Mary Meeker กูรูด้านการวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและ Managing Partner ของ Bond Capital รวมทั้งยังเป็น Partner ของ Kleiner Perkins บริษัทร่วมลงทุนชื่อดังของอเมริกา นอกจากนี้ยังเป็นอดีต Managing Director และ Research Analyst ของ Morgan Stanley … เป็นประจำทุกปีที่เธอมักจะออกมาเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกเพื่อฉายภาพแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภค ทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจยุคดิจิทัล ผ่าน Internet Trends 2019 โดยในปีนี้มีสไลด์มากถึง333 สไลด์ มากกว่ารายงานเมื่อปีที่แล้วเกือบ 40 แผ่นเลยทีเดียว โดยในปีนี้ มีหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
1) แนวโน้มประชากรอินเตอร์เน็ตโลกเติบโตในอัตราลดลง
แนวโน้มจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตยังคงเติบโต แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยในปี 2018 เติบโต 6% ลดลงจากปี 2017ที่โต 7% ซึ่งลดลงจากปี 2016 ที่มีอัตราเติบโต12% โดยข้อมูลนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าประชากรโลกส่วนใหญ่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้ว โดย Mary มองว่าตัวเลขการเติบโตที่ลดลงของสมาร์ทโฟนเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุน
2) ประชากรอินเตอร์เน็ตโลกกว่าครึ่งมาจากประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก
ในประชากรอินเตอร์เน็ตโลกกว่า 3.8 พันล้านคน มาจากประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกถึง 53% โดย 3 ประเทศแรกที่มีประชากรอินเตอร์เน็ตมากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐฯ ส่วนเพื่อนบ้านเราอย่าง อินโดนีเซีย เข้ามาเป็นอันดับที่ 4
3) บริษัทเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตที่มูลค่ากิจการ (Market Cap) สูงสุด 30 อันดับแรก เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน18 ราย สัญชาติจีน 7 ราย
สำหรับบริษัททั่วโลกที่มีกิจการสูงสุด 30 อันดับแรก เป็นบริษัทเทคโนโลยี 9 ราย โดยมีบริษัทเทคฯ ถึง 7 รายที่ติดอันดับ TOP10
4) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประชากรอินเตอร์เน็ตใช้เวลาเพิ่มขึ้น ได้แก่ Youtube และ Instagram
ในรอบ 1 ปีครึ่ง Youtube และ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่คนทั่วโลกใช้เวลาด้วยเพิ่มขึ้นจาก 22% เป็น 27%ของเวลาทั้งหมดที่ใช้ในแต่ละวัน สำหรับ Youtube และ จาก 13% เป็น 19% สำหรับInstagram แต่แพลตฟอร์มที่ยังคงดึงเวลาของคนทั่วโลกไปได้มากที่สุดก็ยังหนีไม่พ้น Facebook ที่มีสัดส่วนถึง 30%
นอกจากนี้ ใน 1 ปี ชาวโลกออนไลน์นิยมดู VDO สั้น อย่าง Facebook/Messenger Stories, Instagram Stories และ WhatsApp Status เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และฟัง Podcast เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในรอบ 4 ปี
5) บริษัทเทคฯ นอกอเมริกาเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน
บริษัทเทคฯ กลุ่มแรกที่เติบโตสูงมาก คือ e-Commerce และ Delivery ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ (Direct Fullfilment) ส่วนบริษัทเทคฯ กลุ่มที่สองที่เติบโตสูงมาก คือ แพลตฟอร์มบริการทางการเงิน
6) ภาพเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
หลายแพลตฟอร์มการสื่อสารจึงพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับภาพ เช่น แพลตฟอร์มSocial Media รองรับการแชร์ภาพ รวมถึงมีการเพิ่มฟีเจอร์อีดิท (edit) และจัดเรียงภาพ เข้าไปเป็นลูกเล่นเสริมให้ นอกจากนี้ แม้แต่ Google ก็ยังพัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพ เพื่อรองรับการค้นหาด้วยภาพ
7) เกมอินเตอร์แอคทีฟเป็นอีกรูปแบบในการสื่อสาร และวงการเกมเป็นวงการที่มีพัฒนาการสูงมาก
การเติบโตของเกมเมอร์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด 5 ปี โดยปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นราว 2.4 พันล้านคน เติบโต 6% เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่โต 5% ซึ่งการเติบโตนี้มาจากวงการเกมมีการพัฒนาให้สามารถเล่นด้วยกันได้ พูดคุยกันได้ ส่งข้อความหากันได้ และชมการเล่นเกมของคนอื่นได้ จนนับได้ว่าเป็นอีก Social Platform
นอกจากนี้ ยังทำให้แพลตฟอร์มการสื่อสารที่เกี่ยวกับเกมเติบโตตามไปด้วย เช่น Discord แพลตฟอร์มให้บริการติดต่อสื่อสารระหว่างเกมเมอร์ เติบโตประมาณ 2 เท่าในรอบ 1 ปี หรือ Twitch แพลตฟอร์มการรับชมการเล่นเกมเติบโตราว 2 เท่าในรอบ 2 ปี ขณะที่บางเกมยังมีการจัด Event ภายในเกม เพื่อให้ผู้เล่นมาร่วมมีประสบการณ์ร่วมกัน
8) Freemium เป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานฟรีช่วยขับเคลื่อนทางการตลาด และผู้ใช้งานที่จ่ายเงินช่วยขับเคลื่อนทางการเงิน
โมเดล Freemium พัฒนาขึ้นมาจากธุรกิจเกม ต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่พัฒนาสินค้า/บริการเพื่อขายให้กับบริษัทห้างร้าน เช่น Dropbox, Google G Suite ฯลฯ จนปัจจุบัน โมเดลนี้เป็นที่นิยมและใช้งานได้ดีกับธุรกิจที่ขายสินค้า/บริการให้กับผู้บริโภคโดยตรง เช่น Spotify ฯลฯ ซึ่งจะเห็นว่า ยิ่งมีผู้ใช้งานฟรีเพิ่มขึ้น ผู้ใช้งานแบบเสียเงินก็จะเพิ่มขึ้นตาม
โมเดล Freemium ถูกประยุกต์ใช้อย่างมากกับธุรกิจให้บริการ Cloud ซึ่งรายได้ปีที่แล้วของผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ราย ได้แก่ Amazon, Micorsoft และ Google รวมกันสูงถึงเกือบ 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโตจากปีก่อนถึง 58%
9) ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ต้องขับเคลื่อนด้วย (ดิจิทัล) ดาต้าอย่างจริงจัง
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ หลายๆ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จล้วนก็ต้องขับเคลื่อนด้วย “ดาต้า” เพียงแต่อาจจะเป็นข้อมูลแบบออฟไลน์ คือได้จากเซลล์บ้าง หรือพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง แต่ในยุคใหม่ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับ “Digital Data” อย่างมาก โดยนัยของคำนี้สำหรับโลกยุคดิจิทัล หมายถึง ข้อมูลที่มีมากมายมหาศาล เพราะ “รอยเท้า” ดิจิทัลต่างๆ ก็ล้วนเป็นข้อมูลอดิจิทัลในดีตที่มีค่า ขณะที่ Real-time Data ก็เป็นอีกข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองลูกค้าได้
หลายบริษัทที่นำดาต้าไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจในวิถีต่างๆ เช่น ทำความเข้าใจความต้องการลูกค้าเพื่อพัฒนาธุรกิจ, ใช้เพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาโปรดักส์ร่วมกัน, ใช้บริหารความสัมพันธ์และสื่อสารกับลูกค้า ฯลฯ
ส่วนตัวอย่างการนำ Real-time data มาใช้ประมวลผลเพื่อตอบสนองลูกค้าได้ในทันที ท่ีเห็นได้ชัดคือ เว็ปจองห้องพักที่จะแจ้งว่าในวันที่คุณเลือก ห้องประเภทนี้เหลือกี่ห้อง มีคนกำลังดูห้องนี้กี่คน ฯลฯ รวมถึงเมื่อลูกกค้าจองแล้ว ก็จะใช้ข้อมูลอีกชุดที่เกิดจากการประมวลข้อมูลดิจิทัลในอดีต รวมถึงดึงข้อมูลในฐานข้อมูลลูกค้าเก่า (หากคนนั้นเคยใช้บริการกับเครือบริษัทมาก่อน) มาใช้เพื่อนำเสนอกิจกรรม แพ็คเกจ รวมถึงบริการเสริมต่างๆ
Mary ย้ำว่า Data ที่มีปริมาณมากพอ บวกด้วย AI ถ้าถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้าได้ และช่วยให้ธุรกิจพัฒนาอย่างรวดเร็วและขยายไปได้กว้างขึ้น
10) มีสัญญาณบ่งชี้ถึงความกังวลในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ความเป็นส่วนตัว และคอนเทนต์ที่มีปัญหา (เช่น Fake News, Hate Speech)
ความกังวลเรื่องสุขภาพ: ประชากรอินเตอร์เน็ตทุกคนตระหนักถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ Social Mediaเป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะข้อเสียเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจ ซึ่งถือว่ารุนแรงสูงสุด และนับเป็นความกังวลอันดับต้นที่ทำให้การใช้งาน Socail Media เติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างมาก ดังนั้น หลายแพลตฟอร์มจึงออกฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับติดตามดู (Tracking) เวลาในการใช้งาน รวมถึงเตือนให้ดูแลสุขภาพ เพื่อแก้ไขข้อเสียนี้
ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว: ผู้ใช้ทั่วโลกกังวลเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การปรับปรุงกลไกควบคุมดูแลความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้งาน ทั้งในแง่ของพัฒนาการทางกฎหมาย เช่น GDPR และการปรับปรุงการบริหารจัดการโดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเอง ทั้ง 2 ส่วนนี้นำไปสู่การพัฒนาระบบเข้า-ถอดรหัสข้อมูล (Encryption) ในการส่งข้อความ
ความกังวลเรื่อง Problemetic Content : เพราะคนเราชอบเสพข่าวร้าย/ไม่ดียิ่งพอมาเจอกับธรรมชาติของข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ต มีมักมีการกลั่นกรองน้อยและขยายวงอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมข่าวร้ายหรือข้อมูลปลอม (ข้อมูลมีปัญหา/ข้อมูลผิด) ถึงได้ลามไปไกลยิ่งกว่าไฟลามทุ่งในเวลาอันสั้น และยิ่งถ้าข้อมูลปลอมถูกนำเสนอด้วยภาพหรือ VDO พลังในแพร่ขยายก็ยิ่งมหาศาลกว่าข้อความหลายเท่า
ไม่เพียงความกังวลเรื่องตัวคอนเทนต์ที่เป็นปัญหา ยังมีความกังวลในแง่ปัญหาของ Algorithms ในจัดการหน้าฟีดให้ผู้ใช้คนนั้นได้พบเห็นแต่สิ่งที่ระบบประมวลเองว่าผู้ใช้คนนั้นน่าจะสนใจจากการดูข้อมูลในอดีต เช่น การค้นหา การอ่าน รวมถึงคาดเดาจากการใช้งานแอปฯ จากแวดวงบุคคลและความสนใจที่ผู้ใช้ไปติดตาม ฯลฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างแพทเทิร์นทางความคิดและพฤติกรรมของผู้ใช้งานคนนั้นโดยปริยาย
นอกจากนี้ ยังกังวลกันว่า Social Media มักแนะนำคอนเทนต์ในกระแสความสนใจของคนส่วนใหญ่ ซึ่งมักมีแนวโน้มเป็นเรื่องลบหรือพฤติกรรมไม่ดี ซึ่งอาจกลายปลูกฝังอุดมคติผิดๆ ยิ่งเมื่อบวกกับการที่แพลตฟอร์มมักเอื้อให้คนที่เชื่อและชอบคล้ายกันมาปฏิสัมพันธ์กันบ่อยๆ คนกลุ่มนี้จึงมักวนอยู่กับโพสต์และการแสดงความเห็น ที่ไปในทางเดียวกัน จึงยิ่งเป็น การตอกย้ำความเชื่อนั้นจนทำให้เกิดความคิดสุดขั้วได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจึงพยายามแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้ด้วยการพยายามตรวจจับ Hate Speech และคอนเทนต์ที่แฝงความรุนแรง หรือมีปัญหาอื่นๆ ก่อนที่ผู้ใช้งานจะรายงานหรือก่อนให้เผยแพร่
ทั้งนี้ Social Media ก็ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้แต่ข่าวแย่ๆ บ่อยครั้งที่มันทำหน้าที่กระจายข่าวขอความช่วยเหลือระหว่างเพื่อนมนุษย์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ Twitter ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “กระบอกเสียงพลเมือง” ซึ่งต่อมาก็มีแพลตฟอร์มอื่นขยายฟีเจอร์เพื่อสร้างบทบาทตรงนี้ของตนให้ชัดขึ้น
11) แพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับประชากรอินเตอร์เน็ต
โอกาสทางการทำงาน : ความต้องการแบบอยากได้เมื่อไหร่ก็ต้องได้ (On-Demand) แต่ไม่อยากลงแรงเอง เป็นความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในผู้บริโภคแทบทุกคน เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยได้รับการตอบสนอง แต่โลกอินเตอร์เน็ตทำให้ On-Demand Platform เกิดขึ้น จำนวนผู้บริโภคแบบ On-Demand Consumer ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น จนเป็น “ไข่กับไก่” คือจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าอะไรเกิดกัน
ข้อมูลสะท้อนว่า On-Demand Consumer ในอเมริกาเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าในเวลา 2 ปี ขณะที่แพลตฟอร์มก็มีเพิ่มขึ้น และเติบโตในหลายๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งการเติบโตนี้ส่งผลให้เกิดการสร้างงานสำหรับ On-Demand Worker อย่าง Grab, Fastwork, Maidsapp, Lineman ฯลฯ ดังนั้น แม้อัตราการว่างงานในระบบอาจดูสูง แต่อำนาจซื้อหรือเศรษฐกิจอาจไม่ตกต่ำมากนัก เพราะประชาชนยังพอมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย
โอกาสทางการศึกษา : รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ นอกจากสะดวก ยังทำให้คนกลุ่มใหญ่เข้าถึงการศึกษาที่ตนต้องการได้ง่ายขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียนได้อย่างมาก ปัจจุบัน การศึกษาออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีหลายระดับและหลากรูปแบบ แม้แต่การศึกษาออนไลน์สำหรับวิชาชีพเฉพาะทาง ยิ่งกว่านั้น บริษัทใหญ่ๆ บางแห่ง ยังเปิดสอนหลักสูตรตามสายงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทตน เมื่อผู้เรียนเรียนจบ จึงไม่เพียงแค่ได้ใบประกาศนียบัตร แต่ยังมีโอกาสได้งานทำกับบริษัทนั้นด้วย เช่น Google เป็นต้น
ข้อมูลจากรายงานระบุว่า มีการรับชม VDO ประเภท “How to” ใน Youtube สูงถึงปีละ 4,500 ล้านชั่วโมง และมีผู้ใช้งานเจน Z ถึง 59% ที่มองว่า Youtube เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่พวกเขาชื่นชอบมากกว่าช่องทางอื่น
ข้อมูลจาก Coursera แพลตฟอร์มระบบการเรียนออนไลน์ที่รวบรวมหลักสูตรมาจากหลายๆ มหาวิทยาลัยชื่อดังและสถาบันที่เช่ียวชาญในเรื่องนั้นๆ ระบุว่าเกือบ 80% ของรายได้ปี 2018 มาจากหลักสูตรทางด้าน Data Science สูงสุดถึง 31% ตามมาด้วยหลักสูตรด้านเทคโนโลยี มีสัดส่วน 25% และหลักสูตรทางด้านธุรกิจ 23%
