ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงยิ่งต้องให้ความสำคัญกับโลกการทำงานในอนาคตมากขึ้น เพราะปัจจุบัน การทำงานกับหุ่นยนตร์ (Robotics) การทำงานกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) งานเป็นแบบอัตโนมัติ (Automation) และการเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานชนิดที่เป็นพาร์ทไทม์ ชั่วคราว ฟรีแลนซ์ รับงานอิสระ หรืองานเอาท์ซอร์สที่ได้รับจากคนอื่นอีกทอด (Gig Economy) กำลังเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น
ในต่างประเทศเอง เทรนด์เหล่านี้เดินมาได้เรื่อย ๆ และเป็นต้นแบบให้แรงงานและรูปแบบการทำงานในภูมิภาคอื่นทั่วโลกนำไปเป็นแบบอย่าง
โลกการทำงานปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ในเมืองไทยเอง แม้จะมีตัวเลขคนว่างงานเกือบแตะ 5 คน สถิติเหล่านี้ออกมาจากกระทรวงแรงงาน แต่ใครจะรู้บ้างว่า ในบรรดาตัวเลขเหล่านี้ มีคนที่รับงานเอาท์ซอร์ส ฟรีแลนซ์ หรือพาร์ทไทม์ กันกี่คน และในระว่างนี้ หลายคนที่รายงานตัวว่าว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม ก็จะบอกว่า ตอนนี้ว่างงาน แต่ถ้ามีงานที่ใช่และเงื่อนไขที่ชอบ ก็ยินดีกลับไปใช้ชีวิตแบบคนกินเงินเดือนเหมือนเดิม
เทรนด์รับงานอิสระ (Gig Economy) เติบโตขึ้น
ในยุคที่การรับงานอิสระกำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก และคนทำงานรุ่นเก่าถึงกับช็อคและต้องยอมรับว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของแวดวงการจ้างงาน ในความเป็นจริงแล้ว เทรนด์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับมีมานานแล้ว เช่น พอหลังเลิกงานก็ไปขับรถรับส่งผู้โดยสารหารายได้อีกทาง รับงานสอนหนังสือ ดูแลเด็กตามบ้าน หรือรับงานแปลเอกสารต่าง ๆ
หลายคนสงสัยว่า เทรนด์การรับงานอิสระเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
ที่จริง เทรนด์การรับงานอิสระมีมานานมาก และเทรนด์การรับงานอิสระเริ่มโตมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกล่าสุด และที่น่าทึ่งก็คือ เทรนด์การรับงานอิสระไม่ใช่สัญญาณที่บอกว่า เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ หรือไม่มีงานให้คนทำ แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าง กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่เอื้อให้คนมากมายสามารถเข้ามาหาประโยชน์จากงานอิสระเพิ่มมากขึ้น และคนที่รับงานอิสระส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกบังคับ แต่พอใจที่จะรับงานเอง
ปัจจุบัน เราเห็นคนที่เกษียณอายุมากมายเข้ามารับงานอิสระ และคนเหล่านี้เลือกรับงานที่ตัวเองถนัดและสามารถควบคุมได้ เราเห็นคนมากมายสามารถดูแลตัวเองและงานได้ อีกทั้งยังใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่น ในวิถีที่การรับงานอิสระสามารถเอื้อได้ และรูปแบบธุรกิจในปัจจุบันก็เอื้อและผลักดันให้เกิดกระแสการรับงานอิสระ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักเสมอคือ ทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง โดยพิจารณาและวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ที่รับงานอิสระทำงานอย่างมีความสุขและเต็มที่กับงาน และในขณะเดียวกับผู้ว่าจ้างก็ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจ้างงานด้วย และต้องให้การจ้างงานนั้นยุติธรรมและยั่งยืนไปพร้อมกัน
สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารองค์กรต้องตระหนักคือ ต้องแยกให้ออกระหว่าง ลูกจ้างที่รับงานอิสระ ที่ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไรมากมายตามเงื่อนไขทางกฎหมายแรงงาน และพนักงานประจำที่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขกฎหมายแรงงานทุกประการ ผู้บริหารจะต้องแยกให้ได้และปฏิบัติต่อลูกจ้างที่รับงานอิสระอย่างเป็นธรรม และในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนให้โมเดลธุรกิจตัวเองเดินหน้าตามเงื่อนไขทางกฎหมายต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุด ผู้บริหารต้องมองภาพแห่งความเป็นจริง
จากการทำแบบสอบถามของ McKinsey ล่าสุด ซึ่งสำรวจความต้องการในการรับงานอิสระใน 5 ประเทศใหญ่ ๆ ในตะวันตกได้แก่ อังกฤษ และอเมริกา และอื่น ๆ พบว่า ผู้ที่รับงานอิสระจำนวน 2 ใน 3 ตอบว่า พวกเขาเต็มใจรับงานอิสระเพราะมีอิสระมาก และยังพบอีกว่า หลายรายมีทักษะทีโดดเด่นจนสามารถหาลูกค้าได้จำนวนมาก ๆ และสามารถช่วยงานนายจ้างได้ตรงจุด
แต่กลุ่ม 1 ใน 3 ที่เหลือที่บอกว่า ตัวเองรับงานอิสระเพราะจำเป็นต้องทำ และส่วนใหญ่จำเป็นเพราะถูกร้องขอให้ช่วยทำให้ ในขณะที่ หลายรายหางานประจำไม่ได้ ดูตัวอย่างได้จากแรงงานในประเทศสเปน หลายคนมีงานประจำอยู่แล้ว แต่เพราะรายได้ประจำไม่สอดคล้องกับรายจ่าย จึงผลักดันให้คนเหล่านี้รับงานอิสระมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงงานในกลุ่มนี้กังวลเรื่องรายได้ที่มั่นคง กระนั้น กลุ่มแรกที่เต็มใจรับงานอิสระเพราะตัวเองมีความสามารถท่วมท้นก็ยังมีความกังวลในเรื่องรายได้ไม่แน่นอนเช่นกัน แต่หากเทียบกันแล้ว กลุ่มที่รับงานอิสระแบบจำยอมดูจะกังวลเรื่องความมั่นคงของรายได้และผลประโยชน์ที่ไม่แน่นอนมากกว่า
คนที่รับงานอิสระมี 2 ประเด็นที่ต้องกังวล คือ ประเด็นแรก เราอาจเห็นหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มจะทำตัวเป็นบริษัทกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด และประเด็นที่สองคือ ปรากฏการณ์อูเบอไรเซชัน (Uberization) หรือการที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักเพราะคู่แข่งที่คาดไม่ถึงหรือคู่แข่งนอกอุตสาหกรรม หลายบริษัททั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาเมื่อธุรกิจโมเดลไม่ได้เป็นไปตามเป้า เพราะคนที่เคยทำงานประจำตามที่โมเดลกำหนดไว้หันกลับไปรับงานอิสระแทน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้เร็วที่สุด เพราะในที่สุดแล้ว ผู้ใช้บริการ ลูกค้าหรือนายจ้างยุคใหม่หลายคนก็พอใจกับการจ้างแรงอิสระเหล่านี้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น การขับรถรับส่งผู้โดยสารหลังเลิกงาน หรืองานอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้คนทำเฉพาะทาง และบ่อยครั้งที่นายจ้างจะพบว่า การจ้างานแบบนี้ช่วยตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจ และในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่าการจ้างงานในรูปแบบดั้งเดิมด้วยซ้ำ
เทรนด์การรับงานอิสระจะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเมื่อดีมานด์เกิดขึ้นและช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคนในท้องที่ เช่น บางคนออกไปขับรถรับส่งผู้โดยสารหลังเลิกงานเพราะบริเวณดังกล่าวไม่มีบริการขนส่งอื่น หรือแท็กซี่ไปไม่ถึง หรือสถานที่ทำงานไม่ได้ใกล้บ้านและหากต้องรับงานก็เดินทางไกล จึงตัดสินใจรับงานและทำที่บ้านเป็นชิ้น ๆ ไปดีกว่า เป็นต้น
ประเด็นสำคัญคือ ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีเศรษฐกิจแบบ Sharing Economy และเทรนด์การรับงานอิสระ และผู้บริหารควรมองว่าเป็นโอกาสมากกว่าผลเสีย เพราะไม่เพียงแต่คุณภาพงานและบริการทีได้จะออกมาดีแล้ว ทุกคนยังมีความยืดหยุ่น และระบบการจ้างงานที่ขจัดคนกลางออกไป ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต นายจ้างได้มีโอกาสคุยกับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานโดยตรง และราคาต้นทุนที่ลูกจ้างแบบรับงานอิสระก็ไม่แพงอีกด้วย
เราอาจได้เห็น มีการทำงานร่วมกันระหว่างลูกค้าและคนรับงานอิสระมากขึ้น โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ก็จะมีให้เห็นตามมาด้วย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็อิงมาจากการที่ เราสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีสถานที่ทำงานประจำ หรือไม่ต้องมีระบบนายจ้างลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานแบบเต็มใบ แต่ละคนแค่มีที่นั่งทำงานที่ตัวเองชอบและมีเทคโนโลยีอยู่ในมือ ก็สามารถมีความสุขกับการสร้างสรรค์ผลงานในระดับโลกได้ แต่ผู้บริหารต้องตระหนักเสมอว่า การจ้างงานจะต้องยุติธรรม ธุรกิจต้องยุติธรรมต่อตลาด และที่สำคัญเรื่องภาษีและอะไรที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ก็จะต้องทำให้สอดคล้องกันไปด้วย
สิ่งที่บริษัทต้องตระหนัก
เมื่อเทรนด์การทำงานแบบรับงานอิสระกำลังเติบโต พร้อมกับเทคโนโลยี นายจ้างเองก็ต้องตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ให้ได้ หลัก ๆ แล้วคนที่รับงานอิสระคือต้องการความยืดหยุ่น เช่น เวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่น สภาพการทำงานที่ยืดหยุ่น และรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ หลายบริษัทยังเป็นองค์กรดั้งเดิมและยังยึดติดกับรูปแบบการทำธุรกิจที่มีโครงสร้างแบบเจ้าขุนมูลนายอยู่
และสิ่งที่สำคัญสำหรับบริษัทที่จะต้องนำไปคิดคือ จะมีกลยุทธ์ใดและผลประโยชน์อะไรที่จะกระตุ้นให้คนเหล่านี้สร้างคุณประโยชน์ให้กับบริษัทได้ และบริษัทจะทำอย่างไรให้ลูกจ้างประเภทนี้มีรายได้ที่แน่นอน เพราะคนที่จะเข้ามาสู่เทรนด์การทำงานแบบนี้ นอกจากต้องการความยืดหยุ่นแล้ว ยังต้องการรายได้ที่มั่นคงอีกด้วย
เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ประการแรกคือ ความยืดหยุ่นต้องเกิดขึ้นทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งเป็นหัวใจของการรับงานอิสระอยู่แล้ว ทุกฝ่ายต้องจับเข่าคุยกันให้ win-win หรืออีกรูปแบบหนึ่งคือ ข้อกำหนดมาจากนายจ้างฝ่ายเดียวและลูกจ้างรับได้ เช่น การันตีงานให้ลูกจ้างว่าจะได้เท่านั้นเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาจริงสามารถทำได้เท่านี้ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดีมานด์ของงาน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อตกลงที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ในกรณีแรก เมื่อถึงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ความเสี่ยงของการไร้งานก็ตกเป็นของลูกจ้าง และถ้าพูดถึงตัวเลือกที่สอง ลูกจ้างมีสิทธิ์ในงานอยู่บ้าง คือจะมีงานในปริมาณนี้ประจำ เพียงแต่อาจต้องกังวลว่า หากลุกขึ้นมาตั้งคำถามนายจ้างเพราะไม่พอใจในเรื่องปริมาณงานที่ไม่มากไปกว่าที่ตกลงแล้ว ในอนาคต นายจ้างอาจเลือกไม่จ้างต่อก็ได้ เพราะไม่ได้มีสิทธิ์เท่าพนักงานประจำ
