ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งาน Facebook กว่า 2.38 พันล้านคนต่อเดือน มีคอมมูนิตี้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป และกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจ เข้ามาใช้แพลตฟอร์มโดยมีวัตถุประสงค์หลากหลายรูปแบบ แน่นอนว่าทุกที่มีทั้งคนดีและคนที่ไม่ดีอยู่ร่วมปะปนกันเป็นธรรมดา ซึ่งพื้นที่ออนไลน์อย่าง Facebook ก็เป็นหนึ่งในนั้น
เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกๆ แพลตฟอร์ม โดยผู้ที่รับบทหนักคงหนีไม่พ้นแอดมินที่ต้องดูแลเพจคอยปกป้องข้อมูลทางธุรกิจ ป้องกันลูกเพจจากการถูกล่อลวง จากผู้ประสงค์ร้ายที่จ้องจะฉวยโอกาสยิงเพจเราให้ปลิวตลอดเวลา เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยแก่เพจที่รัก Facebook ได้แนะนำ 4 เคล็ดลับที่แอดมินเพจต้องรู้ ดังนี้
1.เรารู้จักบทบาทของเพจดีแล้วจริงหรือ?
ในหนึ่งเพจ เราสามารถแบ่งผู้ดูแลออกได้หลายคน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีบทบาทแตกต่างกัน ซึ่งการบริหารจัดการบทบาทของทีมทำให้เจ้าของธุรกิจและผู้ดูแลเพจสามารถควบคุมข้อมูลที่ถูกแชร์และลดภัยคุกคามต่อเพจได้ หากบัญชีส่วนตัวที่เชื่อมต่อกับเพจไม่ปลอดภัย
เจ้าของธุรกิจควรจะเป็นหนึ่งในผู้ดูแลเพจ Facebook ร่วมด้วย เพื่อควบคุมความสามารถในการเข้าถึงเพจ นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังสามารถกำหนดบทบาทของผู้อื่นได้ โดยพิจารณาจากระดับที่จำเป็นในการเข้าถึงเพจ เพื่อจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทในการจัดการเพจ | ผู้ดูแล (admin) | ผู้แก้ไข (editor) | ผู้ควบคุม (moderator) | ผู้ลงโฆษณา (advertiser) | นักวิเคราะห์ (analyst) |
จัดการบทบาทและการตั้งค่าของเพจ | ✔ | ||||
แก้ไขเพจและเพิ่มแอพ | ✔ | ✔ | |||
สร้างและลบโพสต์ในนามของเพจ | ✔ | ✔ | |||
สามารถใช้งานแบบไลฟ์ในนามของเพจผ่านโทรศัพท์มือถือ | ✔ | ✔ | |||
ส่งข้อความในนามของเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ||
ตอบกลับและลบความคิดเห็นและโพสต์ในเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ||
ลบและแบนบุคคลออกจากเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ||
สร้างโฆษณา การโปรโมท หรือโพสต์ที่โปรโมท | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ | |
ดูข้อมูลเชิงลึก | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ |
ดูว่าใครเผยแพร่ในฐานะเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ |
2.ข้อมูลส่วนตัวคือสิ่งที่ไม่ควรละเลย
เชื่อหรือไม่ ร้อยละ 28 ของผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศไทย ยอมรับว่าพวกเขาแบ่งปันรหัสผ่านกับผู้อื่น และร้อยละ 19 คิดว่ารหัสผ่านของพวกเขาไม่ปลอดภัย
สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การบอกรหัสผ่านโดยตรง แต่ควรสร้างการเข้าถึง Facebook ของเราผ่าน การยืนยันตัวตนแบบสองชั้น (two-factor authentication หรือ 2FA) แทน เพื่อปกป้องบัญชีผู้ใช้จากการถูกขโมยข้อมูลโดยผู้ประสงค์ร้าย ซึ่งแม้ว่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องบัญชีผู้ใช้งานในระดับสูง แต่ผู้ใช้ Facebook มีเพียงผู้ใช้จำนวนร้อยละ 30 ที่สามารถอธิบายวิธีการทำงานของการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นได้อย่างถูกต้อง
3.อย่ากดยืนยันอะไรมั่วซั่ว ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อฟิชชิ่ง
ฟิชชิ่ง หรือการล่อลวงบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่มาในรูปแบบของการหลอกให้เรา คลิก หรือกรอกข้อมูลอะไรบางอย่าง ซึ่งถือหนึ่งในวิธีการที่ผู้ประสงค์ร้ายใช้บ่อยและได้ผลมากที่สุด โดยผลการศึกษา YouGov ระบุว่าร้อยละ 17 ของผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยไม่รู้จักการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง
เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว ผู้ใช้ Facebook ควรหลีกเลี่ยงตอบรับคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่ไม่รู้จัก ระวังซอฟท์แวร์อันตรายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูล หากเผื่อกดเข้าไปแล้วล่ะก็สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ ควรหาวิธีการลบซอฟท์แวร์ที่เป็นอันตรายได้ทาง Facebook Help Center ทันที
4.ตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำ
แอนมินเพจควรใช้ฟีเจอร์การตรวจสอบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อตรวจสอบกิจกรรมและความปลอดภัยโดยรวมของบัญชีผู้ใช้ รวมถึงเพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบประวัติการเข้าสู่ระบบเพื่อตามหาการเข้าสู่ระบบที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแอพและเกมที่ถูกติดตั้ง ลบสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจออกไป และตรวจสอบบันทึกกิจกรรมทั้งหมด
ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงเพจ Facebook และเชื่อว่าบัญชีผู้ใช้ถูกแฮ็ค กรุณาเยี่ยมชม Facebook Help Center เพื่อส่งคำขอในการขอความช่วยเหลือ หรือเข้าที่นี่ https://www.facebook.com/safety/