ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าว “เซ็นทรัล รีเทล” หนึ่งในธุรกิจเรือธงของกลุ่มเซ็นทรัล เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และระดมทุนผ่าน IPO รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแจ้งเพิกถอนหลักทรัพย์ “ROBINS” บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำ IPO
ภาพรวมของการปรับโครงสร้างเซ็นทรัล รีเทล เป็นการรวมธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลี เข้าเป็นบริษัทเดียวภายใต้การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็น “Central of Life” ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คนตามแนวคิดของบริษัท
-
ปี 2561 เซ็นทรัล รีเทล มีรายได้รวม 240,297 ล้านบาท
-
มีเครือข่ายธุรกิจในไทย เวียดนาม อิตาลี ซึ่งมีจุดขายรวมทั้งสิ้น 3,936 สาขา
-
ประกอบธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ แฟชั่น ฮาร์ดไลน์ และฟู้ด
คุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล (บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด) เล่าว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับโครงสร้างและเตรียมพร้อมเพื่อเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ภายใต้การดำเนินงาน 72 ปีของกลุ่มเซ็นทรัล จากห้องแถวห้องเดียวสู่ห้างสรรพสินค้าที่ดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์และขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ อนาคตของเซ็นทรัล รีเทล กำลังจะถูกต่อยอดสู่ New Central Retail Experience เปลี่ยนประสบการณ์ห้างค้าปลีกสู่รูปแบบใหม่ Omnichanel เชื่อมโยงการใช้งานทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน
“จากบริษัท Local แต่วันนี้เซ็นทรัล รีเทล จะกลายเป็น International”
ตามรอย “โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา – เซ็นทรัลพัฒนา” เข้าตลาดหลักทรัพย์
ก่อนหน้านี้เครือเซ็นทรัลก็เคยมีบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2533 และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2538 โดยทั้ง 2 ครั้งสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดแก่ธุรกิจ ซึ่ง บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา เติบโตถึง 29.1 เท่าตัว จากรายได้ 1,800 ล้านบาทในปี 2533 เป็น 46,575 ล้านบาทในปี 2562 ขณะที่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เติบโตราว 37.3 เท่าตัว จากรายได้ 8,900 ล้านบาทในปี 2538 เป็น 332,112 ล้านบาทในปี 2562
กะเทาะ 3 ปัจจัยหนุน “รีเทล” เติบโต
การดำเนินธุรกิจค้าปลีกมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโต 3 เรื่อง คือ 1. การเติบโตของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งกำลังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยยังคงเติบโต สอดคล้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและกรุงเทพฯ ยังคงเป็นปลายทางการท่องเที่ยวที่ผู้คนทั่วโลกชื่นชอบ โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยกว่า 37.4 ล้านคน และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 52 ล้านคน 2. การพลิกโฉมของเซ็นทรัล รีเทล ที่เป็นธุรกิจครอบครัวสู่การเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งขับเคลื่อนร่วมกับทีมผู้บริหารมืออาชีพทั้งชาวไทยและต่างชาติ และ 3. การดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และการเป็นบริษัทธรรมาภิบาล จากทั้ง 3 ปัจจัย ทำให้เซ็นทรัล รีเทล มั่นใจว่าเป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตแก่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
คุณญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวถึงเป้าหมายของบริษัทว่า เป้าหมายของบริษัทคือ Central of Life การเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คน ภายใต้แกนหลักการดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ Multi-Category แบ่งเป็นแฟชั่น ฮาร์ดไลน์ ฟู้ด, Multi-Format การให้บริการเชื่อมโยงทั้งช่องทางจำหน่ายออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน, Multi-Market การดำเนินงานทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายต่อไปในการพัฒนา New Central Retail Experience นำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น Personalization นำแมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาช่วยวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 27 ล้านรายทั่วโลก, Superior Services พัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า, E-payment Financial Services ระบบจ่ายเงินออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง QR Code E-wallet เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ความง่าย ความสะดวก และช่วยแก้ปัญหาการเดินทางแก่ลูกค้า
“เป้าหมายสำคัญในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ มี 3 เรื่อง คือ การมีความร่วมมือทางธุรกิจและคู่ค้าระดับโลก การได้บุคลากรจากองค์กรชั้นนำระดับโลกเข้ามาร่วมงานกับเรา และการสร้างโอกาสต่อยอดเงินทุนให้แก่ธุรกิจ ซึ่งการดำเนินงานในนามบริษัทมหาชนจะทำให้เราได้รับโอกาสและเปิดกว้างมากขึ้น”
ลงทุนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี! “Food” สร้างรายได้หลัก
แต่ละปี เซ็นทรัล รีเทล ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 40,000-50,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้รวม 240,297 ล้านบาท แบ่งเป็นช่องทางรายได้จากประเทศไทย 77-78% จากเวียดนาม 14-15% และอิตาลี 8% โดยมาจากกลุ่มฟู้ด 43% แฟชั่น 35% และฮาร์ดไลน์ 22%
สำหรับธุรกิจกลุ่มฟู้ด เป็นการจำหน่ายอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ของสดของแห้ง สินค้าออร์แกนิค ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและจัดซื้อจากในพื้นที่ ผ่านท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่ และท็อปส์ พลาซ่า, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท, บิ๊กซี, ลานชี มาร์ท โดยมีช่องทางการขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต 326 สาขา และร้านสะดวกซื้อ 1,008 สาขา
ธุรกิจกลุ่มแฟชั่น เป็นการจำหน่ายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และของใช้ในบ้าน ทั้งแบรนด์จากต่างประเทศและแบรนด์ทั่วไป อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ และ สินค้าอื่น ๆ ผ่านห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์, ซูเปอร์สปอร์ต, CMG, รีนาเชนเต โดยมีช่องทางขายผ่านห้างสรรพสินค้า 81 สาขา, ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง 93 ร้านค้า, ร้านค้า Brandshop 390 ร้านค้า
ธุรกิจกลุ่มฮาร์ดไลน์ เป็นการจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งและปรับปรุงบ้านแบบ DIY ผ่านไทวัสดุ, บ้าน แอนด์ บียอนด์, เพาเวอร์บาย, เหงียนคิม โดยมีช่องทางการขายทั้งสิ้น 222 ร้านค้า
ยกระดับสู่ Central Retail Economy
นอกจากนี้ การวางรากฐานต่าง ๆ ของเซ็นทรัล รีเทล ยังมีเป้าหมายต่อยอดและยกระดับการแข่งขันโดยเรียกว่า Central Retail Economy จาก Business Highlights คงความโดดเด่นในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีก, Thriving Ecosystem ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงแต่ละโมเดลทางธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันจนนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ Clear Positioning to Win กลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้