ทำไม ‘บทสนทนา’ Exclusive บน Twitter แบรนด์ไม่ควรมองข้าม ถ้าอยากเจาะ right target – กระตุ้นการขายถูกจุด

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เทศกาลวันหยุดโดยเฉพาะช่วงก่อนวันขึ้นปีใหม่ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลช้อปปิ้งครั้งใหญ่ของคนทั่วโลก รวมถึงคนไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของให้คนอื่น คนในครอบครัว, เพื่อน, เพื่อนร่วมงาน, หัวหน้า หรือแม้แต่การซื้อของให้ตัวเองทิ้งทวนปีเก่าต้อนรับสิ่งดีๆ ในปีใหม่

ธรรมเนียมนี้ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี ทำให้เห็นว่า data จากตรงนี้น่าจะมีประโยชน์หากธุรกิจหรือแบรนด์เข้าใจความคิด หรือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้อย่างแน่ชัด และการพูดคุย แลกเปลี่ยน การสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียถือว่าเป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าพวกเขาต้องการ หรือกำลังสนใจอะไรอยู่

ทวิตเตอร์’ (Twitter) เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนทั่วโลกที่ใช้ดูความเคลื่อนไหว trending ต่างๆ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนมุมมอง หรือการแนะนำวิธีหรือสินค้า ฯลฯ ให้กับคนอื่น ซึ่งภาพลักษณ์ของทวิตเตอร์สำหรับผู้ใช้ให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟังมากกว่าเป็นการ force to believe ดังนั้น ภาพจำ ความรู้สึก ห้วงอารมณ์เหล่านี้สำคัญมากสำหรับธุรกิจเพื่อนำไปต่อยอด

คุณมาร์ติน ยูเรน ผู้อำนวยการแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของทวิตเตอร์ ได้ให้สัมภาษณ์แบบ exclusive กับ MarketingOops! เกี่ยวกับอินไซต์การเติบโตของบทสนทนาในช่วงเทศกาลวันหยุดบนทวิตเตอร์ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ในปี 2563 ซึ่งเป็นบทสนทนาเกี่ยวกับ ‘ช่วงเวลาแห่งการช้อปปิ้ง’ มากถึง 8 ล้านทวีตทั่วทั้งภูมิภาค

ขณะที่ในประเทศไทยมีบทสนทนาในเรื่องเดียวกันนี้มากถึง 2.1 ล้านทวีต เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดเทียบกับประเทศใน SEA

โดยการสนทนาในไทยเกี่ยวกับเทศกาล, การช้อปปิ้ง, มูฟเมนต์การเปิดตัวสินค้าหรือแคมเปญต่างๆ จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค.อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของทวิตเตอร์ที่พบว่า 70% ของชาวทวิตภพ วางแผนซื้อของขวัญในเทศกาลวันหยุดปีนี้ และ 42% จะเป็นการซื้อทางออนไลน์ มากกว่าการไปซื้อที่ร้านค้าที่มีเพียง 23%

 

Credit: Twitter

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้ทวิตเตอร์สำหรับการติดตาม หรือค้นหาของที่ต้องการในช่วงเทศกาลแห่งการช้อปปิ้ง อย่างเช่น

  • 47% ของคนไทยบนทวิตเตอร์ ได้รับแรงบันดาลใจในการจัดหาของขวัญจากความสนใจ หรือ หัวข้อที่พวกเขากำลังติดตาม
  • 46% ได้ไอเดียของขวัญมาจากหัวข้อสนทนา และแฮชแท็กที่กำลังมาแรง
  • 32% มีการค้นหาข้อมูลบางอย่างเฉพาะบนทวิตเตอร์
  • 30% ได้รับแรงบันดาลใจที่จะเฟ้นหาของขวัญตามเซเลบริตี้ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่กำลังติดตามอยู่

 

Credit: Twitter

 

 

5 เคล็ดลับที่แบรนด์จะ outstanding ในช่วงมหกรรมช้อปปิ้ง

เกิดเป็นความสงสัยว่า ในเมื่อฤดูกาลแห่งการช้อปปิ้งเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดียวกัน (เดือน ต.ค.) ดังนั้น ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์ แต่แบรนด์หรือธุรกิจก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของทวิตเตอร์ได้ แต่การใช้โอกาสในช่วง red ocean คุณมาร์ติน ได้พูดแนะนำถึงแบรนด์ในการสร้างประโยชน์สูงสุด เพื่อให้แบรนด์สามารถ outstanding ได้

โดยพูดว่า มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างการใช้จ่ายบนทวิตเตอร์และการรับรู้ถึงความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมของแบรนด์สูงถึง 88% และการจับจ่ายของผู้บริโภคมาจากการที่แบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมนั้น ซึ่งมีสัดส่วนถึง 25%

พูดได้ว่า บทสนทนาคือหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเอ็นเกจเมนต์, การจดจำแบรนด์ และการได้ผลลัพธ์ตรงตามที่กำหนด แบรนด์ชั้นนำจะเปลี่ยนแนวจากการโฆษณาทางเดียวแบบดั้งเดิมที่มี ROI ลดลงมาเป็นแนวทางใหม่ที่มีการเอ็นเกจกับคนไทยผ่านบทสนทนาบนทวิตเตอร์

ทั้งนี้ 5 เคล็ดลับที่แบรนด์สามารถใช้พลังบทสนทนาบนทวิตเตอร์ประเทศไทยให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น

 

ผู้บริโภคทุกคนไม่เหมือนกัน

เพราะแต่ละแบรนด์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงจำเป็นต้องคิดถึงผู้บริโภคเป็นหลักว่า ใครคือกลุ่มเป้าหมาย และพวกเขามีรสนิยมและสไตล์เป็นอย่างไร แต่ละชุมชนต่างก็มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องของการใช้ภาษา ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์ประเทศไทยมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแบรนด์จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน

 

แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก

ทวีตข้อความเดียวอาจจุดประกายให้เกิดบทสนทนาได้ ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่าการสร้างบทสนทนาต้องเป็นไปในแง่บวกและช่วยเหลือเกี้อกูลกัน แบรนด์ควรต้องมีจุดยืนตัวของตัวเอง และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและฟีดแบ็กต่างๆ รวมถึงการให้คุณค่ากับไอเดียใหม่ๆ และคำแนะนำจากผู้บริโภค

ทวิตเตอร์ ถือว่าเป็นช่องทางที่ทำให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ในแบบที่ไม่เหมือนกับช่องทางอื่น ด้วยจุดแข็งนี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้ง่ายขึ้น

 

เปลี่ยนจากบทสนทนา สู่ความต้องการซื้อ

บทสนทนาที่ดีจะสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าได้ อยากจะค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ มากขึ้น อยากที่จะคลิกเข้าไปดูสินค้าในเว็บไซต์ หรืออยากที่จะใช้โค้ดหรือคูปองส่วนลดเพื่อซื้อสินค้า

โดยคนที่เป็นกระบอกเสียงของแบรนด์สามารถกระตุ้นหรือช่วยจุดกระแสให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าได้ จากข้อมูลของ Statista Global Consumer Survey พบว่า 59% ของนักช้อปออนไลน์คนไทยมองว่า การรีวิวของคนบนอินเทอร์เน็ตมีส่วนช่วยให้พวกเขาตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าอะไร แสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นต่างๆ ของผู้บริโภคคนอื่นมีความสำคัญและอาจเปลี่ยนให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าได้

 

