ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคอินเตอร์เน็ตนี้ใครสามารถที่จะลุกขึ้นมาสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ ใครๆ ก็สามารถก้าวมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือที่เราคุ้นเคยกันในการเรียกว่าเป็น Influencers หรือ Creators ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ และที่สำคัญคือ มันไม่ได้จำกัดด้านอายุด้วย อดีตอาจจะมีแต่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาเป็นคนทำคอนเทนต์ออนไลน์ แต่วันนี้อย่างที่เราเห็นกัน คนทุกวัยสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้แล้ว แต่แน่นอนว่า ก็จะมีบางจุดบางอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ในเจนเนอเรชั่นที่แตกต่างกันนั้น เขาก็มีพฤติกรรมการทำคอนเทนต์ที่แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งคำว่า Millennial pause และ Gen Z shake
อาจจะมีหลายคนที่เคยได้ยิน 2 คำนี้มาบ้างแล้ว Millennial pause และ Gen Z shake แต่สำหรับคนที่ได้ยินผ่านๆ หรือไม่เคยได้รู้มาก่อนเลย วันนี้เรามาทำความรู้จักร่วมกัน
ต้องบอกว่า ครีเอเตอร์ต่างๆ ประเทศเขารู้จัก 2 คำนี้มาพักใหญ่แล้ว แถมยังทำคลิปล้อเลียนพาโรดี้กันไปมาอีกด้วย ทั้ง 2 คำคือภาพสะท้อนที่ดีที่สุดของความต่างของคน 2 Gen ที่มีนิสัย มีพฤติกรรม มีรูปแบบ และลึกไปถึงแนวความคิด ในการทำคอนเทนต์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เรามาเริ่มทำความรู้จัก ทีละคำกันดีกว่า
Millennial คือใคร?
เพื่อทำความเข้าใจตรงกันเล็กน้อย คนกลุ่ม Millennial มีอายุประมาณ 23 -38 ปี (โดยประมาณ) ซึ่งเกิดมาในยุคอินเตอร์เน็ตยุคแรกๆ มาพร้อมสมาร์ทโฟนยุคเริ่มต้น
เป็นมนุษย์ที่มีความ JOMO (Joy of Missing Out) สามารถเติมเต็มตัวเองได้ โดยไม่ได้สนใจสิ่งรอบข้างมากนัก ชื่นชอบการทำอะไรตามใจตัวเอง โดยไม่ยึดตามกระแสหลัก รักที่ดูแลตัวเองอย่างดี ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อม นี่เป็นภาพรวมหลักๆ ของคนกลุ่มนี้
Gen Z คือใคร?
มีอายุระหว่าง 4-24 ปี เกิดมาพร้อมอินเตอร์เน็ตที่เร็วปู๊ดป๊าด มีดีไวซ์ให้เลือกต่อติดมากมาย และพร้อมคอนเน็คกับโซเชียลฯ มีเดียทุกรูปแบบ
ดังนั้น จึงเป็นคนที่ค่อนข้างเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย พร้อมกับมีนิสัยที่ตั้งคำถามและสงสัยชกับทุกสิ่ง โดยเฉพาะค่านิยมเดิมๆ ที่เคยยึดติดกันมา ว่าสามารถคิดต่างไปจากเดิมได้หรือไม่
จากการที่เป็นคนที่เกิดมาพร้อมรู้จักกับโซเชียลมีเดียตั้งแต่เด็ก ทำให้คนกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ตัวเองบนโซเชียลมีเดีย มากไปกว่านั้น ด้วยการที่เป็นคนเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเดิมๆ ดังนั้น จึงชอบที่จะค้นหาความจริง หรือมีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงชอบที่จะออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ประสบการณ์คือ สิ่งสำคัญสำหรับชีวิต จึงไม่กลัวที่จะออกเดินทางสู่โลกกว้าง ไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองคนเดียวในคนกลุ่มนี้นั่นเอง
และด้วยที่มีความคิดที่ต่างกัน พฤติกรรมที่ต่างกัน ทำให้คน 2 กลุ่มนี้มีพฤติกรรมในการทำคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน
Millennial pause คืออะไร?
Millennial Pause คือการเรียกวิธีในการถ่ายคลิปวิดีโอของชาว Millennial ที่จะต้องมีช่วงนิ่งก่อนเริ่มประมาณ 1-2 วินาทีแรก เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าพร้อมแล้วหรือวิดีโอนั้นเริ่มบันทึกแล้ว ถึงจะเริ่มต้นในการทักทายหรือเริ่มพูดเนื้อหาของคลิป ซึ่งวิธีการแบบ Millennial Pause นั้น ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากหลักๆ ที่ว่าชาว Millennial เป็นกลุ่มคนที่เพิ่งก้าวเข้ามาในยุคคอนเทนต์ออนไลน์ อาจจะมีความยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ของ Traditional media ที่จะต้องรอความเรียบร้อยเหมาะสมก่อนเริ่มอัดคลิป (proper) ซึ่งก็ถือว่าไม่ผิด แต่อาจจะไม่โดนใจกับกลุ่มคนอายุน้อยกว่า ที่ชอบความเรียลๆ ไม่ต้องมาเฟคสวยๆ กัน (ทำนองนี้) จนทำให้ถูกนำไปทำ Meme ล้อเลียนอาการ Millennial Pause อยู่บ่อยๆ เพราะเป็นยุคออนไลน์ที่ผู้ชมต้องการความสด ความเรียล ไม่ต้องเฟค มากกว่าความพร็อพเพอร์เรียบร้อยมากนัก แต่อะไรที่หลุดบ้าง รั่วบ้าง คนกลับมองว่าเป็นเสน่ห์เสียมากกว่า ทำให้มีการผลักดันและพูดถึงว่า การทำคลิปสั้นที่ดีที่จะทำให้คนสนใจควรหลีกเลี่ยง Millennial Pause จะดีกว่า
แต่ถ้าใครยังติดนิสัยอยู่ ก็ไม่ต้องวอรี่ไป เพราะพฤติกรรมลักษณะนี้แม้แต่คนดังอย่าง Taylor Swift หรือ Kim kardashian ก็ไม่รอด ถูกชาวเน็ตแซวเรื่องนี้บ่อยๆ แม้แต่ Shou Zi Chew ซีอีโอ TikTok เคยกล่าวเอาไว้เกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า “When you take a video make sure you don’t do the Millennial pause because I did it and I got comment on it” ซึ่งเป็นการสื่อว่า ให้หลีกเลี่ยงรูปแบบการทำ วิดีโอในแบบ Millennial pause นั่นเอง (แต่ตัวเขาเองก็ยังทำเลย)
Gen Z shake คืออะไร?
Gen Z shake ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามเลยก็ว่าได้ คือการถ่ายทำวิดีโอแบบชาว Gen Z ที่เริ่มเลย ไม่ต้องรอนิ่ง โพล่งขึ้นมาเลย ซึ่งบางครั้งก็เกิดอาการสั่นไหวของอุปกรณ์ถ่ายทำนั่นก็คือมือถือนั่นเอง ดังนั้น พอเริ่มต้นแบบไม่ต้องรอ 5 4 3 ก็มักไม่นิ่ง มือถือเขย่า จนเกิดเป็นภาพสั่นๆ ในตอนเริ่มต้นของคลิปนั่นเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า Gen Z shake
ซึ่งอันที่จริงแล้วก็อาจจะมองว่าคลิปที่เริ่มด้วยภาพไม่ชัด ภาพไหว ไม่น่าจะเป็นคลิปที่มีคุณภาพ หรือไม่น่าจะเป็นคลิปที่มีการตอบรับจากผู้ชมที่ดี แต่ทว่า หลายสำนักกับบอกตรงกันว่า VDO ที่มี engagement ดีนั้น ส่วนมากจะเป็นวิดิโอที่มี movement ความเป็นธรรมชาติอยู่ ถ้าเริ่มต้นด้วยการเขย่ามือถือหรือกล้อง ตอนเปิดคลิป หรือแม้แต่ตอนที่กำลังพูดเรื่องสำคัญ ไฮไลท์ของเนื้อหา การที่อุปกรณ์เขย่า กลับทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีกว่า!! ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่เรียกว่า Gen Z shake เช่นกัน และที่สำคัญยังทำให้ยอด Engagement สูงกว่าคลิปที่มีแค่คนนั่งพูดนิ่งๆ หรือเล่าเรื่องเนิบๆ แบบที่เราเห็นกันทั่วๆ ไป
ทั้ง 2 รูปแบบนี้ จริงๆ จะบอกว่า พฤติกรรมแบบไหนถูกหรือผิดคงไม่ถูกนัก แต่อาจจะบอกได้ว่า รูปแบบไหนที่น่าจะเหมาะกับคนดูยุคใหม่มากกว่า เพราะขณะเดียวกัน คนดูกลุ่มที่เป็น Millennial ก็อาจจะชอบแบบที่เรียบร้อยขึ้นมาหน่อย ขณะที่คนดูกลุ่ม Gen Z ก็ชอบอะไรที่เรียลๆ ไปเลย ไม่ต้องประดิษฐ์ดัดแปลงมากนัก ซึ่งถ้าให้อยากจะรู้ว่าทำแบบไหนที่จะเรียก Engagement ได้ดีก็อยากให้ทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเองดีที่สุด.