IBM ประเทศไทยชี้ธนาคารและการเงินตื่นตัวใช้บล็อกเชนสูงเกินคาด

  • 35
  •  
  •  
  •  
  •  

Blackboard relating to Blockchain.

Financial Technology หรือ FinTech กลายเป็นเรื่องที่สำคัญขึ้นมาหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการ PromtPay ซึ่งเป็นหนึ่งรูปแบบของ FinTech แต่ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้เมื่อกลุ่มธุรกิจธนาคาร เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านการเงินอย่างบล็อกเชน (Block Chain Technology) ที่จะช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินสะดวกมากยิ่งขึ้น

IBM เผยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาเร็วเกินความคาดหมาย โดยพบกลุ่มธุรกิจธนาคารและธุรกิจการเงินเร่งหาแนวทางการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาปรับใช้ โดยกลุ่มธุรกิจธนาคารกว่า 15% และกลุ่มสถาบันทางการเงิน 14% เตรียมเริ่มดำเนินการใช้โซลูชั่นบล็อกเชนภายในปี 2560 ขณะที่ธนาคารอีกกว่า 65% วางแผนเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจริงภายใน 3 ปี

นายสวัสดิ์ อัศดารณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจการเงินและประกันภัย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า “การเป็นผู้บุกเบิกเริ่มใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมีประโยชน์หลายด้าน ตั้งแต่การเป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางธุรกิจและโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะใช้ในอนาคต รวมถึงการสกัดกั้นคู่แข่ง เพราะกลุ่มผู้บุกเบิกมักสามารถคาดการณ์ปัญหาที่อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้ดีกว่า”

sawatasdaron_ibm

ผลการศึกษาที่สำรวจธนาคาร 200 แห่ง และสถาบันการเงินอีก 200 แห่งทั่วโลก ระบุว่า 70% ของกลุ่มผู้บุกเบิกต่างให้ความสำคัญกับบล็อกเชนในแง่เครื่องมือที่จะช่วยทะลายอุปสรรคที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยกลุ่มผู้บุกเบิกยังเตรียมความพร้อมที่จะต่อกรกับคู่แข่งทุกกลุ่ม ซึ่ง 7 ใน 10 ของผู้บุกเบิกในกลุ่มสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการนำบล็อกเชนไปใช้ใน 4 ด้าน คือ การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์, การชำระเงินขายส่ง, ผู้ถือหุ้นและการออกตราสารหนี้ รวมถึงบริการด้านแหล่งข้อมูลอ้างอิง

นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรมากกว่าแสนคนกำลังเป็นผู้นำในการเปิดรับเทคโนโลยีบล็อกเชน แทนที่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพหรือองค์กรด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ขนาดเล็ก โดย 77% ของธนาคารขนาดใหญ่จะเป็นธนาคารที่ให้บริการลูกค้ารายย่อย

thinkstockphotos-514568688

ซึ่งกลุ่มนี้คาดหวังประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยีบล็อกเชน โดย 83% คาดหวังบริการด้านแหล่งข้อมูลอ้างอิง ส่วน 80% หวังด้านการชำระเงินค้าปลีก และกว่า 79% คาดหวังการให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้ารายย่อย โดยธนาคารที่สำรวจมองว่าจะมีการเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้บล็อกเชนเป็นพื้นฐานถึง 80% โดยเฉพาะในกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ สินเชื่อธุรกิจ และบริการด้านแหล่งข้อมูลอ้างอิง

ทว่ากลุ่มธนาคารผู้บุกเบิกมองว่า การนำบล็อกเชนมาใช้จริงมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย โดย 56% มองว่ากฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ขณะที่รองลงมา 54% เชื่อว่าเทคโนโลยียังไม่สมบูรณ์พอ และกว่า 52% มองว่ารูปแบบการวัดผลตอบแทนจากการลงทุนที่ยังไม่ชัดเจนนัก

ibm-blockchain-sm

ที่สำคัญกลุ่มธนาคารเหล่านี้เชื่อว่า ปัจจัยที่จะประสบความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนคือการตั้งคำถาม 3 ข้อ

1. องค์กรจะต้องเร่งเดินหน้าเร็วแค่ไหน ?
การออกตัวแรงของกลุ่มผู้บุกเบิกถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ตอกย้ำให้ผู้เล่นที่ต้องการเจาะลูกค้ากลุ่มใหญ่ต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมบุกตลาดให้เร็วที่สุด และต้องไม่ลืมที่จะตระหนักว่าสิ่งที่กลุ่มบุกเบิกเริ่มทำย่อมมีส่วนในการโน้มนำการกำหนดข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. องค์กรจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการผ่านเครือข่ายทางธุรกิจต่างๆ ได้อย่างไร?
เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในวงกว้าง กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ จะสามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ช่วยลดแรงต้านที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตได้ เพราะกลุ่มนี้ได้มีการกำหนดมาตรฐานทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการขยายการใช้บล็อกเชนไว้แล้ว ผู้เล่นที่ต้องการให้บริการเกี่ยวกับบล็อกเชนแก่กลุ่มผู้ใช้ขนาดใหญ่ควรรวมตัวและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับกลุ่มผู้บุกเบิก

3. องค์กรจะสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยโมเดลรายได้แบบใหม่ได้อย่างไร?
เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่และโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น ธนาคารจะจำเป็นต้องหาทางรักษารายได้หลักในปัจจุบันเอาไว้ หรือแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ โมเดลรายได้รูปแบบใหม่จะต้องมองไปไกลถึงแนวโน้มธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในวันนี้และอนาคต โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่อย่างน้อยหนึ่งช่องทางให้กับองค์กร ขณะที่รายได้จากบริการด้านแหล่งข้อมูลอ้างอิงน่าจะเป็นแหล่งรายได้ก้อนใหญ่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ธนาคารควรตระหนัก


  • 35
  •  
  •  
  •  
  •