แม้ นวัตกรรม จะถูกยกให้เป็นเครื่องมือสร้างความสำเร็จในปัจจุบัน แต่จากผลสำรวจที่ Microsoft และ IDC เอเชีย แปซิฟิก ทำในหัวข้อ “วัฒนธรรมนวัตกรรม – รากฐานสู่การปรับตัวและฟื้นฟูของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” (Culture of Innovation: Foundation for business resilience and economic recovery in Asia Pacific) กลับพบว่า ทัศนคติเกี่ยวกับนวัตกรรมในภาคธุรกิจของไทยยังคงตามหลังมุมมององค์กรแนวหน้าในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 3 ปี
ผลสำรวจดังกล่าวได้สอบถามความเห็นและมุมมองผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ รวม 3,312 คน และพนักงาน 3,495 คน ในองค์กรภาคเอกชนจาก 15 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้บริหารในประเทศไทย 200 คน และพนักงานอีก 237 คน ซึ่งทำการสำรวจทั้งช่วงก่อนและหลังเกิดการระบาด COVID-19 โดยพบว่า Culture of Innovation ขององค์กรแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ People บุคลากร, Process กระบวนการทำงาน, Data ข้อมูล และ Technology เทคโนโลยี ซึ่งแบ่งความพร้อมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ สเตจ 1: กลุ่มองค์กรแบบเก่า สเตจ 2: กลุ่มมือใหม่ด้านนวัตกรรม สเตจ 3: กลุ่มผู้ปรับตัว และสเตจ 4: กลุ่มผู้นำ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ เช่น…
– ธุรกิจในไทยปรับเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองการทำงานไปไม่น้อย โดย 40% มองว่า COVID-19 คือโอกาสในการผลักดันรายได้ให้เติบโตเร็วกว่าคู่แข่ง จนนำไปสู่ส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่มีมุมมองเชิงบวกจะเล็งเห็นโอกาสท่ามกลางสถานการณ์จะพัฒนาศักยภาพได้รวดเร็วโดยเฉพาะด้าน Culture of Innovation
– ช่วงก่อน COVID-19 มีธุรกิจไทยกว่า 59% จัดอยู่ในกลุ่มองค์กรแบบเก่า แต่ลดเหลือ 48% หลังจากการระบาด
– ขณะเดียวกัน กลุ่มมือใหม่ด้านนวัตกรรมก็เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 47% ส่วนกลุ่มผู้นำ ก็เพิ่มเป็น 2% จากเดิมที่ไม่มีอยู่ในประเทศไทยเลย
– ภาพรวมของไทยในการยกระดับ Culture of Innovation ถือว่าพัฒนาขึ้น อยู่มีสัดส่วนอยู่ที่ 12%
– 1 ใน 3 ขององค์กรกลุ่มผู้นำ มั่นใจว่าจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้แม้ต้องเผชิญความท้าทายจากโรคระบาด ขณะที่ 45% เชื่อว่าธุรกิจจะฟื้นตัวจากผลกระทบครั้งนี้ภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม พบว่าองค์กรเริ่มมีแผนพิจารณาโมเดลการทำธุรกิจใหม่แล้ว
– กว่า 84% ขององค์กรกลุ่มผู้นำ เชื่อว่าโมเดลธุรกิจของพวกเราจะเปลี่ยนแปลงภายใน 10 ปีจากนี้ โดย 45.4% มองว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนภายใน 5 ปี ส่วนธุรกิจในไทยมี 64% ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจภายใน 10 ปี และ 27% ที่มองว่าจะเปลี่ยนแปลงภายใน 5 ปี ขณะที่อีก 25% ยังล่าช้าในการพิจารณาโมเดลธุรกิจในอนาคต เทียบกับในกลุ่มองค์กรผู้นำระดับภูมิภาคที่มีเพียง 7.7%
คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft ประเทศไทย อธิบายว่า การทำธุรกิจในยุคนี้ไม่มีทางเป็นเหมือนเดิม องค์กรจำต้องมี Speed และ Agility เพื่อตอบโจทย์ให้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกับสถานการณ์ตอนนี้ ความท้าทายของภาคธุรกิจคือต้อง Think Big เพิ่มโอกาสให้ตนเอง แม้ว่าทุกคนจะมุ่งสู่การทำออนไลน์และการเป็น Lean Organization แต่สิ่งสำคัญต้องให้ความสำคัญกับ Bussiness Model ควบคู่กันไปด้วย
