ถึงจะมีตำแหน่ง มีงานที่มั่นคงอยู่ในตอนนี้ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะยังมีงานทำอยู่อีกนานจนกว่าจะถึงวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเพราะปัจจัยจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การลดต้นทุนขององค์กร หรือภาวะเศรษฐกิจก็ตาม ประเด็นนี้ มีงานวิจัยจากต่างประเทศสอดคล้องกับมุมมองดังกล่าว โดยกล่าวถึง ความเสี่ยง ในการที่เทคโนโลยี Automation จะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงาน กว่า 85 ล้านตำแหน่ง
แม้เราจะถกประเด็นนี้มาหลายต่อหลายครั้ง ว่าหลาย ๆ อาชีพไม่สามารถเปลี่ยนจากทักษะมนุษย์เป็นเทคโนโลยีได้ แต่งานวิจัยที่ World Economic Forum เผยแพร่ออกมาล่าสุด กลับยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน แถมยังรวดเร็วภายใน 5 ปีนี้ เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่ราว 2 ใน 5 แห่ง ระบุว่าต้องการใช้เทคโนโลยี Automation มากขึ้น แม้จะเป็นการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมและบุคลากรแต่นั่นก็หมายถึงตำแหน่งงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องถูกปรับลดลง
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังเตือนว่าสถานการณ์เลวร้ายที่ทั่วโลกต้องเผชิญจากโรคระบาด อาจส่งผลให้ปีนี้ต้องมี 115 ล้านคนต้องเข้าสู่ความยากจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อย่างการเดินทางและท่องเที่ยว งานบริการและค้าปลีก ส่วนตำแหน่งงานใหม่ ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ คือ โดยเฉพาะสายงานออนไลน์ งานด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรระบบ คลาวด์ และงานพัฒนาผลิตภัณฑ์
แน่นอนว่าการเติมทักษะใหม่ ๆ ให้ตนเอง ถือเป็นหนึ่งในสร้างโอกาสและช่วยรักษาเก้าอี้แก่บุคลากร ทั้งยังอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมตำแหน่งงานใหม่ที่เกิดขึ้นอีกนับ 100 ล้านตำแหน่งงาน อย่างไรก็ตาม องค์กรต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงานมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งตามรายงานของ World Economic Forum ระบุว่าเดือนเมษายน – มิถุนายนปีนี้ บรรดานายจ้างได้เพิ่มคอร์สออนไลน์ให้กับพนักงานถึง 5 เท่า เพราะรู้ดีว่าพนักงานกว่าครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Automation ในอนาคต ขณะเดียวกัน ดูเหมือนคนทำงานก็เข้าใจเทรนด์ดังกล่าวจึงเร่งพัฒนาทักษะและเพิ่มเติมความรู้ให้ตนเองเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว
ที่มา : CNN Business