เมื่อพูดถึงเจ้าพ่อเดี่ยวไมโครโฟน ใครๆ ก็ต้องนึกถึง “โน้ส อุดม แต้พานิช”เขาคนนี้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งที่สุดของวงการ Stand up comedy เมืองไทย ซึ่งมีผลงานคอนเสิร์ต เดี่ยวไมโครโฟนมาช้านาน กระทั่งเดินทางมาถึง “เดี่ยว 11” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง
ล่าสุด สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ที่จู่ๆ “โน้ส อุดม” ก็ลุกขึ้นมาแต่งเพลงแดนซ์ซะอย่างนั้น ซึ่งใครๆ คงได้ชมเอ็มวีกันไปบ้างแล้วกับเพลง “สุดสวิงริงโก้อีโต้บั๊มพ์” และกลายเป็นเอ็มวีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก แม้เพิ่งโพสต์ไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่กลับมียอดวิวสูงกว่า 4 แสนวิวแล้ว
อย่างไรก็ตาม บทความนี้เราไม่ได้มาพูดกันถึงเรื่องข่าวคราววงการบันเทิงกันหรอกนะคะ แต่เราจะมาเจาะลึกว่า ในแง่ของเพลงดังกล่าวนี้ยังสะท้อนภาพของโลกออนไลน์ได้อย่างดีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลงที่มีการใส่คำแฮชแท็กยอดฮิตลงไป เช่น “ร้องไห้หนักมาก” , “เรามาถึงจุดนี้ได้ไง” , “รออะไร” และ “ฝากร้าน” เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาเน็ต ไอดอลมาอยู่ไว้ในเอ็มวีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “น้องมุกกี้” , “แม่บ้านมีหนวด” , “เสือโคร่ง” (ทูลหัวของบ่าว) ยังไม่นับInfluencer offline อีกเพียบ อาทิ “ต๊อบ เถ้าแก่น้อย” , “คัตโตะ จากลิปตา” , “ชมพู่ อารยา” , “มาร์กี้ ราศรี” และแม้แต่ “ปลื้มจิตร์ ถิ่นขาว” นักวอลเลย์บอลขวัญใจชาวไทย ก็ขอมาร่วมแจมเอ็มวีชุดนี้ด้วย เรียกได้ว่าอะไรที่ฮอตฮิตในช่วงนี้ ถูกกวาดเรียบมาหมด สะท้อนสังคมเมืองไทยในยุคนี้ได้ดีทีเดียว
นั่นคือยุคของคนดังในโลก online สามารถก้าวข้ามมาเป็นคนดังใน offline ได้ ในขณะเดียวกัน คำที่ใช้กันในโลกโซเชียลฯ ก็ถูกนำมาใช้กันเสมือนหนึ่งเป็นคำสามัญที่ใช้กันในชีวิตประจำวันทั่วไป ทำให้เห็นชัดเจนว่า สังคมในปัจจุบันนี้เราแทบจะแยกความเป็น online และ offline กันไม่ออกแล้ว ที่สำคัญคือในหลายๆ วงการก็ให้ความสำคัญกับความเป็น online มากขึ้นไปเรื่อยๆ
สุดสวิงริงโก้อีโต้บั๊มพ์ (Sud-Swing Ringo Eto Bump) Dom ft. Da [Official MV]
httpv://youtu.be/uDQQncFBG8Q
ในท้ายเครดิต “โน้ส อุดม” ได้พูดถึงที่มาที่ไปของการแต่งเพลงนี้ได้อย่างน่าสนใจ เขากล่าวว่า
“เพลงนี้มีจุดกำเนิดมาจากเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว
ผมอยู่ในรถตู้ที่มีกุ้งผู้ช่วยผมเป็นคนขับ
ตอนนั้นเราคุยถึงเรื่องอะไรจำไม่ได้ แต่รู้สึกโดน จึงหลุดอุทานออกมาว่า
“โห…แม่ง สุดสวิงริงโก้อีโต้บั๊มพ์ไปเลยวะ”
ไอ้กุ้งมันถึงกับเหยียบเบรคแล้วหันมาถามว่า “เมื่อกี้เฮียพูดว่าไรนะครับ”
“สุดสวิงริงโก้อีโต้บั๊มพ์ไง” กุ้งมันถามกลับมาว่า “มันคืออะไรครับเฮีย”
มันทำหน้าตาเหมือนกับว่าที่ผมพูดไปคือ ภาษาสเปน
“คือแบบว่า มันประทับใจ มันจ๊าบมากไงมึง”
“จ๊าบน่ะพอจะเคยได้ยินครับเฮีย แต่ไอ้สุดสวิงมันมายังไง
ทำไมต้องสุดสวิง ริงโก้มันมาเพื่ออะไร แถมยังมีอีโต้อีก
แล้วจะไปบั๊มพ์กะใคร” ซึ่งผมก็อธิบายมันไม่ได้เหมือนกัน
รู้แต่ว่ามันเป็นคำที่ผมติดปากแล้วก็พูดบ่อยๆ
ไอ้กุ้งก็อายุ 30 นิดๆแล้ว มันยังไม่รู้จักคำนี้จริงเหรอวะ
เหตุการณ์นี้มันทำให้ผมได้สติว่า คำพวกนี้มันบ่งบอกยุคสมัย
แล้วผมก็เป็นคนตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว มันดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่
เพียงแต่มันเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติวัยกลางคนของผม ผมมองไปข้างหน้า
ก็วัยรุ่น มองไปข้างหลังก็คนแก่ แล้วผมติดอยู่ตรงกลางที่มันกลับไม่ได้ไปไม่ถึง
แต่คำนี้ก็ยังวนอยู่ในหัวแล้วก็เอาออกจากปากไม่ได้ซักที
เวลาเจออะไรที่มันน่าประทับใจสุดๆ ผมก็ยังใช้คำว่า “สุดสวิงริงโก้อีโต้บั๊มพ์”
อยู่เหมือนเดิม พอวันนึงที่ผมคิดจะทำเพลงแดนซ์ขึ้นมา
คำนี้มันก็ผุดขึ้นมาในหัวเป็นคำแรกทันที มันช่วยไม่ได้จริงๆ ครับ”
คำพูดบางคำก็สะท้อนค่านิยมและวัฒนธรรมของคนในแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นคำว่า “สุดสวิงริงโก้อีโต้บั๊มพ์” ที่คนวัยรุ่นยุคนี้อาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน ในขณะที่คนรุ่นที่เก่าไปกว่านี้ก็ไม่เคยใช้ ดังนั้น การเลือกคำๆ นี้ของ “โน้ส อุดม” เสมือนการถ่ายทอดวัฒนธรรมของคนรุ่นเขามาสู่ยุค “#ร้องไห้หนักมาก” ให้เราได้ฟังกัน.