โอกาสทางการแพทย์ : อินเตอร์เน็ตมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงงานวิจัย การเข้าถึงข้อมูลเรื่องยีนส์ (Genetic Data) ในวงกว้าง ทำให้การทดสอบทางพันธุศาสตร์ (Genomic) เกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้น รวมถึงการเข้าถึงความร่วมมือในการรักษาแบบ Real-time ส่งผลให้การรักษาดีขึ้นโดยต้นทุนต่ำลง ขณะที่การที่คนไข้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและการรักษา ย่อมทำให้คนไข้สามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์ได้ดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลในเชิงป้องกันดูแลด้วย
นอกจากนี้ ยังธุรกิจทางด้านสุขภาพอื่นๆ ที่นำระบบอินเตอร์เน็ตไปใช้อย่างมากและได้ผลดี คือ ประกันสุขภาพ หรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ระดับโลก ก็ล้วนนำเอาเรื่องสุขภาพมาเป็นไอเดียตั้งต้นในการพัฒนานวัตกรรมทางสุขภาพ และหน่วยธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Google, Microsoft และ Amazon
12) จีนในยุคอินเตอร์เน็ต = นวัตกรรมและการเติบโตทางธุรกิจที่ทั้งโลกต้อง “ซูฮก” (ยกเว้น Donald Trump)
ประเด็นสุดท้ายในรายงานฉบับนี้พูดถึงปรากฏการณ์ “มังกรผงาด” ในโลกอินเตอร์เน็ต โดย Mary อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ตในเมืองจีนไว้ในหลายแง่มุม ดังนี้
- เทรนด์การใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนจีนในช่วง 2 ปีมานี้ มี VDO สั้น (Short-Form VDO) เป็นตัวกระตุ้นอัตราการเติบโตในการใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ โดยแพลตฟอร์มผู้นำ Short-Form VDO ของจีน ได้แก่ Douyin รองมา Kuaishou และ Haokan
- นวัตกรรมหลายอย่างของจีนขับเคลื่อนมาจาก “เล่นเกม” Mary มองว่าเกมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงิน, การซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce), วงการค้าปลีก และการศึกษา
ด้วยความนิยมในเกม Tiao yi tiao (Jump Jump) ซึ่งเป็น Mini-Program ใน WeChat โดยเป็นเกมงายๆ แค่กระโดดข้ามกล่อง แต่แค่เพียง 2 อาทิตย์หลังเปิดตัว ปรากฏว่ามีคนเล่นไปกว่า 100 ล้านคน WeChat จึงต่อยอดหารายได้ด้วยการนำเกมนี้ไปใช้สร้างแบรนด์ โดยมีหลายแบรนด์ที่นำโลโก้ตัวเองเข้าไปอยู่บนกล่องในเกมให้ผู้เล่นกระโดดข้าม
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เกม Tiao yi tiao เป็นต้นแบบ Mini-Program ที่ทำให้ต่อมาหลายๆ ธุรกิจที่มี Offial Account สามารถมาเชื่อมต่อทำธุรกิจบนแพลตฟอร์ม WeChat และใช้โครงสร้างเทคโนโลยีหลักไปจนถึงระบบชำระเงินของ WeChat ได้เลย ปัจจุบันมีมากกว่า 1 ล้าน Mini-Program บน WeChat
สำหรับการนำเกมมาเป็นตัวดึงดูดผู้ใช้ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ของตน พบว่ามีหลายแพลตฟอร์มที่ใช้เกมเป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เช่น เล่นเกมเพื่อเอาส่วนลดช้อปปิ้งออนไลน์ เล่นเกมเพื่อบริจาคให้กองทุนเพื่อสังคม ฯลฯ หรือแม้แต่การทำให้การเพิ่มยอดขายของพนักงานขายหน้าร้านกลายเป็นเกม เช่น ทำได้ตาม KPI รับรางวัลเป็นคะแนน หรือการแข่งยอดขายกับร้านสาขาอื่น เป็นต้น
3. แพลตฟอร์มแชตของจีน คือตัวกระตุ้นให้เกิดธุรกรรมและบริการต่างๆ และหลายแพลตฟอร์มของจีนได้กลายเป็น Super App ที่ยิ่งใหญ่ไปแล้ว
Mary ยกตัวอย่าง Alipay ที่เริ่มจากแพลตฟอร์มชำระเงิน แต่วันนี้มี Alipay กลายเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่มีมากกว่า 2 แสน Mini-Program อยู่บน Alipay มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคน มีผู้ใช้งานทุกวันเกือบ 300 ล้านคน และ 70% ของผู้ใช้งาน ใช้บริการทางการเงินมากว่า 3 บริการ ขณะที่ Meituan แพลตฟอร์มที่เริ่มต้นจากเว็ปขายดีลลดราคา มาวันนี้กลายเป็นอีก Super App ที่มบริการมากกว่า 30 บริการอยู่บนแอปฯ ตัวเอง มีผู้ใช้ 412 ล้านคน
4. ธุรกิจค้าปลีกจีน กำลังพยายามสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อระหว่างการช้อปปิ้ง Offline กับ Online โดยพบว่าในธุรกิจนี้มีพัฒนาการและเทรนด์หลายอย่างที่สนใจ เช่น
การ Live สดขายของออนไลน์ เป็นเทรนด์ที่นิยมในจีน เป็นการบรรจบกันระหว่างไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบการช้อปออนไลน์ (e-Commerce)และการชอบดู/ทำ Live Streaming บวกกับเทรนด์ของ Influencer Marketing ที่มาแรงในจีน ส่งผลให้ ปีที่ผ่านมา Taobao Live มีมูลค่าสินค้าที่ขายผ่าน Live Streaming สูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเหตุผลที่ Live Streaming ขายของเป็นที่นิยมเพราะเพิ่มความโปร่งใส กระตุ้นปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม สร้างการส่วนร่วมกับ Influencer อันนำไปสู่อัตราการซื้อซ้ำเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ประเทศจีนมีร้านขายของชำ (Grocery Retail) ออนไลน์มากมาย นำไปสู่การแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของลูกค้า ด้าน Alibaba ที่เริ่มต้นจากการค้าขายออนไลน์ วันนี้ Alibaba หันมาลุยร้านค้าออฟไลน์ โดยนอกจากขยายจนมีร้านออฟไลน์หลากหลายแบรนด์ วันนี้ Alibaba ยังมุ่งปรับปรุงร้านออฟไลน์เหล่านั้นให้รองรับ “ดิจิทัล” มากขึ้น ขณะที่ Yonghui Superstore ก็พยายามสร้างประสบการณ์ร้านขายของชำดิจิทัล ผ่าน Mini-Program บน WeChat ที่ร้านออฟไลน์ของตน …เรียกว่า คร่อมกันไปมาระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์
5. ระบบการศึกษาจีนกำลังขยายขอบเขตการเรียนรู้จากโลก Offline ไปสู่ Online โดยมี Live Streaming เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ
ปัจจุบัน การสร้างเสริมการศึกษาสำหรับเด็กเล็กในจีน (K-12) เป็นรูปแบบของประสบการณ์การเรียนรู้ในโลกออฟไลน์ที่นำโลกออนไลน์มาผสมผสาน โดยมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการศึกษาหลายราย มีให้เลือกทั้งรูปแบบการสอนออนไลน์โดยอาจารย์และมีครูผู้ช่วยอยู่ในห้องเรียนกับเด็ก หรือใช้ Live Streaming เรียนเป็นกลุ่มหรือช่วยกันทำการบ้านผ่าน Live Streaming กับติวเตอร์ รวมถึงการเรียนรู้นอกชั่วโมงเรียน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและการเขียน Coding ซึ่งเป็นทักษะที่รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริม
ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญจาก Internet Trends 2019 ซึ่ง Oops!! เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่สนใจใคร่รู้ในกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกอินเตอร์เน็ต รวมถึงต้องการเท่าทันและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากเทรนด์ดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
แหล่งที่มา Internet Trends 2019