จด – จำ – นำไปใช้! สูตร 4×4 ปรับวัฒนธรรม พลิกกลยุทธ์
จากผลสำรวจพบว่าองค์กรธุรกิจในไทยจำนวนไม่น้อยเพิ่งเริ่มต้นคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร โดยพบว่าไทยมีความพร้อมน้อยที่สุดด้านบุคลากรด้วยค่าเฉลี่ย 1.56 คะแนน และเทคโนโลยี 1.60 คะแนน จากคะแนนเต็ม 4.0 ซึ่งหากพิจารณาแผนงานในอนาคตจะพบว่า องค์กรไทยมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก (35%) ตามด้วยข้อมูล (26%) บุคลากร (25%) และกระบวนการทำงาน (14%)
Microsoft จึงแนะนำสูตร 4×4 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ทั้งด้านบุคลากร กระบวนการทำงาน ข้อมูล และเทคโนโลยี คือ
บุคลากร
1. สนับสนุนแนวคิดที่นอกกรอบอย่างสร้างสรรค์
2. สร้างแรงจูงใจด้วยการประเมินผลงานบุคลากรในด้านนวัตกรรม
3. สร้างความหลากหลายในหมู่พนักงานด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ มุมมอง วัย และปูมหลังแตกต่างกัน
4. เปิดรับทักษะใหม่ ๆ เชิงดิจิทัล และความร่วมมือกับองค์กรภายนอกเพื่อยกระดับศักยภาพขององค์กร
กระบวนการทำงาน
1. ปรับเปลี่ยนระบบงานสำคัญให้กลายเป็นกระบวนการอัตโนมัติอย่างเหมาะสม
2. ผสมผสานกระบวนการด้านนวัตกรรมกับการทำงานวันต่อวันให้รวมกันเป็นหนึ่ง
3. วางโครงสร้างให้ระบบและขั้นตอนการทำงานเอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม
4. กระจายความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรมให้ทั่วถึงทั้งองค์กร
ข้อมูล
1. ยกระดับผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการตัดสินใจภายในองค์กรด้วยข้อมูล
2. พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีพื้นฐานอยู่บนการใช้ข้อมูลแบบบเรียลไทม์
3. ตรวจสอบความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของข้อมูลให้ทั่วถึง
4. ปรับแต่งประสบการณ์ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคนด้วยข้อมูล
เทคโนโลยี
1. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
2. ขยับขยายระบบงานที่มีอยู่เดิมขึ้นสู่คลาวด์
3. ผนึกรวมโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีขององค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว
4. ประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรม ในรูปของผลตอบแทนจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี
ทั้งนี้ มีตัวอย่างองค์กรธุรกิจในไทยที่ปรับใช้นวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ คือ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ผู้ให้บริการแท็กซี่ Cabb
COVID-19 ตัวเร่ง ‘7-Delivery’ ได้แจ้งเกิดในสนามออนไลน์
โดย คุณวิวัฒน์ พงษ์ฤทธิ์ศักดา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานสารสนเทศ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า บริษัทมีแนวคิดในการรุกธุรกิจออนไลน์มาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด กระทั่ง COVID-19 เกิดขึ้นจึงเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดบริการ 7-Delivery ส่งสินค้าถึงบ้าน เพื่อแก้ปัญหาที่ผู้คนไม่ต้องการเดินทางออกจากบ้านเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
