เยอะไปใช่จะดี! Google ตัดปัญหา สร้าง emoji แบบไม่ระบุเพศ

  • 180
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อใครๆ ก็ออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียม กระทั่งอิโมจิที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็มีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย อย่างเมื่อต้นปี อิโมจิที่ “ยูนิโค้ด” (หน่วยงานที่ดูแลความเป็นสากลของอิโมจิ) ประกาศออกมา ก็ยิ่งเน้นประเด็นความหลากหลาย โดยลงรายละเอียดทั้งทางเพศ สีผิว และอิโมจิที่เกี่ยวกับผู้พิการ เช่น รถเข็นวีลแชร์ สุนัขช่วยเหลือผู้พิการ สุนัขนำทาง รวมถึงแขนเทียม ขาเทียม เป็นต้น

อิโมจิที่ส่งเสริมความหลากหลาย

วันนี้เราจึงมีอิโมจิให้เลือกใช้มากมาย มีรูปพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกัน มีนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิง มีเงือกผู้ชาย แล้วก็มีภาพคนในทุกเฉดสีผิว ซึ่งถือเป็นการสร้างให้สังคมตระหนักถึงความเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริง โลกเรามีความหลากหลายมากกว่านั้น จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ยิ่งเพิ่มอิโมจิให้เลือกมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งทำให้เราเป็นสากลน้อยลง (เพราะแบ่งแยกมากขึ้น) หรือเปล่า

เจนนิเฟอร์ แดเนียล ดีไซเนอร์ผู้เป็นหัวหน้าทีมดีไซน์อิโมจิของกูเกิล คิดถึงประเด็นนี้มาตลอด โดยเรื่องหนึ่งที่คาใจเธอมากก็คือ ทำไมห้องน้ำจะต้องมีสัญลักษณ์ที่แบ่งแยกเพศ

“บุคคลเป็นได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หรือใครก็ได้
แต่พวกเขา(คนสมัยก่อน) กลับใส่รายละเอียด เช่น ใส่เครื่องแต่งกายลงไป
ทำให้สัญลักษณ์ไม่ได้หมายถึงแค่ ‘บุคคล’ อีกต่อไป
แต่มันหมายถึงผู้ชาย แล้วก็เป็นวัฒนธรรมที่มีชายเป็นศูนย์กลาง” เธออธิบาย

สำหรับเธอแล้ว หัวใจสำคัญของอิโมจิมีไว้เพื่อการสื่อสาร และเมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมบนป้ายห้องน้ำได้ แต่ในฐานะไดเร็คเตอร์แผนกพัฒนาอิโมจิของแอนดรอยด์ เธอจัดการปัญหานี้ได้ผ่านอิโมจิ

นั่นก็คือที่มาของอิโมจิชุดใหม่ จำนวน 53 เซ็ตของกูเกิลที่จะไม่มีการระบุเพศสถานะ โดยเราจะมีแวมไพร์ เงือก เด็ก หรือนักยกน้ำหนักที่ดูแล้วไม่ได้บ่งชี้ถึงเพศไหนเป็นพิเศษ ซึ่งจะถูกนำมาใช้กับ Android Q phones ที่เตรียมวางขายในปีนี้

อิโมจิชุดใหม่ของกูเกิล ที่ตัวคาแรคเตอร์ไม่ระบุเพศ

แดเนียลอธิบายว่า ทีมงานต้องการให้ก้าวข้ามการนิยามเรื่องเพศไป นี่จึงไม่ใช่อิโมจิที่จะแสดงคาแรคเตอร์ของเพศที่สาม หรือความเป็นเพศทางเลือกไหนๆ แต่มันย้อนกลับไปถึงเบสิกของการสื่อสาร โดยข้ามเรื่อง “เพศ” ไปสู่การเป็น “บุคคล”

“เรื่องของเพศไว้ใช้ตอนเลือกชุด แต่คุณสามารถสร้างสิ่งที่ครอบคลุมกว่านั้นได้” เธอกล่าว เหมือนครั้งหนึ่งที่ทีมงานของเธอเอารูปไข่ออกจากชามสลัดเพื่อให้ครอบคลุมถึงสลัดที่เป็นมังสวิรัติด้วย เป็นต้น

อิโมจิชุดใหม่นี้ กูเกิลแทนที่เพศด้วย “ค่ากลาง” ระหว่างหญิง-ชาย โดยทีมนักออกแบบต้องช่วยกันร่างต้นแบบมากมาย ทดลองวาดทรงผม หน้าตา รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่ให้ความเป็นยูนิเวอร์ซัลแบบไม่ระบุเพศ

ยกตัวอย่างเช่น โดยปกติแล้ว “แวมไพร์” ถ้าเป็นผู้ชายก็จะผูกหูกระต่าย ส่วนแวมไพร์ผู้หญิงสวมสร้อยคอ สำหรับแวมไพร์ตัวใหม่ที่ไม่ระบุเพศนี้ จะเปลี่ยนมาใช้สายโซ่คล้องที่เสื้อคลุมแทน

ส่วน “ชาวเงือก” ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ขณะที่เงือกชายเปลือยท่อนบน ส่วนเงือกหญิงใส่ยกทรงเปลือกหอยที่คนทั้งโลกจำได้ เมื่อมาสู่การเป็นเงือกในค่ากลาง ทีมงานก็แค่จัดท่าให้เงือกเอามือกอดอก เท่านี้ก็ไม่ต้องแสดงสถานะว่าเป็นเพศไหนได้แล้ว

อิโมจิชุดใหม่ของกูเกิลเป็น “ค่ากลาง” ที่อยู่ระหว่าง หญิง-ชาย

ทั้งนี้ ยูนิโค้ด พยายามอย่างมากที่จะให้มีการใช้อิโมจิแบบไม่แสดงสถานะทางเพศ แต่ที่ผ่านมา เทคคัมพานีทุกค่ายรวมถึงกูเกิลเองก็ยังคงพัฒนาอิโมจิที่เป็นหญิงชายออกมาอยู่ดี ที่สำคัญคือถึงแม้จะมีเพศให้เลือกหลากหลาย แต่อิโมจิเหล่านั้นก็ยังถูกตั้งค่า default เป็นเพศใดเพศหนึ่ง เช่น คนงานก่อสร้างเป็นเพศชาย คนเข้าซาวน่าเป็นเพศหญิง และการขยับตัวครั้งนี้ก็ทำให้กูเกิลเป็นเทคคัมพานีที่ประกาศใช้อิโมจิซึ่งไม่แสดงเพศเป็นเจ้าแรกของโลก

“มันก็เหมือนสระน้ำที่มีน้ำเย็นจัด ทุกคนล้วนอยากจะลงไปว่าย แต่รอให้ใครซักคนกระโดดลงไปก่อน แล้วเรา(กูเกิล)ก็แค่กระโดดลงไปเป็นคนแรก” แดเนียล กล่าว

ที่มา : fastcompany


  • 180
  •  
  •  
  •  
  •