Smart Home โตไวไม่ใช่แฟชั่น New Gen เปิดตลาด คนไทยมองหาดีไวซ์ไฮเทคตอบโจทย์ชีวิต

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

Smart home-01

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พอต้องใช้ชีวิตอยู่ติดบ้าน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ใช้จ่ายกับการตกแต่ง ปรับปรุงบ้านไปไม่น้อย ทั้งเพื่อรองรับการ Work from home และเติมเต็มความสุขความสะดวกให้ครอบครัว โดยเฉพาะไอเดียแบบ Smart Home เพราะคำว่า บ้าน ยุคนี้ไม่ได้พูดถึงแค่ความสวยงามของการออกแบบและตกแต่งเท่านั้น แต่ทั้งหมดในบ้านต้องสอดรับกับไลฟ์สไตล์และตอบโจทย์ความทันสมัยได้ดีขึ้นด้วย

ประเด็นนี้ Marketing Oops! ได้มุมมองเกี่ยวกับตลาด Smart Home จาก คุณเอกราช ปัญจวีณิน  กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งฉายภาพและเทรนด์ Smart Home ในประเทศไทยอย่างชัดเจน ว่า เทคโนโลยียุคใหม่มีหลายส่วนที่เติบโตอย่างมากซึ่งเป็นเทรนด์เดียวกันทั่วโลก ทั้ง 5G บล็อกเซน หรือ IoT

โดยเฉพาะ IoT ที่เติบโตสูงมากทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งกลุ่ม B2B ไทยจะพบว่าเป็นกลยุทธ์ที่แทบทุกองค์กรได้ยกระดับสู่ Digital Infrastructure โดยในอดีตอาจมองว่าเป็นเรื่องของโครงข่าย ระบบเซิร์ฟเวอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชัน เรียกว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรต้องมี แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็น Digital Infrastructure และมี IoT เป็นหนึ่งในนั้น หรือกลายเป็นมาตรฐานในบางหมวดหมู่ไปแล้ว เช่น ตึกออฟฟิศ ตึกอยู่อาศัย ที่ IoT ได้เข้ามาช่วยเหลือในส่วนของการมอนิเตอร์ การดูแล ส่วนในกลุ่ม B2C สามารถไปได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งกลุ่มแวร์เอเบิล สมาร์ทดีไวซ์ สมาร์ททีวี ซึ่งถือว่าในประเทศไทยมีการเติบโตทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นการเติบโตในระดับล่างเมื่อเทียบกับกลุ่มภูมิภาค SEA โดยจัดเป็นกลุ่ม Middle Adoption

คุณเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด
คุณเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

“ไทยอยู่ในกลุ่ม Middle Adoption ก็จริง แต่ตลาด Smart Home ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดประกอบกับมีหลายปัจจัยเร่ง ทั้งจากผู้อยู่อาศัยเอง สถานการณ์โรคระบาด และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้รูปแบบการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องบ้านและการนำ IoT เข้ามาสนับสนุนการอยู่อาศัยยุคใหม่ คาดว่าปี 2565 จะเป็นปีที่ได้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาด Smart Home ในไทย”

 

เปิด 4 เทรนด์ Smart Home กับโจทย์ที่ผู้บริโภคมองหา

คุณเอกราช อธิบายเพิ่มเติมว่า เทรนด์หลักของ Smart Home ในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 4 ประเด็น ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ คือ

ความปลอดภัย : เป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอุปกรณ์เพื่อการติดตามดูแล การป้องกันสิ่งต่าง ๆ เช่น ดิจิทัล ดอร์ล็อค, กล้อง CCTV, เซ็นเซอร์ต่าง ๆ เป็นต้น

ความบันเทิง : เช่น กล่อง หรือแอปเพื่อความบันเทิง

ความสะดวกสบาย : จากความต้องการของกลุ่ม New Gen ที่มีการกำหนดตารางชีวิตในแต่ละวันอย่างชัดเจน จึงมองหาอุปกรณ์ออโตเมชั่นเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้แอปควบคุมการเปิด – ปิด เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น : ประเด็นนี้ถือเป็น Well-being ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อุปกรณ์ที่จัดเป็น Medical Grade, Medical Devices และกลุ่ม Preventive Living เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย, เครื่องชั่งน้ำหนัก เป็นต้น

คุณเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาเทรนด์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอื่น ๆ จะพบว่ามีเทรนด์อื่นที่ผู้บริโภคชาวไทยไม่ได้สนใจมากนัก เช่น เทรนด์เกี่ยวกับพลังงาน ที่มีการจัดสรรการใช้พลังงานภายในบ้านอย่างแพร่หลายแล้ว

