เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า คนไทยใช้งานโซเชียลมีเดียสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงพฤติกรรมชอปออนไลน์ที่คนไทยก็ทำหน้าที่ได้สมศักดิ์ศรีนักชอป ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่ได้บ่งบอกถึงรายละเอียดเชิงลึก และสิ่งที่แบรนด์จำเป็นต้องเอาใจใส่ต่อความต้องการของผู้บริโภค
ประเด็นนี้ คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้งานชาวไทย 62 ล้านคนต่อเดือน หรือเฉลี่ย 45 ล้านคนต่อวัน และมีกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้นบน Facebook ประเทศไทยมากถึง 6 ล้านกลุ่ม สถิติเหล่านี้ กลายเป็นปัจจัยสะท้อนเทรนด์และการชอปปิงออนไลน์ที่เกิดขึ้นบน Facebook โดย Facebook IQ ร่วมกับ Ipsos ทำการสอบถามผู้บริโภคจำนวน 12,500 คน ในช่วงอายุ 18-64 ปี จาก 14 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ในหัวข้อ Emerging Trends: The Forces Shaping the Future Today โดยพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ซึ่ง COVID-19 ได้เปลี่ยนผู้คนและธุรกิจให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบ Fast Forward ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน จากที่คาดว่าสถานการณ์ Disruption จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นผู้นำเทรนด์ในการขับเคลื่อนกระแสต่าง ๆ โดยมีโกลบอล เทรนด์ เกิดขึ้น 5 เทรนด์ เรียกว่า 5C คือ
Commerce: Conversational Commerce
ไทยเป็นประเทศที่ชัดเจนมากในเรื่องของ Conversational Commerce การซื้อขายโดยผ่านการทักแชท ไทยมีความโดดเด่นในการทักแชทกับธุรกิจค้าขายออนไลน์
Community: การรวมตัวของคนออนไลน์
สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนบนออนไลน์มากขึ้น
Connectivity: การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมประสบการณ์
การใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมประสบการณ์การเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีทั้งการนำ AR และ VR มาใช้งาน
Curation: การนำเสนอเนื้อหา
เป็นเทรนด์การนำเสนอเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล
Culture: วิถีการดำเนินชีวิตที่ผสมผสานระหว่างการทำงาน การใช้ชีวิต
ผู้คนให้ความสำคัญกับวิถีการดำเนินชีวิตค่อนข้างมาก จากเทรนด์ Work From Home ซึ่งทำให้ผู้คนต้องการผสมผสานช่วงเวลาระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีก 3 เทรนด์ คือ
The Convenience Gap ผู้บริโภคมองหาความสะดวกสบายเป็นหลัก
เพราะความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ จึงกลายเป็นเรื่องที่แบรนด์ต้องมีให้กับลูกค้า ตั้งแต่ COVID-19 ทำให้ผู้คนมีความกดดันในแง่ของเวลามากขึ้น เพราะต้องจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน จากผลสำรวจพบว่า 86% ผู้บริโภคคาดว่าชีวิตจะมีความยุ่งยากมากขึ้นและต้องการใช้เวลามากขึ้น และมี 95% ที่อยากให้ชีวิตของตนเองง่ายขึ้น
ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า Convenience Seekers เป็นผู้บริโภคที่มองหาความสะดวกสบายเป็นหลัก โดยมี 89% ระบุว่า ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่ช่วยให้พวกเขาประหยัดเวลาชีวิตได้มากขึ้น และ 94% บอกว่าพวกเขาจะนำความสะดวกสบายมาพิจารณาควบคู่กับการตัดสินใจซื้อ และอีก 93% บอกว่าโซเชียลมีเดียมอบความสะดวกสบายและประหยัดเวลาให้กับพวกเขาได้
หากสามารถประหยัดเวลาได้ ผู้บริโภคต้องการเวลาเหล่านั้นไปทำอะไร ?
60% บอกว่า อยากใช้เวลากับคนที่รัก
68% อยากมีเวลาไปออกกำลังกาย
60% อยากใช้เวลาในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
72% อยากใช้เวลาเพื่อเดินทาง ท่องเที่ยว
32% อยากทำสิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคม
ภาคธุรกิจควรทำอย่างไร: พิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้บริการและโปรดักท์ของแบรนด์จะสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง เพื่อให้พวกเขาได้มีเวลาไปทำในสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น
The Participation Paradigm การมีส่วนร่วมกับแบรนด์
ปัจจุบัน ผู้บริโภคต้องการมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น โดย 86% บอกว่าโซเชียลมีเดียทำให้พวกเขาได้ใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น และอีก 86% ก็มองว่าต้องการวิธีใหม่ ๆ ในการชอปปิ้งหรือมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับแบรนด์
Live Shopping กลายเป็นเทรนด์ชอปปิ้งที่ชัดเจนในประเทศไทย ถือว่าคนไทยเป็นผู้นำการใช้งานในระดับโลก และยิ่งมี COVID-19 การนำ Live เข้ามาเป็นช่องทางขายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ร้านฮาซัน ที่ใช้ Live เพื่อขายอาหารทะเลและสร้างสีสัน โดย 65% ของผู้บริโภคสนใจการซื้อสินค้าผ่าน Live Shopping มากขึ้นในปีที่ผ่านมา และ 92% ระบุว่าจะเพิ่มการซื้อสินค้าผ่าน Live Shopping ในปีนี้ด้วย
ประโยชน์ของ Live Shopping คือ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ดีโดยเฉพาะการเปิดตัวสินค้าใหม่ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความเอ็กซ์คลูซีฟจากการได้เห็นเบื้องหลังหรือกระบวนการเจาะลึกของแบรนด์ หรือหากแบรนด์ใช้คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์กับแคมเปญ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าได้เข้าถึงแบรนด์มากขึ้น และการทำ Live Shopping ยังส่งผลให้ผู้บริโภคเกิด Customer Royalty สูงมาก โดยมี 28% ของผู้บริโภคที่เคยมีประสบการณ์ซื้อผ่าน Live Shopping และจะกลับมาซื้อกับ Live Shopping ทุกเดือน
ในแง่การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AR เข้ามาใช้งานนั้น พบว่าปีที่ผ่านมา 81% ของคนไทยเคยมีการใช้ AR มาแล้ว และ 88% ก็อยากเห็นแบรนด์ใช้ AR ในการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างช่วงแรกของ COVID-19 ที่เราไม่สามารถเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าได้ แต่ยังมีความต้องการทดลองสินค้าอยู่ ลอรีอัล ปารีส ก็เป็นแบรนด์ที่นำ AR เข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชอปปิ้งโดยให้ลูกค้าทดลองสีลิปสติกได้แม้ไม่ได้ไปทดลองเองที่ร้าน
ส่วนของ Facebook ก็มีฟีเจอร์อื่น ๆ ที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริโภคและแบรนด์ด้วย เช่น Facebook Watch ซึ่งเป็นแหล่งรวมคอนเทนต์วิดีโอ ซึ่งมีคนไทยใช้งาน 37 ล้านคนต่อเดือน เพื่อรับชมวิดีโอความยาว 1 นาทีเป็นอย่างน้อย, IG Live และ REELS ฟีเจอร์ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม
ภาคธุรกิจควรทำอย่างไร: เพราะคนไทยต้องการปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ ภาคธุรกิจจึงต้องหาวิธีให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามามากขึ้น เช่น ใช้ AR, ทำโพลล์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ได้ไอเดียจากลูกค้ามากขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าแน่นแฟ้นมากขึ้น
The Digital Gathering การเกิดขึ้นของชุมชนออนไลน์
กลุ่มออนไลน์ทำให้เราได้พบเจอผู้คนที่มีความชื่นชอบในลักษณะเดียวกัน เช่น รักต้นไม้, กลุ่มพ่อแม่ที่ Work From Home เป็นต้น โดยผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทย 91% เป็นสมาชิกในกลุ่มออนไลน์ และ 75% ต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมในกลุ่มออนไลน์มากขึ้น
ปัจจุบัน กลุ่มออนไลน์บน Facebook ทั่วโลกมีสมาชิกราว 1,800 ล้านคน โดยในเอเชียมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มออนไลน์ราว 800 ล้านคน ใน 35 ล้านกลุ่ม
ภาคธุรกิจควรทำอย่างไร: ธุรกิจควรนำกลุ่มออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนร่วมเช่น รับฟังไอเดีย, หา Customer Pain Point หรือการทดสอบโปรดักท์ใหม่ เป็นต้น
#SongkranTogether เปิดตัวกิจกรรมในช่วงสงกรานต์
– ร่วมกับ ก้องกาน – กันตภณ เมธีกุล ศิลปินชาวไทยผู้มีผลงานโดดเด่นทั่วโลก ในการทำ Teleport ผสมกับเทรนด์ดิจิทัลเป็น AR ฟิลเตอร์ บน IG Story ซึ่งสามารถแชร์บน Facebook ได้ หรือเปลี่ยนโปรไฟล์โดยใช้เฟรมใหม่ Giphy สติกเกอร์ บน Facebook
– REELS สร้างคลิปสั้นและติดแท็ก #ReelsTH #SongkranTogether
เพื่อให้ผู้ใช้งานได้แสดงออกและเป็นส่วนหนึ่งบน Facebook และ IG ในช่วงเทศกาลสงกรานต์