นักท่องเที่ยวต้องรู้! วิธีเช็ค ‘กล้องแอบถ่าย’ ในห้องพักโรงแรม

  • 32
  •  
  •  
  •  
  •  

เรื่องสยองสองบรรทัดที่แท้จริง หลังเมื่อสามเดือนก่อน ตำรวจเกาหลีใต้ไดัตรวจพบกล้องแอบถ่ายถูกซ่อนไว้ภายในห้องพักในโรงแรมมากถึง 31 แห่งทั่วประเทศ ทำเอานักท่องเที่ยวหลอนกันไปพักใหญ่ แถมก่อนหน้านั้นไม่นาน ก็เพิ่งมีข่าวนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และค้นเจอกล้องแอบถ่ายซึ่งซ่อนอยู่ในเครื่องดักควันจับสัญญาณไฟไหม้ในที่พักให้เช่า Airbnb และนำออกมาเขียนเตือนภัยบนอินเทอร์เน็ต เช่นกันกับนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์ ที่ยกครอบครัวไปเที่ยวประเทศไอร์แลนด์ โดยจองห้องพักผ่าน airbnb และพบกล้องแอบถ่ายซ่อนไว้ที่เครื่องตรวจจับควันบนเพดานในห้องนั่งเล่น แถมยังกำลังถ่ายทอดแบบ ไลฟ์สตรีมอีกด้วย! นี่เป็นตัวอย่างเพียงนิดเดียวของเคสที่ถูกค้นพบจำนวน โดยกล้องแอบถ่ายส่วนใหญ่จะถูกติดตั้งไว้อย่างแนบเนียนไปกับอุปกรณ์ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นปลั๊กไฟ ที่วางไดร์เป่าผม ทีวี ไวไฟเราเตอร์ หรือช่องเสียบ USB ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดจะมีความเนียนมาก จนถ้าไม่ใช่คนช่างสังเกตก็จะมองผ่านเลยไปได้ อันที่จริง กล้องแอบถ่ายไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเดิมทีก็ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายในฐานะ ‘อุปกรณ์สอดแนม’ ที่ใช้เพื่อตรวจสอบนักเดินทางธุรกิจ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวกิจกรรม นักข่าว และบุคคลต่าง ๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทราบดีถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จึงมีการระวังตัว และรู้วิธีป้องกันเป็นอย่างดี
แต่เมื่อมันถูกนำมาใช้เพื่อแอบถ่ายกิจกรรมส่วนตัวตามที่พักอย่างโรงแรม หรือห้องพักในเช่าแบบ Airbnb ซึ่งคนทั่วไปอย่างเราๆ มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อได้อย่างไม่ทันรู้ตัว..
แล้วเราจะมีวิธีป้องกันตัวอย่างไร ?
ทีมนักวิจัยด้านความปลอดภัยจาก แคสเปอร์สกี แล็บ ให้คำแนะนำไว้ว่า ถ้าเราอยากจะมั่นใจได้ว่า ไม่มีกล้องแอบถ่าย หรือ ไมโครโฟนลับติดตั้งอยู่ในห้องโรงแรมหรืออพาร์ทเมนท์ให้เช่าเพื่อแอบถ่ายหรือดักฟังเราอยู่ ก็จงพกพา อุปกรณ์ตรวจจับขนาดเล็ก ติดตัวไปด้วยเสมอเมื่อต้องเดินทาง เจ้าเครื่องตรวจจับนี้ที่ปัจจุบันหาซื้อได้ทั่วไปในราคาไม่แพงจนโอเว่อร์ แต่สามารถสแกนความถี่สัญญาณวิทยุ รวมถึงไดโอดเปล่งแสง (แอลอีดี) และกระจกแดง ที่จะช่วยให้เราสามารถตรวจหาแหล่งปล่อยสัญญาณใด ๆ ก็ตามที่ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา (เครื่องดักฟังและกล้องแอบถ่ายส่วนใหญ่มีการทำงานแบบนี้) จะช่วยคลำทางให้เราตามไปจนเจอกล้องแอบถ่ายวายร้ายได้ในที่สุด หลักการทำงานนั้นอยู่ตรงที่ความไม่เหมือนใครของ ‘เลนส์กล้อง’ ที่สะท้อนแสงได้ดีกว่าพื้นผิวชนิดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเมื่อเราส่องแสงจากไดโอดไปยังสิ่งใดก็ตามที่เป็นกล้องและมองผ่านช่องกระจกแดง เราก็จะมองเห็นจุดสีแดงสว่างปรากฏอยู่
นอกจากนี้ มีใครรู้บ้างว่า สมาร์ทโฟนในมือเรา หลายๆ เครื่องก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจจับได้ด้วย!
โดยเราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อค้นหากล้องแอบถ่ายที่มีการปล่อยแสงอินฟราเรดได้ เพราะกล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์มือถือสามารถตรวจจับการปล่อยรังสีอินฟราเรดได้ แต่ขอให้ขีดเส้นใต้เน้นๆ ด้วยว่า ฟิลเตอร์กรองแสงอินฟราเรดในโทรศัพท์บางรุ่น เช่น ไอโฟน ก็กรองรังสีได้มากเกินกว่าที่จะนำมาใช้ในการตรวจจับวิธีนี้ ส่วนถ้าใครกังวลกลัวว่า จะถูกแอบฟังหรือบันทึกเสียงด้วยไมโครโฟนที่ซ่อนไว้ วิธีง่ายๆ ที่ธรรมดามาก แต่ก็ใช้ได้ผลดี นั่นก็คือ เราก็แค่สร้างเสียงรบกวนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดก๊อกน้ำ หรือเปิดแอพพลิเคชั่นจำพวกที่เป็นเสียงธรรมชาติ เสียงลม เสียงฝนฯลฯ ก็ได้เช่นกัน “การสร้างความปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไฮเทคหรือมาตรการตอบโต้ราคาแพงแต่อย่างใด เพียงแค่ชุดอุปกรณ์พื้นฐาน รวมถึงการใช้สติตลอดการเดินทางที่ยาวไกล คุณก็สามารถเพลิดเพลินกับวันหยุดพักผ่อนของคุณได้อย่างเต็มที่” มาโคร พรีอุส นักวิจัยด้านความปลอดภัย แคสเปอร์สกี แล็บ กล่าว นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังมีเคล็ดลับดีๆ สำหรับนักเดินทางที่อยากจะปลอดภัยในชีวิตยุคดิจิทัลที่การถูกโจรกรรมข้อมูล หรือถูกขโมยความเป็นส่วนตัวอาจเกิดขึ้นได้เสมอ
  • ห้ามวางสิ่งของ รวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารไว้นอกสายตา ให้พกพาอุปกรณ์ทุกชิ้นไปด้วยเมื่อออกจากห้องพักโรงแรม
  • มั่นใจว่า อุปกรณ์มีการปกป้องด้วยรหัสผ่าน และข้อมูลที่เก็บไว้ในอุปกรณ์มีการเข้ารหัส อุปกรณ์ระบบแอนดรอยด์รุ่นใหม่ล่าสุด และอุปกรณ์ระบบ iOS ที่ปกป้องด้วยรหัสผ่าน (Passcode) จะมีการตั้งค่าเริ่มต้นให้มีการเข้ารหัสอยู่แล้ว
  • ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจาก Wi-Fi ที่ไม่ปลอดภัยด้วยการใช้เมาส์แบบมีสายและคีย์บอดที่ติดมากับแล็ปท็อปของคุณ
  • ศึกษาการสังเกตกระจกเงาสองทาง สิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตจริง แต่ก็มีอยู่จริง ลองแตะนิ้วลงบนผิวกระจก หากสังเกตเห็นช่องว่างระหว่างนิ้วกับภาพสะท้อน นั่นคือกระจกเงาปกติ  แต่ถ้าไม่มีช่องว่างเลย อาจเป็นไปได้ว่านั่นคือกระจกเงาแบบสองทาง
ส่วนใครที่ต้องหอบหิ้วคอมพ์ไปทำงานนอกสถานที่บ่อยๆ ก็ควรใช้บริการเครือข่ายเสมือนส่วนตัว (Virtual Private Network – VPN) เพื่อเข้ารหัสข้อมูลเข้าและออกทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง หรือเฉพาะบางสถานการณ์ที่ความปลอดภัยมีความสำคัญสูงสุด เช่น เมื่อต้องการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ที่ไม่ปลอดภัยในขณะเข้าพักในโรงแรมหรืออพาร์ทเมนท์ให้เช่า ก็จะช่วยให้เราเดินทางได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องหลอนว่า จะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล
  • 32
  •  
  •  
  •  
  •