 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าองค์กรมีประสิทธิภาพของแรงงานและเป้าหมายผลผลิตที่ดีขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาหลังปรับรูปแบบการทำงานเป็น Hybrid working ขณะที่ 4% กล่าวว่าองค์กรของตนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานด้อยลง
‘การประเมินผลงาน’ กลายเป็นเรื่องท้าทาย
เนื่องจาก Hybrid working ทำให้หลายองค์กรต้องเปลี่ยนวิธีการประเมินผลงานพนักงานที่แตกต่างไป เช่น นัดประชุมทั้งเพื่อทักทายและติดตามผลงานบ่อยขึ้น หรือ จัด Stand up meeting ทุกวัน หรือเปิดโอกาสให้สามารถปรึกษาหัวหน้างานได้ทันที เป็นต้น เทรนด์เหล่านี้ตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมพนักงานโดยเฉพาะ Gen Y ซึ่งเป็นแรงงานหลักในหลาย ๆ องค์กรของยุคนี้
ดังนั้น การประเมินผลงานของพนักงานจึงต้องใช้ระบบการวัดผลที่โปร่งใส บนพื้นฐานความไว้วางใจระหว่างพนักงานและผู้บริหาร ไม่ใช่รูปแบบที่พิจารณาจากวันขาด ลา มาสาย แต่กลายเป็นการกำหนดเป้าหมายงานรายบุคคลที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร ทำให้หัวหน้างานและผู้บริหารจำเป็นต้องเปลี่ยน Mindset จากการจับผิดเป็นการให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายองค์กร
คิดอย่างรอบด้านเพื่อ Workforce planning
อีกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมก็คือ Workforce planning ซึ่งหลายองค์กรนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนจัดการกำลังคน โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสร้างคน จ้างภายนอก ยืม และระบบอัตโนมัติ (Build, buy, borrow and bot) แต่องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการว่า พนักงานที่จำเป็นต่อประเภทงานนั้น สามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนได้หรือไม่ หรือเหมาะกับการใช้เอาท์ซอร์สเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้องค์กรมากกว่า
แม้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อระบบการทำงานของธุรกิจ แต่ทักษะการ Upskilling ให้พนักงานก็ยังเป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันพนักงานเองก็ต้องใส่ใจรับผิดชอบในส่วนนี้และเปิดใจรับเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้การทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเกิดประสิทธิภาพ ซึ่ง PwC ประเทศไทย คาดการณ์ว่าอีก 3-5 ปี จะได้เห็นประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีทดแทนคนแพร่หลายขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ชัดเจนเนื่องจากต้นทุนแรงงานคนยังไม่สูงมาก แต่ในอนาคต ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะด้านดิจิทัลต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หรือ Machine Learning ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
ทั้งหมดนี้ คุณภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย สรุปว่า ปี 2565 ยังคงเป็นปีที่ธุรกิจในไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากทุกกลุ่มต้องปรับตัวไม่ว่าจะเป็นการนำนโยบาย Hybrid working มาใช้ เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไป พร้อมกับยกระดับทักษะของพนักงาน จึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน