ตั้งแต่เกิดโรคระบาดขึ้นในโลก ปี 2020 ก็กลายเป็นปีแห่งความท้าทายทันที เพราะแม้ทุกคนจะรู้ดีว่าโลกกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ดิจิทัล’ แต่ก็ไม่ทันตั้งตัวว่าจะหมุนด้วยแรงเหวี่ยงขนาดนี้ ประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ หน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป ได้รวมรวบจุดเปลี่ยนสำคัญของเทคโนโลยีปี 2021 ซึ่งสรุปเป็น 5 เทรนด์ โดย คุณบียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ เล่าว่า ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลมาแล้ว 6 ปี ส่วนเทรนด์ดังกล่าวนี้ดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค. 2020 เพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ภายใต้การใช้ชีวิตวิถีใหม่ที่มี 5G ขับเคลื่อนเทคโนโลยี
-
ผู้คนมองหา…เทคโนโลยีคลายเหงา
แม้จะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด แต่ ความเหงา กลายเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับคนยุคใหม่มาสักระยะแล้ว โดยเฉพาะช่วงเกิดโรคระบาดยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกเหงามากขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้มากขึ้น อาทิ ฟังก์ชันวิดีโอคอลล์ และการพัฒนาหุ่นยนต์คลายเหงา เช่น หุ่นยนต์แมวน้ำ PARO หรือหุ่นยนต์ Sophia ที่ถูกออกแบบให้เป็นเพื่อนผู้สูงอายุและผู้คน นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยี AI, AR, VR, Chatbot เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ประสบการณ์การใช้งาน
-
ต้องใส่ใจสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน จึงติดเทรนด์
สถานการณ์โรคระบาดที่พวกเราเจอในปี 2020-2021 ทำให้ทุกคนโฟกัสไปที่การต่อสู้กับโรคระบาด แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น มนุษย์ก็ยังจะต้องรับมือกับเรื่องอื่น เช่น ปัญหาสภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาว
และแม้ว่าโรคระบาดจะส่งผลร้ายกับมนุษย์แต่กลับส่งผลดีกับสภาพแวดล้อมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้หลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญกับเรื่อง Green Tech เพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศอย่างจริงจัง รวมถึงภาคการเกษตร ที่มีการนำ AI และ Drone เข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น ยกตัวอย่าง ฟาร์มสตอเบอร์รี่ในประเทศนอร์เวย์ที่มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยตรวจสอบพื้นที่ที่เป็นเชื้อรา เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการแก้ไขได้ถูกพื้นที่ ประหยัดเวลา และยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย ก
-
ภาวะสมองเสื่อม – ภัยจากดิจิทัล! เรื่องที่ทุกคนต้องระวัง
อาจฟังดูเหลือเชื่อแต่เป็นเรื่องจริง ว่าการที่เราต้องจดจำพาสเวิร์ดจากสารพัดแพลตฟอร์มโซเชียล อีเมล หรือแม้แต่บัตร ATM สามารถทำให้เราเกิดภาวะสมองเสื่อมได้! ประเด็นนี้จึงกลายเป็นความท้าทายที่ทุกคนต้องจำและเจอ ขณะเดียวกัน ก็ต้องตั้งค่าพาสเวิร์ดให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ให้มีทั้งตัวเลขและตัวอักษรเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยิ่งในยุคที่การใช้ชีวิต การทำงาน กลายเป็นดิจิทัล การรักษาความปลอดภัยจึงควรเป็นสิ่งที่ห้ามละเลย
ดังนั้น ศูนย์วิจัยเทเลนอร์จึงคาดการณ์ว่าองค์กรต่าง ๆ จะมีการนำโซลูชันที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เอื้อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ยังคงระดับความปลอดภัยเช่นเดิม อาทิ โซลูชันสำหรับการจัดการพาสเวิร์ด (Password Manager) หรือการใช้อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) เพื่อการยืนยันตนเอง เช่น ลายนิ้วมือหรือการสแกนม่านตาแทนการจำพาสเวิร์ด ซึ่งโซลูชันเหล่านี้จะได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ
-
การทำงานยุคใหม่กับ Society-as-a-service
การเปลี่ยนแปลงสู่ Work From Home ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีการทำงานแบบโมบิลิตี้ ซึ่งเชื่อว่าแม้โรคระบาดจบลงแต่เทรนด์นี้จะยังคงอยู่ ยกตัวอย่าง Microsoft Terms ที่มียอดการใช้งานในเดือน มี.ค. 2020 เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า สะท้อนถึงเทรนด์การทำงานระยะไกล (Remote working) ที่เกิดขึ้นและจะคงอยู่ต่อไปในอนาคต ยกตัวอย่าง ประเทศกรีซที่ประกาศลดภาษีถึง 50% ให้กับผู้ที่ทำงานด้านดิจิทัลในลักษณะ Remote working เพื่อดึงดูดให้คนเก่ง ๆ ที่มีทักษะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโลกอยู่ในประเทศของตนเอง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ คาดการณ์ว่าปี 2021 โลกการทำงานจะเข้าสู่ยุค Society-as-a-service กับการอำนวยความสะดวกปัจจัยพื้นฐานในการทำงานแก่พนักงาน ให้สามารถทำงานที่ใดก็ได้ พร้อมด้วยการรองรับการทำงานในสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรก็ต้องเพิ่มการเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ Digital hygiene เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการทำงานแบบ Remote working แต่ก็ยังไม่รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างการปรับ Mindset และการเพิ่มทักษะที่พนักงานต้องเพิ่มให้ตนเอง
-
เมื่อ EdTech ถูกเร่งเครื่อง แบบไม่ทันตั้งตัว
ถึงทั่วโลกจะมีจำนวนเยาวชนที่ไม่ได้รับการศึกษาลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2000-2018 แต่โรคระบาดครั้งนี้กลับทำให้เยาวชนที่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนมีจำนวนสูงขึ้น จากหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์หรือปัจจัยในการลดความเสี่ยง จนทำให้มีนักเรียนทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคนได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
ปัญหาการศึกษานั้นสร้างผลกระทบได้มากกว่าที่คาด ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงที่มีสัดส่วนเยาวชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 87% หรือประเทศรายได้ต่ำที่มีสัดส่วนเพียง 6% เพราะนั่นหมายถึงทุกประเทศยังมีนักเรียนบางกลุ่มที่ขาดอุปกรณ์หรือเครือข่ายรองรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งทางยูนิเซฟ ระบุว่าหากเกิดสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ไปอีก 1 ปี ก็จะส่งผลกระทบให้อีกหลายเจนเนอเรชั่นต้องขาดช่วงทางการศึกษาและเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ คาดการณ์ว่าโลกการศึกษาได้ถูกเทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มด้วยการเรียนออนไลน์ แม้โรคระบาดจะจบลง แต่ความต้องการของผู้บริโภคก็ยังคงมีอยู่และจะมีมากขึ้น