เพราะเทคโนโลยีพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การคาดการณ์ถึงโฉมใหม่ของนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามว่าแนวโน้มทางเทคโนโลยีนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หรือมีอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง นอกจาก AI และ IoT ซึ่งเป็นที่พูดถึงอยู่ทั่วโลกในตอนนี้
ล่าสุด เดลล์ เทคโนโลยีส์ ได้เปิดเผยงานวิจัยหัวข้อ “Future of Connected Living” เกี่ยวกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของเราในปี 2030 โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันแห่งอนาคต (Institute for the Future หรือ IFTF) และแวนสัน บอร์น (Vanson Bourne) ซึ่งดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำทางธุรกิจรวม 1,100 คนใน 10 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย
ทั้งนี้ งานวิจัย Future of Connected Living ระบุถึง 5 เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 ไว้ว่า…
เครือข่ายของระบบเสมือนจริง (Networked Reality)
ในอีก 10 ปีข้างหน้า ไซเบอร์สเปซจะกลายเป็นภาพซ้อนทับ (Overlay) บนความเป็นจริงที่มีอยู่ของเราจากการที่สภาพแวดล้อมทางดิจิทัลของเราขยายออกไปเกินกว่าโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์การแสดงผลอื่น ๆ
ยานยนต์ที่เชื่อมต่อเข้าหากัน (Connected Mobility)
ไม่ใช่แค่เรื่องยานยนต์ แต่ยังรวมถึงความสำคัญของเครือข่ายที่รวมเข้าด้วยกัน (Networked Matter) ความสามารถในการเชื่อมต่อและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยยานพาหนะในอนาคตจะกลายเป็นคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ได้ เราจะไว้วางใจให้พาหนะเหล่านี้เดินทางไปในทุกที่บนโลกที่สามารถจับต้องได้ใบนี้ในขณะที่ติดต่อปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนที่พร้อมให้เราเข้าถึงได้ในทุกที่ที่เราอยู่
จาก Digital Cities สู่ Sentient Cities
เมืองต่าง ๆ จะลุกขึ้นมามีชีวิตผ่านทางเครือข่าย! ทั้งของโครงสร้างพื้นฐานของทั้งวัตถุอัจฉริยะ (Smart Objects) ระบบการรายงานผลด้วยตัวเอง (self-reporting systems) และการวิเคราะห์ด้วยพลังของ AI ทั้งหมดนี้จะรวมเข้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน
ผู้ช่วยและระบบกฏเกณฑ์ขั้นตอนวิธีต่างๆ (Agents and Algorithms)
พวกเราแต่ละคนจะได้รับการดูแลสนับสนุนจาก “ระบบปฏิบัติการเพื่อการดำรงชีวิต” (Operating System for Living) ที่เป็นส่วนตัว สามารถคาดเดาได้ถึงความต้องการของเราและให้การสนับสนุนภาระกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันในแบบเชิงรุกเพื่อทำให้มีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้น
โซเชียลไลฟ์ของหุ่นยนต์ (Robot with Social Lives)
หุ่นยนต์จะกลายมาเป็นหุ้นส่วนในชีวิตของเรา ช่วยเพิ่มทักษะและขยายขีดความสามารถของเราในด้านต่าง ๆ หุ่นยนต์จะแบ่งปันความรู้ที่ได้รับใหม่ไปยังเครือข่ายโซเชียลหุ่นยนต์ (Social Robot Network) ไปยังนวัตกรรม Crowdsource และกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าในแบบเรียลไทม์
“การเชื่อมต่อและความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทคโนโลยีจะมีความแตกต่างอย่างมากในปี 2030 และเราเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุดระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร คือ ความสัมพันธ์ระยะยาวของเผ่าพันธ์ที่แตกต่าง (Symbiotic) และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งต่าง ๆ ที่เกื้อกูลกัน โดย 75% ของผู้นำธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามยืนยันว่ายินดีเป็นพันธมิตรกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างการทำงานและการใช้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม” คุณปัง ยี เบ็ง รองประธานอาวุโส ภูมิภาคเอเชียใต้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีกับองค์กรธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและญี่ปุ่น ก็กำลังเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แล้ว โดยการสำรวจส่วนหนึ่งเผยให้เห็นถึงมุมมองของผู้นำทางธุรกิจ ดังนี้…
– 80% (และ 89% ในไทย) คาดหวังว่าพวกเขาจะปรับเปลี่ยนรูปแบบในการใช้เวลาด้วยการจัดการภาระการงานด้วยระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น
– 49% ของผู้นำธุรกิจ (และ 60% ในไทย) พร้อมตอบรับเครื่องจักรที่กำลังจะกลายมาเป็นเครื่องจักรที่สามารถคิดและทำงานได้ด้วยตัวเอง หรือประเภท Self-Aware
– มากกว่าครึ่งของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและญี่ปุ่น รวมทั้ง ไทย ระบุว่าพวกเขาคาดว่า Networked Reality จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเห็นได้ทั่วไปในอนาคต
– 63% (และ 78% ในไทย) กล่าวว่าพวกเขาพร้อมตอบรับการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงทั้ง VR และ AR ในทุกวัน
– ส่วนความท้าทายเรื่องความเป็นธรรมด้านต่าง ๆ เมื่อใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมและทำงานแทนมนุษย์นั้น แต่ละองค์กรล้วนมองถึงความท้าทายของหุ่นยนต์ โดย 78% (และ 61% ในไทย) คาดว่าในปี 2030 ผู้นำทางธุรกิจจะมีความกังวลต่อความเป็นส่วนตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
– 74% (และ 69% ในไทย) ระบุว่าพวกเขาพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของ Data Privacy เป็นอันดับต้น ๆ ของความท้าทายในระดับสังคมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการแก้ไข
– 49% (และ 38% ในไทย) ต้องการให้มีการออกระเบียบและความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ AI รวมถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางดิจิทัล
– 84% (และ 90% ในไทย) ยอมรับว่า Digital Transformation ยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร และต้องการให้ขยายไปทั่วองค์กรมากกว่าเดิม เป็นต้น