ตัวอย่างที่ดีเรื่องของการรับงานอิสระและทุกฝ่ายพึงพอใจเห็นได้จากการที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในอังกฤษใช้แอพพลิเคชัน ที่ช่วยให้พนักงานสามารถเข้าทำงานล่วงเวลาที่ร้านสาขาใดก็ได้ที่มีงานและลูกจ้างสามารถทำต่อได้ ด้วยวิธีนี้ พนักงานที่อยู่อีกแผนก สามารถที่จะเรียนรู้งานของอีกแผนกได้ในช่วงนอกเวลา และเป็นการเพิ่มทักษะและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกจ้าอีกด้วย
“งานดี” คืออะไร และสำคัญอย่างไร
หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า จริง ๆ แล้วคำว่า “งานดี” คืออะไร งานดีหมายถึงรายได้ดีใช่หรือไม่ หรืออย่างอื่นอีกที่เป็นปัจจัยตัดสินว่าอะไรคืองานดี
ค่าแรงมีความสำคัญต่อคนทำงานมาก โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำ อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ได้กังวลเรื่องของรายได้มากรายได้น้อยเท่าไรนัก แต่จะกังวลในเรื่องของรายได้และใครเป็นคนป้อนงานให้ หรือใครมาเป็นหัวหน้างาน แน่นอน ทุกคนต้องการค่าจ้างที่เป็นธรรม และก็ต้องการการจ้างงานที่เป็นธรรมด้วย แต่เมื่อไรก็ตามที่แรงงานกลุ่มนี้ถึงจุดที่ได้ทั้งค่าแรงที่เป็นธรรมและการจ้างงานที่เป็นธรรมแล้ว งานวิจัยบอกว่า คนเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับค่าจ้างน้อยมาก และจะหางานที่ตัวเองคิดว่า “ดี” นั่นแปลว่า คนเหล่านี้กำลังหาความหมายหรือคุณค่าในงานที่ทำ คนเหล่านี้อยากทำอะไรที่มีคุณค่า หรืออะไรก็ตามที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจ
คนทั่วไปอยากเลือกหรือตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ คนที่ประสบความสำเร็จในงานแบบนี้จะบอกว่า “ฉันทำงานที่ฉันเลือกได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และฉันก็มีพรสวรรค์ในการทำสิ่งนั้น ฉันทำให้ตัวเองมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในอาชีพ และถึงตอนนี้ฉันก็ได้ทำในสิ่งที่ฉันทำได้ดี” และเมื่อพูดถึงการทำงานเป็นทีม คนเหล่านี้ก็จะบอกว่า “ฉันเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และฉันได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม”
ค่าจ้างเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแรงงานประเภทนี้ คนที่ทำงานในองค์กรแบบเต็มเวลาจะรู้อยู่แล้วว่า หากจ้างพนักงานที่มีทักษะต่ำ เงินเดือนก็ต้องต่ำด้วย และคงหนี้ไม่พ้นกับการจ้างงานนอกแบบนี้ในบางกรณีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบอกว่า ค่าจ้างปัจจุบันไม่ได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพราะค่าจ้างทั่วโลกไม่ได้ขยับไปไหน และในบางประเทศก็ยังเท่าเดิมมากว่าทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม แรงงานหญิงจะกังวลในเรื่องของรายได้น้อยกว่าแรงงานชาย โดยแรงงานหญิงอยากได้ความยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะที่แรงงานวัยเกษียณอยากได้ความยืดหยุ่นมากกว่ารายได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเหล่านี้ได้รับสวัสดิการช่วงเกษียณจากรัฐซึ่งเพียงพอแล้ว
ความคาดหวังกับความเปลี่ยนแปลง
ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือรวยกว่ารุ่นพ่อแม่ แต่ดูเหมือนว่า เงินอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นตัววัดคุณภาพชีวิตที่ดีหรือการเป็นคนรวยของคนรุ่นใหม่เสมอไป
เมื่อ 20 ก่อน หากอยากอ่านหนังสือซักเล่มต้องมีเวลาไปห้องสมุด ไปดูหนังก็ต้องมีเวลาเดินทางไปซื้อตั๋วหนังและเข้าโรงหนัง และการที่จะติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่กันค่อนโลก คุณต้องรวยเท่านั้น จึงจะทำได้ทุกอย่าง แต่ปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ทุกอย่างก็จบบนหน้าจอเดียวได้ และค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้แพงเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น การมีคุณภาพชีวิตหรือรวยในหมู่คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการมีเงินเสมอไป
การมาของเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน สตรีมมิ่ง อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทำให้ชีวิตคนรุ่นใหม่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำอะไรได้เร็วขึ้น สมัยก่อน หลายคนมองว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาทำลายอาชีพ (Job) ต่าง ๆ แต่อย่าลืมว่า แม้บางอาชีพจะสูญหายไป แต่งาน (Work) ก็ยังต้องอยู่ แล้วยังต้องอาศัยคนขับเคลื่อนงานนั้น ๆ ต่อไป เพราะยังมีหลายสิ่งหลายอันที่ยังต้องทำให้โลกใบนี้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ค่าครองชีพขั้นต่ำ (Universal Basic Income) ตอบโจทย์แรงงานแบบใหม่
แนวคิดเรื่องค่าครองชีพขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานในหลายประเทศ การผลักดันแนวคิดทางเศรษฐกิจที่รัฐและชุมชนทางการเมืองจะต้องจ่ายเงินที่เพียงพอต่อการครองชีพขั้นพื้นฐานให้ประชาชนยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในหลายสังคม เพราะฝ่ายต่อต้านมักลุกขึ้นมาตีตรานโยบายนี้ว่าเป็น “นโยบายที่สนับสนุนให้คนขี้เกียจ” เพราะนโยบายนี้มาจากแนวคิดของลัทธิมากซ์ แปลว่า เราทำงานกันแค่ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเวลาที่เหลือก็มานั่งอ่านปรัชญา แต่งกลอน และตกปลา แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถสร้างโลกให้ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้
ที่จริง แนวคิดเรื่องค่าครองชีพขั้นต่ำมีหัวใจสำคัญคือเรื่องของความยืดหยุ่น และสามารถเลือกทำงานใดก็ได้ รวมถึง การทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ดูแลลูก ดูแลญาติพี่น้อง ดูแลเพื่อบ้าน อาสาสมัครทำนั่นนี่โน่น และทำอะไรให้สังคมได้
และแทนที่เราจะสนับสนุนให้คนขี้เกียจ วัน ๆ ไม่ยอมทำอะไรเลย แนวคิดเรื่องค่าครองชีพขั้นต่ำที่เนื้อแท้แล้ว ต้องการให้คนได้มีเวลาทำอะไรที่ชอบและเป็นประโยชน์ เช่น ช่วยให้แรงงานอิสระรับงานนอกมากขึ้น บางรายสามารถตั้งบริษัทสร้างกิจการของตัวเองได้อีก
ผลกระทบจากการมาของเทคโนโลยี
เคยมีงานวิจัยในอดีตระบุว่า งานราว 20-30 เปอร์เซ็นต์เป็นงานที่ไร้ประโยชน์ แต่หากพิจารณาดูดี ๆ แล้ว สิ่งที่ไร้ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่ตัวงาน แต่อยู่ที่ลักษณะของงาน และงานพวกนี้ ต่อไปมนุษย์ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะในอีก 20 ปีข้างหน้า หุ่นยนตร์จะเข้ามาทำแทน โดยเฉพาะงานที่มีลักษณะทำซ้ำ ๆ ได้
คำถามถัดมาคือ แล้วคนจะตกงานหรือไม่ คำถามนี้ถูกถามกันทั่วโลก หลายคนฟันธงว่ามนุษย์จะพากันตกงาน แต่ที่จริงแล้ว ต้องตั้งสติและมานั่งวิเคราะห์ทำความเข้าใจกันไปทีละจุด
ประเด็นสำคัญคือ หุ่นยนตร์และปัญญาประดิษฐ์ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทำงานตามที่มนุษย์สั่งเท่านั้น เมื่อเข้าใจประเด็นนี้แล้ว ให้ย้อนกลับไปทำความเข้าใจมนุษย์เรื่องของ “งานดี” และ “คุณภาพชีวิตที่ดี” อีกครั้ง และลองมองภาพว่า จะดีแค่ไหนถ้าหุ่นยนตร์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพื่อทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยมนุษย์ในเรื่องของการศึกษาที่ดีขึ้นและสุขภาพดีขึ้น และด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะมีหุ่นยนตร์ที่ล้ำสมัยและคิดได้เหมือนคนมากแค่ไหน มนุษย์ก็ไม่มีทางที่จะตั้งโปรแกรมใดในหุ่นยนตร์ให้ทำอันตรายหรือทำให้มนุษย์กลายเป็นทาสหุ่นยนตร์ได้
เมื่อเข้าสู่ยุคของหุ่นยนตร์และ AI ใครต้องกังวลอะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องกังวลคือ อำนาจตลาด เราจะเห็นว่า คนที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีเป็นคนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องการกุศล และดูเหมือนว่า คนเหล่านี้ดูหวังดีกับสังคม แต่อยากให้หลายคนตระหนักถึงเรื่องของการผูกขาดตลาดอีกหน เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ต้องมี และคนส่วนมากต้องเข้าถึงได้ ดังนั้น จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากหากเทคโนโลยีไปตกอยู่ในมือขององค์กรระดับพันล้านไม่กี่แห่ง
และสิ่งที่สำคัญคือ ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เมื่อ 100 ปีที่แล้วทุกคนไม่ได้กังวลว่าข้อมูลส่วนบุคคลของเราจะถูกใครเอาไปทำอะไร เพราะไม่มีองค์กรไหนมานั่งเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเรา แต่ปัจจุบัน ด้วยอำนาจแห่งเทคโนโลยี เราจำเป็นต้องระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้มาก ๆ
และนอกจากนี้ อคติจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกสั่งงานด้วยอัลกอลิธึมสมัยใหม่ที่ไม่ได้มีความรู้สึกผ่อนหนักผ่อนเบาและเข้าอกเข้าใจเหมือนมนุษย์ด้วยกันเองยังเป็นเรื่องที่ต้องกังวล เพราะสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับมนุษย์ในอนาคตได้
สิ่งที่ต้องกังวลอีกประการคือ อำนาจต่อรองในระดับรัฐ เพราะองค์กรด้านเทคโนโลยีเหล่านี้บางองค์กรมีอำนาจเหนือการเมือง และสามารถครอบงำนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญได้ บางองค์กรมีอำนาจมากกว่ารัฐ มีอำนาจมากกว่าองค์กรที่เป็นภาคีระดับนานาชาติ อย่าง สหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียอำนาจและความมั่นคงได้
และสิ่งที่ต้องคอยกังวลประการสุดท้ายคือ เรื่องของความมั่งคั่ง องค์กรเหล่านี้ทำเงินในหลักพันล้าน หากเกิดเหตุการณ์ที่ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง นักการเมืองท้องถิ่นก็จะรีบวิ่งเข้าหาองค์กรเหล่านี้ด้วยหวังใช้เงินที่องค์กรเหล่านี้หาได้มาช่วยกู้วิกฤติ ด้วยเหตุนี้ องค์กรด้านเทคฯ จึงต้องทำการบ้านกันมากขึ้นว่าจะรับมืออย่างไร