Young Generation และ First Jobber ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องการเทคโนโลยี Smart Home และเป็นกลุ่มที่เปิดรับเทคโนโลยีค่อนข้างเร็ว ขณะที่ กลุ่มที่มีความต้องการแบบเจาะจง เช่น คนมีสัตว์เลี้ยง มีลูกเล็ก หรือมีผู้สูงอายุอยู่ภายในบ้าน ก็จะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเทคโลโนยีดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งความต้องการจะมากหรือน้อย ก็จะขึ้นอยู่กับช่วงวัยเหล่านี้ด้วย”

 

true digital กับการทลายข้อจำกัดตลาด Smart Home

คุณเอกราช เล่าว่า จากเทรนด์ 10 กว่าปีที่ผ่านมา การใช้ชีวิตของผู้คนจะถูกแบ่งเวลาชีวิตอย่างชัดเจน เช่น เวลาในการทำงาน เวลาส่วนตัว เวลาของครอบครัว แต่ปัจจุบันการใช้ชีวิตของผู้คนไม่ได้ถูกแบ่งเช่นนั้น ทุกกิจกรรมสามารถเกิดขึ้นร่วมกันกลายเป็นไฮบริดไลฟ์ ดังนั้น หากพิจารณาจากธุรกิจของกลุ่มทรู จะพบว่ามีฐานลูกค้า B2B และ B2C อยู่แล้ว ทั้ง truemove h ที่มีลูกค้า 33 ล้านราย และ true online 4 ล้านราย แต่เมื่อการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป การทำธุรกิจก็เปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรให้สามารถนำเทคโนโลยีไปตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากที่สุด ความตั้งใจของ true digital จึงเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของนำไปใช้งาน เราจึงเห็นการนำเทคโนโลยีโครงข่ายที่มีอยู่ออกมาตอบโจทย์อย่างสูงสุด ทั้ง 5G และ Fiber เข้ามาควบรวมกับ Smart Home เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการอยู่อาศัย

ดังนั้น แม้ตลาด Smart Home ในไทยอาจมีหลายแบรนด์หลายขนาด แต่ภาพรวมที่ไม่นับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เป็นการสั่งซื้อมาติดตั้งและใช้งาน ถือว่ายังไม่เห็นผู้ที่นำความสมบูรณ์ของการอยู่อาศัยมาตอบโจทย์มากนัก

True Smart Living_1

Smart LivingTECH กับการปลดล็อกความเข้าใจผู้บริโภค

คุณเอกราช บอกว่า ความเข้าใจของผู้บริโภคชาวไทยกับ Smart Home ส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นข้อจำกัด เช่น

  1. ถูกมองว่ายาก ซับซ้อน ต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีถึงจะสามารถใช้งานได้ ทำให้การเปิดรับเป็นไปได้ช้า แม้ในกลุ่มหัวเมืองจะเห็นว่าขยายตัวเร็ว แต่พื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัดจะพบว่าผู้บริโภคมีแนวคิดดังกล่าว
  2. ไม่ต้องการดาวน์โหลดหลายแอป เพราะการซื้อดีไวซ์แต่ละแบรนด์ก็จะต้องแยกย่อยแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานแตกต่างกันไป
  3. ผู้คนมองหาผู้ให้บริการแบบครบวงจร ไม่ใช่แค่เรื่องของการขาย แต่ผู้บริโภคต้องการผู้ให้บริการที่จะดูแลได้ทั้งหมด ตั้งแต่การขาย บริการหลังขาย เพื่อลดความซับซ้อน

ทั้งหมดนี้ทำให้ true digital เลือกเปิด Smart LivingTECH แห่งแรก ณ โลตัส สุขุมวิท 50 เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ Smart Home พร้อมกับใส่ความแตกต่างเข้าไป เช่น

– มีแอปพลิเคชันเดียวเพื่อติดตั้งและควบคุม ไม่ว่าฮาร์ดแวร์จะเป็นแบรนด์อะไรก็สามารถตั้งค่าและควบคุมได้ทั้งหมดด้วยแอป LivingTECH ของ true

– ทุกดีไวซ์จะเชื่อมต่อกันได้ เช่น หากกล้องมอนิเตอร์ตรวจพบความเคลื่อนไหวจะสามารถสั่งเครื่องปรับอากาศให้ลดอุณหภูมิลง หรือ ไฟ เปิดทันทีที่เรากลับถึงบ้าน เป็นต้น เพื่อทำให้ดีไวซ์ต่าง ๆ สามารถทำงานอัตโนมัติโดยไม่ต้องตั้งเวลาทำงาน

– สั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย โดยสามารถสั่งงานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งสมาร์ทโฟน หรือ Google Nest หรือ true ID remote control เพื่อลดความซับซ้อนในการใช้งาน

– การแจ้งเตือนอัจฉริยะ ด้วยระบบผู้ช่วยดิจิทัลประจำบ้าน ซึ่งจะควบรวมดีไวซ์และแจ้งเตือนตามการตั้งค่าของผู้ใช้งาน

– true service มาพร้อมบริการติดตั้ง เพื่อคลายความกังวลของผู้ใช้งานในเรื่องของการเตรียม

– ควบรวมระบบนิเวศของ true และ CP อนาคตอาจสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านเดลิเวอรี่จาก 7-Eleven หรือติดต่อทีมช่างของ true เพื่อรับบริการถึงบ้าน เป็นต้น ถือเป็นการควบรวมทุกบริการเข้าด้วยกัน

True Smart Living_4

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ true เข้ามาตอบโจทย์เทรนด์ Smart Home คือ จบภายในแอปเดียว ใช้งานง่าย ทำให้สามารถเปิดรับการใช้งานได้ทุกคน และการทำ Personalization ตั้งค่าได้ตามรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล

“แม้ว่าตอนนี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาให้ความสนใจและใช้งาน แต่เชื่อว่าเทรนด์ Smart Home กำลังจะขยายวงกว้างออกไป เห็นได้จากช่วง COVID-19 ที่ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มหันมาใช้ออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น การทำตลาดต้องเริ่มจากทาร์เก็ตที่ถูกต้องก่อนหลังจากนั้นก็จะเกิด Adoption ตามมา ซึ่งเชื่อว่าเทรนด์นี้จะสร้างระบบนิเวศให้ทั้งตลาด B2B และ B2C เข้าหากันเอง โดย true digital มีเป้าหมายเดียวคือทำอย่างไรให้ Digitize ประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่แค่เทรนด์หรือแฟชันจากการใช้ Smart Home”

 

Smart Home Smart Living ไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัว

คุณเอกราช ทำความเข้าใจว่า วิธีการทำ Smart Home แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ Built-in ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่แรก หรือ DIY ซึ่งปัจจุบัน true digital ดำเนินการอยู่ในส่วนนี้ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเริ่มต้นการใช้งานได้ง่าย บางอุปกรณ์ไม่ต้องเสียบปลั๊กเพราะมีแบตเตอรี่ในตัวเอง เรียกว่าการเป็น DIY ทำให้การเปิดรับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพรวมตลาด Smart Home เติบโตในระดับ 2 หลักทุกปี ทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เซ็นเซอร์ และดีไวซ์ แต่ปัจจัยผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การใช้งานเพื่อเชื่อมต่อกับดีไวซ์อื่น ๆ ภายในบ้านให้กลายเป็นระบบนิเวศ ซึ่งปัจจุบันยังมีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่ในอนาคตเชื่อว่าผู้บริโภคจะมองเห็นประโยชน์และคาดหวังว่า Smart Home จะเป็นภาพบ้านอัจฉริยะของจริงที่ไม่ต้องรอการสั่งงานจากเจ้าของบ้านทุกครั้ง อาจมีการนำ AI เข้ามาสนับสนุนให้บ้านฉลาดขึ้นจากดีไวซ์ที่เรามีทั้งหมด

ยกตัวอย่าง หากมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้านที่ใช้งาน AI as a Service ของ Smart LivingTECH หากอนาคตมีการอัพเดทฟีเจอร์ใหม่ อาจมีการเก็บค่าบริการเล็กน้อย เพื่อทำให้กล้องตัวเดิมมีฟีเจอร์ Fall Detection เพิ่มขึ้น ถือเป็นการนำ AI เข้ามาสู่ตลาดคอนซูเมอร์และเป็นประโยชน์มากกว่าแค่การบันทึกภาพ เพราะสามารถแจ้งเตือนอันตรายได้ด้วย

ทั้งหมดนี้ โครงข่ายเป็นส่วนสำคัญในการเข้าถึงและแจ้งเตือนการตั้งค่าต่าง ๆ ซึ่ง 5G เข้ามาช่วยส่วนนี้ได้มาก ไม่ใช่แค่เรื่องของความเร็ว แต่เป็นการลดความหน่วง (Latency) ซึ่งจะเอื้อให้การตอบสนองทุกอย่างรวดเร็วขึ้น การตั้งค่า การเชื่อมโยงของดีไวซ์ภายในบ้านก็จะรวดเร็วยิ่งขึ้น ภายในบ้านอาจเชื่อมต่อกับสัญญาณ Wifi ภายนอกบ้านเชื่อมต่อ 5G ทำให้ทุกอย่างเป็น Seamless และ Smart Home จะไม่ใช่ภาพของดีไวซ์แยกชิ้น แต่จะเป็นการอยู่อาศัยอัจฉริยะซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี 2565

“ความตั้งใจของ true digital ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าคุณต้องเลือกเทคโนโลยียุคใหม่ ทุกง่ายต้องง่าย Seamless ดังนั้น เราจึงนำมาควบรวมกับโครงข่ายที่แข็งแรงเพื่อสร้างระบบนิเวศที่แท้จริง การซื้อ การใช้งาน ไม่จำเป็นต้องแยกส่วนกัน เพื่อนำเทคโนโลยีให้ถึงมือคนไทยและเกิดประโยชน์สูงสุด”


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน