ก่อนจะควักเงินเปย์ให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเพราะความเย้ายวนใจ สิ่งที่ต้องถามตัวเองให้ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งก่อนจะเริ่มลงทุน หากไม่อยากเจ็บตัวหนักคือ:
ข้อแรก ความรู้เกี่ยวกับตลาดตรงหน้ามีพอเหมาะแล้วหรือยัง?
ข้อสอง ทัศนคติในใจต่อสิ่งที่กำลังจะลงทุนนั้นถูกต้องหรือไม่ (right mindset)?
เพราะถ้ายังตอบไม่ได้ว่ามีความรู้และทัศนคติที่เหมาะสมก่อนเริ่มลงทุน โอกาสที่เงินก้อนนั้นจะงอกเงยมีน้อยมาก ในทางกลับกัน โอกาสที่จะเจ็บตัวหนักมีแววสูงมากเลยทีเดียว ยิ่งเป็นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูงลิ่วด้วยแล้ว คงจะไม่ต้องเอ่ยมากนัก ว่าเจ็บทีนั้นหนักขนาดไหน ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ก่อนเข้ามาในตลาดนี้คือ ความรู้ที่พอเหมาะและทัศนคติที่ดี เพื่อเป็นดั่งอาวุธและชุดเกราะให้กับตัวเรานั่นเอง
“ความรู้” คืออาวุธ
การเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ก็เปรียบดั่งการเข้าสมรภูมิรบ ที่มีความรุนแรงและผันผวนสูงกว่าตลาดดั้งเดิมหลายเท่าตัว ดังนั้นคงจะน่ากลัวไม่ใช่น้อย หากเข้ามาในสนามรบแห่งนี้ในสภาพที่ไร้อาวุธ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้ในระดับที่เหมาะสมก่อนเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
หนึ่งในความรู้พื้นฐานที่เราคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือ ควรรู้ตัวว่าจะมาเป็น นักลงทุน หรือ นักเทรด กันแน่ เพราะถึงแม้ทั้งคู่จะมีบทบาทที่ทับซ้อนกัน แต่ในเชิง “เป้าหมาย” นั้นค่อนข้างแตกต่าง ในขณะที่นักลงทุนมักจะต้องพยายามศึกษาในสิ่งที่ตนกำลังจะลงให้มากและมองระยะยาวหลักเป็นปี นักเทรดนั้นไม่จำเป็นจะต้องรู้ลึกเท่านักลงทุนเสมอไป แต่อาจจะต้องมีความเฉียบแหลมในการใช้ เทคนิคอล อนาไลซิส (TA) เพื่อวิเคราะห์กราฟและหาจุดซื้อ-ขายในระยะเวลาอันสั้น แน่นอนว่าทุกคนสามารถเป็นทั้งนักลงทุนและนักเทรดพร้อมๆ กันไปในตัวได้ แต่ถ้ายังไม่ชำนาญ ก็อาจจะเลือกศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ดังนั้นเมื่อมีความรู้เกี่ยวกับ “ตัวเราเอง” แล้ว จึงจะสามารถทำความเข้าใจถึงบทบาทที่เราเป็น และความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทนั้นกับ “ตลาด” ตรงหน้า
ตลาดตรงหน้าในที่นี้ก็คือ “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “คริปโตฯ” สิ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือ “ลักษณะนิสัย” หลักๆ ของตลาด เช่น ขึ้นแรงแต่ก็ลงได้แรงมาก หรือสินทรัพย์ดิจิทัลหลายตัว สามารถขึ้นแบบไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรเลย
หลังจากที่พอจะมีอาวุธแห่งความรู้แล้ว ต่อมาก็คือการมี “ชุดเกราะ” เพื่อลดทอนความเจ็บที่จะได้จากสมรภูมิรบแห่งนี้
“ทัศนคติในใจ (mindset)” คือชุดเกราะ
ทัศนคติในใจที่ดีกับไม่ดีนั้นดูได้ไม่ยากเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราอาจจะได้ยินเรื่องราวของผู้คนมากมายที่ลงเงินเพียงไม่กี่พันหรือหมื่นบาท และไม่นานเงินที่ลงไปก็งอกเป็นหลักแสน-ล้านภายในเวลาไม่นาน เมื่อได้ยินเช่นนั้นก็เลยรีบ all in ใช้ทุนเกิน 50% ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลซักสอง-สามตัวที่ใครๆ ก็พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นในยูทูบหรือจากห้องแชตว่าดีนักดีหนา สามารถ 10x ได้ แต่ทว่าพอราคาตกก็รีบขายทิ้งทันทีเพราะอารมณ์ความกลัว ไม่ใช่เพราะใช้หลักการ cut loss
ถ้าหากทำแบบดังกล่าว ก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนว่ามี “ทัศนคติ” ที่อาจจะไม่ถูกนัก เพราะมีความคล้ายกับทัศนคติของนักพนัน และทัศนคติของนักพนันนั้นอันตรายมาก เพราะฉะนั้นหากไม่อยากตกอยู่ในจุดที่อันตราย ก็ต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องเสียก่อน
ทัศนคติที่ถูกต้องก็คือ การพยายามลดอารมณ์ลงและเพิ่มความใจเย็นสุขุมให้มากขึ้น พร้อมมีแบบแผนหรือกลยุทธ์อย่างชัดเจน เช่น ในตอนนี้ที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราเข้าสู่ตลาดหมีหรือหน้าหนาวของคริปโตฯเต็มรูปแบบ ทัศนคติที่ดีคือ หากเรายังมีความเชื่อในตลาดนี้ ก็ไม่ควรให้ความกลัวเข้าครอบงำ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปล่อยการ์ดลง) ให้เห็นโอกาสที่จะค่อยๆ ลงทุนด้วยความสุขุมรอบคอบพร้อมความรู้ที่ดี
ความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้สำคัญมากหากไม่อยากเจ็บตัวหนัก เราสามารถที่จะสังเกตและแยกแยะได้อย่างชัดเจนเลยว่าผู้ที่มีสองสิ่งนี้จากผู้ไม่มีนั้นเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างจากภายในงาน Creative Talk Conference 2022 (CTC) จัดขึ้นที่ BITEC บางนา วันที่ 25 มิถุนายน ภายใน Vision stage หัวข้อ “The Secret of Investing in Digital and Physical World” โดยมีคุณ คุณธนพงษ์ ณ ระนองแห่ง Beacon VC กับ คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ แห่ง Ookbee มาเป็น speaker ซึ่งเป็นแบบตัวอย่างที่ดี
เคล็ดลับที่ไม่ค่อยลับ
Speaker ภายในงานทั้งสองคนได้มอบเคล็ดลับขั้นพื้นฐานให้ผู้ฟังในแบบที่เข้าใจง่ายแต่ลึกซึ้งมาก โดยเฉพาะในหัวข้อของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีผู้คนมากมายสนใจ ทั้งสองเผยว่า ตนถือสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างน้อย 50% ของพอร์ทส่วนตัว
เริ่มจาก คุณธนพงษ์ ให้ข้อมูลว่าทาง Beacon VC ในนามบริษัท ปีที่ผ่านมาลงทุนทั้งหมด 6 อย่าง โดยครึ่งหนึ่งเป็นในส่วนของ “โลกเก่า” หรือตลาดดั้งเดิม และอีกครึ่งเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่บริษัท Alchemy ที่เป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับ web 3 ตามด้วยเว็บเทรดนอกแห่งหนึ่ง และโปรเจกต์ DeFi ในไทยที่ยังไม่เปิดตัว
คุณธนพงษ์ที่เป็นดั่งบอสใหญ่แห่ง Beacon VC พูดว่าส่วนตัวช่วงนี้คริปโตนั้น “หอมหวน” เลยกระจายพอร์ตการลงทุน (allocate wealth) ครึ่งๆ ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับกองทุนปกติ แล้วก็แอบยิ้มออกมาว่า “เจ็บตัวไปพอสมควร” กับสินทรัพย์ดิจิทัล
ถึงแม้คุณธนพงษ์จะบอกว่าตนเจ็บตัวไปพอสมควรกับสินทรัพย์ดิจิทัล และช่วงนี้ไม่ใช่แค่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ร่วงหนัก ทว่าทัศนคติของความเป็นนักลงทุนที่เก่งกาจก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ มองว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องระวังมากขึ้น แต่ก็อยู่ในสภาพที่ “เหมาะแก่การทยอยเก็บของเข้าพอร์ต” (ไม่ได้เจาะจงแค่ที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล) โดยเฉพาะตัวที่เราคิดว่ามีความเชื่อมั่นและความรู้ความเข้าใจที่ดี
ทั้งนี้ คุณธนพงษ์ก็อยากจะเตือนว่า สำหรับตัวเขานั้น:
“ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีความเป็น แฟนพันธ์แท้ สูงมาก ไม่อยากให้ใครกระโดดเข้ามาเล่นโดยไม่ทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน”
ส่วนของคุณณัฐวุฒิดูจะหนักมากทางสายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเริ่มลงทุนในตลาดนี้มากกว่า 6 ปีแล้ว ในตอนนี้พอร์ตส่วนตัวถือเกิน 50% ไปทางสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึง NFT ส่วนพอร์ตที่เหลือจะเป็นพวก mutual fund ที่เป็นหุ้นเทคจีนหรือสหรัฐ และหุ้นที่เกี่ยวกับสุขภาพ (health care) ไปจนถึง passion investment อย่างศิลปะและเรือ
คุณณัฐวุฒิได้ให้คำแนะนำในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ว่า โดยส่วนตัวพอเวลาผ่านไป ถ้าหากเราสามารถลงทุนในระยะยาวได้ ผลตอบแทนอาจจะดีกว่านั่งเทรดทุกวันเสียอีก และเตือนว่าให้ระวังการซื้อขายเข้า-ออกบ่อยๆ และย้ายธีมการลงทุนไปเรื่อยๆ เพราะเป็นไปตามกระแสเกิน ดั่งคำพูด “ราคาขึ้นเข้า ราคาตกขาย” ซึ่งจริงๆ แล้วในช่วงนี้ที่ตลาด “ตกๆ พังๆ” ควรเริ่มมองหาจุดเข้า และไปขายอีกครั้งตอนขึ้นสูง ไม่ใช่ตรงกันข้าม
ความหมายของคำว่า “หาจุดเข้า” ของคุณณัฐวุฒิคือ ให้รู้จักเทคนิค Dollar Cost Average (DCA) เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง โดยการแบ่งเงินลงทุนจำนวนไม่เยอะเพื่อซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลหรือหุ้นที่เล็งไว้ในวันและเวลาเดียวกัน เช่น ซื้อบิทคอยน์ทุกๆ สิ้นเดือนเวลาสองทุ่มครึ่งโดยเงินจำนวนเท่ากันไปเรื่อยๆ แล้วไปทยอยขายตอนเป็นขาขึ้น ในกรณีของคุณณัฐวุฒิได้ทยอย DCA ซื้อบิทคอยน์ตั้งแต่ช่วงราคาเพียง 3 หมื่น ถึง 1 แสน และเริ่มทยอยขายตอนราคาบิทคอยน์เริ่มแตะ 9 แสน ถึง 1.5 ล้าน
ถ้าเข้าใจและทำตามเทคนิค DCA ที่คุณณัฐวุฒิกล่าวไว้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดพังๆ แบบนี้ และมองในกรอบการลงทุนระยะยาวแบบ 2-3 ปี ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงอย่างมากและทำให้ไม่เจ็บตัวหนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสาย all in ที่เปย์หนักๆ เข้าซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงไม่กี่ตัว แถมเป็นช่วงขาขึ้นที่ทุกคนกำลังพูดถึงและสนุกสนาน ดังนั้นพอร่วงทีก็แน่นอนว่าต้องเจ็บหนักสุดๆ
ทั้งนี้คุณณัฐวุฒิไม่ได้มองว่าความเจ็บเป็นเรื่องไม่ดี แต่มันคือบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับนักลงทุน เพื่อให้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดของตัวเอง และกลับไปเพิ่มความรู้และปรับทัศนคติก่อนเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ cycle หน้า คุณณัฐวุฒิได้ทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ปรับทัศนคติโดยการมองแบบนี้:
“ปีที่แย่เป็นปีที่มีโอกาศ อย่าไปมองเป็นจังหวะที่เราจะเซ็ง แล้วปีที่ดีคือจังหวะที่มันขึ้น ต้องมองว่าปีที่แย่คือต้องซื้อตุนไว้เยอะ และไปขายตอนปีที่ดี การลงทุนคือการซื้อถูกขายแพง ไม่ใช่ซื้อในบรรยากาศที่แพงและไปขายแพงกว่า มันไม่มีสิ้งนั้น”
เรามักจะได้ยินบ่อยครั้งว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง จึงมีความสำคัญที่เราจะต้องบริหารความเสี่ยงนั้นให้ได้ ดังนั้นการถามตัวเองว่ามีความรู้และทัศนคติดีพอแล้วหรือยัง ก็เปรียบเสมือนการเตรียมอาวุธและชุดเกราะให้พร้อม ก่อนเข้ารบในสมรภูมิที่มีความรุนแรงและผันผวนสูงมาก และสิ่งที่ต้องคอยย้ำเตือนตัวเองเสมอคือ ในสมรภูมิแห่งนี้มีระดับหัวกะทิและอัจฉริยะจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาเล่น เราต้องอย่าลืมว่าตลาดนี้มีความเสรีมากกว่าและกฎระเบียบน้อยกว่าตลาดดั้งเดิม ดังนั้นการมีอาวุธและชุดเกราะนั้นสำคัญมาก นอกจากนี้การตั้งคำถามกับตัวเอง ยังเป็นเครื่องมือวัดว่าเราพร้อมที่จะรับความเจ็บได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายนี้ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่กำลัง “พังๆ” จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเรียนรู้และปรับทัศนคติให้พร้อมสำหรับ “คลื่น” ถัดไป