องค์กรในเอเชียแปซิฟิกกำลังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยใช้ “เทคโนโลยีคลาวด์แห่งอนาคต”

  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  

 

รายงานจากซิสโก้และบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป สำรวจกลยุทธ์การปรับใช้คลาวด์ และความจำเป็นขององค์กรในการใช้คลาวด์ที่หลากหลาย โดยแต่ละองค์กรมีการกำหนด Cloud Journey ที่แตกต่างเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจ

องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ความสนใจในนวัตกรรมคลาวด์เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้องค์กรเพิ่มความรวดเร็ว ความคล่องตัว และประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างฉับไว ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงานฉบับล่าสุดที่จัดทำโดยซิสโก้ และบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group – BCG)

รายงานเกี่ยวกับอนาคตของคลาวด์ในเอเชีย-แปซิฟิก (The Future of Cloud in Asia Pacific) เปิดเผยว่า การใช้จ่ายงบประมาณโดยรวมสำหรับเทคโนโลยีคลาวด์ในภูมิภาคนี้คาดว่าจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 ตามข้อมูลจากการ์ทเนอร์ โดยการลงทุนในระบบคลาวด์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในสามประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกที่มียอดใช้จ่ายด้านไอทีโดยรวมสูงสุด โดยครอบคลุมทั้งในส่วนของแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม โครงสร้างพื้นฐาน และบริการ ในส่วนของภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มผู้นำในแง่การเติบโตของการใช้จ่ายด้านคลาวด์ โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 25% ต่อปีภายในปี 2567

นาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า “ซิสโก้นำเสนอโซลูชั่นที่ใช้ได้กับทุกระบบคลาวด์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีคลาวด์ ด้วยระบบการตรวจสอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของซิสโก้ ช่วยให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบและจัดการโครงสร้างพื้นฐานและแอปพลิเคชันได้อย่างครบวงจร เชื่อมต่ออย่างปลอดภัย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับในอนาคต การลงทุนด้านคลาวด์จะยังคงเป็นวาระสำคัญที่ต้องพิจารณาในการประชุมของผู้บริหารองค์กร ขณะที่องค์กรต่างๆ ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบคลาวด์เพื่อรองรับอนาคต”

ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวยังระบุถึงแนวทางที่องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้ใช้ประโยชน์จากพับบลิคคลาวด์ ไพรเวทคลาวด์ และไฮบริดคลาวด์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สอดรับกับความต้องการด้านธุรกิจ การดำเนินงาน และดิจิทัล รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น กฎระเบียบ ความเสี่ยง การขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอื่นๆ และความต้องการด้านข้อมูล  ทั้งนี้ ความท้าทายที่สำคัญสำหรับองค์กรในยุคดิจิทัลปัจจุบันก็คือ ‘ความเข้าใจในการจัดการการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์ในลักษณะที่ราบรื่น ไร้รอยต่อ และปลอดภัย

พราซานนา สันฐานาม กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วนของบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป, สิงคโปร์ กล่าวว่า “ไม่มีโซลูชั่นแบบ one-size-fits-all สำหรับโรดแมปของคลาวด์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจและไอทีจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับนวัตกรรมคลาวด์ที่หลากหลายและซับซ้อน รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ความท้าทายและความเสี่ยงของแต่ละแนวทางทั้งในระยะกลางและระยะยาว  ขณะที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นธุรกิจให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในโลกวิถีใหม่ นวัตกรรมคลาวด์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างแผนธุรกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน”

 

 

 

 

รายงานฉบับนี้จำแนกประเภทขององค์กร 5 ประเภท ตามระดับของ Cloud Journey ได้แก่ Digital Native, Cloud Optimizer, Cloud Pragmatist, Cautious Adopter และ Cloud Onlooker พร้อมระบุถึงคุณลักษณะขององค์กรแต่ละประเภท รวมถึงข้อมูลวิเคราะห์ และบริบทที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ด้านคลาวด์ขององค์กรเหล่านี้

  1. Digital Native: องค์กรที่เกิดขึ้นมาในยุคของเทคโนโลยีคลาวด์ และถูกสร้างขึ้นจากระบบคลาวด์ตั้งแต่แรกเริ่ม เทคโนโลยีคลาวด์ถูกผสานรวมเข้ากับธุรกิจอย่างกลมกลืน ขณะที่ธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นดิจิทัล และระบบคลาวด์เป็นหลัก พับบลิคคลาวด์คือตัวเลือกหลักสำหรับองค์กรเหล่านี้ และเทคโนโลยีคลาวด์ทำให้องค์กรสามารถตอบสนองได้อย่างฉับไวต่อสถานการณ์ทางด้านธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และมีความคล่องตัวในการดำเนินงานในระดับที่ดีเยี่ยม
  2. Cloud Optimizer: องค์กรเหล่านี้จัดอยู่ในระดับแถวหน้าในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยมีการเปลี่ยนย้ายจากระบบรุ่นเก่าที่ล้าสมัยไปสู่ระบบคลาวด์ องค์กรประเภทนี้มีระบบคลาวด์ที่ทันสมัย และมักปรับใช้แนวทางที่มุ่งเน้นระบบคลาวด์สาธารณะ หรือพับบลิคคลาวด์เป็นหลัก
  3. Cloud Pragmatist: องค์กรที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเลือกใช้ระบบคลาวด์ภายในองค์กรหรือไพรเวทคลาวด์มากกว่าระบบคลาวด์สาธารณะหรือพับบลิคคลาวด์ เนื่องจากมีข้อกังวลใจเรื่องข้อมูลและเวิร์กโหลด นอกจากนี้ เนื่องจากองค์กรให้ความสำคัญต่อการควบคุมข้อมูล ความเสี่ยง และค่าใช้จ่าย ดังนั้นระบบคลาวด์สาธารณะหรือพับบลิคคลาวด์จึงถูกใช้งานในขอบเขตที่จำกัดสำหรับเวิร์กโหลดที่ไม่ค่อยมีความสำคัญต่อธุรกิจ ขณะที่ระบบคลาวด์ภายในองค์กรหรือไพรเวทคลาวด์รองรับเวิร์กโหลดสำคัญๆ
  4. Cautious Adopter: แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น แต่องค์กรเหล่านี้ยังคงปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพียงแค่ในระดับของโครงการเท่านั้น และไม่ได้กำหนดกลยุทธ์สำหรับการใช้งานระบบคลาวด์ทั่วทั้งองค์กร ผู้บริหารยังขาดความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์ ดังนั้นจึงไม่มีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในเรื่องการพัฒนาสู่ระบบคลาวด์
  5. Cloud Onlooker: องค์กรเหล่านี้ไม่ได้พิจารณาถึงการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อรองรับเป้าหมายทางธุรกิจ แต่มองว่าเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และไม่มีแผนงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การดำเนินงาน แต่ผู้บริหารอาจริเริ่มการใช้งานโซลูชั่นคลาวด์แบบแยกส่วน หากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ

จากข้อมูลการจำแนกประเภทขององค์กรตามที่ระบุข้างต้น รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับ cloud journey

ในงานแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ มร. เมนอน ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในการจัดทำแผนการพัฒนาธุรกิจหลังการแพร่ระบาด แต่ละองค์กรมีแนวทางที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงขององค์กรนั้น รวมถึงส่วนงานที่จะต้องโฟกัสเป็นพิเศษ ในอดีตผู้ให้บริการคลาวด์มักจะมองว่าคลาวด์คือความมุ่งหวังหรือเป้าหมายสูงสุดสำหรับลูกค้า และตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าแนวการพัฒนาสู่แพลตฟอร์มคลาวด์จำเป็นที่จะต้องได้รับการออกแบบและปรับแต่งให้สอดคล้องกับธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย  ขณะที่องค์กรต่างๆ กำลังก้าวเข้าสู่โลกของไฮบริดคลาวด์เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านในอนาคต ความท้าทายที่สำคัญก็คือ องค์กรจำเป็นที่จะต้องจัดการการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”

 

 

รายงานผลการศึกษาให้รายละเอียดเกี่ยวกับ 4 ขั้นตอนของการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ ซึ่งองค์กรสามารถจัดทำแผนงานตามขั้นตอนนี้โดยไม่จำเป็นต้องยึดถือตามกรอบเวลามาตรฐานที่แน่ชัด แต่โดยทั่วไปแล้วจำเป็นที่จะต้องมี ทริกเกอร์ สำหรับการเปลี่ยนย้ายไปสู่ขั้นตอนถัดไป เช่น ความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป หรือแผนงานทางด้านดิจิทัลขององค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลง

  • ขั้นที่ 1 – เบื้องต้น/เฉพาะกิจ: ในขั้นตอนเริ่มต้นนี้ องค์กรไม่ได้ปรับใช้นวัตกรรมคลาวด์อย่างจริงจัง แต่อาจมีการปรับใช้ในลักษณะเฉพาะกิจ
  • ขั้นที่ 2 – ทดลอง: ในขั้นตอนนี้ มีการทดลองใช้งานโซลูชั่นคลาวด์อย่างกว้างขวาง และมีการติดตั้งใช้งานภายในองค์กร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า หรือใช้ประโยชน์จากระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ขั้นที่ 3 – ขยายขอบเขต: ในขั้นตอนนี้ มีการกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ทั่วทั้งองค์กร และมีการใช้ระบบคลาวด์ที่บูรณาการเข้ากับระบบหลักของธุรกิจ 
  • ขั้นที่ 4 – ดำเนินการในขอบเขตที่กว้างขวาง: ในขั้นตอนระดับสูงนี้ มีการปรับเปลี่ยนไปสู่คลาวด์สำหรับทุกแง่มุมของเทคโนโลยี และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องสำหรับการปรับปรุงเทคโนโลยีและการจัดการวงจรการใช้งาน

 


  • 7
  •  
  •  
  •  
  •