คนไทยซื้อ – ขายเก่ง! “Kaidee” เปิดเทรนด์ฮิต กับ 3 โฟกัส “บ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์” ประชันศึกมาร์เก็ตเพลส

  • 233
  •  
  •  
  •  
  •  

ทิวา ยอร์ค

เรารู้กันอยู่แล้ว ว่าคนไทยชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์มากแค่ไหน จากมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซที่สูงถึง 3 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจาก ETDA) น่าจะยืนยันความนิยมได้อย่างชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มาร์เก็ตเพลสแต่ละแห่งจะมีมูลค่าการซื้อขายหลักหมื่นล้านบาทต่อปี!

“Kaidee” ก็เช่นกัน เพราะจากตัวเลขความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ก็สามารถสะท้อนภาพความสำเร็จและความนิยมซื้อ – ขายสินค้าผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ของคนไทยได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสถิติในปี 2018

* คนไทยใช้งาน Kaidee ถึง 30 ล้านคน และมียอดเยี่ยมชมรวม 329 ล้านครั้ง

* มูลค่าการขายสินค้า อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท จากจำนวน 1.7 ล้านประกาศที่ถูกขายไป

* เฉลี่ยแล้วมีสินค้าขายผ่าน Kaidee ประมาณ 4,700 ชิ้นต่อวัน

* มีการลงประกาศขายสินค้าทั้งสิ้น 8.7 ล้านประกาศในปีที่ผ่านมา

* ยอดดาวน์โหลดแอป Kaidee ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านครั้ง รวมแล้ว 14.4 ล้านครั้ง

* ปัจจุบัน มี 216 หมวดหมู่สินค้า พร้อมจำหน่ายบน Kaidee

Kaidee focus 2019
3 หมวดสินค้าที่ Kaidee ให้ความสำคัญในปีนี้

ไม่ใช่แค่มูลค่ามหาศาลของการซื้อ – ขาย บนแพลทฟอร์ม Kaidee แต่ยังมีสถิติอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง จากคำบอกเล่าของ คุณทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kaidee

“ปีที่ผ่านมารายได้ของเราเพิ่มขึ้น 68% จากหมวดหมู่รวม 216 หมวดสินค้า โดยมี 4 หมวดหลักที่เราจะให้ความสำคัญอย่าง RodKaidee BaanKaidee MocyKaidee และ FarmKaidee ต่อเนื่องในปีนี้ โดยจะยังไม่ขยายหมวดหมู่สินค้าเพิ่มเติม เพื่อเดินหน้าในอีก 10 จังหวัดหัวเมือง พร้อมกับลงทุนด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อทำให้ลูกค้าสามารถลงขายสินค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเริ่มต้นในหมวดรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ มือถือ พร้อมกับช่วยป้องกันเรื่องการซื้อขายผิดกฎหมายและปัญหาฉ้อโกง ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มทีมงานด้านดีเวลลอปเปอร์อีกราว 40 คน จากเดิม 109 คน”

สำหรับหมวดหมู่สินค้าที่มีผู้เข้ามาใช้งานสูงสุด 5 อันดับแรกใน Kaidee คือ…

1. RodKaidee กับจำนวนผู้ใช้งาน 61 ล้านครั้ง

2. MocyKaidee ผู้ใช้งาน 36 ล้านครั้ง

3. มือถือ แท็บเล็ต ผู้ใช้งาน 27 ล้านครั้ง

4. BaanKaidee ผู้ใช้งาน 25 ล้านครั้ง

5. อะไหล่รถ ผู้ใช้งาน 24 ล้านครั้ง

โดย คุณทิวา บอกอีกว่า แม้อะไหล่รถยนต์จะเป็นสินค้าที่มีผู้คนค้นหาผ่าน Kaidee เป็นจำนวนมาก แต่เราก็ยังไม่คิดจะเปิดหมวดหมู่ดังกล่าวขึ้นมา เพราะต้องการให้ความสำคัญกับ RodKaidee BaanKaidee MocyKaidee ให้ดีก่อน

download Kaidee App 2018
ยอดดาวน์โหลดแอป Kaidee

“มือถือ” ช่องทางยอดนิยมในการใช้งาน “ศุกร์ – เสาร์” คนใช้งานน้อย

สัดส่วนการเข้าใช้ Kaidee แบ่งเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่ แอปพลิเคชัน 40% การเข้าเว็บผ่านมือถือ 40% และเข้าเว็บผ่านเดสก์ท็อปอีก 20% โดยช่วงเวลาที่คนไทยนิยมใช้งาน คือ ช่วง 10.00 น. 15.00 น. และ 14.00-17.00 น. ของทุกวัน ส่วนช่วงเวลาที่คนไม่ค่อยเข้ามาใช้งาน คือ ตั้งแต่ 17.00 น. ของวันศุกร์ – 20.00 น. ของวันเสาร์ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะผู้คนออกไปใช้ชีวิต ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนและครอบครัว

คนไทยขายเก่ง! “ของแปลก – คาดไม่ถึง” ก็นำมาขาย มูลค่าสูงสุด 81 ล้านบาท!!!

จากจำนวนประกาศขายสินค้าทั้งหมด 8.7 ล้านประกาศในปีที่ผ่านมา Kaidee ยังตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเป็น 16 ล้านประกาศในปีนี้ นั่นหมายถึงความท้าทายกับจำนวนการขายที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว! ส่วนสินค้าที่ถูกประกาศขายบน Kaidee ก็ไม่ได้มีแค่สินค้าทั่วไป แต่ยังมีสินค้าที่คุณอาจนึกไม่ถึง เช่น มูลไก่, ให้เช่าที่จอดรถในคอนโดใจกลางเมือง หรือแม้แต่ที่ดิน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีที่ดินถูกซื้อขายด้วยมูลค่าถึง 81 ล้านบาทบนแพลทฟอร์ม Kaidee

สัดส่วนคน “กทม. : ตจว.” สูสี เทรนด์ใหม่ “ผู้สูงอายุ” ใช้งานแซงหน้าวัยรุ่น

สำหรับสัดส่วนผู้ใช้งาน Kaidee พบว่าจากจำนวน 30 ล้านคนนั้น แบ่งเป็นผู้ชาย 56% ผู้หญิง 44% โดย 51% เป็นผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ และ 49% เป็นผู้ใช้ในต่างจังหวัด ส่วนรายการประกาศขายสินค้าราว 64% เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานที่เติบโตสูงสุดกลับเป็นกลุ่มผู้ใช้วัย 55 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะกลุ่มวัยรุ่นต้องการค้นหาสินค้ารุ่นใหม่ ๆ จากช่องทางอื่นมากกว่าจะมาค้นหาจาก Kaidee ขณะที่สัดส่วนผู้ขายจะแบ่งเป็นบุคคลทั่วไป 70% และผู้ขายมืออาชีพ 30%

Kaidee Story 2018
ความสำเร็จในปี 2018

ก้าวต่อไปของ Kaidee ในปี 2019

คุณทิวา เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตั้งแต่เราให้บริการในประเทศไทยกับเป้าหมายในการสร้างตลาดนัดที่เป็นศูนย์กลางการซื้อ – ขายคนไทย บริษัทก็ยังไม่ได้ขยายธุรกิจสู่หมวด “หางาน” และ “บริการ” เนื่องจากต้องการโฟกัสที่หมวดหมู่สินค้าที่มีอยู่ และเชื่อว่าความนิยมที่คนไทยเลือกใช้ Kaidee เพราะเราเป็นแพลทฟอร์มที่ไม่ได้เก็บค่านายหน้า ผู้ขายสามารถลงขายสินค้าราคาเท่าใดก็ได้ และเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารที่เราบอกกับผู้คนเสมอว่าถ้าคุณไม่รู้ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหนให้เข้ามาที่ Kaidee

“ในระยะหลังเราใช้งบประมาณการทำตลาดออฟไลน์น้อยมาก แม้อดีตจะใช้เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์ แต่ตอนนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จัก Kaidee แล้ว ประกอบกับผลการทำตลาดผ่านสื่อโทรทัศน์ก็เปลี่ยนไปจากเดิม บริษัทจึงเลือกทำการตลาดผ่านเสิร์ชออนไลน์และโซเชียลมีเดียมากกว่า อีกทั้งความเข้าใจของคนไทยในเรื่องมาร์เก็ตเพลสก็มีมากขึ้น ลูกค้ารู้ว่าไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า เครื่องประดับ แต่ยังมีสินค้าอื่นอีกมากที่สามารถค้นหาได้จากออนไลน์ รวมถึงรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูงบนมาร์เก็ตเพลส”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Kaidee เริ่มมีการรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2015 ผ่าน 3 ส่วน คือ 1. ค่าธรรมเนียมจากการจัดเก็บประกาศสินค้าชิ้นที่ 2 กับสินค้า 5 หมวดหมู่ คือ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ มือถือ พระเครื่อง และอสังหาริมทรัพย์ 2. ค่าเลื่อนประกาศ (ทำให้ประกาศติดอยู่ในอันดับแรก ๆ) และ 3. การซื้อ Top Ad เพื่อให้ประกาศอยู่ในตำแหน่งแรกสุด) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 70% และอีก 30% มาจากโฆษณา ทั้งนี้ Kaidee ยังใช้งบประมาณกว่า 750,000 บาทต่อเดือน เพื่อลงทุนในระบบจัดเก็บข้อมูลอีกด้วย

คุณทิวา ยังสรุปด้วยว่า เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยมีศักยภาพในมาร์เก็ตเพลสเพียงใด กระทั่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Facebook พัฒนามาร์เก็ตเพลสขึ้นมาเช่นเดียวกับความนิยมในการซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศอินโดนีเซีย ความท้าทายที่สำคัญของ Kaidee คือ การที่เราเป็นเบอร์หนึ่ง C2C บนมาร์เก็ตเพลสของไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดถึง 93% ซึ่งพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยรับรู้ว่าสิ่งรอบตัวสามารถกลายเป็นรายได้ให้คุณได้ง่าย ๆ แค่ใช้มือถือถ่ายภาพและลงประกาศกับ Kaidee ในปีนี้เราจึงพยายามทำประชาสัมพันธ์ โซเชียลมีเดีย และสร้างคอนเทนต์ให้มากขึ้น เพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่าแค่ 4 ขั้นตอน (ตั้งราคาเหมาะสม, ใช้ภาพจริง, ใส่หัวข้อตรงประเด็น, ใส่เบอร์ติดต่อ) ก็ลงขายสินค้าได้แล้ว


  • 233
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน