ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ทุกฝ่ายพยายามสนับสนุนและหาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือกันทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ล่าสุด “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” ได้ประกาศความร่วมมือกับภาคธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีและการสื่อสารสำหรับประชาชน ท่ามกลางเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการรวมตัวขององค์กรต่าง ๆ ภายใต้การนำของสภาดิจิทัลฯ อาทิ… มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์, สถาบันการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI), AIS, dtac และ truemove H ซึ่งจัดแถลงข่าวผ่านระบบ VDO Conference ถึงแนวทางความร่วมมือในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม มีการระบุถึงปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ท่ามกลางนโยบายสนับสนุนการ Work from Home รวมถึงการ Learn from Home ซึ่งพบว่า “ยอดการใช้งานเพิ่มขึ้นทุกเครือข่าย”
– ยอดการใช้อินเทอร์เน็ตทุกเครือข่ายเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 10-20%
– ในสถานการณ์ปกติ ช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุดของวันจะเป็นช่วงหลังจาก 18.00 น. ไปแล้ว
– แต่ในช่วง COVID-19 ที่ผู้คนหยุดอยู่บ้าน ทั้ง 3 เครือข่ายพบว่า มีการใช้งาน “กระจายตัวตลอดวัน” แต่ช่วงที่พบการใช้งานสูง ๆ เริ่มต้นตั้งแต่ 18.00 เป็นต้นไป
โดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ ชี้แจงว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทย ทั้งภาคการศึกษา ธุรกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวัน สภาดิจิทัลฯ เร่งร่วมมือกับสมาชิกและองค์กรต่าง ๆ นำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารเข้ามาช่วยเหลือ อาทิ ดิจิทัลโซลูชัน, แอปพลิเคชัน, แพ็กเกจมือถือ รวมถึงช่องทางรับบริจาค อาทิ…
“Student SIM” : เพื่อสนับสนุนการ Learn from Home สำหรับนักเรียน นักศึกษา ทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์ AIS, dtac, truemove H ได้เปิดตัวซิมการ์ดในชื่อ Student SIM ซึ่งจะให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือด้วยความเร็ว 4 Mbps ไม่ลดสปีดและไม่จำกัดปริมาณการใช้ต่อเดือน นาน 3 เดือนนับตั้งแต่วันเปิดใช้งาน ในราคา 400 บาท ซึ่งนักเรียน นักศึกษาที่สนใจสามารถแจ้งความต้องการกับสถาบันการศึกษา หรือแสดงบัตรนักเรียน นักศึกษา เพื่อรับซิมโดยตรงผ่านช่องทางของแต่ละเครือข่าย (ช้อป และร้านตัวแทนจำหน่าย-ให้บริการ) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน เป็นต้นไป ตลอดช่วงสถานการณ์ COVID-19
หลายความร่วมมือเสิร์ฟ “ดิจิทัลโซลูชัน” : เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการควบคุมโรค ผ่านโซลูชันต่าง ๆ ประกอบด้วย…
- แอป“Self D-care Heatmap” ระบบติดตามตำแหน่งการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงระยะเวลา 14 วันย้อนหลัง ซึ่งสามารถดูไทม์ไลน์ของตัวเองย้อนหลังได้ ขณะที่ ผู้ป่วยซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาก็สามารถบันทึกข้อมูลการรักษาและการตรวจสภาพร่างกายเพื่อให้แพทย์เจ้าของไข้ใช้ในการเฝ้าดูและติดตามผลการรักษาได้
- แพลตฟอร์ม “uSAFE” แพลตฟอร์มคำนวณความเสี่ยงว่ามีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ โดยอาศัยการคำนวณระยะห่างจากผู้ติดเชื้อและระยะเวลาที่อยู่กับผู้ติดเชื้อ ด้วยการใช้ AI ประมวลผลย้อนหลัง 14 วัน
- แอปพลิเคชัน “QR Checkin” ระบบติดตามประวัติการเดินทางของผู้ป่วย COVID-19 ว่าไปสถานที่ใดบ้าง โดยใช้การสแกน QR Code เพื่อเก็บข้อมูล
- โซลูชัน“Ordering & Distribution of Medical Supply” : เพื่อจัดการการจัดซื้อและแจกจ่ายที่ครบวงจร ตั้งแต่การลงทะเบียน การจัดซื้อ การขนส่ง การเก็บข้อมูล แสดงผลรายงานผลแบบ real-time dashboard เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข
- แพลตฟอร์ม “Central Donation Platform” : แพลตฟอร์มเชื่อมโยงระหว่างผู้บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และสถานพยาบาล เพื่อกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประชาชนบริจาคไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ รวมถึงช่องทางการรับบริจาคให้ตรงกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลผ่าน “helpital.com” ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในสัปดาห์หน้า รวมถึงแอปด้านสุขภาพของผู้สูงวัยในชื่อ “แทนคุณ” เป็นศูนย์รวมบริการผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้าน โดยจะครอบคลุมการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โดยบุคลากร ทั้งพยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด และผู้ช่วยเหลือคนไข้ จากผู้ให้บริการมืออาชีพแทนคุณ ซึ่งยังครอบคลุมถึงรถแท็กซี่ รถแอมบูแลนซ์ และระบบ Telemedicine ด้วย
การสนับสนุนด้านข่าวสาร : จะเป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในทุกด้าน ซึ่งเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ covid-19.dct.or.th, Facevook : Digital Council of Thailand – DCT และรายการในช่อง TNN รวมถึงพัฒนาเว็บไชต์ www.dct.co.th ให้เป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชัน สำหรับการประชุมและเรียนออนไลน์ ได้แก่ Zoom, Google Hangouts, Skype, Line, FaceTime, Facebook Messenger, Microsoft Team และ True VWORLD
นโยบายกฎหมาย : จะมีการผลักดัน “การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” อย่างถูกกฎหมาย โดยประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป และแนวทางการดำเนินการของสภาดิจิทัลฯ ทั้งยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายอุปสรรคต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น การกำหนดให้ต้องมีผู้ร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นในปัจจุบัน เป็นต้น