ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น สภาวะโลกร้อน หรือ ปัญหาขยะพลาสติก ต่างถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้สังคมร่วมกันรับผิดชอบกับสิ่งที่เราได้กระทำลงไปกับโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น รัฐ เอกชน รวมถึงผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องต่างๆ ดูจะเทน้ำหนักความรับผิดชอบไปยังฝั่งผู้ผลิต (manufacturer) มากกว่าผู้บริโภค (Consumer) จึงเป็นที่มาของการที่ฝั่งผู้ผลิตจะต้องมีนโยบาย Sustainability Policy เป็นนโยบายสำคัญในองค์กร ซึ่งนอกจากจะเพื่อเป็นการตอบแทนสังคมแล้ว ก็ยังเพื่อสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไปด้วย
แน่นอนว่าสำหรับ AIS ผู้ให้บริการด้านระบบโทรคมนาคมอันดับ 1 ชั้นนำของประเทศ และยังเป็นบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นและต้องให้ความสำคัญกับนโยบาย Sustainability Policy เป็นลำดับต้นๆ ล่าสุด ออกแคมเปญใหม่น่าสนใจ ได้แก่ “โครงการ คนไทยไร้ E-Waste” เป็นโครงการที่ชักชวนคนไทยทุกคนมาร่วมกันกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ที่สำคัญ ยังสามารถนำไปแลกเป็นพ้อยท์ หรือคะแนนสะสมจาก AIS ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทำให้ปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Waste เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบข้อมูลที่น่าตกใจของสถานการณ์ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ในปัจจุบัน ดังนี้
สถานการณ์ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ในปัจจุบัน
- ทั่วโลก มีปริมาณขยะ E-Waste ปริมาณ 6 ล้านเมตริกตัน
- ปริมาณขยะในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณ 5 ล้านเมตริกตัน
- ทวีปเอเชีย เป็นทวีปที่ผลิตขยะ E-Waste ในปริมาณมากที่สุดถึง 9 ล้านเมตริกตัน
- ไทย เป็นประเทศ อันดับ 2 ที่ผลิต E-Waste มากที่สุดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปริมาณสูงถึง 621,000 เมตริกตัน ในขณะที่ อินโดนีเซีย มาเป็นอันดับ 1 ในปริมาณ 1,618,000 เมตริกตัน และ ฟิลิปปินส์ เป็นอันดับ 3 ผลิตในปริมาณ 425,000 เมตริกตัน
- น่าตกใจไปกว่านั้น เมื่อพบว่า จำนวนขยะที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องมีเพียง 4% เท่านั้น ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถึง 82.6% ไม่สามารถติดตามได้ว่า ไปอยู่ที่ไหนหรือว่าได้รับการจัดการอย่างถูกต้องหรือไม่
นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวว่า ยิ่งนโยบายการผลักดันสัญญาณ 5G ซึ่งจะทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านการติดต่อสื่อสาร และใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ในทางเดียวกันก็จะสร้างปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปริมาณมหาศาลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ หูฟัง พาวเวอร์แบงก์ ฯลฯ แต่ปัญหาคือเมื่อสิ่งเหล่านี้กลายไปเป็นขยะจะไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีปกติได้ เช่น ฝังกลบหรือเผาทำลาย แต่จะต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธี โดยต้องไม่ย้อนกลับมาเป็นอันตรายต่อมนุษย์ในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังสำคัญของการออกโครงการมากมายด้านสิ่งแวดล้อม ของ AIS มีเหตุผลที่รองรับอย่างน่าสนใจ หลักๆ อยู่ 3 ประการด้วยกัน ดังนี้
3 เหตุผลเบื้องหลังโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste”
-
ตอบสนองต่อความต้องการของ stakeholders
เสียงเรียกร้องจากทั้ง ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงานในองค์กร รวมถึงชุมชนและสังคม ซึ่งทั้งหมดต้องการให้องค์กรใหญ่ระดับประเทศร่วมรับผิดชอบและลงมือทำอย่างจริงจัง ทั้งในฐานะผู้ประกอบการายใหญ่และในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ในอนาคตจะกลายมาเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผิดชอบและหาหนทางในการแก้ปัญหานี้ และที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมลงทุนกับองค์กรในต่างประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายสิ่งแวดล้อมมากเป็นพิเศษ แม้แต่กฎหมายของบางประเทศหากจะต้องทำดำเนินธุรกิจข้ามชาติก็จำเป็นต้องมีนโยบายด้าน Sustainability ที่ชัดเจนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลผู้คน ดังนั้น AIS จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะลุกขึ้นมาก้าวเป็นผู้นำในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะโยนทุกอย่างเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นให้ฝ่ายผู้ผลิต อย่าง AIS เป็นผู้ดำเนินการจัดการแต่เพียงลำพัง ดังนั้น AIS จึงดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายมาร่วมกันทำให้สิ่งนี้บรรลุผล ไม่ว่าจะเป็น คู่ค้า ลูกค้า สื่อมวลชน และพันธมิตรในย่านอาคารสำนักงานเดียวกัน ก็ผนึกกำลังร่วมกันนำไปสู่เป้าหมายเพื่อการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีให้สำเร็จ สำหรับโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” มีภาคีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกว่า 52 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะร่วมสร้างการตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอยู่รวมกันกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ
-
เอาใจผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่ผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มหันมาสนใจว่าองค์กรหรือธุรกิจไหนที่ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมบ้างก็จะพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งปัจจัยที่พิจารณาเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเริ่มมีบทบาทและถูกนำมาพิจารณาให้น้ำหนักมากขึ้นในช่วงเวลา 2-3 ปีหลังมานี้ ดังนั้น AIS ซึ่งมีภาพที่ชัดเจนของการเป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่าจะต้องฉายภาพของการเป็นผู้นำด้านนี้ให้ชัดด้วย ไม่เพียงแค่การเป็นผู้นำด้านระบบการให้บริการด้านสัญญาณเครือข่ายเท่านั้น แต่จะต้องย้ำภาพของการผู้ปลุกกระแสของการรักษ์สิ่งแวดล้อมในแบบของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งอีกด้วย ดังนั้น การที่จะได้ใจคนยุคใหม่หัวใจสีเขียว จึงไม่อาจขาดนโยบายเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมนี้ได้เลย
-
สร้างธุรกิจให้ยั่งยืนในอนาคตต่อไป
จากทั้งหมดของการที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีกับคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงได้ใจลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นำมาซึ่งการสนับสนุนทุกๆ กิจกรรมของการดำเนินงานของ AIS ท้ายที่สุด ธุรกิจของ AIS ก็เกิดความยั่งยืน เมื่อธุรกิจมีความยั่งยืนก็สามารถที่จะนำผลกำไรกลับไปสนับสนุนและดูแลโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้นั่นเอง ดั่งเจตนารมณ์ของ UN ที่ตั้งใจว่าจะต้องทำให้ทั้ง สิ่งแวดล้อม ผู้คน และธุรกิจ ยั่งยืนและเติบโตไปพร้อมกัน
สำหรับแคมเปญ “เอไอเอส E-Waste ทิ้งรับพอยท์” ที่ร่วมภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญไปกับเอไอเอส เปลี่ยนทุกการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points ใน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
- นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ ไปยังเอไอเอสช็อปใกล้บ้าน
- แจ้งกับพนักงานว่าต้องการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง
- นำขยะหย่อนลงถัง และสแกน QR Code เพื่อรับ AIS Points จากแท็บเล็ตของพนักงาน ซึ่งจะแสดงผลจำนวน AIS Point ที่ได้รับทันทีผ่าน Notification โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดรวม AIS Point ได้ที่ App My AIS
ทั้งนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้นมีค่า 5 คะแนน และหนึ่งหมายเลขสามารถรับ AIS Points ได้สูงสุด 10 คะแนนต่อวัน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่นอกจากจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกเจเนอเรชันแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะใช้ขีดความสามารถของบริษัทและการพัฒนานวัตกรรมร่วมจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการดำเนินงานที่รัดกุมทั้งระบบ ตั้งแต่ภายในองค์กร คู่ค้า รวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนในระยะยาว ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่นอกจากจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีก็จะเกิดการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่แผ่นดินและแหล่งน้ำอันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
“ที่สำคัญ โครงการนี้ยังเป็นแกนกลางอาสารับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากคนไทย ไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill ทั้งระบบ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน เอไอเอส สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากโครงข่ายและการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการรับจากคนไทยทั่วประเทศ ไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผ่านกระบวนการที่ได้รับมาตรฐานระดับโลกรวมทั้งสิ้นกว่า 710 ตัน ซึ่งเราพบว่าปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นในทุกปี หากเรายังนิ่งเฉย ละเลย และไม่รีบนำขยะเหล่านั้นไปกำจัดอย่างถูกต้อง สุดท้าย ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาอาจจะสายเกินแก้ ผมขอเป็นตัวแทนชาวเอไอเอส เชิญชวนทุกท่านมาร่วมปฏิบัติภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญ โดยการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ หูฟัง หรือพาวเวอร์แบงก์ มาร่วมกำจัดกับเราได้กว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ” นายสมชัย กล่าวในตอนท้าย