ไม่ต้องบอก ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ายุคนี้มี “คอนเทนต์” จำนวนมหาศาลล่องลอยอยู่ทั่วแพลตฟอร์มออนไลน์ และแน่นอนว่าคอนเทนต์มีเยอะ ก็เพราะ “เจ้าของคอนเทนต์” มีอยู่มากมายและเราทุกคนก็คือผู้สร้างคอนเทนต์ทั้งสิ้น
ในเชิงแพลตฟอร์มอย่าง “YouTube” ที่มี “Creators” ทุกเพศทุกวัยนำเสนอคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบเพื่อผู้ชม รวมถึง “กลุ่มเด็ก” แน่นอนว่าระเบียบ “การควบคุม” ต้องเข้มข้นเป็นธรรมดา
เรื่องนี้ทำให้กระแสข่าวที่ว่า “YouTuber ช่องเด็กเจอทางตัน” เพราะ YouTube กำลังออกกฎมากมายเพื่อจำกัดสิทธิ์ YouTuber ที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี กลายเป็นประเด็นร้อน! ที่ทำให้โลกออนไลน์และเจ้าของช่องเด็กกำลังเป็นกังวล ว่าจะกระทบต่อการทำช่องรายการและการทำรายได้
แต่ต้องบอกว่า YouTube ไม่ได้มีอัพเดทออกมาในลักษณะดังกล่าว ว่าจะมีการแบนช่องรายการเด็กที่เจ้าของช่องมีอายุต่ำกว่า 13 ปี แต่แน่นอนว่า “มีการปรับและกำหนดมาตรการที่เข้มข้นขึ้น” เกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์จริง โดยเฉพาะคอนเทนต์ประเภท “Made for Kids” สร้างเพื่อเด็ก
อายุแค่ไหน เรียกว่า “เด็ก”
ตามข้อกำหนดในสหรัฐอเมริกา เด็ก คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี แม้ว่าบางประเทศอาจกำหนดอายุของเด็กไว้สูงกว่านี้ แต่สหรัฐฯ และแน่นอนว่าหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนใช้เกณฑ์อายุดังกล่าว เท่ากับ YouTube ก็ใช้ตามเกณฑ์นี้เช่นเดียวกัน
ทำคอนเทนต์เด็ก – ช่องเด็ก ต้องรู้เรื่องนี้…!
YouTube มีแนวทางให้ Creators ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับการยืนยันเนื้อหาว่าเป็นประเภทสร้างมาเพื่อเด็ก หรือไม่ ซึ่งรายละเอียดที่อัพเดทล่าสุดเป็นข้อมูลเมื่อวันที่ 22 พ.ย. โดยนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเพราะแพลตฟอร์มต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย “FTC” คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกา และ “COPPA” กฎหมายว่าด้วยความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตของเด็ก รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเหตุให้เจ้าของคอนเทนต์บน YouTube ต้องตั้งสถานะเนื้อหาให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันผลกระทบทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
ตัดสินอย่างไรว่าเป็นคอนเทนต์ “สร้างมาเพื่อเด็ก”
วิดีโอที่สร้างมาเพื่อเด็กตามคำแนะนำของ FTC และกฎหมาย COPPA จะต้องมีลักษณะ ดังนี้…
– วิดีโอที่มีเด็กเป็นกลุ่มผู้ชมหลักโดยอิงตามปัจจัยที่อธิบายไว้ด้านล่าง
– วิดีโอที่เด็กไม่ใช่กลุ่มผู้ชมหลักแต่ยังมีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยอิงตามรายละเอียด อาทิ
1. หัวข้อของวิดีโอ (เช่น เนื้อหาเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน)
2. ผู้ชมเป้าหมายหรือผู้ชมจริง ๆ ของวิดีโอคือเด็กใช่ไหม
3. วิดีโอมีนักแสดงหรือนายแบบนางแบบที่เป็นเด็กไหม
4. วิดีโอมีตัวละคร คนดัง หรือของเล่นที่ดึงดูดเด็ก ซึ่งรวมถึงโมเดลฟิกเกอร์จากการ์ตูนหรือตัวการ์ตูนที่เคลื่อนไหวได้ไหม
5. วิดีโอใช้ภาษาที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้เด็กเข้าใจได้ไหม
6. วิดีโอมีกิจกรรมที่ดึงดูดเด็ก เช่น การแสดงละคร เพลงหรือเกมง่าย ๆ หรือการศึกษาปฐมวัยไหม
7. วิดีโอมีเพลง นิทาน หรือกลอนที่ดึงดูดเด็กไหม
8. ข้อมูลอื่น ๆ ที่คุณอาจมีเพื่อช่วยระบุผู้ชมของวิดีโอ เช่น หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับผู้ชมของวิดีโอ
หากระบุว่าคอนเทนต์สร้างมาเพื่อเด็ก จะเกิดอะไรขึ้น ?
เท่าที่รู้เบื้องต้น…แน่นอนว่า YouTube จะไม่จัดเก็บข้อมูลผู้เข้าชมคลิปประเภทดังกล่าว เนื่องจากถือเป็นคอนเทนต์สำหรับเด็กซึ่งกฎหมายคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลเยาวชน และนั่นรวมถึงการตัดวงจรโฆษณาโดยเฉพาะ Personalized Ads ที่จะไม่สามารถใช้กับคอนเทนต์เพื่อเด็กได้ นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การคอมเมนต์ใต้คลิป และอีกหลาย ๆ ฟีเจอร์
ส่วนคำถามที่ว่า “ถ้าเป็นคอนเทนต์สำหรับผู้ชมทั่วไป แต่ไม่ใช่เนื้อหาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ” ต้องทำอย่างไร…
YouTube แนะนำไว้ว่า “ในฐานะครีเอเตอร์ คุณคือคนที่รู้จักเนื้อหาของตัวเองดีที่สุด หากคุณมีเจตนาเข้าถึงผู้ชมที่เป็นเด็ก เป็นไปได้ว่าวิดีโอของคุณสร้างมาเพื่อเด็ก แต่หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชม ให้ลองดูคุณสมบัติของวิดีโอว่ามีนักแสดง ตัวละคร กิจกรรม เกม เพลง หรือเรื่องราวที่ดึงดูดความสนใจของเด็กเป็นพิเศษไหม หากมี วิดีโอของคุณอาจกำหนดเป้าหมายเป็นเด็ก กุญแจสำคัญคือการหาความสมดุลเมื่อพิจารณาปัจจัยทุกข้อที่ COPPA ได้ระบุไว้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เนื้อหาของคุณ เช่น การมีเด็กอยู่ในวิดีโอไม่ได้หมายความว่าวิดีโอนั้นสร้างมาเพื่อเด็กเสมอไป คุณจะต้องดูที่คุณสมบัติอื่นๆ ทั้งหมดของวิดีโอด้วย เช่น ผู้ชมเป้าหมาย ภาษาที่ใช้ในวิดีโอมีเป้าหมายเพื่อทำให้เด็กเข้าใจได้หรือไม่ รวมถึงหัวข้อของวิดีโอ (เช่น วิดีโอทางการแพทย์เทียบกับวิดีโอของเล่น) โปรดอ่านคำแนะนำของ FTC เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมว่าเนื้อหาของคุณมีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหรือไม่”
คำแนะนำเดียวสำหรับเหล่า Creators บน YouTube ในตอนนี้ คือ ติดตามระเบียบที่อาจจะมีอัพเดทออกมาเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ และดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบของแพลตฟอร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต
ส่วนเรื่องที่ว่า YouTube จะแบนคอนเทนต์เด็ก ก็สรุปชัด ๆ แล้วเนอะ “ว่าไม่เป็นความจริง” เพียงแต่…ใครที่ทำวิดีโอประเภท Made for Kids หรือสร้างเพื่อเด็ก ก็แค่ “อัพเดทเงื่อนไข” ให้เข้าใจและปฏิบัติตามให้ถูกต้องเท่านั้นเอง
ที่มา : YouTube Help