เรื่องสถิติการใช้งานโซเชียลและมือถือนั้น คงพอรู้กันแล้วว่าคนไทยใช้งานสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถืออีกครั้ง เมื่อเราได้เห็นสถิติการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนไทยในปี 2560 จากการเปิดเผยของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
SIM หมุนเวียนในประเทศไทย 121 ล้านเลขหมาย
คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยรายงานของสำนักงาน กสทช. ว่า ในปี 2560 มีการใช้งานมือถือทั้งสิ้น 121.53 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นกลุ่มบริษัท AIS จำนวน 53.05 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 43.65% ของตลาด กลุ่มบริษัท True จำนวน 36.05 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่ง 29.66% และกลุ่มบริษัท dtac จำนวน 30 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 24.69% ส่วนกลุ่ม CAT จำนวน 2.32 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 1.91%และกลุ่ม TOT จำนวน 0.11 ล้านเลขหมายคิดเป็น 0.09%
ยอดใช้ “วอยซ์” ลดตลอด 3 ปี
สำหรับปริมาณการใช้บริการเสียงของโอเปอเรเตอร์หลัก 3 ราย ระหว่างปี 2557-2560 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากปี 2557 ปริมาณการใช้งานบริการเสียงมีจำนวน 70,720.42 ล้านนาที
ปี 2558 ลดลงเหลือ 62,851.09 ล้านนาที
ปี 2559 ลดลงเหลือ 51,021.48 ล้านนาที
ปี 2560 ลดลงเหลือ 43,460.84 ล้านนาที
โดยกลุ่มบริษัท AIS มีปริมาณการใช้บริการเสียงสูงสุดในแต่ละปี ตามด้วย dtac และ True ซึ่งปี 2559 และ 2560 กลุ่มบริษัท Trueมีปริมาณใช้งานบริการเสียงมากกว่ากลุ่มบริษัท dtac โดยปี 2560 คนไทยใช้บริการเสียงผ่านมือถือเฉลี่ย 2 นาที/คน/วัน ลดจากปี 2557 ที่ใช้บริการเฉลี่ย 4 นาที/คน/วัน
“ดาต้า” โตสวนทางวอยซ์
ส่วนปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของโอเปอเรเตอร์หลัก 3 ราย พบว่า แนวโน้มการใช้งานเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อช่วงสิ้นปี 2560 การใช้งานดาต้าผ่านมือถือจากโอเปอเรเตอร์ 3 รายหลักสูงถึง 3,294,325,000 กิกะไบต์ (หรือประมาณ 3 ล้านเทราไบต์) เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 6 เท่าตัว คิดเป็นปริมาณการใช้งานเฉลี่ย 4.11 กิกะไบต์/คน/เดือน หรือเฉลี่ย 0.14 กิกะไบต์ต่อวัน
นอกจากข้อมูลดังกล่าวจะสะท้อนถึงความต้องการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อสื่อสารด้วยข้อมูลผ่านมือถือแล้ว ยังสะท้อนการเติบโตของบริการเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดียและธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นสถิติที่นักการตลาดและแบรนด์จำเป็นต้องจับตา ภายใต้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในยุคนี้