เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงผู้ประกอบการและแบรนด์ ที่ใช้แพลทฟอร์ม LINE@ ได้ตระหนกตกใจกันไปเล็ก ๆ กับข่าวที่ว่า LINE จะยกเลิกบริการ LINE@ กระทั่งเกิดคำถามว่าบริการรูปแบบใหม่จะมาในรูปแบบใด ค่าบริการจะถูกปรับให้สูงขึ้นหรือไม่ หรือจะเพิ่มความพิเศษใดเข้ามาช่วยผู้ประกอบการให้ค้าขายดีขึ้นอย่างไร
(อ่านเพิ่มเติม : จะอยู่ต่อ หรือ จะถอดใจกับ LINE@ ที่เปลี่ยนเป็น LINE Official Account)
วันนี้ก็มีความชัดเจนจาก LINE ประเทศไทย แล้วว่า LINE@ จะถูกรวมเข้ากับ LINE Official Account และถูก Re-Design ให้เหลือเพียง LINE Official Account เท่านั้น โดยเรื่องนี้ คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและสื่อโฆษณา LINE ประเทศไทย ได้อธิบายว่า…
ที่มาที่ไป…ทำไมต้อง “ปรับ”
ปัจจุบัน LINE เป็นแพลทฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากทั้งส่วนของผู้ใช้งานทั่วไปและผู้ประกอบการ ส่วนบริการ LINE@ ซึ่งเปิดให้บริการมา 3 ปี ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งการเติบโตและจำนวนผู้ใช้งานซึ่งใกล้เคียงญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งาน LINE@ และ LINE Official Account รวมกว่า 2.7 ล้านราย (ส่วนใหญ่เป็น LINE@ เพราะ LINE Official Account มีจำนวนราว 300 รายเท่านั้น) ทำให้ LINE มองว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการได้ดีเมื่อเทียบกับฐาน SME ในไทยซึ่งมีสัดส่วนราว 3 ล้านรายในปัจจุบัน (อ้างอิงจาก สสว. หรือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)
อย่างไรก็ตาม การปรับ LINE@ เป็น LINE Official Account ครั้งนี้ เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกตั้งแต่ 18 เมษายนปีนี้ แต่ความพิเศษของประเทศไทย คือ ได้สิทธิ์ราคาต่ำกว่าที่ให้บริการในญี่ปุ่น (มี 3 ประเทศที่ราคาต่ำกว่าในญี่ปุ่น คือ ไทย อินโดนีเซีย และไต้หวัน) โดยเหตุผลที่ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและสื่อโฆษณา LINE ประเทศไทย อธิบายเอาไว้ก็คือ “เพราะผู้ใช้งานในประเทศไทยมีจำนวนมากจึงได้สิทธิ์ปรับราคา ต่ำกว่าที่ให้บริการในญี่ปุ่น”
ยอมรับ LINE@ มีข้อเสีย!
แม้ LINE@ จะเป็นช่องทางที่มีประโยชน์ในการสื่อสารกับผู้บริโภค แต่ก็มีผลเสียบางประการ เช่น ในช่วงที่มีกิจกรรมเทศกาลช้อปปิ้งทำให้ LINE@ ถูกใช้งานเป็นอย่างมากเพื่อส่งข้อความไปยังผู้บริโภค ซึ่งการส่งข้อความถี่ ๆ เช่นนั้น ทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่าข้อมูลจำนวนมากและถี่เกินไปนั้นเหมือนถูกรบกวนจากสแปม (มีสถิติจาก LINE ระบุว่าคนไทยได้รับข้อความจากการบรอดแคสต์ เฉลี่ยถึง 60 ข้อความต่อวัน) สาเหตุนี้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ LINE ต้องการดีไซน์ LINE Official Account ออกมาในรูปแบบใหม่ เพื่อช่วยแนะนำและดูแลการใช้งานของแบรนด์ให้เหมาะสม เพื่อทำให้ LINE ยังเป็นแพลทฟอร์มที่ทุกคนใช้งานแล้วรู้สึกเอนจอยไปด้วยกัน
“หลายธุรกิจที่ตายไปเพราะรับมือการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เราเองในฐานะบริษัทเทคโนโลยีก็ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะผู้บริโภคต้องการสิ่งที่เขาสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องการสเปซมากขึ้น เราจึงต้องช่วยสนับสนุนสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้าง Effective Communication ซึ่งนำมาสู่การรีดีไซน์ในครั้งนี้ ทำให้การรีดีไซน์ LINE Official Account เป็นมากกว่าการปรับปรุงฟีเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขายแก่ผู้ประกอบการ แต่ทำให้คนไทยอยากอยู่กับแพลทฟอร์มของเราไปนาน ๆ”
ภาพลักษณ์ใหม่ สู่ “LINE Official Account”
เป้าหมายของการปรับในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้แนวคิด Beyond Just Chat For SME เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กลุ่มผู้ประกอบการ ด้วย 3 รูปแบบ
Center of Information
หมายถึงการสร้างศูนย์ข้อมูลแบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการ จากอดีตที่ต้องเปิดเว็บไต์เพื่อนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ไปถึงผู้บริโภค และแม้ว่าวันนี้ผู้ประกอบการจะสามารถตั้งหน้าร้านผ่านออนไลน์ได้ง่ายและรวดเร็ว แต่การมีช่องทางเดียว เพื่อเป็นช่องทางหลักให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลของร้านค้าหรือแบรนด์ได้ครอบคลุม ไม่ใช่แค่เรื่องของสินค้าหรือบริการเท่านั้นแต่รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของแบรนด์ เช่น เวลาดำเนินการ เบอร์ติดต่อ ที่ตั้ง ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ LINE มองว่าเคยเป็นการทำตลาดที่อยู่เฉพาะแบรนด์ใหญ่ การเปลี่ยนในวันนี้จะทำให้ SME มีโอกาสใช้งานและสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น
Smart Customer Management
เพราะ LINE@ ไม่ใช่แค่ช่องทางการแชท แต่เป็นหนึ่งในช่องทาง Customer Relation Management ที่สามารถตอบโต้และช่วยเหลือลูกค้าได้ด้วย ดังนั้นการปรับครั้งนี้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น ถือเป็นระบบการจัดการลูกค้าที่ฉลาดมากขึ้น สะดวกขึ้น และปิดการขายได้รวดเร็วขึ้น ด้วยฟีเจอร์ Chat Tag ที่สามารถค้นหาและ Tag ตรงไปยังลูกค้าได้โดยตรง รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ ๆ ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ เช่น ช้อปปิ้ง หรือ เดลิเวอรี่ – เพย์เมนต์ ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น LINE MAN ได้ด้วย
Endless Possibility
ผ่านรูปแบบ Open API เนื่องจากความแมสของแพลทฟอร์มทำให้ LINE มองว่าเป็น Customer Services ได้ด้วย ไม่ใช่แค่ช่องทางการขายเท่านั้น ทำให้ LINE Official Account ออกแบบให้เป็นการเชื่อมต่อ API กับ LINE ได้อิสระ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างรูปแบบบริการที่ตนเองต้องการได้แบบไม่จำกัด ผ่านทีมงานที่ให้คำปรึกษาด้านโซลูชันและช่วยแก้ข้อสงสัยเพื่อบริการข้อมูลและโซลูชันในแพลทฟอร์มดังกล่าว
ราคาใหม่เป็นอย่างไร ?
แพ็กเกจใหม่ของ LINE Official Account จะถูกปรับให้เป็นแพ็กเกจที่แบรนด์หรือร้านค้าสามารถส่งข้อความผ่านไทม์ไลน์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่วนการใช้งานของกลุ่มองค์กรนั้น…แน่นอนว่าราคาแตกต่างจาก LINE Official Account ที่ SME ใช้งาน แต่สิ่งที่จะได้รับก็จะแตกต่างไปจากรูปแบบใหม่ของ LINE Official Account เช่นกัน ทั้งเรื่องของฟีเจอร์และข้อจำกัดต่าง ๆ
“เรื่องราคาเราอยากให้มองถึงฟีเจอร์และความคุ้มค่ามากกว่า เพราะทุกแพลทฟอร์มล้วนมีต้นทุน แม้ว่าเราเป็นบริษัทเทคโนโลยีแต่เราก็ต้องอยู่ให้ได้จากการให้บริการในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งหากเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวก็คงไม่มีการปรับราคาในไทยให้ถูกกว่าในญี่ปุ่นถึง 10-20% โดยจากนี้ก็เป็นเรื่องของเวลาในการทำความเข้าใจและเรียนรู้ในบริการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 6 เดือนกับช่วงการเปลี่ยนถ่ายแพลทฟอร์มนี้”
สำหรับค่าบริการ LINE@ เดิม เริ่มต้นตั้งแต่ 198 บาท ซึ่งสามารถส่งข้อความผ่านบรอดแคสต์ได้ไม่จำกัด (ต้องมีจำนวนผู้ติดตามไม่เกิน 200 คน) เป็นต้น ส่วน LINE Official Account จะเริ่มต้นที่ 500 บาท แต่สามารถส่งข้อความได้ไม่เกิน 2,500 ครั้ง หากส่งเกินจะต้องเสียค่าบริการ 0.3 บาทต่อข้อความ
เป้าหมาย หลังจากออกเดินก้าวใหม่…
จากเดิมที่มีผู้ใช้งานทั้ง LINE@ และ LINE Official Account รวมกัน 2.7 ล้านราย LINE ตั้งความคาดหวังให้เติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 เท่าตัว หลังจากสร้างความเข้าใจและการรับรู้เพิ่มเติม ขณะที่สัดส่วนผู้ใช้ LINE@ จะแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจแฟชั่น 20-30% รองลงมา คือ บิวตี้ 15% (ทั้งเซอร์วิสและโปรดักส์) และร้านอาหาร 15% (ทั้งที่มีหน้าร้านบนออฟไลน์และมีหน้าร้านเฉพาะออนไลน์) นอกจากนี้ส่วนที่เหลือก็จะกระจายไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น ติวเตอร์ อสังหาริมทรัพย์ อุปกรณ์กีฬา แก็ตเจ็ตไอที เป็นต้น