เงียบให้ถูกจังหวะ…คมยิ่งกว่าพูด, พูดให้ถูกจังหวะ…คมยิ่งกว่าเงียบ
‘จังหวะ’ หลายคนอาจนึกถึงบางอย่างที่ใช้เรียกแทนการควบคุมการเดินของเสียงดนตรีหรือเสียงเพลง แต่หากมองอีกแง่นึงมันหมายถึงโอกาสอันควรของหลายสิ่งหลายอย่างในการดำรงชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง และคำว่า ‘จังหวะ’ ก็ได้ถูกนำมาใช้ในการพูดการจาด้วยเช่นกัน
ว่ากันว่า, คำพูดมีพลัง ทุกครั้งที่เราพูด…จงสร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดี และพูดแต่ความจริง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในการทำงานของพวกเราทุกวันนี้ คำพูดถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันมีพลานุภาพพอที่จะสั่นหัวใจของใครต่อใครให้หวั่นไหว ดึ๋งดั๋ง หรือทนทุกข์ อมเศร้า ได้เลยทีเดียว และนี่คือ 3 วาจา ที่เราไม่ควรพูดในที่ทำงานครับ
“ฉัน, ตัวฉัน, และ ฉัน”
‘Me, Myself, and I’ เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถกำจัดคำเหล่านี้ออกจากสารบัญของตัวเองได้ แต่มันก็ยังมีจังหวะอันควรว่าเมื่อไหร่ที่เราควรเลี่ยงใช้คำเหล่านี้
เมื่อสองสามปีก่อน ผมมีโอกาสได้ทำงานโปรเจคชิ้นหนึ่งที่ต้องทำกันเป็นกลุ่มร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ เราทุกคนมีส่วนร่วมในโปรเจคนี้เท่าๆกัน และเมื่อถึงวันที่ต้องนำเสนอให้กับหัวหน้า เราเลือกเพื่อนร่วมงานในทีมคนหนึ่งเป็นคนทำหน้าที่ในการพรีเซ้นต์ เพราะเพื่อนร่วมงานคนนั้นเป็นคนที่มีวิธีในการพูดนำเสนอที่ดี และเมื่อเขาเริ่มพูดการพรีเซ้นต์ เขาเปิดประโยคด้วยการพูดคำว่า ‘ฉัน’… “ฉันได้เก็บรวบรวมข้อมูลการค้นคว้าและข้อมูลทางสถิติทั้งหมด จาก…” พวกเราในทีมที่เหลือถึงกับสะดุ้งโหยง พร้อมเบิกตาโพลงหันไปมองที่เขาพร้อมกัน ให้หลังไม่นาน, เขาก็ยังคงร่ายวาจาดำเนินการพรีเซ้นต์ต่อไปด้วยการพูดว่าโปรเจคนี้มาจาก ‘ตัวฉัน’ เกือบทั้งหมด แต่ถึงกระนั้นพวกเราก็เชื่อว่าเขาคงจะรู้สึกตื่นเต้นมากเกินไปหน่อย ก่อนที่การพรีเซ้นจะสิ้นสุดลง หัวหน้าของเราถามคนอื่นๆในทีมที่เหลือว่า… “พวกคุณมีส่วนร่วมในการทำโปรเจคชิ้นนี้กันบ้างหรือเปล่า?” ทันใดนั้นเพื่อนคนที่ทำหน้าเป็นคนพรีเซ้นต์ก็เริ่มตระหนักได้ว่าเขาคงเผลอไผลเกินไป และกล่าวขออภัยเพื่อนร่วมงานทุกคน
เห็นได้ชัดว่าในบางครั้งคำว่า ‘ฉัน, ตัวฉัน, และ ฉัน’ หากพูดผิดที่ผิดจังหวะ อาจทำให้เพื่อนร่วมงานของเราคิดว่าเรายกความดีความชอบให้กับตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่ความเป็นจริงเราอาจจะแค่เผลอไผลลืมตัวไปเท่านั้นเอง จังหวะเป็นสิ่งสำคัญ มีสติและขอให้นึกก่อนที่เราจะพูดเสมอครับ
ลองเปลี่ยนเป็น: “เรา, พวกเรา, และ ทีม”
คำว่า Teamwork นั้นสำคัญ…ทั้งทาง ‘วาจา’ และ ‘การกระทำ’ ครับ
“น่าจะไม่, ไม่สามารถ, และ ไม่”
มั่นใจได้เลยว่าต้องมีสักวันหนึ่งที่เรา ‘ไม่สามารถ’ ทำได้จริงๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องพูดออกไปอย่างโต้งๆสุดโต่งง่ายๆว่า…ทำไม่ได้
ในการไปสัมมนาของออฟฟิศแห่งหนึ่ง ลูกน้องคนหนึ่งกล่าวกับหัวหน้าของเขาว่าเขาไม่สามารถทำอะไรบางอย่างที่หัวหน้าสั่งให้เขาทำได้ โชคไม่ดีที่หัวหน้าคนนั้นกลับรู้สึกว่าลูกน้องคนนี้ปฏิเสธและตีตนว่าตัวเองทำไม่ได้ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่ม และนั่นแสดงให้หัวหน้าเห็นว่า…เขาไม่มีศักยภาพและความพยายามที่มากพอ
ผลปรากฏว่าเหตุผลที่เขาไม่สามารถทำงานดังกล่าวให้หัวหน้าได้ ก็เพราะเขายังมีโปรเจคตัวอื่นๆที่ต้องเจียดเวลาไปทำด้วย จึงทำให้เขาไม่สามารถตบปากรับคำกับหัวหน้าได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายนัก แต่เขาดันเลือกที่จะใช้คำว่า ‘น่าจะไม่, ไม่สามารถ, และ ไม่’ แทนการอธิบายถึงเหตุผลที่เขาไม่สามารถทำได้จริงๆ และนั่นทำให้มันส่งผลลบต่อตัวเขาเองไงล่ะครับ
ลองเปลี่ยนเป็น: “ทำเสร็จไม่ทัน เพราะติดงานตัวอื่น/ติดงานด่วนที่ต้องรีบส่งก่อน/หรือ ระยะเวลาไม่เพียงพอ”
จำไว้เสมอครับว่า ความจริง…สะอาด และงดงามเสมอ
ศัพท์เทคนิค หรือศัพท์เฉพาะ
คงไม่มีคำพูดไหนที่จะทำให้คนอื่นๆรู้สึกรำคาญไปกว่าการใช้ศัพท์เทคนิค หรือศัพท์เฉพาะที่พวกเขาไม่เข้าใจ จนต้องหรี่ตาลง 3 เซน และตีความสิบแปดตลบว่า…เอ๊ะ นี่มันต้องการจะสื่ออะไรวะเนี่ย!
เมื่อต้นปีที่แล้ว ผมกำลังนั่งประชุมอย่างสบายอารมณ์ในการขายงานโฆษณาของบริษัทผมให้กับลูกค้ายักษ์รายหนึ่ง ในฐานะที่ผมเป็นครีเอทีฟจึงยังไม่ถึงคิวที่ตัวเองจะต้องพูดเพื่อขายงานให้กับลูกค้า เพราะเวลานั้นเป็นการพูดถึงงานของทางด้านฝ่ายศิลป์นั่นเอง ทันใดนั้น! อาร์ตไดเร็คเตอร์ในทีมคนหนึ่งก็พูดถึงงานของตัวเองว่า… “นี่คือการวาง Proportion ที่สมบูรณ์แบบในตัว และยังมีความ Illegible ที่น้อยอีกด้วย” ทั้งลูกค้ารวมถึงพวกเราเองต่างนั่งกันหน้าเป็นรอยหยัก และเชื่อว่าทุกคนต้องกำลังพูดกับตัวเองในใจอยู่แน่ว่า…เอ๊ะ นี่มันต้องการจะสื่ออะไรวะเนี่ย! อย่าลืมว่าการเลือกใช้คำพูดให้ถูกจังหวะและสถานที่นั้นเป็นสิ่งที่พวกเราคนทำงานทุกคนต้องพึงระลึกไว้เสมอ หากนี่เป็นการประชุมภายในเฉพาะของพวกฝ่ายศิลป์อย่างเดียวก็ว่าไปอย่าง แต่นี่คือการประชุมกับลูกค้าที่ไม่มีความเข้าใจในด้าน อาร์ตจิงอ๊ะ! เอาเสียเลย อย่างน้อยๆก็ควรจะเปลี่ยนเป็นพูดว่า “นี่คือการจัดวางที่ได้สัดส่วนอย่างสมบูรณ์แบบ และยังเลือกใช้ตัวอักษรที่อ่านได้ง่ายชัดเจน”
อย่าลืมครับว่า…ศัพท์เฉพาะหรือศัพท์เทคนิค อาจทำให้เราดูดีมีความเป็นมืออาชีพ แต่ในคราวเดียวกัน, มันก็อาจทำให้เราดูตลกได้เช่นกันครับ
ลองเปลี่ยนเป็น: ศัพท์สามัญชน
ขงจื๊อเคยกล่าวไว้ว่า “เรียบง่ายเข้าไว้…เป็นดี” ครับ
อนึ่ง, จะคมอักษร หรือ บาดวาจา…แต่ต้องเจือด้วยความสัตย์ เสมอ