ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรม เชื่อว่าทุกคนรู้ดี แต่วันนี้ ไทยกำลังจะขยับสู่เทรนด์ “Smart Farmer” แล้ว มีใครรู้หรือยัง? เริ่มต้นจากความร่วมมือครั้งแรกของ 3 หน่วยงาน ได้แก่… สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) กลุ่มมิตรผล และ IBM นำร่องเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” ในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง “อ้อย” ให้มีผลผลิตและประสิทธิภาพในการรับมือกับธรรมชาติได้มากขึ้น
อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ใช้ในการผลิตน้ำตาลและพลังงานชีวภาพทั้งในไทยและทั่วโลก โดยปัจจุบัน ไทย เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก และยังมีบทบาทสำคัญในการป้อนน้ำตาลสู่ตลาดโลก โดยปี 2560 มีส่วนแบ่งตลาดถึง 9.4% อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าไทยจะสามารถผลิตน้ำตาลได้ถึง 14.1 ล้านเมตริกตันในปี 2561 – 2562 หรือเพิ่มขึ้นราว 3% จากปีที่ผ่านมา
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ คือ กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกและรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะอยู่ในฐานะเจ้าของข้อมูลมหาศาล ที่ได้จากการเครื่องมือที่ติดตั้งในไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ ส่วน IBM ก็เป็นเจ้าของเทคโนโลยีทั้ง Big Data, Analytic, AI, IoT ที่นำมาใช้ในโครงการความร่วมมือนี้ ขณะที่ สวทช. ก็มีบทบาทหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้การวิจัยและการพัฒนาประเทศ โดยทั้ง 3 หน่วยงาน ทำหน้าที่ “ร่วมลงทุน” และนำร่องพัฒนาแดชบอร์ดอัจฉริยะและแอปพลิเคชันมือถือ เพื่อทำให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอ้อย อาทิ ความชื้นของดิน ความเสี่ยงในการถูกโจมตีจากโรคและศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิต และดัชนีคุณภาพความหวานของอ้อย จากข้อมูลการประมวลผลจากเทคโนโลยี AI และข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำที่สุดของโลกจาก The Weather Company รวมถึงเทคโนโลยี IoT และ Analytic
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือครั้งนี้มีกรอบเวลา 2 ปี และดำเนินงานผ่านไร่อ้อย 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มมิตรผลและเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อประเมินและจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถวางแผนและรับมือกับภัยคุกคามที่อาจทำให้สูญเสียผลผลิตได้ดีขึ้น
“ไทย” ประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิก ที่ใช้ IBM Watson กับเกษตร
คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ IBM ประเทศไทย อธิบายว่า เป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้คือการนำข้อมูลเชิงลึกเป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพทำไร่อ้อยให้เกษตรกรไทย และเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันให้การเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ซึ่งการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้งานในครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกโฉมสู่ก้าวใหม่ของ Smart Farmer ในประเทศไทย
ส่วนเทคโนโลยีของ IBM จะเป็นการนำแพลทฟอร์ม Agonomic Insights Assistant ซึ่งนักวิจัยของ IBM กำลังพัฒนาภายใต้แพลทฟอร์มวัตสัน IBM Watson Decision Platform for Agriculture ซึ่งร่วมกับระบบที่เรียกว่า IBM PAIRS Geoscope การผสานข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ เช่น ภาพถ่ายพืชผลจากกล้องหลายช่วงคลื่นที่เก็บภาพมาจากดาวเทียมจำนวนมาก ข้อมูลดิน ข้อมูลแบบจำลองความสูงของภูมิประเทศในรูปแบบดิจิทัล ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตร เช่น สุขภาพของอ้อย ระดับความชื้นของดิน เป็นต้น โดยใช้โมเดลของ The Weather Company ก่อนนำไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับการทำไร่อ้อยในประเทศไทยโดย สวทช. และความรู้เฉพาะทางด้านการเกษตรจากกลุ่มมิตรผล ร่วมกันกลั่นกรองเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะขาดน้ำและอาหาร ที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ปริมาณผลผลิต และดัชนีคุณภาพอ้อย
“เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาเพื่อแทนที่มนุษย์ แต่เข้ามาช่วยทำงาน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาสร้างผลลัพธ์ในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น หากเราทำสำเร็จในการเริ่มต้นด้วยอ้อยก็เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดสู่พืชเศรษฐกิจอื่นหรือพืชอื่นเป็นแนวทางการใช้เทคโนโลยีกับการเกษตรต่อไป และวันนี้ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายแต่การนำข้อมูลไปใช้งานนั้นยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นครัวของโลก ทำให้เราต้องการผลักดันเทคโนโลยีให้มีบทบาทในทุกอุตสาหกรรมของไทยอย่างแพร่หลาย หากพูดถึงเรื่องเกษตรกรไทยกับการใช้แดชบอร์ด เมื่อ 10 ปีที่แล้วคงเป็นเรื่องตลก แต่วันนี้เราได้เห็นเกษตรกรมีสมาร์ทโฟน ถือมือถือดูข้อมูลจากระบบออนไลน์ได้ด้วยตัวเองแล้ว”
ส่วนสาเหตุที่เริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีกับอ้อย เนื่องจากกลุ่มมิตรผลเป็นผู้สนับสนุน ทั้งพื้นที่จัดเก็บข้อมูลผ่านไร่อ้อยกว่า 2,000 ไร่ และยังเปิดให้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทางการเกษตรอีกด้วย
“มิตรผล” สมประโยชน์! เพิ่มศักยภาพผลผลิต
รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพยายามผลักดันให้นำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลผลิตอ้อยทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ IBM ในครั้งนี้ ที่นำเทคโนโลยี AI การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และระบบพยากรณ์อากาศขั้นสูงของ IBM มาสร้างการทำเกษตรแม่นยำ เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ Modern Farming ได้รวดเร็วขึ้น
“ที่ผ่านมาเรามีข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เคยนำมาใช้งานเลย ความมุ่งหวังจากโครงการนี้ คือ การเพิ่มจำนวนผลผลิต สามารถคาดการณ์ความหวานของอ้อยได้ และมีข้อมูลรับมือการเกิดภัยคุกคามจากโรคและศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
หวังเกษตรกรรมไทยเข้าสู่ Smart Farmer อีก 10 ปีจากนี้
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับเกษตรกรรมมีน้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับจำนวนทั้งประเทศ แต่เชื่อว่าประเทศไทยสามารถเข้าสู่เทรนด์การเกษตรอัจฉริยะได้ภายใน 10 ปีจากนี้
“ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่กล้านำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานกับการทำเกษตรกรรม เนื่องจากไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยีจะสร้างประโยชน์ให้พวกเขาได้จริงและกังวลว่าต้องทำอย่างไร การร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลและ IBM ในครั้งนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้เกษตรกรไทยได้เห็นความสำเร็จ และเปิดใจยอมรับเทรนด์ Smart Farmer เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”