ทำธุรกิจยุคนี้ทุกคนต่างรู้ว่า “Data” คือ “ขุมทรัพย์” ที่จะสร้างโอกาสและความได้เปรียบให้กับธุรกิจ แต่การ “นำไปใช้” ยังกลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เพราะหลาย ๆ องค์กรถือข้อมูลอยู่ในมือแต่ไม่รู้ว่าจะบริหารและใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งข้อมูลจากเวทีเสวนา AIS Academy for THAIs: to the Region องค์ความรู้ สู่ภูมิภาคครั้งล่าสุด มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Data ขุมทรัพย์เอาชนะ Disruption” และประเด็นอื่น ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้แนวทางที่น่าสนใจจากการดำเนินงานขององค์กรต้นแบบ
Data ไม่ใช่ความลับ! ทำธุรกิจต้องเปิดใจเปิดกว้าง
คุณอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม แสดงความเห็นว่า การทำธุรกิจทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องศึกษาและรู้ข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่จำเป็นต้องลงทุนแบบ Heavy Investment ส่วนหนึ่งก็เพื่อคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีที่เตรียมพร้อมลงทุนนั้นจะประสบความสำเร็จในอนาคตหรือไม่
“นิสัยผู้ประกอบการในอดีตจะมองว่าข้อมูลเป็นความลับที่ห้ามใครรู้แม้แต่ในองค์กรเดียวกัน คนละส่วนงานก็ห้ามล่วงรู้ แต่ยุคนี้ข้อมูลกลายเป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจและเปิดกว้างไม่ว่ามุมมองที่ตัดสินใจจะผิดหรือถูก ถือเป็นส่วนสำคัญและความใส่ใจต่อธุรกิจ เพื่อเรียนรู้ว่าองค์กรต้องการเครื่องมือใดกันแน่”
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องดำเนินการด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ วิเคราะห์ลูกค้าให้ได้, วิเคราะห์ยอดขาย, วิเคราะห์คุณภาพสินค้าของตนเอง, ศึกษากระบวนการผลิตอย่างถ่องแท้ และให้ความสำคัญกับงบ กำไร ขาดทุน ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญแค่เรื่องสุดท้าย ทำให้องค์กรไม่ได้เห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ จึงไม่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นติดขัดจากส่วนใด และเมื่อรู้ข้อมูลแล้วก็ต้องสามารถวัดผลให้มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์ที่เหมาะสม
องค์กรต้องพร้อมเข้าสู่ยุค Seemless Data
คุณสาโรจน์ ปุญญพัฒนกุล Solution Architect, Amazon Web Services เล่าว่า จุดเริ่มต้นธุรกิจของ Amazon ก็มาจากการขายหนังสือออนไลน์พร้อมกับแนะนำเล่มที่เหมาะสมกับลูกค้า ซึ่งทำให้องค์กรสามารถต่อยอดบริการอย่างหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยสิ่งสำคัญของการพัฒนาบริการเหล่านั้นก็มาจากดาต้าที่ได้จากพฤติกรรมลูกค้าซึ่งทำให้องค์กรเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไรแบบไหน ดังนั้น Data Flow, Data Processing จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องเข้าใจ ต้องรู้จัก Data ของตนเองเพื่อเข้าสู่ยุค Seemless Data รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและใช้เครื่องมือเข้าช่วยบริหารจัดการข้อมูล แต่ทั้งหมดต้องสอดคล้องกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ
“สาเหตุที่แบรนด์ควรพัฒนาและไม่หยุดพัฒนาตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับภาวะ Disruption จากภายนอก เพราะธุรกิจควรสร้าง Life Circle ใหม่ ๆ เพื่อให้ลูกค้ายังคงอยู่กับแบรนด์ต่างหาก”
ขาด Data เหมือนทำธุรกิจแบบตาบอด!
คุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Standard เปรียบเทียบความสำคัญของดาต้าว่า ในธุรกิจสื่อสามารถวัดเรตติ้งละครได้จากตัวเลขการเปิดรับชมแต่ไม่สามารถบอกได้อย่างแท้จริงว่า การที่ผู้บริโภคเปิดทีวีอยู่นั้นเกิดการรับชมจริงหรือไม่ แต่ปัจจุบันการ Live ทำให้เจ้าของคอนเทนต์รู้ทันทีว่ามีผู้ชมกี่คน ตั้งแต่ต้นจนจบมีกี่คนที่รับชม หรือมีคนดูมากแค่ตอนเปิดรายการ เป็นต้น
“ยุคนี้ใครไม่มี Data ก็เหมือนเป็นคนตาบอด ไม่สามารถนำพาองค์กรหรือตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ หรือแม้แต่องค์กรจะเลือกลงทุนกับเรื่อง Data Science แต่ถ้าขาด Vision ขาด Strategy ก็ไม่ใช่เรื่องเหมาะสมที่ต้องลงทุนกับเรื่องดังกล่าว เพราะสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ว่าจะนำ Data ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร จัดเก็บข้อมูลถูกวิธีหรือไม่ นำมาสู่การวิเคราะห์และประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่รู้เป้าหมายที่แท้จริงข้อมูลก็ไม่มีประโยชน์”
Data ต้องถูกเติมเต็มด้วยหลายองค์ประกอบ
คุณกวิณพงศ์ ฉัตรานนท์ Head of Data Management & Big Data Analytic, AIS สรุปว่า ความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากดาต้านั้นต้องเกิดจากความเข้าใจและการสนับสนุนจากผู้บริหาร ทั้งการลงทุน การดำเนินการ การนำไปใช้ เช่นเดียวกับการพัฒนาคน ซึ่งองค์กรควรพัฒนาศักยภาพบุคลากรเดิมให้ซึมซับกับเทคโนโลยีใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องให้บุคลากรที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยียุคใหม่สามารถเรียนรู้จากบุคลากรเก่าได้ด้วย ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้าง Diversity สู่การเติบโตอย่างชัดเจน
“ไม่ใช่แค่เข้าใจและรู้จักใช้ข้อมูล แต่องค์กรจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ชิปที่ดีในเรื่อง Data ด้วย เพื่อทำให้แบรนด์สามารถแข่งขันได้ด้วยการนำข้อมูลซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้ามาตอบโจทย์ด้วยการพัฒนาบริการ ไม่ใช่แค่การลงทุนกับเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น”
วาง 4 แนวทาง องค์กรต้องปรับ – รับ Disrupt
นอกจากนี้ คุณกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคลาวด์และซอฟต์แวร์โซลูชั่น IBM ประเทศไทย ยังกล่าวถึงหัวข้อ Embracing the Digital Transformation Journey ว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลากหลายที่จะเป็นเครื่องมือให้ภาคธุรกิจ แต่คำถามคือคุณกำลังทำอะไรในยุค Disruption ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ Data การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์, Intelligent การสร้างเครือข่ายคุณภาพขององค์กร, Skill เตรียมความพร้อมให้พนักงานในองค์กร และสร้างวัฒนธรรมให้ยอมรับความล้มเหลวได้และเปิดใจรับ
สิ่งที่องค์กรใหญ่ต้องให้ความสำคัญมี 4 ประการ ได้แก่…
Dancing with Disruption : ต้องพร้อมกระโจนเข้าสู่สังเวียน Disruption ยกตัวอย่าง การทำธุรกิจของ Walmart ในฐานะบริษัทใหญ่ที่พยายามเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ กระทั่งเจอกับ Jet.com ซึ่งเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ซึ่ง Walmart ใช้เงินกว่า 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าซื้อกิจการ ซึ่งทำให้ยอดขายอีคอมเมิร์ซของ Walmart สามารถเติบโตถึง 40% ภายในปีแรกที่เข้าซื้อ