สร้างแรงบันดาลใจด้วยบทสนทนา

ระหว่างที่มีการสนทนาแบรนด์ควรระมัดระวังไม่ให้ดูพยายามตั้งใจขายสินค้ามากจนเกินไป อย่างที่เกริ่นไปว่า ฟิลของคนที่ใช้ทวิตเตอร์เหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง ดังนั้น ทวิตเตอร์จึงเป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยและแบ่งปันความคิดเห็น ซึ่งการรีวิวที่จริงใจและตรงไปตรงมาจะเป็นโซลูชั่นและกระบอกเสียงที่ทรงพลังมาก แบรนด์จึงควรสนใจในบทสนทนา ทำความเข้าใจผู้บริโภคและเคารพพวกเขา พูดคุยแลกเปลี่ยนบทสนทนาให้ตรงกับหัวข้อนั้นๆ ไม่ใช่ตั้งใจขายแต่สินค้าอย่างเดียวเท่านั้น

 

คิดให้ไกลกว่าแค่ปิดการขาย

แบรนด์ส่วนใหญ่โฟกัสกับการสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้า และปิดการขายให้ได้ โดยนึกถึงแต่ยอดขายเป็นหลัก จนลืมไปว่าการสนทนากับลูกค้าเป็นพลังที่สำคัญ เมื่อผู้บริโภคมีความพึงพอใจในตัวสินค้า สามารถกลายมาเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ได้ ซึ่งทวิตเตอร์ถือว่าเป็นพื้นที่พิเศษไม่เหมือนใครโดยผู้บริโภคสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่มีต่อสินค้าและสามารถสร้างอิทธิพลต่อคนอื่นๆ พร้อมทั้งมีส่วนกระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์ได้

 

 

การที่แบรนด์จับมือกับ influencers – micro influencer ยังสำคัญ

อย่างที่พูดไปว่ายุคนี้แบรนด์ส่วนใหญ่เลือกที่จะสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนั้น ทวิตเตอร์ ที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการสร้างการรับรู้ ไม่ใช่แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เหล่า SMEs ก็สามารถทำได้เพียงแต่ต้องใช้กลยุทธ์ให้ถูกจุด

คุณมาร์ติน ได้พูดแนะนำว่า แบรนด์ควรเปลี่ยนจากการตั้งเป้าที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพียงอย่างเดียว เป็นการใช้แนวทางในการทำการตลาดแบบองค์รวม เพื่อผสมผสานบทสนทนากับโซลูชั่นของการโฆษณาบนทวิตเตอร์

“เราเห็นแคมเปญและการเปิดตัวสินค้ามากมายบนทวิตเตอร์ประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่ ที่จับมือทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทย เช่น นักแสดง เซเลบริตี้ และศิลปินนักดนตรี อย่างไรก็ตาม สำหรับแบรนด์เล็กๆ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ได้จากการทำงานร่วมกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับคนที่เป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถสร้างกระบอกเสียงของแบรนด์ได้เช่นกัน”

คุณมาร์ตินย้ำว่า หัวใจหลักของแบรนด์คือการทำงานร่วมกับคนที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และต้องสอดคล้องกับความเป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น ไมโครอินฟลูเอนเซอร์สายรีวิวอาหารทวีตเกี่ยวกับร้านอาหารของคุณ หรือ ศิลปินนักวาดภาพทวีตถึงอุปกรณ์ศิลปะจากร้านของคุณ เป็นต้น

เพราะทวีตเหล่านั้นจะสามารถสร้างเอ็นเกจให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าของเราได้ และนับเป็นการกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาและช่วยให้เกิดผลลัพธ์ได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ด้วย

โดยข้อมูลของทวิตเตอร์ ระบุว่า เฉลี่ยแล้วหากมีการกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับแบรนด์เพิ่มขึ้น 10% จะส่งผลให้เกิดยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

 

 

