ก่อนจะพูดกันถึงเรื่อง Digital Transformation กับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ต้องทำความเข้าใจเสียก่อน ว่าการที่องค์กรรู้จัก ยอมดำเนินการ และลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้นนั้น ยังไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องทั้งหมด และไม่ใช่เทรนด์ที่จะได้เห็นในปี 2020 ด้วย
ประเด็นนี้มีการเปิดเผยผลสำรวจที่ชื่อว่า “การประยุกต์ใช้ AI ของไทย” ประจำปี 2019 โดยสถาบันไอเอ็มซี ซึ่งระบุว่า…
– ปีนี้เป็นปีที่องค์กรไทยเริ่มใช้งาน AI มากขึ้น
– “Chatbot” และ “Robot Process Automation” เป็นระบบงานยอดฮิตด้าน AI ที่องค์กรธุรกิจนิยมใช้งาน
– การยอมรับและใช้งาน AI มากขึ้น สะท้อนถึงการตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์อย่างแพร่หลาย
– องค์กรส่วนใหญ่ยอมรับว่าปัญหาหลักของการใช้ AI คือ “ขาดบุคลากร” และ “ปรับตัวไม่ทันกระแส Disruption”
แล้ว ทิศทาง Digital Transformation 2020 จะเป็นอย่างไร ?
เรื่องนี้ชัดเจนว่า เทรนด์ดังกล่าวไม่ใช่แค่การลงทุนหรือใช้เทคโนโลยี แต่หมายรวมถึง…การให้ความสสำคัญกับทุก ๆ องค์ประกอบในการทำ Digital Transformation เช่น วัฒนธรรมองค์กร ทัศนคติผู้นำองค์กร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ธุรกิจของไทยอยู่ในช่วงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ AI โดยธุรกิจที่เป็นแนวหน้าเริ่มต้นปรับตัวไปแล้ว ได้แก่ สื่อ ค้าปลีก และบริการจัดส่งอาหาร ซึ่งธุรกิจเหล่านี้แข่งขันกันอย่างรุนแรงและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปอย่างมากมาย
ในระดับโลก Gartner เคยสำรวจ CIO Survey 2019 จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,791 คน เมื่อเดือนมกราคม 2019 ซึ่งพบว่ามีการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเป็นอย่างมาก จากเดิมที่ 72% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าไม่มีการใช้งาน AI และมีการประยุกต์ใช้งานเพียงเล็กน้อย แถมส่วนใหญ่ใช้งานด้านการป้องกันภัยล่อลวง แต่ในปี 2019 กลุ่มตัวอย่างตอบว่าเริ่มนำ AI มาใช้ใน Chatbot และการยกระดับกระบวนการทำงานในองค์กรอย่างละ 26%
ส่วนในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันไอเอ็มซี พบว่าธุรกิจไทยเริ่มนำ AI เข้ามาใช้งานในหลายด้าน ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า การแนะนำสินค้าให้ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง การตรวจสอบการฉ้อโกงทางการเงิน การให้คำแนะนำการลงทุนในสถาบันการเงินผ่านระบบอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ AI เพื่อป้อนข้อมูลจำนวนมากแบบอัตโนมัติ การใช้งานประมวลผลภาษา เช่น การแปลภาษา หรือการทำ Chatbot รวมถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้า
องค์กรไทยบางส่วน “ไม่เข้าใจ AI” แถมฝากความหวังไว้กับ Outsource
การสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่าองค์กรไทยราว 49.11% มีความรู้ความเข้าใจ AI ในระดับเริ่มต้น ขณะที่ 30.36% มีความรู้ความเข้าใจ AI ในระดับพอใช้ ส่วนองค์กรที่มีความรู้ความเข้าใจ AI ในชั้นดี มีอยู่ราว 11.60% และองค์กรที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจใน AI เลย มีสัดส่วนประมาณ 8.93%
อย่างไรก็ตาม 74.11% ของกลุ่มตัวอย่างไทยยอมรับว่า AI จะมีผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมในธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยมีเพียง 16.07% เท่านั้นที่คิดว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจหรือคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง
ด้านแนวโน้มการดำเนินการด้าน AI ขององค์กรไทยส่วนใหญ่เป็นการจ้าง Outsource ราว 40.18% รองลงมาเป็นการดำเนินการเองแบบ In House 32.14% ขณะที่อีก 17.86% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าจะใช้วิธีจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูป
แต่เมื่อถามว่ามีการนำ AI มาใช้ในองค์กรหรือยัง กลับพบว่ามีองค์กรเพียง 10.70% เท่านั้นที่ใช้งาน AI แล้ว ขณะที่อีก 25.9% ระบุว่ากำลังอยู่ในแผนดำเนินการ และ 39.29% กำลังดำเนินการศึกษา โดยหากมีการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ราว 60.71% เลือกทำ Chatbot ตามมาด้วยระบบอัตโนมัติ RPA 49.11% รองลงมาเป็นระบบแบ่งกลุ่มลูกค้า ระบบจดจำใบหน้า ระบบป้องกันการล่อลวง ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และระบบอื่น ๆ
ทั้งนี้ ผลสรุปจากการสำรวจครั้งนี้ พบว่าผู้บริหารระดับสูงในองค์กรไทย 50% เห็นความสำคัญของการนำ AI มาประยุกต์ใช้เป็นพิเศษ ขณะที่ 35.1% ตอบว่าสำคัญปานกลาง และอีก 14.29% ยังไม่ให้ความสำคัญและยังไม่มีการกล่าวถึง AI ในองค์กร