“เราไม่เคยคิดว่าวันนึงคนจะไม่เดินเข้าร้าน 7-Eleven แม้จะมีสาขาใกล้ ๆ บ้าน นั่นทำให้เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้บริการผ่านแอป 7-Delivery ซึ่งต้องยอมรับว่าร้าน 7-Eleven ไม่ได้ขยับตัวเข้าหาเทคโนโลยีมานาน แต่เมื่อต้องทำเราก็ดำเนินงานอย่างเต็มที่ ภายใต้หลักการใช้เทคโนโลยีที่ว่าเราไม่ล้ำสมัยแต่ไม่ล้าสมัย และสิ่งสำคัญคือคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก ทำให้เราได้เห็นข้อมูลว่ามีหลากหลายอาชีพที่ต้องการ 7-Delivery เพราะเขาไม่สามารถปลีกตัวออกมาในเวลางานได้ เช่น พยาบาล พ่อค้าแม่ขาย หรือแม้แต่ รปภ. ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้กลายเป็นลูกค้าหลักและชื่นชอบบริการ 7-Delivery เป็นอย่างมาก”
ความท้าทายที่สำคัญในยุค Digital Transformation คือ บุคลากร เพราะธุรกิจ 7-Eleven ต้องเปลี่ยนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์อย่างรวดเร็ว บุคลากรอาจไม่คุ้นเคย ดังนั้น บริษัทจึงต้องก้าวผ่านความท้าทายด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับความต้องการของมนุษย์ เพื่อคงความเข้าใจลูกค้าเอาไว้ รวมถึงการส่งเสริมรูปแบบการใช้จ่ายใหม่ ๆ เช่น การชำระเงินแบบดิจิทัล แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องกระตุ้นให้พนักงานกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินงานให้ทันยุคสมัย
‘แท็กซี่ Cabb’ กับการใช้เทคโนโลยี และรอเวลา ‘สำเร็จ’
คุณศรายุทธ เรืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ผู้ให้บริการแท็กซี่ Cabb เล่าว่า จากกำหนดการเดิมที่ตั้งใจจะเปิดให้บริการในช่วง ก.พ. หรือ มี.ค. แต่เมื่อมีโรคระบาดและผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ เราก็เลือกจะรอจนกว่าจะถึงช่วงที่ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางได้ตามปกติ พร้อมกับนำเสนอจุดเด่นแท็กซี่ Cabb ซึ่งมีการแยกพื้นที่อย่างชัดเจนระหว่างคนขับและผู้โดยสาร มีระบบการชำระเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด การเรียกใช้บริการผ่านแอป เป็นต้น ซึ่งทุกฟังก์ชันใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความง่ายและความสะดวกในการใช้งาน
“ธุรกิจของเราเริ่มต้นด้วยบุคลากรไม่ใช่ทรัพย์สิน วันนี้ทั้งองค์กรมีบุคลากร 53 คน แต่รับผิดชอบยอดค่าโดยสาร 7 หลักต่อวัน เพราะเราสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า มีการติดตาม ตรวจสอบข้อมูลและปัญหาทุกวัน เพื่อทำให้ Cabb ตอบโจทย์การใช้งานในแต่ละวัน ภายใต้โมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบุคลากรของเรา โดยใช้ข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเชื่อมโยงทุกส่วนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ”
การให้บริการแท็กซี่ Cabb เก็บข้อมูลสถิติตั้งแต่การเรียกรถและใช้บริการของลูกค้าตลอดวัน เพื่อนำมาเพิ่มหรือลดทรัพยากร พัฒนาระบบจัดการบริการ การจับคู่ระหว่างผู้โดยสารและผู้ขับ ขณะเดียวกัน ยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น กล้องรักษาความปลอดภัยที่บันทุกภาพนิ่งของลูกค้าเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว การยืนยันตัวตนผู้ขับด้วยบัตรประชาชน การติดตามตำแหน่งรถด้วย GPS หรือปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่จะแจ้งเตือนมายังห้องควบคุมของบริษัทและเจ้าหน้าที่กรมขนส่งทางบกได้ด้วย