Trust in the Journey : สร้างพันธมิตรเพื่อแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เนื่องจากว่ากันว่าการทำธุรกิจในวันนี้ต้องทำงานร่วมกัน แบรนด์ต้องทำงานร่วมกับลูกค้าและคู่ค้าในขณะเดียวกัน แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรให้ลูกค้ายอดเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เช่น MUJI ที่พัฒนาสินค้าตามคำแนะนำของลูกค้า ซึ่งทำให้ยอดขายมากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน เรียกว่ามากกว่ายอดขายเมื่อครั้งขายสินค้าจากไอเดียของแบรนด์เอง
Orchestraing the Future : เตรียมรับมือกับการแข่งขันใหม่ ๆ จากการพัฒนาบิสสิเนสโมเดลรูปแบบใหม่และแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาก ทั้งยังทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำลง เช่น แบรนด์ beam แพลตฟอร์มขายแปรงสีฟัน ที่เชื่อมต่อบูลทูธกับแอปพลิเคชันเพื่อแจ้งว่าผู้ใช้แปรงฟันได้ดีหรือไม่ จากข้อมูลการใช้งานทำให้แบรนด์พบว่าคนอเมริกันราว 1 ใน 3 ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพฟัน แบรนด์จึงสามารถต่อยอดกับบริษัทประกันสุขภาพฟันซึ่งให้บริการผ่านทันตแพทย์ในการนำเสนอบริการแก่ลูกค้า
Innovation in Motion : ไม่หยุดเรียนรู้ หากองค์กรต้องการรักษาความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่องก็จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์และมีมุมมองใหม่ ๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า Haier ที่มีการแบ่งทีมงานย่อยเพื่อคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ ด้วยการแบ่งเป็นทีม 10-20 คน ที่จะต้องผสมผสานพนักงานทุกส่วนงานเข้าไปแต่ละกลุ่ม เพื่อทำให้เกิดแนวคิดที่หลากหลายต่อยอดสู่การพัฒนาสินค้าใหม่ ซึ่งกลายเป็นแนวคิดการทำตู้เย็นแบบ 3 ประตู ซึ่งสามารสร้างยอดขายเป็นประวัติการณ์ถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
Learn – Unlearn – Relearn แนวทางแห่งศตวรรษที่ 21
เช่นเดียวกับแนวคิดของ คุณ Yuval Dvir, Global Head of Scaled Partnership, Google Cloud ที่แสดงความเห็นต่อประเด็น Business Transformation Through Innovation ไว้ว่า ภาวะ Digital Transformation ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว แต่ไม่ใช่เพียงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แต่หมายถึงการปรับตัวเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เทคโนโลยี ผู้คน รูปแบบธุรกิจ และองค์กร ทำให้การดำเนินธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ภาคธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ เลิกเรียนรู้ และเรียนรู้ใหม่ (Learn Unlearn & Relearn)
แม้ว่ามนุษย์จะต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีแต่การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพก็ยังจำเป็นต้องรับและเรียนรู้ข้อมูลจากมนุษย์ก่อนพัฒนาสู่สิ่งที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะการมีไอเดียหรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่ทางแก้ไข แต่ยังต้องใช้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันจากหลายภาคส่วนด้วย อย่างไรก็ตาม แม้การระดมแนวคิดหรือไอเดียจะเป็นสิ่งจำเป็นภายในองค์กรแต่ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นในกลุ่มคนหมู่มาก เพราะการคิดอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเหมาะสมจะเกิดขึ้นไม่เกิน 10 คน เพื่อทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว
“เพราะ Less is more อาจดีกว่าในหลาย ๆ กรณี โดยเฉพาะการนำ Data ที่มีไปใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพอาจเป็นเรื่องสำคัญกว่าการมี Data จำนวนมากอยู่ในมือ ซึ่งนั่นหมายความว่าเราต้องเข้าใจคำว่า Disruption และ Innovation อย่างแท้จริงก่อน”