ตั้งแต่ที่โลกเราปรับตัวกับการแพร่ระบาดด้วยการอยู่บ้านมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ที่บ้าน รวมไปถึง Work From Home (WFH) แม้ว่าทุกอย่างจะดูเป็น New Normal แต่มีผลสำรวจอยู่บ่อยครั้งที่บอกว่า การทำงานที่บ้านทำให้พนักงานส่วนใหญ่ #ทำงานหนักขึ้น อย่างที่การสำรวจของ Engine Insights ที่ชี้ชัดว่า การทำงานระยะไกล หรือทำงานที่บ้าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มคนทำงานมากขึ้น เพราะทำงานหนักขึ้น
โดยผลสำรวจของชาวอเมริกัน สำหรับ Gen-Z (82%) และ Millennials (81%) ที่ทำงานหนักขึ้นตั้งแต่ที่ทำงานที่บ้าน ขณะเดียวกันกลุ่มคนทำงานในประเทศญี่ปุ่น ผลการสำรวจก็ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน
หมายความว่า การทำงานที่บ้านที่จัดสรรเวลาไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยมีงานวิจัยของ WHO (องค์การอนามัยโลก) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่บอกว่า ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่ทำงานนานขึ้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2016
แต่ตัวเลขที่น่าสนใจจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในปี 2020 ทำให้ระยะเวลาในการทำงานของคนทำงาน #ไร้ขอบเขต ทำงานแบบ non-stop กันมากขึ้น จนเวลาทำงานล่วงเลยมาถึง 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ประมาณ 11 ชั่วโมงในกรณีทำงาน 5 วัน และ 9 ชั่วโมงในกรณีทำงาน 6 วัน)
นักวิจัยของ WHO พูดว่า การทำงานถึง 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มความเสี่ยงให้เราเสียชีวิตเร็วขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ ทำงานนานขึ้น อายุขัยชีวิตเลยสั้นลง
ตั้งแต่ปี 2016 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 745,000 ราย ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการ stroke เพราะว่าพักผ่อนน้อย ทำงานเครียด ใช้ชีวิตอยู่บนความเครียดบ่อยๆ (ตามการวิเคราะห์ของทีมวิทยาศาสตร์ ที่ระบุว่า การทำงาน เป็น 1 ในสาเหตุหลักทำให้เกิดความเครียดสูงที่สุด)
ผลการศึกษา WHO ได้พูดถึง ความเสื่อมโทรมของร่างกายจากการทำงานหนักเกินไป มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดการระบาด หากเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมี COVID-19 คนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมีประมาณ 42% และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 19% ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 โรคดังกล่าวมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 17% และ 35% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลอ้างจาก Achievers ระบุว่า การสำรวจช่วงต้นปี 2021 ชี้ว่า พนักงานในหลายประเทศ รวมทั้งเอเชีย ที่รู้สึกเครียดและกดดันมากขึ้นตั้งแต่ที่ WFH ขณะเดียวกันพวกเขายอมรับว่า จัดการเวลางานกับเวลาส่วนตัวไม่ได้ชัดเจนและใช้เวลาไปกับการทำงานนานขึ้นกว่าเดิม
ขณะเดียวกันการทำงานนานถึง 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในทั่วโลก ขณะนี้อยู่ที่ 9% แต่สัดส่วนดังกล่าวกำลังขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ดร.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้พูดย้ำว่า “จากตัวเลขการทำงานนานขึ้นและความเครียดที่มากขึ้น อยากย้ำว่า ไม่มีงานใดที่คุ้มค่าเพื่อแลกกับโรคหัวใจและโรค Stroke ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ balancing ระหว่างงานกับเวลาพักผ่อนให้ดี ขณะเดียวกันองค์กรจำเป็นต้องปรับรูปแบบวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร เพื่อโฟกัสที่สุขภาพของพนักงานมากขึ้น”
ที่มา: fastcompany, forbes