ก่อนหน้านี้ โลกออนไลน์เคยเกิดข้อถกเถียงถึงเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลในหลายประเด็น ทั้งอำนาจการแฮก การตรวจ การยึดคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล กระทั่งชาวเน็ตได้ผุดแฮชแท็ก #พรบไซเบอร์ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ตามที่ Marketing Oops! เคยนำเสนอไว้ (ขยับเข้ามา…จะบอกให้! ไขข้อข้องใจ “พ.ร.บ.ไซเบอร์” กับเรื่องชวนสงสัย “แอบดูข้อมูล” ได้จริงหรือ?)
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ “พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562” แล้ว โดยระบุว่า เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีประสิทธิภาพและเพื่อให้มีมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีรายละเอียดทั้งสิ้น 83 มาตรา และแน่นอนว่า เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็หมายความว่า มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้น…ชาวเน็ตต้องศึกษากฎหมายไซเบอร์ให้ละเอียด โดยนิยามของคำว่า
“ภัยคุกคามทางไซเบอร์” ในกฎหมายฉบับนี้หมายถึง การกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ โดยมิชอบ โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์โดยมุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และคำว่า “ไซเบอร์” ก็หมายรวมถึง ข้อมูลและการสื่อสารที่เกิดจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมและระบบเครือข่ายที่คล้ายคลึงกัน ที่เชื่อมต่อกันเป็นการทั่วไป
เท่ากับว่า…ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น อยู่ภายใต้กฎหมายไซเบอร์ฉบับนี้!