“เราตั้งเป้าหมายรายได้ที่ 1% ของ GPD ประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าราว 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มิชชั่นนี้เป็นเป้าหมายระยะยาว 5 ปี ซึ่งบริษัทคาดว่าในปี 2020 จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จากปัจจุบันซึ่งสามารถสร้างมูลค่ารวมได้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว และสิ้นปีนี้จะถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ” คุณศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพ กล่าวถึงเป้าหมายของ RISE ภายใต้การดำเนินงานและความร่วมมือกับหลากหลายพาร์ทเนอร์ และเล่าถึงแนวทางการดำเนินงานด้านอื่น ว่า…
เปิด 3 แนวทาง กับภารกิจปั้น Startup Economy
คุณศุภชัย อธิบายถึงแนวคิดดังกล่าวว่า ตอนนี้ RISE พยายามสร้างสตาร์ทอัพ อีโคโนมี่ ให้ประเทศไทย แม้จะเห็นว่าช่วงนี้องค์กรขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพมากขึ้นและโฟกัสเป็นพิเศษ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรขนาดใหญ่ยังไม่พอ แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปพร้อมกันด้วย เรียกว่าต้องร่วมกันทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล ซึ่ง RISE แบ่งรูปแบบการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน คือ
1. สร้าง Accelerator
เรื่องนี้ถือเป็น Outside-in Strategy เป็นการนำคนนอกองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกับองค์กร เรียกว่านำผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเข้ามารวมกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน RISE ร่วมกับกลุ่มปตท., ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาแนวทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
2. ผลักดัน RISE Academy
กลยุทธ์นี้เรีกยว่า Inside-out Strategy เราจะช่วยเปลี่ยน Mindset การทำธุรกิจร่วมกับองค์กร สร้างแนวคิดใหม่ในการดำเนินงานขององค์กรขนาดใหญ่เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันกับเทรนด์เทคโนโลยื หรือ Digital Transformation ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่ง RISE ได้ดำเนินการให้กับ SCG, SCB, AIS, AP รวมถึงพาร์ทเนอร์กลุ่มโรงพยาบาล
3. สนับสนุน RISE Ventures
เน้นเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันเพิ่งเริ่มต้นความร่วมมือกับทีวี ธันเดอร์ ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการเป็นสตาร์ทอัพและเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในอนาคตจะขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์รายอื่นเพื่อเผยแพร่ทางทีวีอีกด้วย
“แนวคิดของ RISE ไม่เคยจำกัดว่าจะมีพาร์ทเนอร์เป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนอย่างเดียว แต่พันธกิจของเราคือร่วมมือกับองค์กรขนาดใหญ่เพื่อผลักดันมิชชั่นของเราให้เป็นไปได้ตามเป้าหมายรายได้ 1% ของ GPD ประเทศไทย และต้องทำให้คนไทยหันมาใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลัก เพื่อเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ และสามารถสร้างความสำเร็จให้ประเทศได้พร้อมๆ กัน”
วางเป้าหมาย “ไทยเป็นฮับสตาร์ทอัพ”
“แม้ว่าปัจจุบันจะมีโครงการสตาร์ทอัพหลากหลายในประเทศไทย แต่เราเชื่อว่า RISE แตกต่างจากโครงการอื่น เพราะเราเลือกโฟกัสสตาร์ทอัพที่มีรายได้หลักล้านบาทแล้ว เพื่อต่อยอดสู่การเติบโตในระดับภูมิภาคไม่ได้เป็นเพียงสตาร์ทอัพในประเทศเท่านั้น และแนวโน้มสตาร์ทอัพไทยก็มีการเติบโตได้อีกมาก ทั้งจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินลงทุน และบริษัทที่เข้ามาสนับสนุนแวดวงสตาร์ทอัพ ทำให้มูลค่าบริษัทสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ถือเป็นตัวบ่งชี้ว่าไทยมี Startup Economy ที่แข็งแรงขึ้น”
ปัจจุบัน RISE มีสตาร์ทอัพในโครงการแล้วกว่า 1,000 ราย ถือเป็นโปรแกรม Accelerator ที่ใหญ่ที่สุดของไทย และยังคงเดินหน้าโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดโครงการ D-NEXT by PTT Digital x RISE ได้เปิดตัวสตาร์ทอัพ 15 ทีมจาก 7 ประเทศเข้า Bootcamp ในประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งมีผู้สนใจสมัครกว่า 300 ทีม จาก 22 ประเทศ โดยจะเริ่มต้นกิจกรรม Demo Day ในช่วงเดือนกรกฎาคม ก่อนจะเปิดให้นักลงทุนได้เข้าร่วมต่อยอดธุรกิจต่อไป
สำหรับ 15 ทีม จาก 7 ประเทศ ที่เข้าร่วม Bootcamp ในครั้งนี้ ได้แก่
Classwin : EdTech จากประเทศไทย กับแพลทฟอร์มช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาในไทยและอาเซียน
StoneLab : Smart Maintenance จากประเทศไทย กับแพลทฟอร์มการจัดการผ่านสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมาเพื่อการบำรุงรักษาและทดสอบมาตรฐานอุปกรณ์ภายในโรงงาน
BBP : Analytics จากประเทศสิงคโปร์ กับเทคโนโลยีควบคุมและวิเคราะห์การใช้พลังงาน ช่วยคำนวณการลดใช้พลังงาน
ECOWorth Tech : Clean Tech จากประเทศสิงคโปร์ กับโซลูชันกำจัดและบำบัดสารปนเปื้อนอินทรีย์จากอุตสาหกรรมน้ำมันและน้ำเสีย
EverComm : IoT จากประเทศสิงคโปร์ เพื่อลดปัญหาการใช้งานที่ซับซ้อนในภาคอุตสาหกรรม เช่น ระบบจัดการพลังงานภายในอาคาร อุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์ข้อมูล หรือสมาร์ทซิตี้
HitKey : AI จากประเทศสิงคโปร์ ซอฟต์แวร์แป้นพิมพ์อัจฉริยะ สามารถทำธุรกรรมทางการเงินและการค้าผ่านแชทหรือโซเชียลมีเดีย
Glueck : Data Analytics จากประเทศมาเลเซีย กับระบบวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบจดจำใบหน้าและการวิเคราะห์อารมณ์
HelloGold : FinTech จากประเทศมาเลเซีย กับการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายทองคำให้เป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม
SaleCandy : CRM จากประเทศมาเลเซีย กับเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการขายและบริการจัดการลูกค้า โดยสามารถแจ้งสถานะปัจจุบันของลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ผู้ขายโดยตรง
Tracker Hero : IoT & SaaS จากประเทศมาเลเซีย กับโซลูชันอำนวยความสะดวกในการจัดการแรงงานและระบบรักษาความปลอดภัย
NPCore : Cyber Security จากประเทศเกาหลีใต้ โซลูชันรักษาความปลอดภัยในคอมพิวเตอร์สำหรับบริการภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันการเงิน เป็นต้น
Wisepass : Life Style จากประเทศเวียดนาม แพลทฟอร์มเชื่อมโยงผู้คน ให้สมาชิกรับสิทธิ์พิเศษเพื่อเข้าใช้บริการและสถานที่ต่างๆ
UPUP App : HR Tech จากประเทศเวียดนาม กับแอปพลิเคชันรวมการเล่นเกมกับการรับรางวัลแบบเรียลไทม์ เพื่อกระตุ้นและสร้างประสิทธิภาพการทำงานให้พนักงาน
Onewatt : IoT จากประเทศฟิลิปปินส์ กับโซลูชันดูแลระบบการจัดการเครื่องจักรผ่านระบบ AI
Synaptik : Data Analytics จากประเทศสหรัฐอเมริกา กับแพลทฟอร์มจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ plug-play ผ่านระบบ AI
แนะนำสตาร์ทอัพโฟกัส Agri Tech, Travel Tech
“สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว แต่อยากให้เลือกโฟกัสที่สิ่งใกล้ตัวอย่างด้าน Agri Tech, Tour Tech, Travel Tech หรือ Health Tech ให้เติบโต เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ถือเป็นหน้าตาของไทย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกเดินทางมาท่องเที่ยวและใช้บริการเรา ดังนั้น การเชื่อมต่อด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีให้ครอบคลุมเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถสร้างโอกาสและรายได้จำนวนมหาศาลให้ทั้งตนเองและประเทศได้”