ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายออฟฟิศมีการ Work from home มากมาย ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำงานมากกว่าช่วงเวลาปกติเสียอีก นำมาสู่การถกเถียงกันถึงทฤษฎีการลดจำนวนวันทำงานให้น้อยลงกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจจะสร้างประสิทธิภาพได้เท่าหรืออาจจะดีกว่า 5 วันเต็มก็ได้
ทั้งนี้ ที่สเปนมีการทดสอบด้วยการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ในช่วงโควิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเล็งเห็นว่า บางทีนี่อาจจะเป็นสัญญาณที่ใกล้เข้ามาว่าการทำงานแบบ work-life balance จะกลายเป็นเรื่องถาวร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนเห็นด้วยที่จะทดลองทำงาน 32 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีการหักรายได้ พร้อมกับอัดฉีดเงิน 50 ล้านยูโร ให้สำหรับบริษัทที่รีเควสขอมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการในประเทศ โดยมองว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาดได้ แถมยังช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
“มันเหมือนกับเปิดโลก เปิดหูเปิดตาผู้คนที่ว่า การทำงานที่บ้านมันเป็นไปได้ และมันเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเท่าที่เราต้องการเสียด้วย” Joe Ryle หนึ่งในผู้สนับสนุนแคมเปญ ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ กล่าว และว่า การได้ทำงานที่บ้านทำให้เราได้ใช้เวลาในการทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่สำคัญในชีวิตมากขึ้น
ทั้งนี้ แคมเปญทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ถูกทำเป็นจดหมายเปิดผนึกส่งให้กับผู้นำหลายประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึง Pedro Sanchez นายกฯสเปนด้วย ซึ่งข้อเสนอนั้นยังรวมไปถึงในช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย
โดยประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกประเทศที่ถูกยื่นข้อเรียกร้องให้ลดวันทำงานต่อสัปดาห์ลง ซึ่งยื่นผ่าน คุนิโกะ อิโนะกุชิ ส.ส.จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party หรือ LDP)
อย่างไรก็ตาม ในเคสของญี่ปุ่นนั้นไม่ชัดเจนว่าแรงผลักดันมาจากการแพร่ระบาดของโควิด แต่เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีในวัฒนธรรมการทำงานหนักของญี่ปุ่นเอง โดยเฉพาะข่าวการที่ผู้คนเสียชีวิตเพราะเกิดจากการทำงานหนักเกินไปที่เรียกว่า “โรค Karoshi” นั่นเอง
แม้ว่าเงื่อนไขแต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกัน แต่แนวคิดที่ว่าผู้คนทำงานหนักเกินไปหรืออาการเบิร์นเอาท์ เริ่มสร้างความตระหนักรับรู้กันมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคระบาด ที่สำคัญ งานวิจัยยังพบว่าผู้คนทั่วโลกเมื่อทำงานที่บ้านกลับใช้เวลาในการทำงานนานมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา
มีรายงานว่าแคมเปญทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ส่วนหนึ่งมีการอ้างอิงข้อมูลจาก Mental Health Foundation ว่าการทำงานที่บ้านในช่วงการแพร่ของโรคระบาด ปรากฏว่าทำงานมากกว่าช่วงเวลาปกติต่อเดือนเสียอีก
น่าสังเกตว่าข้อเสนของการทำงานน้อยลงต่อสัปดาห์กลับไม่ปรากฏที่รัฐบาลอังกฤษ ทั้งนี้ นักกฎหมายชาวสก็อตแลนด์กลับเล็งเห็นความสำคัญและอยากจะแยกตัวจากสหราชอาณาจักรเต็มที
หันไปที่นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรี Jacinda Ardern สนับสนุนให้นายจ้างพิจารณาให้ลูกจ้างทำงานต่อสัปดาห์น้อยลง ซึ่งในทางหนึ่งก็เพื่อผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นในช่วงที่โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย
ส่วนนายกฯ ฟินแลนด์ Sanna Marin ผลักดันเต็มที่ที่จะให้เกิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์และแถมยังสนับสนุนให้ทำงานแค่ 6 ชั่วโมงต่อวันอีกด้วย
จากที่เห็นเทรนด์ทั่วโลกแล้วว่าเริ่มมีความสนใจในการลดเวลาการทำงานต่อสัปดาห์ลง โดยมีข้อมูลสนับสนุนว่าการลดวันจะช่วยทำให้คนทำงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมเสียอีก โดยยกตัวอย่างการทำงานของ Microsoft Japan ที่ลองปิดออฟฟิศทุกๆ วันศุกร์เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งผลปรากฏว่าการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 40%
Kate Soper ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย London Metropolitan เธอเชื่อว่า ข้อถกเถียงกันเรื่องลดเวลาทำงานต่อสัปดาห์จะมีอยู่ต่อไปอีกนาน และอาจจะนำมาซึ่งการใช้เทคโนโลยีแบบออโต้มารองรับก็เป็นไปได้
ตบท้ายด้วยความเห็นที่ตอกย้ำแนวคิดนี้ โดย Ryle ซึ่งชี้ว่าการลดเวลาการทำงานต่อสัปดาห์ให้น้อยลง เป็นผลดีต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ดีต่อสุขภาพของคนทำงาน และสุดท้ายดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ส่วนเมืองไทยจะมีแนวความคิดแบบนี้หรือไม่ ฟังดูก็น่าสนใจไม่น้อย หากมีการเปิดเวทีถกเถียงกันอย่างจริงจังโดยมีข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจได้
Source: CNBC