ตอนนี้ขยับตัวอย่างไรก็กลายเป็นที่น่าจับตาทุกย่างก้าวสำหรับ HUAWEI โดยเฉพาะงาน MWC Shanghai ในปีนี้ ซึ่งการจัดงานเกิดขึ้นภายในธีม “การเปิดใช้งาน 5G ขับเคลื่อนการพัฒนาด้านดิจิทัลของจีน” โดย “หยาง เชาปิน” ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G ของ HUAWEI ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ 5G is On, Keep Innovating to Realize Large-Scale 5G Commercialization เพื่อบอกเล่าถึงศักยภาพของ 5G เทคโนโลยีแห่งอนาคต
ถึงเวลา 5G ทั่วโลก ?
สาเหตุที่ HUAWEI ผลักดันเทคโนโลยี 5G แก่โอเปอเรเตอร์ทั่วโลก เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะประเทศที่เริ่มมีการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว รวมถึงประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวเครือข่าย 5G อย่างเกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสามารถให้ความเร็วสูงกว่า 4G ในปัจจุบันนับ 10 เท่า ส่งผลให้ทราฟฟิคของผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
“ประสบการณ์การใช้งานเป็นพื้นฐานที่ส่งเสริมให้บริการ 5G เติบโต ในยุค 5G เราต้องใช้ทรัพยากรของสถานีให้มากที่สุด และกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพจากการลงทุนโดยสร้างเครือข่าย 3 ชั้น ที่ประกอบด้วยไซต์ขนาดใหญ่ ไซต์เสาอากาศ และไซต์ขนาดเล็ก เป้าหมายสูงสุดของเราคือการส่งมอบประสบการณ์เครือข่ายระดับกิกะบิตไปยังทุกที่” คุณหยาง เชาปิน กล่าว
เทคโนโลยีใหม่ แต่ประยุกต์ใช้อุปกรณ์พื้นฐานเดิมได้
แม้ 5G จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่ในแง่การใช้งานนั้นสามารถใช้ไซต์ขนาดใหญ่ร่วมกับ 4G ได้โดยไม่ต้องเพิ่มไซต์ใหม่ โดยคลื่นความถี่แบบ 2.6 GHz และคลื่น C-band จะเป็นส่วนประกอบในขั้นพื้นฐานเพื่อให้สัญญาณเครือข่าย 5G มีความครอบคลุม โดยไซต์ขนาดใหญ่มีต้นทุนต่ำกว่าค่าเช่าพื้นที่ไซต์มาก คิดเป็น 20% ของต้นทุนการก่อสร้างไซต์ทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นเราสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนของไซต์ขนาดใหญ่ด้วยการขยายคลื่น C-band ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้ 5G สามารถแชร์พื้นที่ในไซต์ขนาดใหญ่ของ 4G ช่วยลดปัญหาการสร้างไซต์เพิ่มเติมได้
ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นความต้องการทราฟฟิคของเครือข่ายมือถือจะแตกต่างกันไปและประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายในพื้นที่ที่มีทราฟฟิคสูงอาจได้รับผลกระทบ ในย่านที่พักอาศัยและย่านการค้าที่มีประชากรหนาแน่น รวมไปถึงจุดชมวิวบางแห่งที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาจไม่สามารถตั้งไซต์ขนาดใหญ่ได้ สถานีเสาสัญญาณจึงเป็นทางเลือกเนื่องจากหาพื้นที่ตั้งไซต์สำหรับเสาสัญญาณได้ง่ายกว่า ซึ่งไซต์เสาสัญญาณมีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา ต่อกระแสไฟฟ้าได้ง่ายและกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์ที่หลากหลาย สามารถติดตั้งบนเสาไฟฟ้า เสาไฟจราจร เสากล้องวงจรปิด หรือแม้แต่กำแพง จึงกลายมาเป็นส่วนเสริมสำคัญของสถานีขนาดใหญ่เพื่อให้มั่นใจว่าสัญญาณเครือข่ายสามารถครอบคลุมได้ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นหรืออับสัญญาณ
ยุคต่อไป “ดิจิทัล” ภายในอาคารเชื่อมต่อกับไซต์ขนาดใหญ่
จากยุคของโมบายบรอดแบนด์ ทราฟฟิคของเครือข่ายเคลื่อนที่จำนวนมากเกิดขึ้นจากภายในอาคารในเมืองใหญ่บางแห่ง ปริมาณทราฟฟิคภายในอาคารคิดเป็นกว่า 70% ของปริมาณการใช้งานทั้งหมดในเมืองนั้น ๆ ในอาคารที่มีความหนาแน่น เช่น โรงพยาบาล ช้อปปิ้งมอลล์ อาคารสำนักงาน แคมปัส สนามบิน หรือสถานีรถไฟ ทราฟฟิคของดาต้าจากเซลล์ต่าง ๆ คิดเป็น 20 เท่าของทราฟฟิคโดยเฉลี่ยที่เห็นบนเครือข่ายทั้งหมด นั่นหมายความว่า ขณะที่อุตสาหกรรมทั้งหลายเริ่มพลิกโฉมสู่ดิจิทัล การใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สมาร์ทแฟคตอรี่ สมาร์ทเฮลธ์ และการศึกษาทางไกลจะต้องการแบนด์วิดธ์สำหรับการใช้งานภายในอาคารมากขึ้น มีความล่าช้าน้อยลงและเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น เท่ากับว่าเราต้องพัฒนาระบบดิจิทัลภายในอาคารควบคู่ไปกับไซต์ขนาดใหญ่ โดยประเทศจีนมีแผนจะติดตั้งระบบดิจิทัลภายในอาคารและไซต์ขนาดใหญ่ไปพร้อมกันในพื้นที่ภายในอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงสนามบินปักกิ่ง สถานีชุมทางรถไฟหงเฉียวในเซี่ยงไฮ้ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมเซี่ยงไฮ้เวิลด์เอ็กซโป และโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล เซิ่นเจิ้น เป็นต้น