ตัวอย่างแบรนด์ที่มีการใช้ทวิตเตอร์ในช่วงเทศกาลวันหยุด

  • แบรนด์ Brands Thailand (@BrandsThailand) ที่เปิดตัวแคมเปญให้ผู้คนส่งความรักกับสมาชิกในครอบครัวผ่านของขวัญสุดพิเศษ
  • อีฟโรเช่ Yves Rocher (Thailand) (@YvesRocherTH) เปิดตัวแคมเปญ ปลดล็อคความสวย ส่งต่อความสุข มอบชุดของขวัญให้คุณและคนพิเศษ
  • เคเอฟซี KFC Thailand (@kfcth) เชิญแฟนๆ แชร์ KFC โม้เม้นท์ดีๆ กับ เพื่อนๆ และครอบครัว ในช่วงเทศกาลวันหยุดและลุ้นรับของรางวัลเซอร์ไฟรซ์ด้วยการสแกน QR Code บนแพ็คเกจ KFC

 

ตัวอย่าง 2 ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์จากการเข้ามาเอ็นเกจกับคนไทยบนทวิตเตอร์

ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม

บทสนทนาที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศที่มีจำนวนมากที่สุดในช่วงที่มีการแพร่ระบาด คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม โดยคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นและมีการแชร์เคล็ดลับต่างๆ รวมไปถึงการแนะนำผลิตภัณฑ์บนทวิตเตอร์ จึงทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นมาร์เก็ตเพลสของสินค้า และแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมในปัจจุบัน

 

ผลิตภัณฑ์ด้านการออมและการลงทุน

ข้อมูลจาก GlobalWebIndex ระบุว่า 8 ใน 9 ของคนไทยบนทวิตเตอร์มีความสนใจในเรื่องการออมเงินและการลงทุน และข้อมูลจาก Brandwatch 2020-2021 ระบุว่า ชาวทวิตภพ ได้ทวีตเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 70,000 ครั้งต่อวัน แสดงให้เห็นถึงโอกาสมากมายสำหรับแบรนด์ในการเอ็นเกจกับกลุ่มเป้าหมาย

  • 94% ของคนไทยบนทวิตเตอร์อยากเห็นข้อมูลใหม่ๆ จากแบรนด์ทางการเงิน
  • มากกว่า 2 ใน 3 อยากเห็นผลิตภัณฑ์ บริการ และแอปพลิเคชันใหม่ๆ
  • 34% อยากเห็นแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ จากแบรนด์ต่างด้านการเงิน

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่เป็น insights และมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ โดยทวิตเตอร์เห็นแนวโน้มการสนทนาที่เกี่ยวกับประเภทของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาพูดถึงบ่อยๆ บนทวิตเตอร์จากบทสนทนาที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ จากการศึกษาของทวิตเตอร์หมวดหมู่การใช้จ่ายยอดนิยมในช่วงเทศกาลวันหยุดของในไทย ได้แก่

  • อาหารและเครื่องดื่ม 61%
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง 46%
  • แฟชั่นและเครื่องประดับ 45%
  • ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 28%

 

Credit: Twitter

 

โดยคุณมาร์ติน ได้พูดยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ยอดนิยมที่มักจะซื้อเป็นของขวัญให้ตัวเอง และคนอื่น เช่น สมาร์ทโฟน นาฬิกาอัจฉริยะ และกล้องถ่ายรูป

ทีนี้ลองมาดูกันว่า นอกเหนือจากโปรดักส์ที่สามารถเป็น gift items ได้ ชาวทวิตภพในไทยพวกเขาพูดคุยกันถึงเรื่องอะไรอีก ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถต่อยอดไปธุรกิจอื่นได้ทั้งหมด โดยข้อมูลของทวิตเตอร์ล่าสุดสรุปได้ว่า บทสนทนาที่เกี่ยวกับดนตรี, ทีวี, ภาพยนตร์, กีฬา, ความงาม, อาหารและเครื่องดื่ม, ศิลปะ ยังเป็น topics ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดด้วย

รวมไปถึงหัวข้อการสนทนาที่เกี่ยวกับ คำอวยพรและการส่งความปรารถนาดี, ความบันเทิง, ครอบครัวและสังคม เช่น COVID-19 เป็นต้น

 

Credit: Twitter

 

เห็นได้ชัดว่า ประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้ไม่ได้เอื้อต่อธุรกิจรายใหญ่เสมอไป แต่ธุรกิจเล็กหรือขนาดกลางก็สามารถเข้าถึงเอ็นเกจนี้ได้ สำหรับคุณมาร์ติน ได้พูดทิ้งท้ายกับเราว่า แบรนด์หรือธุรกิจที่อาจจะยังมองไม่เห็นโอกาสในการสร้างยอดขาย และสร้างการรับรู้จากทวิตเตอร์

“ผมอยากแนะนำทุกแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ หรือแบรนด์ที่เพิ่งเข้ามาเริ่มต้นบนทวิตเตอร์ว่า ต้องใช้เวลาและต้องรับฟังในสิ่งที่ผู้คนกำลังสนทนากันอยู่บนแพลตฟอร์ม แบรนด์ที่ทำได้ดีที่สุดบนทวิตเตอร์คือ แบรนด์ที่มีความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจในสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังสนใจ และสนใจในสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ”

“แบรนด์ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาบนทวิตเตอร์ อย่าเพิ่งรีบกระโดดเข้าไปร่วมวงในหัวข้อที่กำลังเป็นเทรนด์ของบทสนทนาในขณะนั้น แต่ควรันไปมองที่บทสนทนาอื่นๆ ที่หลากหลาย หรือหัวข้อที่กำลังจะเกิดขึ้น (players น้อยกว่า) และยังมีชุมชนที่มี passion อีกมากซึ่งแบรนด์จะได้ประโยชน์จากการรับฟังและจากการเรียนรู้”

อย่างที่ก่อนหน้านี้ที่ทวิตเตอร์ได้ทำวิจัยโดยวิเคราะห์ลงลึกถึงบทสนทนาบนทวิตเตอร์ประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (เดือนก.ค. 2561 – มิ.ย. 2564) ซึ่งสิ่งที่ได้จากรายงาน Thailand TwitterTrends Report 2021 พบว่า มีบทสนทนาและเทรนด์ทางวัฒนธรรมหลักอยู่ถึง 6 เรื่องด้วยกัน ซึ่งอาจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของอนาคตได้ นั่นก็คือ

  • Wellbeing – เรื่องสุขภาพจิต และสุขภาพร่างกายกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น
  • Creator Culture – เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนในคอนเทนต์ประเด็นต่างๆ เช่น เกม, ดนตรี, อาชีพ ฯลฯ
  • Everyday Wonder – การเรียนรู้โลกใบใหม่ทั้งโลกของเราและคนอื่น เกิดเป็นลัทธิความเชื่อใหม่ๆ ขึ้นมา
  • One Planet – ประเด็นสิ่งแวดล้อมยังสำคัญสำหรับผู้ใช้ทวิตเตอร์ ความยั่งยืน/ แนวคิด go green จะโดดเด่น
  • Tech Life – การใช้ชีวิตที่ smarter, การดำเนินชีวิตบนโลกดิจิทัล หรือเทคโนโลยีที่จะสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับเรา
  • My Identity – การแสดงตัวตนเพื่อตัวเองและเพื่อประเทศที่ดีกว่าเดิมจะเป็นเทรนด์ที่เห็นมากขึ้นในอนาคต

ความน่าสนใจของมุมมองจากคุณมาร์ตินครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจและธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง แต่การสร้างโอกาสทางธุรกิจต้องฉลาดเลือก สร้างเอ็นเกจกับผู้ใช้บนทวิตเตอร์ให้ได้ เปิดใจและรับฟังพวกเขามากขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการ สุดท้ายกลับมาทำความเข้าใจกับเสียงสะท้อนเหล่านั้น และตีโจทย์ทางธุรกิจให้ออก นี่คงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำหรับปี 2022

 

 

ข้อมูลโดย มาร์ติน ยูเรน ผู้อำนวยการแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของทวิตเตอร์


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม